เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอ็ดมิทจิตเวชNoot Tharara
กับผู้ป่วยไบโพล่าร์ โรคซึมเศร้า เราพูดอะไรด้วยได้บ้าง
  • หลังจากที่ทำไมประโยคเหล่านี้ถึงต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถูกแชร์ในทวิตเตอร์ เราก็แอบไปตามส่องฟีดแบคมา ก็ได้พบว่า "อันนั้นก็พูดไม่ได้อันนี้ก็พูดไม่ได้ แล้วพูดอะไรได้บ้าง" เออว่ะ พูดอะไรได้บ้าง วันนี้เราก็เลยจะมาเล่าว่าประโยคไหนที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น

    อันนี้ based on my experience ที่คุณหมอพูดคุยกับเรานะคะ ยังไงถ้าจะนำไปประยุกต์ใช้ก็แล้วแต่เคสไปเนาะ

    .......................................................................................................................................

    1. "เท่าที่หมอคุยกับครอบครัวคุณ ทุกคนเป็นห่วงคุณนะคะ ครอบครัวเขารักคุณ เขาอยากให้คุณอยู่ต่อนะคะ" ประโยคนี้เป็นประโยคที่หมอพูดกับเราตอนแอ็ดมิทจิตเวชครั้งแรก ย้ำแล้วย้ำอีกตั้งแต่วันแรกที่เข้า จนวันสุดท้ายที่ออก

    ต้องอธิบายว่ามีเหตุมาจาก ตอนที่เราอยู่ในขั้วซึมเศร้าเนี่ย เราจะควบคุมความรู้สึกเราไม่ได้ เอะอะก็เศร้าไปหมด เอะอะก็โทษตัวเอง เราจะรู้สึกผิด รู้สึกว่าเราเป็นภาระครอบครัว ทั้งๆ ที่เรียนจบแล้วก็ยังทำงานไม่ได้(ตอนนั้นหมอห้ามทำงานค่ะ) และอีความรู้สึกที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้มันเป็นเหตุให้เราคิดว่า ตัวเองไม่สมควรมีชีวิตอยู่ ตายไปแล้วทุกอย่างก็จะจบไป

    เรารู้สึกผิดแบบนี้อยู่พักนึง พูดง่ายๆ เลยว่าเหมือนเราโดนแอ็ดมิทเพื่อปรับทัศนคติข้อนี้เลย ความรู้สึกผิดเกินไปมันแย่มากนะ มันเหมือนเราเป็นภูเขาลูกโตที่หนักอกคนอื่นอยู่อะไรแบบนั้นเลยอะ ประโยคนี้ช่วยเรามาก พอผ่านจุดนั้นมาเราก็ไม่รู้สึกแบบนี้อีก ใช้ชีวิตง่ายขึ้นอีกหนึ่งระดับ


    2. "สมมติว่าเราเป็นน้ำแก้วหนึ่ง แล้ววันนึงมีสีดำหยดลงไปในแก้วนั้น เราจะทำยังไงให้น้ำในแก้วกลับมาใสเหมือนเดิม?" นี่เป็นประโยคที่หมอถามเราในวันเศร้าหมอง ให้ทายอีนี่ตอบว่าอะไร "คนๆ ให้มันตกตะกอนค่ะ" แต่แล้วหมอก็เฉลยว่า "จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราหมั่นเติมน้ำใสลงในแก้ว จนน้ำสีดำล้นแก้วออกมา แล้วน้ำในแก้วก็จะกลับมาใสเหมือนเดิม" ซึ่งจริงๆ คำตอบมันเบสิคมากอะ แต่อีนี่คิดไม่ได้ โว๊ะ

    ประโยคคำถามนี้เหมือนมีนัยว่า ถ้าเราหมั่นเติมพลังด้านบวกให้กับตัวเอง พลังลบก็จะค่อยๆ หายไปในที่สุด ให้โอกาสตัวเอง ชีวิตเรายังเริ่มใหม่ได้เสมอ วันนี้ขุ่นก็ไม่ใช่ว่าจะกลับมาใสไม่ได้ ตอนเราคุยกับหมอเสร็จเรารู้สึกได้ถึงการถูกซ่อมแซมเลยนะ

    เวลาที่เราดาวน์ๆ ความรู้สึกมันจะเหมือนเราขังตัวเองอยู่ในห้องปิดตายที่แสงเข้ามาไม่ถึง แล้วประโยคนี้เป็นเหมือนค้อนของคนที่มาช่วยเจาะผนังห้อง เปิดให้แสงแดดทอเข้ามาให้ความอบอุ่นแก่เราอะ #นี่ #สวย


