โปรเจคต์เก๋! อ่านใจอย่างไรโดยไม่ใช้พลังจิต เรื่องเล่าของชีวิตที่อยู่ใน "สาร" ตกค้าง

การอ่านเรื่องราวไม่จำเป็นจะต้องเป็นนิยาย บทความหรือไดอารี่เสมอไป แต่เรายัง “อ่าน” เรื่องราวเหล่านั้นได้จากชีวิตจริงของคนอื่น แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีใครสามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ราวกับเราอ่านใจคนอื่นออก (ยกเว้นว่าถ้ามีคนทำสัจจะเซรุ่มได้จริง) โชคดีที่มีโปรเจคต์เจ๋งๆ หลายอันทำให้เราเห็นความคิดหรือความรู้สึกของคนที่อัดแน่นไว้ในนั้นจากข้อความหรือภาพที่มองผ่านๆ เราอาจคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ที่ถูกลืม 


โปรเจคต์แชร์ภาพและข้อความที่มินิมอร์เอามาเสนอวันนี้มี 6 โปรเจคต์ด้วยกัน โดยมีหลายรูปแบบเลย ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ กระดาษเยี่ยมชมในพิพิธภัณฑ์ หรือภาพจากหนังสือเก่า พอลองอ่านดูแล้วอาจจะทำให้เราได้ลองมองโลกในมุมมองของคนอื่นหรือแอบมองว่าเขารู้สึกยังไง.ถ้าลองเอาคำพูด ความคิด ความรู้สึกของหลายๆ คนจากในโปรเจคต์นี้ไปเขียนเป็น prompt หรือแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานอะไรสักอย่างก็ดูจะน่าสนุกดีเหมือนกัน มาลองดูกันเลยดีกว่า
 

1.    The Last Message Received ข้อความสุดท้ายที่ได้รับ

โปรเจคต์นี้สร้างขึ้นโดยวัยรุ่นอเมริกันอายุ 15 เธอสร้างบล็อกให้คนสามารถส่งข้อความการสนทนาสุดท้ายในโทรศัพท์มาแบ่งปันกันได้ ซึ่งแต่ละข้อความพูดเลยว่าเจ็บจี๊ดถึงทรวง ข้อความสุดท้ายมันไม่เหมือนกับประโยคสุดท้ายที่คุยกันต่อหน้าตรงที่ว่าพอมันเป็นประโยคที่ส่งผ่านสื่อกลางที่ไม่เห็นหน้ากันทำให้บางคนกล้าที่จะพูดอะไรมากขึ้น

(ที่มา: The Last Message Received )

“ขอบคุณนะที่ทำให้เห็นว่าฉันไม่มีค่าพอที่เธอจะมาตอบ :)”

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นคำพูดของผู้หญิงคนหนึ่งที่พูดกับคนที่ read แล้วไม่ตอบ (ฮือ พีค) อีโมจิด้านหลังไม่ได้ช่วยทำให้ประโยคดูซอฟต์แต่ดันเพิ่มบรรยากาศความมาคุไปอีก ที่พีคกว่านั้นคือถ้านี่เป็นข้อความสุดท้ายแสดงว่าอีกฝ่ายอ่านแล้วไม่ตอบเหมือนเดิม!  โดยคนที่ส่งข้อความนี้มายังบล็อก (ก็ตาคนที่อ่านแล้วไม่ตอบนั่นแหละ) บอกว่าที่เขาเมินไม่ตอบเธอเพราะว่าเธอจะได้ตัดใจไปได้ โห ใจดีหรือใจร้ายเนี่ย เรียกว่าเป็นการฆาตกรรมอย่างอ่อนโยนละกัน *ตายอย่างสงบ*


(ที่มา: The Last Message Received)


“ขอโทษนะ”
“ทำไมพูดแต่ขอโทษอยู่ได้ มันไม่ช่วยแก้ไขอะไรหรอกนะ”
“เรารู้ว่ามันไม่ช่วย ไม่เคยช่วยเลยด้วย ไม่รู้ทำไมมันถึงมีคำนี้เหมือนกันทั้งๆ ที่มันไม่มีความหมายอะไรเลย”
“ไม่รู้นะ ก็คงเหมือนความรู้สึกของฉันนั่นแหละ”

ตัวอย่างอีกอันที่มินิมอร์ยกมาอันนี้ไม่ได้พีคน้อยไปกว่าอันข้างบน พีคตั้งแต่ที่คนหนึ่งบอกคำขอโทษไม่ช่วยและไม่มีความหมายอะไร แล้วอีกคนตอกกลับว่าก็เหมือนความรู้สึกที่มีอยู่แต่มันไร้ความหมายไงล่ะ นี่บทสนทนาจริงหรือสคริปต์หนังดราม่าเนี่ย ถ้าเป็นหนังคงเป็นฉากที่บีบกัดหัวใจพอสมควร คนพูดประโยคสุดท้ายคงจะหันหลังสะบัดบ๊อบออกไปอย่างเจ็บๆ
 

