1. คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ (Tetsuko Kuroyanagi)
เริ่มต้นคนแรกกับนักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น พูดถึงชื่อ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ บางคนอาจจะนึกไม่ค่อยออกว่าเป็นใคร แต่ถ้าพูดถึง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง แล้วล่ะก็ ต้องร้อง อ๋อ กันแน่ๆ เลย
โต๊ะโตะจังเด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นงานเขียนของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ เล่าเรื่องจริงของโรงเรียนประถมศึกษาในกรุงโตเกียวช่วงก่อนที่สงครามจะสงบไม่นานนัก นอกจากจะเล่าเรื่องราวในวัยเด็กของโต๊ะโตะจังแล้ว ยังบอกเล่าถึงความผูกพันระหว่างเธอกับหนังสืออีกด้วย เพราะในช่วงสงคราม ของเล่นต่างๆอาจจะไม่ได้มีให้เล่นมากมาย แต่ที่โรงเรียน เธอได้ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ ขีดเขียน วาดรูป ไปกับเพื่อนๆ ผ่านห้องเรียนที่ทำจากตู้รถไฟ ซึ่งสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจที่ให้มีโต๊ะโตะจังในวันนี้
หนังสือที่แนะนำ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่างและ นางสาวโต๊ะโตะ
2. โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl)
ย้ายมาทางฝั่งอังกฤษกันบ้าง กับนักเขียนวรรณกรรมเด็กอย่าง โรอัลด์ ดาห์ล ผลงานของเขาถูกแปลภาษาในหลายประเทศ และบางเรื่องยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย เช่น Matillda , Charlie and theChocolate Factory , The BFG และ Fantastic Mr. Fox เป็นต้น
เส้นทางของโรอัลด์นั้น เริ่มต้นจากงานเขียนสำหรับผู้ใหญ่ก่อนจะลองเขียนเรื่องราวในหลากหลายแนวทาง และมาประสบความสำเร็จสุดๆ กับการเขียนหนังสือเด็ก ซึ่งงานเขียนของโรอัลด์นั้นเกิดจากการเก็บรวบรวมเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ เวลาคิดอะไรออก ก็จดเอาไว้กันลืมแล้วค่อยนำมารวมกันและผูกเรื่องให้กลายเป็นเรื่องเล่าสนุกสนาน โดย โรอัลด์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อคุณเริ่มเขียนหนังสือก็เหมือนกับการออกเดินทางไกลผ่านภูเขาแมกไม้และสิ่งต่างๆ เมื่อพบกับทิวทัศน์แรกที่เห็นจงบันทึกมันไว้ เมื่อพบทิวทัศน์ที่สองก็จงบันทึกมันไว้ และเมื่อเดินทางถึงยอดเขา ที่นั่นคุณจะพบกับวิวที่สวยที่สุดจงนำทั้งสามสิ่งที่ได้เจอมารวมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนนั่นคือตอนจบที่ดีแม้ว่ามันจะใช้เวลานาน
หนังสือที่แนะนำ : Matilda, The BFG , The Witches ฯลฯ
3. แจ๊กเกอลีน วิลสัน (Jacqueline Wilson)
อีกหนึ่งนักเขียนสาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือมากว่า20ปีกับวรรณกรรมเด็กที่โดนใจตั้งแต่เด็กๆ วัยรุ่น ไปจนถึงรุ่นพ่อแม่ เธอเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 9 ขวบ! (โอ้โห ตอนนั้นเราทำอะไรกันอยู่บ้างนะ?) เขียนไปเรื่อยๆ หลายๆ แนวไม่ว่าจะเป็นนิยาย อาชญากรรม ฯลฯ จนมารุ่งพุ่งแรงสุดๆ กับงานเขียนหนังสือเด็กที่สะท้อนปัญหาที่เด็กได้รับในสังคม ผ่านการวางตัวละครง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่แฝงลึกถึงความเข้าใจและแง่คิดที่ดี โดยตัวแจ๊กเกอลีนเอง เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เธอรักหนังสือ ชื่นชอบรูปภาพ และพัฒนาตัวเองมาจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งจากความที่รักหนังสือนี้เอง ทำให้เธออยากจะเขียนหนังสือเพื่อที่จะช่วยเด็กๆ ที่กำลังมีปัญหา โห นอกจากเขียนหนังสือเก่งแล้วยังใจดีอีกด้วย
หนังสือที่แนะนำ : แสบกำลังสอง , ถึงแม่เพี้ยนหนูก็รัก,เอลซ่าเด็กหญิงห้าดาว ฯลฯ
4. คอร์เนอเลีย ฟุงเค่อ ( Cornelia Funke )
นักเขียนสาวคนนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น เจเคโรลลิ่งแห่งเยอรมัน เชียวนะ กับหนังสือชุด หัวใจน้ำหมึก (Ink Heart) ที่มีถึงสามภาค โดยจุดเริ่มต้นเส้นทางนักเขียนของคอร์เนอเลีย เริ่มจากการเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก และแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ มาจากหนังสือทุกเล่มที่เธอเคยอ่าน โดยที่เธอแชร์สิ่งที่เขียนให้กับลูกๆ ของเธอด้วย เรียกได้ว่านอกจากรักการอ่าน ชอบงานเขียน งานวาด แล้วยังส่งต่อความชอบนี้ให้กับรุ่นลูกอีกด้วยนะเอ้อ
หนังสือที่แนะนำ : หนังสือชุดหัวใจน้ำหมึก (Ink Heart)
5. แม๊ก คาบอท ( Meg Cabot )
ปิดท้ายด้วยนักเขียนหนังสือวัยรุ่นที่ถูกนำสร้างเป็นภาพยนตร์แสนโด่งดังในอเมริกาอย่าง Princess Diary หรือ บันทึกของเจ้าหญิง ที่เจ้าของผลงานคือ แม๊ก คาบอท เล่าว่า กว่าจะมาเป็นบันทึกเจ้าหญิงที่ทุกคนชื่นชอบอย่างทุกวันนี้ เธอถูกปฏิเสธมานับไม่ถ้วน จากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่เชื่อว่าเรื่องของเธอจะมีคนอยากอ่าน แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือบันทึกของเจ้าหญิงของเธอ มาจากเรื่องของเธอเองเป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นเจ้าหญิงจริงๆ หรอกนะ แต่เป็นเรื่องที่แม่ของเธอเป็นแฟนกับครูประจำชั้นหลังจากที่พ่อของเธอจากไปต่างหาก (เหมือนกับเจ้าหญิงมีอาร์ในเรื่องเปี๊ยบ) แถมแม๊กยังชี้แนวทางการเขียนให้กับนักเขียนรุ่นใหม่อีกด้วยว่า เขียนเรื่องที่เธออยากอ่าน เพราะถ้าหากแม้แต่เธอยังไม่ชอบอ่านงานเขียนของตัวเองแล้วใครจะชอบ
หนังสือที่แนะนำ : หนังสือชุด บันทึกของเจ้าหญิง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in