บล็อกแรกของเรา ที่เขียนคำโปรยไว้ว่า "การเรียนในเอกภาษา ให้เรามากกว่าแค่ภาษา" เราแนะนำคำว่า "ภาษาศาสตร์" ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักและเข้าใจมากขึ้น และได้ให้คำสัตย์ไว้ว่าเนื้อหาที่เราจะเขียนผ่านวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์นี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ที่กำลังเรียนหรือสนใจภาษาอยู่ นำความรู้นี้มาต่อยอดและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ ถึงแม้เราจะเขียนถึงภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่เรายังนึกถึงสิ่งที่เราเขียนในบล็อกนี้ไว้เสมอ และพยายามเขียนทุกบล็อกให้เข้าใจง่ายที่สุดแม้จะเป็นเนื้อหาภาษาญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งการที่เพื่อน ๆ ได้อะไรกลับไปบ้าง แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเราบรรลุจุดประสงค์และเป้าหมายของเราในข้อนี้แล้วค่ะ ^^) ❤️
บล็อกที่เราต้องการหาคำตอบให้เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่กำลังพบเจอความลำบากในการเรียนภาษาค่ะ ซึ่งคำตอบหนึ่งที่ว่าทำไมเราถึงไม่เก่งภาษาขึ้นซักทีก็คือ ภาษาแรกที่เราเรียนรู้ หรือ FLA นั่นเองค่ะ ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ของเราก็จะกำหนดว่าเราสามารถเรียนรู้ภาษาต่อ ๆ ไปได้ดีขนาดไหน นอกจากนี้ยังมีบ่วงในเรื่อง"ช่วงเวลาในการเรียนภาษา" หรือ The Critical Period ที่หากเราเริ่มต้นช้าเกินไปก็อาจทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ยากขึ้นนั่นเองค่ะ
เป็นภาคต่อจากบล็อกแรก ซึ่งเราได้ลองยกกรณีของน้อง ๆ ที่บ้านเรา มาเขียนเป็นบล็อก เพราะคิดว่าเป็นเคสที่น่าสนใจดีค่ะ เราเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในวิธีการเรียนภาษาแบบ "ซึมซับและนำไปใช้" มากค่ะ เพราะเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นผ่านสื่อต่าง ๆ มา พอเราเห็น Process ของน้อง ๆ ที่เป็นลูกครึ่ง รวมถึงยังต้องพูดกับคนหลาย ๆ ภาษา ก็ทำให้เราเห็นว่าพวกเขามีทั้ง Input และ Output ที่ดี รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีภาษาอื่น ๆ ได้ง่ายแบบกิ้งก่าคามิลเลียนเลยละค่ะ! สิ่งสำคัญที่สุดที่เราเห็นจากตัวน้อง ๆ ก็คือ "ความสนุกและความมั่นใจ" ในการใช้ภาษา ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงที่คอยเติมให้เราอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเก่งขึ้นได้ในอนาคตค่ะ
เรื่องนี้เราได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนเราค่ะ เพื่อนเราเลี้ยงหมาหลายตัว แต่ก็เรียกพวกมันว่าไอ้โบ้จนติดปาก ประกอบกับตอนนั้นเราได้เรียนเรื่อง "Metonymy" หรือ นามนัย จากในคาบพอดี ก็เลยลองเอามาเขียนเชื่อมโยงกันค่ะ ^^) การเขียนบล็อกนี้ทำให้เราได้รู้ที่มาของชื่อเจ้าโบ้ ไปจนถึงเจ้าโปจิของญี่ปุ่นด้วยค่ะ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็เป็นการพูดถึงโดยไม่ได้บอกว่ามันหมายถึงอะไรตรง ๆ แต่คนที่ฟังก็จะเข้าใจได้ว่าหมายถึงน้องหมา ซึ่งเป็น Concept ของ Metonymy นั่นเอง
เป็นบล็อกที่เขียนมาเพื่อเอาใจเพื่อน ๆ ที่กำลังลำบากกับการเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเลยค่ะ เราได้เขียนอธิบายถึงโครงสร้างของภาษาญี่ปุ่น ว่าเป็น "ภาษาสมองกลับ" พูดลำดับคำกลับด้านกับภาษาไทยจนปวดหัว นอกจากนี้ในโครงสร้างของภาษาญี่ปุ่นแบบนี้ก็ทำให้เกิดลักษณะพิเศษขึ้นคือ โครงสร้างแบบหลวม ๆ ที่เรียกว่า "外の関係" ขึ้นค่ะ คือสามารถบอกความหมายอื่นที่เกินไปกว่านั้นได้ ทั้ง ๆ ที่ภาคแสดงบางส่วนถูกละไว้ กล่าวคือซ่อนประธานและซ่อนความหมายไว้นั้นนั่นเอง
คอนเทนต์น่ารัก ๆ ที่พูดถึงเรื่องสี เรื่องนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนของเราเช่นกันค่ะ พอเราได้ยินคำว่า "青りんご" แล้วเราก็นึกสงสัยว่าแอปเปิลสีฟ้ามันมีด้วยเหรอ ?-? พอลองหาคำตอบดูก็ได้ไปพบกับทั้งประวัติศาสตร์สี ที่แต่เดิมสมัยก่อนจะมีคำแบ่งสีน้อยกว่าปัจจุบัน ทำให้เขาเหมารวมสีอื่น ๆ เข้าไปด้วย สิ่งที่เราตกใจจากการทำเรื่องนี้ก็คือการ "ผันคำเรียกสี" ในภาษาญี่ปุ่นค่ะ เพราะเราก็ไม่เข้าใจมาตลอดว่าทำไมบางสีถึงผันเป็น ADj.い ทำไมบางสีถึงต้องเติมคำว่าสีต่อท้าย ตอนที่หาข้อมูลก็ถึงบางอ้อเลยค่ะ
เหตุเกิดจากเราได้เรียน Story Telling ในคาบเรียนและได้รับโจทย์ Master Class ให้เรามองภาพการ์ตูนสี่ช่อง และต้องเล่าเรื่องออกมา ณ ตอนนั้นเลยค่ะ ซึ่งพอเราเล่าต้องเล่าจริง ๆ เรารู้สึกเลยว่าในหัวมันว่างโล่งมาก ไม่รู้จะหยิบคำไหนมาใช้ให้เรื่องราวของเราดูปะติดปะต่อกัน หรือจะต้องเน้นตรงจุดสำคัญยังไง บล็อกครั้งนี้ก็เลยเป็นการเตือนสติเราด้วยค่ะ ส่วนเนื้อหาเราได้ใส่การเลือกใช้หรือเปลี่ยนคำบางจุด เช่น คำเชื่อม คำลงท้ายบอกอารมณ์และมุมมองอย่าง てしまう ていく รวมไปถึงการอธิบายรายละเอียดของสิ่งของ หรือประธาน เพื่อให้เรื่องราวของเราสนุกและเข้าใจง่ายมากขึ้น หวังว่าเพื่อน ๆ จะจำได้และลองหยิบไปใช้กันค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in