เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Somewhat assortedSilapa Junior
Private Conversation: แด่มิวผู้เป็นมากกว่าตัวละคร
  • คงจะเถียงยากถ้าจะบอกว่ารักแห่งสยาม เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญในการ breakthrough ของวงการภาพยนตร์ไทย สำหรับเรา หนังนำเสนอมิติใหม่ของพลอตหนัง ทำหน้าที่เป็นไทม์แคปซูลชั้นดีในการถ่ายทอดและเก็บภาพของสยามสแควร์ในยุคที่ผมคิดว่ามันรุ่งเรืองที่สุดเอาไว้ และเป็นจุดแจ้งเกิดของนักแสดงหลายๆ คน และคงจะเชื่อยากอีกเหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ได้ผ่านมาถึง 10 ปีแล้ว ถ้าเป็นชีวิตจริง มิว โต้ง โดนัท หญิง พี่จูน หรือแม้แต่สุนีย์ ก็คงจะผ่านอะไรในชีวิตมากอีกมากเกินกว่าหนังอีกสักกี่เรื่องจะถ่ายทอดออกมาได้ ถ้าใครเป็นแฟนของ รักแห่งสยามคงจะตื่นเต้นไม่ใช่น้อย เพราะเราจะได้เจอมิวกันอีกครั้งครับ 

    ในการแสดง {private conversation} : A Farewell To Love Of Siam นี้ พิชพาเราไปคุยกับมิว ที่จริงจะเรียกว่าคุยก็คงไม่ถูกซะทีเดียว ออกแนวสะสางเคลียร์ปัญหาที่ติดค้างเพื่อการที่จะก้าวข้ามอะไรสักอย่างน่าจะเป็นคำพูดที่ตรงกว่า ว่าตลอดเวลาหนึ่งทศวรรษ มิวเป็นยังไง พิชเป็นยังไง ทั้งคู่ส่งผลต่อชีวิต กันและกัน อย่างไร 

    ถึงจะไม่ใช่แฟนเดนตาย แต่ชื่อของหนังนี่แหละ ที่เป็นตัวเชื้อเชิญให้ผมยอมซื้อตั๋วเข้าไปดูสิ่งที่คิดว่าจะเป็น spin-off หรือ "ภาคต่อ" ของจักรวาลรักแห่งสยามนี้ เพราะอยากรู้เรื่องราวต่อไปแม่สักนิดก็ยังดี

    การแสดงแบ่งเป็นสองพาร์ท คือมิวคุยกับพิชที่เป็นอากาศ และพิชคุยกับมิวที่เป็นอากาศ คือถ้าเอาสองพาร์ทมาเปิดพร้อมกันจะได้การสนทนาเต็มๆ เนื้อหาโดยรวมจะวนเวียนเกี่ยวความเป็นตัวตนของมิวและพิช ซึ่งมิวที่ถูกแช่แข็งอยู่ในวัยม.ปลาย มีความคิดความอ่านและ reference ในการตอบคำถามที่จำกัด (ข้อมูลมีเท่าที่เราเห็นในหนัง) มักจะโดนพิชตัวจริงต้อนไล่ถึงที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ ให้มิวตระหนักได้ว่าตัวเขาเอง เป็นแค่ 'ตัวตนประดิษฐ์' ส่วนพิชเองก็จะค่อยๆ ระบายปัญหาตัวตน ของตัวเองออกมาให้เราฟังเช่นกัน

    หลังการแสดงจบลง ผมตกอยู่ในที่นั่งที่รู้สึกโดนรู้ทันและตีแสกหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะโชว์ได้เล่นกับคนดูและความเป็นจริงในหลากหลายมิติ และมีแนวคิดในการแสดงที่ขยายต่อกว้างออกไปกว่าตัวโชว์ และได้สารที่เขาต้องการจะสื่อมาแบบเต็มๆ (ตรง bullet point อาจจะบอกเนื้อหาในโชว์เยอะหน่อยนะครับ)

    • จุดสนุกแรก คือเมื่อลงทะเบียน เราจะได้รับแจกโปสการ์ดกับดินสอที่ resemble จมูกของตุ๊กตาสัญลักษณ์ พร้อมกับเปิดโอกาสให้คนดู เขียนสิ่งที่อยากถามพิชกับมิว แล้วให้ไว้กับทีมงาน ซึ่งตัวโปสการ์ดจะถูกเอามาใช้ในการแสดงจริงๆ!  อันนี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก คือต้องซูฮกทั้งพิชและผู้กำกับและทีมงาน มันเป็น rehearsed improvisation ที่ต้องอาศัยการคิดและฝึกฝนไม่ใช่น้อยเลย คือไม่ใช่การด้นสดซะทีเดียวแต่เป็นการคาดเดา scenario ที่อาจจะเกิดขึ้นและฝึกซ้อมที่จะเล่นไปตามความเป็นไปได้นั้นๆ แล้วเชื่อมเข้ากับเส้นเรื่องปกติได้ (ทำเอาผู้นึกถึงการซ้อมผู้คุมห้องเชียร์ที่คณะฯเลย) 


