5 เหตุผลหลักๆ ที่ยืนยันว่าสมาร์ตโฟนกำลังฆ่าคุณช้าๆ

        รูปผู้หญิงหน้าไหม้ถูกฟอร์เวิร์ดทั่ว LINE กลุ่มครอบครัวพร้อมแคปชั่น 'ด่วน หญิงสาวในรูปนอนคุยโทรศัพท์อยู่ แล้วสมาร์ตโฟนก็ระเบิดใส่หน้า แชร์เลย เพื่อคนที่คุณรัก' ทั้งๆ ที่รูปนั้นมาจากซีรีส์เรื่อง The Walking Deadนี่คือสิ่งชี้นำที่ทำให้เราประเมินความอันตรายของสมาร์ตโฟนผิดจากความเป็นจริงไปมากมาย (เหมือนที่ภาพยนตร์เรื่อง JAWS ฝังหัวให้เรากลัวฉลามทั้งๆ ที่ยุงฆ่าคนไปมากกว่าฉลามประมาณ 70,000 เท่าในแต่ละปี) การใช้งานอย่างต่อเนื่องในทุกวันอย่างผิดวิธีต่างหากที่กำลังบั่นทอนสุขภาพของเราลงเรื่อยๆ นี่คือ 5 เหตุผลหลักๆ ที่ยืนยันว่าโทรศัพท์กำลังฆ่าคุณช้าๆ ทุกครั้งที่คุณใช้งานมัน


1. ปวดหลังเรื้อรัง ปวดต้นคอเรื้อรัง

อาการเริ่มต้น เมื่อยคอ ต้นคอ ปวดหลัง

สาเหตุ ในท่ายืนปกติ กระดูกสันหลังของมนุษย์ทั่วไปจะรับน้ำหนักของศีรษะที่ประมาณ 4.5-5.5 กิโลกรัม แต่เมื่อคุณเริ่มก้มหัวไปข้างหน้าเพื่อเริ่มฟอร์เวิร์ดข้อความ "สวัสดีวันจันทร์แรงกดทับที่เกิดขึ้นกับต้นคอและกระดูกสันหลังมีโอกาสที่เพิ่นขึ้นมาถึง 5-6 เท่า และกระทำกับกล้ามเนื้อและกระดูกในร่างกายคุณโดยตรง

จุดจบ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้กล้ามเนื้อคอและกระดูกสันหลังอักเสบจนต้องผ่าตัดใหญ่

วิธีแก้ไข ให้เลิกเล่นสมาร์ตโฟนคงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเวลาเล่นลองยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาให้สูงขึ้น ก้มหัวให้น้อยลง พยายามให้สายตาขนานพื้น ทนเมื่อยแขนหน่อยก็ดี



2. อาการปวดตา สายตาล้า ภาพเบลอ ยันไมเกรน

อาการเริ่มต้น ตาล้า ปวดตา ภาพเบลอ

สาเหตุ ในสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป มนุษย์จะกะพริบตาประมาณ 18 ครั้งต่อนาทีเพื่อรักษาความชุ่มชื้น แต่การจ้องหน้าจอโทรศัพท์ส่งผลให้เรากะพริบตาน้อยลงกว่านั้นมากทำให้ตาแห้ง แสบคันในเวลาต่อมา เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ ร่างกายเราก็จะพยายามสร้างน้ำตามาชดเชยความแห้งที่เกิดขึ้น การศึกษาพบว่าพนักงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มีปริมาณน้ำตาที่ไหลออกมามากพอๆ กับคนเป็นโรคตาแห้งเลยทีเดียว

จุดจบ  น้ำตาไหลไม่หยุด เป็นไมเกรนขึ้น

วิธีแก้ไข ถ้าจ้องหน้าจอคอมพ์นานๆ จนถึงจุดที่เมื่อยตาแล้ว ก็ลุกไปทำอย่างอื่นบ้าง หรือจะตัดแว่นที่ช่วยกรองแสงจากหน้าจอก็บรรเทาได้


