1
แอ่ด!
เสียงอ่อดหน้าบ้านของกล้วยดังขึ้นในเช้าวันเสาร์ เธอรู้ทันทีว่าแขกหน้าประตูคือท๊อปบาร์
2
ท๊อปบาร์เป็นเพื่อนวัยเดียวกันกับกล้วยที่พึ่งย้ายมาเช่าบ้านเยื้องออกไปไม่ใกล้ไม่ไกล ครอบครัวของท๊อปบาร์มีพ่อเป็นนักจิตวิทยาและแม่เป็นเชฟขนมหวาน ในวันแรกของการมาเยือน ครอบครัวของกล้วยจึงได้พายพีแคนน้ำผึ้งรสชาติโคตรอร่อยเป็นของขวัญสานสัมพันธ์เพื่อนบ้าน
“อย่างกับในหนังฝรั่งชัดๆ” กล้วยกระตุกชายกางเกงแล้วกระซิบบอกยาย
3
ท๊อปบาร์ใส่แว่นกรอบใหญ่ดูราคาแพงจนแม่กล้วยต้องย้ำเสมอว่า อย่าไปเล่นกับแว่นของท๊อปบาร์เด็ดขาด นอกจากนี้เขายังเป็นคนพูดเก่งน้ำไหลไฟดับ คำต่อคำ พูดได้โดยไม่ต้องเว้นจังหวะนึกเรื่องต่อไป แต่คนอ่านอย่าพึ่งเข้าใจผิด กล้วยบอกว่าเขาไม่ได้พูดเร็ว ในทางตรงกันข้าม ออกจะมีจังหวะจะโคน น่าฟังแถมยังปฎิบัติตามศีลข้อสี่อย่างเคร่งครัดไปอีก
“คือ ไม่โกหก น่ะเหรอ” กล้วยถาม
“ไม่ใช่โกหกอย่างเดียว “มุสาวาทา” ครอบคลุมถึง ไม่หยาบคาย ไม่ส่อเสียดและไม่เพ้อเจ้อ ด้วย” ท๊อปปบาร์ตอบทันควันก่อนจะเสริมว่าการตอบแบบทันทีโดยไม่ทันคิดหรือเตรียมตัวของเขา ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Impromptu
4
กล้วยวิ่งแจ้นกระโดดลงบันไดเว้นขั้นลงไปเปิดประตูต้อนรับแขกตัวน้อย ทุกๆ วันเสาร์เก้าโมงเช้า ท๊อปบาร์จะแวะมาหากล้วยพร้อมกับกระดาษเมมโม่ใบเล็กในมือ สิบห้านาทีในโซฟาห้องนั่งเล่น หรือ ห้องสมุดของพ่อพลางกินขนมต่างประเทศที่แม่กล้วยชอบซื้อกลับมาฝาก คือคลาสการเรียนความรู้ใหม่ๆ จากเพื่อนของเธอ
5
“รู้จัก Nash equilibrium ไหม” กล้วยกลอกตาในใจ อยากจะตอบกลับไปว่า แน่นอน เด็กไทยป.5 ในโรงเรียนธรรมดาอย่างเราต้องรู้จักวลีภาษาอังกฤษยากๆ ที่ดูมีความหมายเฉพาะเจาะจงอยู่แล้วน่ะสิ ถามได้ แต่นึกขึ้นได้ว่าจะเป็นการพูดส่อเสียด กล้วยจึงได้แต่ส่ายหน้าเบาๆ
“เมื่อวานบังเอิญดูยูทูปเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดีเราชอบมาก เลยอยากจะมาเล่าให้ฟัง เท่าที่เราเข้าใจนะ มันคือความสมดุลอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีคนอยู่สองฝ่าย กำลังทำกิจกรรมเพื่อนผลประโยชน์อะไรสักอย่าง” เจ้าหนูแว่นโตตาเป็นประกายขณะเล่า
“อาจจะเป็น การค้าขาย หรือเล่นเกมแข่งกันก็ได้ ต่อไปลองฟังตัวอย่างแบบง่ายๆ นะ” กล้วยฟังอย่างตั้งใจพยักหน้าพลางกัดคิทแคทรสพานาคอตต้าพีชไปครึ่งแท่ง