2. The Unsent Project ข้อความที่ไม่ได้ส่ง 

(ที่มา: The Unsent Project)

เคยอยากพูดอะไรแต่ไม่ได้พูดมั้ย โปรเจคต์นี้ก็เหมือนกันคือการรวบรวมข้อความที่ไม่ได้ส่ง (แต่อยากส่ง) ของหลายๆ คน แต่ละข้อความมีทั้งสุขและเศร้าไม่แพ้กับข้อความที่ถูกกดส่งไปแล้วเลย
“ฉันว่าฉันอาจจะเป็นหงส์ก็ได้ เราเลิกกันไป 3 ปีแล้วฉันยังรักคุณอยู่เลย”

ความรู้สึกเป็นเรื่องยากที่จะเขียนอธิบายออกมาได้หมด แต่คนเขียนข้อความที่ยกตัวอย่างมานี้แอบมีความเป็นกวีที่เปรียบตัวเองกับหงส์ ว่ากันว่าหงส์ส่วนใหญ่ถ้ามีคู่แล้วจะอยู่กับคู่ตัวเองไปตลอดชีวิต (อือหือ โรแมนติกสุดอะไรสุด) คุณคนนี้เลยเปรียบตัวเองกับหงส์เป็นการบอกแบบอ้อมๆ ว่าฉันยังรักเธออยู่และคงจะรักไปตลอดชีวิต เป็นการสารภาพรักแบบเจ็บๆ โดยที่ไม่ต้องพูดคำว่ารักให้มากมายหรือแสดงความรู้สึกอะไรมาก (ใช้คำน้อยกว่า 140 ตัวอักษรในทวิตเตอร์ซะอีก) แต่ก็เข้าใจได้เลยว่าทำไมข้อความนี้ถึงเป็นข้อความที่ไม่ถูกส่ง ลองคิดดูว่าถ้าอยู่ๆ วันนึงแฟนเก่าเราส่งข้อความแบบนี้มาให้คงกระอักกระอ่วนใจพิลึก
 

3. What Love Means to Me รักคืออะไร
“รักคือตอนที่แม่คอยเช็คประตูก่อนนอนเพราะรู้ว่าพ่อต้องลืมล็อคแน่ๆ”
“รักคือตอนที่น้องสาวนอนไม่ได้ถ้าฉันไม่ได้อยู่ในห้อง”
“รักคือตอนที่เธอให้แตงกวาดองในชีสเบอร์เกอร์ของเธอ”
“รักคือการซื้อป็อปคอร์นรสหวานทั้งที่จริงๆ คุณชอบรสเค็ม แค่เพราะคุณรู้ว่าเธอชอบรสหวาน”

(ที่มา: What Love Means to Me)

รักแท้รักที่อะไร (ตับไตไส้พุง). *ไม่ใช่นะ*  โปรเจคต์นี้เป็นโปรเจคต์ที่ให้คนส่งมาว่าสำหรับตัวเองแล้วรักคืออะไร มุมมองความรักของบางคนเป็นรักที่ยิ่งใหญ่มาก ในขณะที่รักของบางคนอาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน สำหรับมินิมอร์เองความรักคงจะเป็นเหมือนการแบ่งหูฟังให้ใครฟังข้างหนึ่งแล้วแบ่งเพลงโปรดของกันและกันฟัง (เขินจัง ฮ่าๆ) ลองเก็บโจทย์ว่ารักของตัวเองคืออะไรไปสร้างไอเดียใหม่ๆ ก็สนุกดีนะ
 

4. Postsecret ส่งความลับ

(ที่มา: PostSecret)


โปรเจคต์ Postsecret เป็นโปรเจคต์ที่ให้คนส่งความลับของตัวเองผ่านทางโปสการ์ดโดยไม่บอกว่าใครเป็นคนส่งหรือโปสการ์ดนี้ส่งมาจากที่ไหน โดยคนสร้างโปรเจคต์มีไอเดียประมาณว่า คุณจะเจอคำตอบของตัวเองในความลับของคนอื่น (เจ๋งมาก) ซึ่งความลับนี้จะถูกโพสต์ลงทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กให้คนอื่นๆ เห็น การที่เราได้รู้ความลับของคนอื่นมันเป็นอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากนะ คงไม่มีใครที่อยู่ๆ ก็จะมาบอกความลับของตัวเองให้คนอื่นฟัง แต่เพราะพอทุกอย่างสามารถบอกได้อย่างนิรนามและอยู่ท่ามกลางความลับของคนอื่นๆ แล้วโปรเจคต์นี้เลยมีคนเข้าร่วมหลายคน มันสนุกตรงที่มีทั้งความลับเศร้าเหงาตลกครบเครื่องเลย บางความลับเป็นสิ่งที่เราคิดไม่ออกว่ามีคนคิดแบบนี้ บางทีคนที่เดินสวนคุณวันนี้อาจจะเป็นคนเขียนความลับอันนั้นก็ได้นะ!
 