    • จุดต่อมาคือ ประเด็นหลักของเรื่อง สิ่งที่พิชอยากจะบอกคือ มิวมันเป็นแค่ตัวละคร ที่ถูกแต่งขึ้นและจบไปเมื่อนานมาแล้ว โปรดอย่าทึกทักเอามิวมาเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนเดียวกับพิช พิชไม่ได้มีพันธกรณีใดๆ ที่จะต้องรู้หรือแต่งเรื่องราวของมิวไปมากกว่าที่หนังมันบอก พิชเองก็รู้สึกขอบคุณมิวที่ได้พาพิชมาถึงจุดนี้ แต่บางทีมิวเองก็ไม่ได้ถามถึงความต้องการของพิชเลย มันถึงเวลาแล้วที่พิชจะ disassociate ตัวเองออกจากมิว ให้พิชได้เป็นพิชอย่างเต็มตัวเสียที จุดนี้ส่งผลกระทบอย่างแรงมาก คือเรารู้สึกโดนตบหน้า เพราะกูนี่แหละคือคนที่อยากมาดูเพราะมันเกี่ยวข้องกับ รักแห่งสยาม ไม่ได้แคร์พิชเลย (ขอโทษครับ) มันเป็นการตอกย้ำปรากฎการณ์ว่าพิชกับกำลังประสบกับ identity crisis ที่สังคมเป็นคนสร้างให้ (ตัวเราเป็นหนึ่งในสังคมนั้น) ยิ่งไปกว่านั้นความพีคคือในรอบที่ผมดู มีแฟนๆ ชาวจีน ร่วมสิบคนมาดู โดยที่ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเป็นแฟนหนังหรือแฟนคลับพิช แต่ทุกคนดูอินเบอร์ร้อยเบอร์ล้านราวกับคนสนิทของพิช/มิวจริงๆ ตอนโชว์ใกล้จะจบ พิชถึงกับเดินไปหาป้าคนจีนที่แอบถ่ายวีดีโออยู่ แล้วพูดกับแกว่า 'Next time, you have to write your own chapter.'

    • จุดต่อมาคือเรื่องของโต้ง สังเกตได้ว่าทุกคนที่มาดูจะโฟกัสกับเรื่องโต้งมาก ดังเห็นได้จากคำถามที่ถูกเขียนส่งไป อยางรู้โต้งของพิชในชีวิตจริงบ้างล่ะ อยากรู้ว่ามิวยังรักโต้งอยู่ไม๊บ้างล่ะ ซึ่งที่จริงแล้วในเส้นเรื่องหลัก แทบจะไม่มีการใคร่ครวญถึงโต้งอยู่เลย มีแค่การพูดถึง มาริโอ้ then and now ที่กลายเป็นพระเอกร้อยล้าน และประโยคจี๊ดใจ 'เราคงเป็นแฟนกับมิวไม่ได้แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักมิวนะ' เท่านี้ มันเป็นการชี้ให้เห็นว่าในฐานะคนดู เราเอาเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคนนี้มาขยายเสียจนเป็นไม่กี่สิ่งที่เวียนอยู่รอบชีวิตของมิว โดยที่แม้แต่ตัวมิวเองยังไม่ได้หมกมุ่นกับมันถึงขนาดนั้นเลย ก็แค่ผิดหวังและ move on เท่านั้นเอง

    เราได้ดูการแสดงของพิชในระยะใกล้ชิด ฉากมีเพียงโต๊ะ โปรเจคเตอร์ โคมไฟคล้ายในห้องสอบสวนและเก้าอี้สองตัว

    ด้านการแสดงโดยรวม ผมมองว่าการถึงเนื้อถึงตัวและระเบิดอารมณ์อย่างเต็มที่ อาจจะไม่ได้เข้าทางคนดูอนุรักษ์นิยมด้วยประสบการณ์การดูละครอย่างผมมากนัก แต่มันก็ไม่ได้ทำให้การชื่นชมความเจ๋งความแข็งแรงของแนวคิดหรือความตัวแม่ตัวเมพของพิชลดลง เรียกได้ว่าไม่เสียใจสักนิดที่ได้มาดู 

    'ขอบคุณนะ'

    มิวพูดกับพิชซ้ำไปซ้ำมา เหมือนที่พูดกับโต้งในฉากสุดท้ายใน รักแห่งสยาม ก่อนจะเดินออกจากฉากไปพร้อมกับเปิดประตูให้เสียงจาก live concert เบื้องล่างลอดเข้ามา

    If you leave me now, you'll take away the biggest part of me....

    แม่งเอ้ย If you leave me now ของวง Chicago ถูกเล่นขึ้นแบบพอเหมาะพอเจาะเชี่ยๆ เป็นการปิดฉากของรักแห่งสยามในความคิดของเราที่ทรงพลังเหลือเกิน ขอบคุณโชว์นี้ที่ทำให้เราได้สัมผัสอะไรที่สดใหม่และย้ำเตือนกับเราให้ย้อนกลับไปเยี่ยมและจมอยู่กับบรรยากาศของการใส่เสื้อสีสดใสทับเสื้อนักเรียน อากาศหนาวในกรุงเทพฯ ร้านรวง ไฟคริสมาสต์ และดนตรีสดของสยามสแควร์อีกครั้ง รู้สึกโชคดีมากๆ

    ถ้ามีเวลาและกำลังทรัพย์ ผมแนะนำเลย ลองไปดูกันครับ

  • {private conversation} : A Farewell To Love Of Siam 

    นำแสดงโดย พิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล

    วันที่ 17-19 พย.   เวลา 20.00-21.00
    วันที่ 24 พย.     เวลา 17.00-18.00
    วันที่ 25-26 พย.  เวลา 20.30-21.30
    วันที่ 1-2 ธค.     เวลา19.00-20.00
    วันที่ 3 ธค.        เวลา 17.00-18.00

    ราคาบัตร 500 บาท

    สถานที่แสดง (Venue) : Free Form Festival 2017 ที่ Acmen Ekamai อยู่ระหว่างซอยเอกมัย 13-15ซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/event/farewelltoloveofsiam
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in