“สมมติว่าโลกนี้ไม่มีตำรวจจราจร มีรถสองคันกำลังออกเดินทางไปทีหมายขับมาเจอกันที่สี่แยก ทั้งคู่เงยหน้ามองขึ้นมาเห็นไฟจราจร คันสีเขียวเจอไฟเขียวส่วนอีกคันสีแดงเจอไฟแดง”
“ไหนบอกสมมติว่าไม่มีตำรวจจราจรไง”
“ก็ใช่ ไม่มีตำรวจ แต่มีไฟจราจร”
“อื้อ ตรงตามเงื่อนไข สองฝ่าย ทำกิจกกรรมเพื่อเป้าหมาย ว่าต่อสิ” กล้วยเร่ง
“ในเมื่อไม่มีตำรวจรถทั้งคู่ก็มีทางตัดสินใจว่า จะปฎิบัติตามไฟจราจรหรือไม่ก็ได้รถสีแดงอาจจะฝ่าไฟแดงเพื่อจะได้รีบไปถึงจุดหมาย หรือรถสีเขียว อาจจะกวนโอ๊ยหยุดรถซะดื้อๆ”
กล้วยนิ่งเงียบไปสักครู่ก่อนจะทักท้วง “แต่มันก็ไม่เม้กเซนส์อยู่ดีถ้ารถแดงฝ่าไฟแดง ก็มีสิทธิจะชนกับรถเขียวได้ รถเขียวเองก็คงไม่จอดอยู่นิ่งๆ นอกเสียจากว่าจะรู้ว่ารถแดงฝ่าไฟแดง แต่ใครจะไปเดาใจได้ล่ะ”
“ถูกเผงเลย! กล้วย เธอเก่งมาก” ท๊อปบาร์ซ่อนความลิงโลดไว้ไม่มิด เช่นเดียวกับเศษคิดแคทในปากที่ร่วงลงพื้น
“Nash equilibrium คือภาวะสมดุลที่ทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะปฎิบัติตามกฎหรือไม่เปลี่ยนการตัดสินใจ ต่อให้สามารถก็ตาม เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย อย่างในเรื่องนี้ การไม่แหกกฎจราจรก็จะเป็นวิธีที่รถทั้งสองคันจะไปถึงเป้าหมายโดยสวัสดิภาพในเวลาที่เร็วที่สุดยังไงล่ะ”
“สุดยอด เธอไปหามาจากไหนเนี่ย” กล้วยมักพูดประโยคดังกล่าวเป็นสัญญาณของการจบบทเรียนตอนเช้าวันหยุดของเด็กหญิง-ชายหัวดีคู่นี้
“อะไรสักอย่างเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง หรือทฤษฎีเกมเนี่ยแหละ อ่านไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก” ท๊อปบาร์ตอบแก้เขินคำชมแล้วแล้วค่อยๆ ลุกขึ้น
“ต้องไปแล้วล่ะ”
“อื้อ” อาจจะมีการการเล่มเกมเพลย์ฯ เดินเล่นในสวนหลังหมู่บ้าน หรือ กิจจกรรมน่าสนุกอื่นๆ ในวันหยุดหลังบทเรียนแต่ถ้าท๊อปบาร์ไปทันทีแปลว่ามีธุระกับที่บ้าน
6
ในหมู่บ้านเล็กๆ ย่านยานาวา เด็กชายในเบาะหลังที่คาดสายนิรภัยเรียบร้อย กับเด็กหญิงที่กำลังคุ้ยเปลือกไข่ในครัวไปเพ้นท์เป็นงานศิลปะกำลังอมยิ้ม คิดในใจเป็นใจความเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า
ถ้าจะเรียกความสัมพันธ์ของเราว่า Nash equilibrium ก็คงไม่ผิดเท่าไรนัก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in