5. I went to MoMa and… เมื่อฉันไป MoMa
 

(ที่มา: I went to MoMa)


เคยเปิดสมุดเยี่ยมชมของสถานที่นึงแล้วเห็นคนเขียนอะไรแปลกๆ สนุกๆ รู้สึกชอบ อยากเก็บไว้บ้างมั้ย? ถ้าชอบต้องลองดูโปรเจคต์ I went to MoMa โปรเจคต์ที่จบไปแล้วของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ หรือ Museum of Modern Art (MoMa) ที่แมนแฮตตัน นิวยอร์ก โปรเจคต์นี้เป็นการให้กระดาษและดินสอกับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมให้เขียนต่อจากประโยคว่า ฉันไป MoMa และ… ให้คนที่มาเยี่ยมชมเติม บางคนก็เขียนเล่าเรื่องราวความรู้สึก อย่าง
“ฉันไป MoMa และคิดถึงคุณ อยากให้มาด้วยกัน”
“ฉันไป MoMa มาแล้วไม่เจอโซลเมทเลย เฮ้อ ชีวิต”
“ฉันไป MoMa และมีความสุขมาก!!”
บางคนก็วาดรูปภาพแสดงอารมณ์ มีสนุก ซึ้ง ตลกก็ว่ากันไป ส่วนคนที่มินิมอร์ยกตัวอย่างมาเขียนว่า “ฉันไป MoMa มาแล้วเห็นเด็กอ้วก” สั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความ เศร้าจริง เจ็บจริง (ฮ่าฮ่าฮ่า น่าสงสารมากจนต้องแชร์)
 

6. The Art of Google Books อ่านหน้าเก่าในหน้าใหม่

 (ที่มา: The Art of Google Books)

 
โปรเจคต์สุดท้ายที่จะพูดวันนี้คือโปรเจคต์ The Art of Google Books เป็นโปรเจคต์ที่เอารูปความผิดพลาดหรือรูปที่มีอะไรพิเศษจากการแสกนหนังสือของ Google มาแชร์ เช่น หน้าที่มีลายเซ็นหรือลายมือใครเขียนทิ้งไว้ หน้าที่เขียนคอมเม้นท์รีแอคชั่นจากคนอ่านต่อหนังสือ (อย่างเช่น โอ๊ย หยุด ไม่จริง รับไม่ได้ นี่เขียนแบบนี้จริงๆ หรอเนี่ย) หน้าที่มีรอยมือของคนแสกนหนังสือ หรือแม้แต่หน้าที่มีแบบฟอร์มยืม-คืนหนังสือ
 
พอหนังสืออยู่ในโลกดิจิตอลเราก็คงไม่คิดว่าจะเจอเรื่องเล็กน้อยแบบนี้มากเท่าไหร่ โปรเจคต์นี้ทำให้เราเห็นว่าเรายังเก็บความคิด เรื่องราวเดิมๆ ไว้ในรูปแบบใหม่ๆ ได้ไม่ได้หายไปไหน โปรเจคต์ทั้งหมดที่ยกมาก็เหมือนกัน แต่ละข้อความหรือแต่ละภาพถูกสร้างไว้ไม่ได้เป็นเพียงการทิ้งความคิดลงบนกระดาษ ข้อความในอินเตอร์เน็ต หรือเป็นสิ่งที่ถูกเขียนทิ้งไว้ในหนังสือแล้วจบ แต่เป็นการถ่ายทอดความคิด รอให้มีคนมาเปิดอ่านและต่อยอดไอเดียตัวเองต่อไป


ประโยคบางประโยค บางคำพูดสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกสุขเศร้าหลากหลายมาก คงต้องยืมคำพูดของคุณ Frank Warren คนริเริ่มโปรเจคต์ Postsecret ที่บอกว่า "คุณจะเจอคำตอบของตัวเองในความลับของคนอื่น" มินิมอร์ขอเปลี่ยนเป็น "คุณจะเจอคำตอบของตัวเองในเรื่องราวของคนอื่น" สำหรับใครที่เจอคำตอบและเรื่องราวของตัวเองแล้ว อยากลองขีดเขียนหรือกำลังคิดทำโปรเจคต์ลองเริ่มได้ที่ minimore makers ได้เลย มินิมอร์จะคอยติดตามนะ :>