    3. ทำความเข้าใจกับโรค ข้อนี้จริงๆ เราไม่ได้หวังให้ทุกคนมาเข้าใจโรคนี้หมดหรอก แต่มันก็ดีมากนะเวลาที่เรามีคนที่เข้าใจโรคมาคอยรับฟังหรือเข้าใจ ซึ่งเราว่าโรคนี้เข้าใจค่อนข้างยากนะ เพราะมันไม่ใช่อาการป่วยที่มองเห็นด้วยตาเปล่า

    เรามีเพื่อนเรียนพยาบาลที่เคยผ่านการฝึกงานที่ศรีธัญญามาก่อน เพื่อนที่เป็นเภสัช รวมถึงเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยด้วยกัน เพื่อนกลุ่มนี้จะเข้าใจเราเวลาที่เรามีอาการ ให้คำแนะนำดีๆ เรารู้สึกได้รับการเข้าอกเข้าใจจริงๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้เขาแย่นะ เป็นเราเองแหละที่ไม่กล้าไปเล่าให้ฟัง แรกๆ เราก็เล่านะ แต่เรารู้สึกว่าเพื่อนไม่ค่อยเก็ท เรากลัวเพื่อนรำคาญ มันต้องเป็นฟีลแบบ เพื่อนที่มีแฟนมาระบายเรื่องแฟนให้ฟัง ซึ่งกูไม่มีไง ไม่เก็ท อะไรแบบนั้น

    นอกจากจะได้เข้าอกเข้าใจแล้ว จะยังได้รู้อีกว่ากิจกรรมไหนที่ดีกับผู้ป่วย เช่น การออกกำลังกายแบบไหน อาหารประเภทไหนดี อาหารประเภทไหนงด ช่วยให้ดีขึ้นทั้งกายทั้งใจกันไปเลย

    จากข้อนี้ 'เอ๊า งั้นเราก็หาเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยเหมือนกันสิ' ไม่ดี๊ ไม่ดีนะคะ คือจริงๆ ตอนเราอยู่ในโรงพยาบาล เขาห้ามแลกคอนแทคกันเลยนะคะ และจากที่เรามีเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยเหมือนกันหลายคน ถ้าไม่อยู่ในช่วงดิ่งพร้อมกันก็แล้วไป แต่ถ้าดิ่งพร้อมกันนี่น่ากลัวมากอะ เพราะจะพากันดิ่งหนักไปอีก เผลอๆ จะพากันทำร้ายตัวเองไปอีก


    4. "อืมมม ดีมากค่ะ เยี่ยมๆ " เป็นประโยคที่หมอพูดเวลาที่เราทำอะไรที่ช่วยให้อาการเราดีขึ้น เช่น ออกกำลังกายทุกวัน ทำบันทึกรายรับรายจ่าย ทำงานอดิเรก งดคาเฟอีน เป็นต้น พอเล่าให้หมอฟังหมอก็จะพูดแบบ "อ่าา เยี่ยมค่ะ" "อืมมม ทำดีแล้วนะคะ"

    ถึงวิธีจะดูเด็กนิดหน่อย แต่มันช่วยให้เรารู้สึกอยากทำสิ่งนั้นต่อไปนะ เราก็จะรู้สึกเหมือนกับได้รับคอนเฟิร์มแล้วว่าเรากำลังมาถูกทาง ทำต่อไป ดีๆ เยี่ยมมากชลธรา เยี่ยมๆ อะไรแบบนั้น 

    ไม่ใช่แค่หมอนะที่พูดประโยคนี้กับเรา เพื่อนเราก็พูดเวลาที่รู้ว่าเราทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่นการเขียนเล่าเรื่องแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ เพื่อนเราก็จะช่วยเชียร์ ช่วยติชม เราก็รู้สึกว่าอยากทำต่อไป อย่างน้อยเพื่อนก็อยากอ่านล่ะวะ


    5. "นึกถึงครอบครัวคุณ เพื่อนคุณนะคะ มันมีเคสที่ผู้ป่วยตายไป แล้วคนข้างหลังก็เป็นโรคซึมเศร้าตามไปเลยนะคะ" อันนี้เป็นประโยคสุดยื้อตอนที่เราแอ็ดมิทรอบที่สอง หลังจากได้รับการรักษา เราก็รู้สึกดีขึ้นมาก แต่ความรู้สึกว่าอยากตายก็ยังมีมาคอยรบกวนเราเรื่อยๆ จนเราสงสัยว่า จริงๆ แล้วเราอยากไปหรืออยากอยู่ เราก็เล่าให้หมอฟัง ก่อนที่เราจะหาคำตอบให้ตัวเอง

