สาระภาษาในวันนี้ขอนำเสนอ...เกร็ดเล็ก ๆ ในภาษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับ "สี" ค่ะ! เพื่อน ๆ บางคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่า ไฟจราจรที่ญี่ปุ่น ไม่ใช่สีเขียวแต่อย่างใด แต่ เป็นสีฟ้าต่างหาก
...ซะเมื่อไหร่ ความจริงแล้ว มันก็เป็นสีเขียวเหมือนบ้านเรานี่แหละค่ะ (^_^) แต่ทำไม๊ ทำไม คนญี่ปุ่นถึงเรียกไฟจราจรบ้านตัวเองว่า "สัญญาณไฟสีฟ้า" กันละ หรือเขามองเห็นสีไม่เหมือนเรากันนะ วันนี้เพื่อน ๆ จะได้คำตอบกลับไปแน่นอนค่ะ
สี ที่เพิ่มขึ้นตาม "ยุคสมัย"
ถึงแม้โลกของเราจะมีสีสันมากมายเต็มไปหมด แต่พวกชื่อเรียกสี ไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับสีเหล่านั้นค่ะ ประเทศญี่ปุ่นเอง ในสมัยเฮอันก็มีคำเรียกสีอยู่หลัก ๆ แค่ "สี่สี" เท่านั้นเอง สีเหล่านั้นคืออะไรบ้าง พอจะเดากันออกไหมคะ // แนบรูปอุคิโยะเอะเป็นคำใบ้
ปิ๊งป่อง ๆ ถูกต้องแล้วค่ะ คำเรียกสี่สีพื้นฐานในสมัยนั้นก็คือ สีแดง , สีดำ , สีขาว และ สีน้ำเงิน นั่นเองค่ะ โดยที่มาของคำเรียกสีเหล่านี้ ยังมีความหมายอื่นแฝงมาอีกด้วยค่ะ
- สีแดง「赤」:มาจากคำว่า「明かし」เพราะ สีแดงเป็นสีโทนร้อน สว่าง ให้ความรู้สึกที่โดดเด่น ชัดเจน อย่างในภาษาญี่ปุ่นเองมีคำศัพท์ที่เอาไว้ใช้เรียกคนแปลกหน้าว่า「赤の他人」ซึ่งหมายถึง 明らかな他人 หรือคนที่ชัดเจนว่าไม่มีความข้องเกี่ยวใด ๆ กันเลยนั่นเองค่ะ
- สีดำ「黒」:แสดงความรู้สึกถึงสีโทนเย็น
- สีขาว「白」:「著しい」หมายถึง สีที่มีความชัดเจน เห็นได้ชัด
- สีน้ำเงิน「青」:「淡し」หมายถึง สีที่ซีด อ่อน เลือนราง
ถ้าลองสังเกตที่มาของชื่อสีแต่ละสี จะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนนั้นแบ่งสีด้วย ความสว่าง หรือ ความชัดเจน (clearness) ของสีนั่นเองค่ะ
เคยสังเกตไหม ทำไมสีในภาษาญี่ปุ่นผันรูปไม่เหมือนกัน
เชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นต้องเคยสงสัยเหมือนเราแน่นอน ทำไมบางสีถึงผันคำแบบนี้ แต่สีนี้ผันเป็นอีกแบบ สร้างความปวดหัวให้กับคนที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นไม่น้อยเลยค่ะ แต่พอเรารู้จักคำเรียกสี่สีพื้นฐานของภาษาญี่ปุ่นแล้วก็จะเข้าใจได้ในทันทีค่ะ
คำเรียกสีพื้นฐานทั้งสี่สีของญี่ปุ่น ในปัจจุบันก็ยังคงการผันรูปเป็น คำคุณศัพท์ い อยู่ เพราะถือว่าเป็นคำดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ ทั้งสี่สีนั้นก็จะผันได้เป็น สีแดง「赤い」, สีขาว「白い」, สีดำ「黒い」, สีน้ำเงิน「青い」
ต่างจากคำเรียกสีอื่น ๆ ที่ไม่เป็นรูป Adj い แต่จะเติมคำว่า "สี" หรือ 色 เข้าไปต่อท้ายแทน เช่น สีเหลือง「黄」>「黄色い」, สีน้ำตาล「茶」>「茶色い」หรือบางสีจะใช้เป็นแทนคำนามไปเลย อย่างเช่น สีเขียว「緑の」ค่ะ
แล้วสีน้ำเงินกลายมาเป็น สีเขียว ได้อย่างไรกันนะ?