3. รบกวนการนอนหลับ

อาการเริ่มต้น นอนไม่หลับ ความรู้สึกคึกคักตอนก่อนนอนมากกว่าหลังตื่น

สาเหตุ การจ้องหน้าจอที่ฉายแสงใส่ลูกตาเราในห้องมืดๆ ก่อนนอนจะทำให้ฮอร์โมน 'เมลาโตนิน' ที่ช่วยในการนอนหลับสลายไป และทำให้ช่วงเวลาหลับลึกลั้นลง วัฏจักรการหลั่งฮอร์โมน การนอน การตื่น การใช้ชีวิตประจำวันไม่เป็นไปตามปกติ

จุดจบ ตารางเวลาชีวิตผิดเพี้ยน ความดันสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2

วิธีแก้ไข เล่นมาก็ทั้งวัน ปิดไฟก่อนนอนแล้วก็วางมันลงบ้างเถิด ไม่ต้องซื่อสัตย์ไล่ส่งราตรีสวัสดิ์ให้ครบทุกแชตก่อนนอนก็ได้

4. สกปรก

อาการเริ่มต้น ตราบใดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเรายังจัดการได้ ยังเอาอยู่ไหวอยู่ ชีวิตก็ดำเนินไปตามปกติ

สาเหตุ นึกภาพตามนี้ เอมมี่เป็นหวัด > จามใส่มือ > นิ้วมือเปื้อนเชื้อโรคของเอมมี่ไถจอพรืดๆ > เอมมี่ยื่นสมาร์ตโฟนมาให้เราดูรูปเธอใส่บิกินี่ > มือเราไถจอพรืดๆ (ด้วยความหื่น) > นิ้วมือเราเปื้อนเชื้อโรค > นิ้วเราไถหน้าจอมือถือตัวเองพรืดๆ ขอ LINE เอมมี่ > เอมมี่ไม่ให้ > เราเก็บมือถือเข้ากระเป๋ากางเกง > กระเป๋ากางเกง มืด อับชื้น เป็นสวรรค์มันสวรรค์ของเชื้อโรคชัดๆ > ความร้อนอุ่นๆ จากมือถือเริ่งให้เชื้อโรคเต้นรำกันราวกับปาร์ตี้ EDM > ตัดภาพมา > เราควักมือถือมาไถจอพรืดๆ ตอนกินข้าว > เรากินเชื้อโรคเข้าไป 

จุดจบ ได้รับเชื้อโรคเยอะไป ป่วย ไปหาหมอ ...อย่าเลื่อนเลย อยากเจอ

วิธีแก้ไข ล้างมือบ่อยๆ หนังสือสุขศึกษาสมัยประถมฯ เขียนไว้ไม่มีผิด เพิ่มเติมโดยการเช็ดล้างหน้าจอสมาร์ตโฟนบ้าง และกรุณามีสติในการล้าง ไม่ใช่เอาสมาร์ตโฟนไปแช่น้ำฟอกสบู่


5. อุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนน

อาการเริ่มต้น รถเฉี่ยว จุมพิตกันชนคันหน้า

สาเหตุ มือถือและรถถูกออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์ใช้งาน แต่ไม่ใช่ใช้งานพร้อมๆ กัน สถิติของประเทศสหรัฐฯ ชี้ชัดว่า 1/4 ของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากเล่นมือถือแล้วทำให้ขับรถโดยประมาทเนี่ยแหละ

จุดจบ มากสุดก็รถชนตาย มากกว่านั้นก็คือคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ต้องมาตายด้วย

วิธีแก้ไข มีวิธีที่ดีกว่านี้มากมายที่จะพิสูจน์ความสามารถในการ multitasking หรือ ถ้ามีธุระด่วนมากก็จอดชิดซ้ายก่อนพิมพ์ ไม่งั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเหมือนในคลิปนี้


        ปี 2015 พบว่าประชาชน 2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดมีสมาร์ตโฟนใช้งาน สมาร์ตโฟนจอยักษ์กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เราก้มมองหน้าจอ LED บ่อยยิ่งกว่าเห็นหน้าตัวเองในกระจกห้องน้ำ คงจะดีกว่านี้ถ้าเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของเราวันละเล็กวันละน้อยเพื่อรักษาสุขภาพของเราให้ยาวนานขึ้นบ้าง  


Credit: thevisioncouncil.orgnymag.comharpersbazaar.comphonesoap.comusatoday.comdailymail.co.uk, mid-day.combusinesskorea.co.kr