    ตอนที่เราฟังเราเฉยๆ กับประโยคนี้นะ เหมือนเราตัดสินใจไปแล้วอะ แต่กับคนอื่น ประโยคนี้อาจจะช่วยให้เขานึกถึงคนที่เขารักอยู่ข้างหลัง เขาอาจจะไม่อยากให้คนที่เขารักมาเผชิญกับโรคที่เขาเป็นอยู่ 


    6. พูดถึงเป้าหมาย สิ่งที่เขาอยากทำ หรืออนาคตที่เคยวางไว้ร่วมกัน ยิ่งถ้ามีแผนการณ์ที่เคยวางไว้ร่วมกัน และยังอยากทำด้วยกันอยู่ บอกเขาไปเลย แสดงออกไปเลยว่า เราหวังจริงจังว่าจะได้ไปทริปกินแหลกที่เกาหลีกับแกนะเว้ย เราอยากไปกับแกนะเว้ย

    ข้อนี้คือการยื้อไว้ด้วยความรักที่เขามีต่อตัวเอง สิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันจะทำ สิ่งที่อยากเป็น แต่ก็ต้องระวังว่าอย่าไปกดดันเขานะ ไม่งั้นจะกลายเป็นความเครียดอีก รู้สึกผิดขึ้นมาอีก 

    .......................................................................................................................................

    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่แค่จากประสบการณ์ของเราคนเดียว ซึ่งเป็นโรคไบโพล่าร์ อาจจะมีวิธีการพูดให้รู้สึกดีอื่นๆ อีก แค่เรายังไม่เคยเจอ

    และทั้งนี้ทั้งนั้น การจะนำไปใช้ต่อก็แล้วแต่เคสไปอีก อาจจะต้องปรับๆ บิดๆ ให้เข้ากับตัวผู้ป่วยแต่ละคนไปอีก เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยที่ท่านรัก
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Miss. K (@hirana_ka)
เห็นด้วยกับข้อสุดท้ายค่ะ เราทั้งในฐานะคนที่มีผู้ป่วยซึมเศร้าในครอบครัว มีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า และตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ป่วย สิ่งหนึ่งที่เราต้องการคือความสัมพันธ์ที่แน่นอนค่ะ ในจุด depressed เราอยากให้มีคนอยู่ข้างๆเรา ฟังเรา ถามเราว่าเป็นไงบ้าง ชวนคุยไร้สาระ ดินฟ้าอากาศก็ได้ ให้รู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว

ก่อนที่เราจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค เราก็เป็นคนที่คอยตามติดเพื่อนที่เป็นซึมเศร้าค่ะ-- ตอนนั้นอาการเรายังไม่แสดงมาก แต่ก็พอมีความรู้เรื่องโรค พอเพื่อนดูแปลกๆไปก็สงสัยเลยพยายามไปหา เอาขนมไปล่อ ไปนั่งคุย หาข้ออ้างเอางานไปนั่งทำกับมัน ให้มันรู้ว่า "กูอยู่ตรงนี้กับมึงนะเว้ย" (อันนี้สำคัญนะ เวลาเขาพยายามคุย หรือพยายามเล่าอะไรให้เราฟัง อย่าขัด อย่าปฏิเสธ มันเป็นตัวแปรทำให้อาการหนักขึ้น คิดซะว่าที่เขาคุยกับเราเนี่ย เขาพยายามแล้ว ตอนดีเพรสนี่ แค่ลุกขึ้นยังแทบไม่ไหวเลยนะ การที่เขามาคุยกับเราคือสุดๆแล้ว จะเรียกว่าเป็นการขอความช่วยเหลือเฮือกสุดท้ายก็ได้)
Noot Tharara (@Nootsstories)
@hirana_ka เราเองก็รู้สึกดีเวลาเพื่อนถามเรื่องโรคนิดหน่อย แต่ชวนคุยสัพเพเหระไปเรื่อยเยอะ ๆ มันทำให้เราไม่จดจ่อ คิดเรื่องอื่นได้(ถึงจะแป๊บเดียวก็เถอะ) มันมีคนที่ผ่านมันไปได้ หรืออยู่กับมันได้ เราเองก็เชื่อว่าเราก็ต้องทำได้เหมือนกันค่ะ(ถึงตอนดีเพรสแล้วจะลืมความเชื่อนี้ไปหมดก็เถอะ 55555) อยากชวนคุณมาเชื่อเหมือนกันค่ะ (=