เนื่องจากคำบอกสีเดิมที่มีอยู่ ไม่สามารถอธิบายสีสันที่มากมายรอบตัวเราได้ทั้งหมด จึงมีการขยายคำจำกัดความ หรือขอบเขตความหมายของ คำเรียกสีน้ำเงิน ที่เดิมมีความหมายว่าสีที่ซีด อ่อน เลือนรางให้รวมไปถึงสีเหล่านี้ด้วยค่ะ
- 「瑞々しいもの」、「若々しいもの」หมายถึง สิ่งที่ชุ่มฉ่ำ มีน้ำมีนวล อ่อนใส (สีเขียวนั่นเอง) มีอิมเมจเหมือนรูปด้านล่างนี้ค่ะ
- ควาหมายยังรวมไปถึง สีม่วงและสีเทา 「紫・灰色」 อีกด้วย
เพราะฉะนั้นในสมัยก่อน สีเขียวจึงถูกเรียกรวมกับสีน้ำเงินไปโดยปริยาย คำเรียกสีเขียว หรือ 緑 เพิ่งจะถือกำเนิดเมื่อสมัยเอโดะตอนกลาง และเริ่มใช้กันเป็นกิจลักษณะหลังสมัยเมจิเองค่ะ วัฒนธรรมที่เรียกสีเขียวเป็นสีน้ำเงินจึงถือว่าอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาช้านานเลยทีเดียว
สิ่งที่ยังเรียกเป็นสีน้ำเงินอยู่ในสมัยนี้
- 青信号 ไฟจราจร : ต้องแอบกระซิบว่าจริง ๆ แล้วแรกเริ่มเรียกว่า「緑信号」หรือ ไฟสีเขียวตามแบบสากลเนี่ยแหละค่ะ แต่พอมีสำนักพิมพ์ลงบทความในหนังสือพิมพ์และเขียนว่า 「青信号」ไปแทน ทำให้คำนี้แพร่กระจายไปทั่ว จนต้องแก้คำที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเลยทีเดียว เรียกได้ว่า วัฒนธรรมความเป็นสีน้ำเงินของคนญี่ปุ่นนี่เข้มข้นสุด ๆ
- 青汁 น้ำผัก : เขียวแบบเข้ม ๆ เรียกสีน้ำเงินได้ยังไงคะเนี่ย
- 海 ทะเล : ทะเลในหน้าร้อนเขาจะเรียกว่าเป็นสีเขียวนะคะ ( สีแบบ Emerald Green ) ดังนั้นเวลาได้ยินคนญี่ปุ่นพูดว่า「海が青くてきれいだね。」เขาอาจจะหมายถึง "ทะเลเป็นสีเขียวสวย" ก็ได้เช่นกันค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสาระภาษาเรื่องสีในวันนี้ พอลองมาอ่านดูแล้วก็เหมือนได้เห็นโลกแบบที่คนสมัยก่อนมองเลยนะเนี่ย ถึงแม้ปัจจุบันเราจะมีคำเรียกสีต่าง ๆ มากมาย และอาจคิดไปได้ว่าทำไมคนสมัยนั้นถึงแยกสีไม่ออกกันนะ แต่จริง ๆ แล้วคนสมัยก่อนอาจจะเป็นคนที่ละเอียดละอ่อนกว่าเราก็เป็นได้ เพราะเขาอธิบายสีต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกของตนเอง มองจากความชัดเจนของสี ใช้ความหมายที่ลึกซึ้ง และดูโรแมนติกกว่าเยอะเลยละค่ะ ?
สาระภาษาครั้งหน้าจะเป็นอะไร (และจะมาเมื่อไหร่ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน)
คอยติดตามกันต่อไปนะคะ ^^
อ้างอิง
https://kuruma-news.jp/post/362801
https://j-town.net/2018/05/21260173.html?p=all
https://kurashinoiro.com/2020/12/14/four-colors/
รูป
https://www.edewakaru.com/archives/11449350.html
https://www.orangepage.net/ymsr/kihon/hatena/posts/2695
https://h-sketch.com/news/column/
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in