เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สาระภาษา (ไม่) มีอยู่จริงpadumpalm
08 : ถอดบทเรียนเสียงขำจากมังงะ "ดูปากพี่นะคะน้อง"
  • มุวะฮะฮ่า! ว่ายังไงล่ะเจ้ามนุษย์ ข้าจะทำลายโลกของแกให้ราบคาบ ^0^) ?

              อุ๊ย ทำไมวันนี้คุณพี่มาแปลกละคะ เอาอะไรแปลก ๆ มาเขียนอีกแล้วแน่ ๆ เลย    
              ใช่แล้วค่ะ สาระภาษาที่เราจะนำมาตีแผ่วันนี้ เป็นหนึ่งในหัวข้อรายงานที่เราเคยทำตอนปีสอง วิชาภาษาศาสตร์เชิงสังคม ซึ่งหัวข้อแปลกจนอาจารย์ในตอนนั้นต้องร้องโอ้โหเลยทีเดียวค่ะ นั่นก็คือเรื่อง "役割語 ในการหัวเราะของคนญี่ปุ่นผ่านสื่อมังงะ" นั่นเองงงง

              อ่านชื่อหัวข้อแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจเลย มันคืออะไรอะคะ? ไม่ต้องกังวลไปค่ะ จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ใกล้ตัวเรา และยังเข้าใจง่ายกว่าที่คิดด้วยนะ

    役割語 ถ้อยคำบอกนิสัย

              役割語 (やくわりご) เป็นรูปแบบการพูดที่เชื่อมโยงกับลักษณะของผู้พูด โดยจะใช้เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของคาแรคเตอร์นั้น ๆ และถือเป็นแบบแผนทางภาษาศาสตร์ประเภทหนึ่งค่ะ

     金水敏 นักวิชาการทางภาษาศาสตร์ญี่ปุ่น (2003) ได้อธิบายความหมายของ 役割語 ไว้ว่าคือ
    •      เมื่อได้ยินถ้อยคำที่เฉพาะเจาะจง เช่น คำศัพท์ ถ้อยคำ น้ำเสียง และสามารถนึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งในแง่ของ อายุ เพศ อาชีพ ลำดับชั้นลำดับชั้นทางสังคม รูปร่างหน้าตาบุคลิกภาพ ฯลฯ หรือนึกถึงถ้อยคำที่บุคคลนั้นน่าจะใช้ ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น"ยาคุวาริโกะ"
    Yakuwarigo (役割語):https://blog.skritter.com/2016/05/yakuwarigo/
              พออ่านความหมายของ 役割語 ไปแล้วพอจะเข้าใจหัวข้อสาระภาษาของวันนี้ขึ้นมาบ้างไหมคะ ใช่แล้วค่ะ วันนี้เราจะลองมาดู การใช้ 役割語 ผ่านเสียงหัวเราะรูปแบบต่าง ๆ ในมังงะ นั่นเอง ความพิเศษของเสียงหัวเราะที่เราค้นพบมีมากกว่าแค่บ่งบอกอารมณ์ของตัวละครว่ากำลังมีความสุข นั่นคือยังสามารถบอกไปได้ถึงลักษณะอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ นิสัย ไปจนถึงสถานะทางสังคมของตัวละครเลยนะ! วันนี้เราได้ลองยกตัวอย่างการหัวเราะแบบต่าง ๆ มาด้วย ลองไปดูกันดีกว่าค่ะ


    1) เสียงหัวเราะบอกเพศได้ด้วยเหรอ?

             จริง ๆ แล้วเสียงหัวเราะนั้นอาจจะไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องใช้กับเพศนี้ ๆ เท่านั้น แต่จะให้ภาพลักษณ์ของความเป็นเพศใดเพศนึงมากกว่าค่ะ อย่างเช่น

    ผู้ชาย

    • ハッ ハッハッ (ฮะฮะฮ่า) การหัวเราะแบบนี้เราก็ใช้กันปกติไม่ใช่เหรอคะ ?-? แต่การหัวเราะฮ่า ๆ ๆ จะเห็นภาพเป็นการหัวเราะอ้าปากกว้าง หัวเราะออกมาเต็มเสียง ก็เลยเป็นการหัวเราะที่ให้ภาพของความเป็นผู้ชายมากกว่า นอกจากนี้เป็นเสียงหัวเราะของตัวร้ายได้อีกด้วยค่ะ
    ตัวละครアカギจากเรื่องアカギ
    • ケケケ、ケッケッケッ (เคะ ๆ ๆ) เป็นการหัวเราะที่ให้ภาพลักษณ์ผู้ชายสูงม้าก
    • ククク、クッ クックッ (คุ ๆ ๆ) การแอบหัวเราะในลำคอเบา ๆ ของผู้ชาย
    ตัวละครアカギจากเรื่องアカギ

    ผู้หญิง

    • フフフ (ฟุ ๆ ๆ) ถือว่าเป็นการหัวเราะของตัวละครผู้หญิงที่เห็นได้บ่อยมากค่ะ เนื่องจากเป็นการหัวเราะเบา ๆ ให้ภาพดูเป็นผู้หญิงที่ใจดี น่ารักตะมุตะมิ แต่บางทีถ้าเอาไปใช้กับตัวร้ายก็ดูเหมือนกำลังวางแผนชั่วร้ายอยู่ได้ด้วยเช่นกันค่ะ
    スライム倒して300年、知らないうちにレベルMAXになってました 
    • ガハハ (กา ฮา ฮ่า) ให้ภาพของผู้หญิงที่ร่าเริง สดใส อารมณ์ดี หัวเราะเสียงดังแบบหัวเราะอร่อยค่ะ ผู้หญิงก็หัวเราะแบบเปิดปากกว้างได้เหมือนกันนะ! 

    • クスクス、クスッ、ククッ (คุสึคุสึ) หัวเราะแบบไม่ส่งเสียงออกมามาก เป็นการหัวเราะคิก ๆ ในลำคอ หรือ giggle ในภาษาอังกฤษนั่นเอง คำนี้เป็นคำที่ใช้บ่อย จึงจะใส่กริยาหัวเราะต่อท้ายด้วย เวลาพูดก็จะเป็น くすくす笑う ค่ะ
    妻観祭日記

    2) เสียงหัวเราะบอกช่วงวัย อยากดูไร้เดียงสาต้องหัวเราะแบบเด็กทารก!

         การหัวเราะในมังงะสามารถแสดงช่วงวัยหรืออายุของตัวละครได้ โดยมีหลายรูปแบบมาก ๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม การหัวเราะรูปแบบหนึ่งไม่ได้จำกัดเพียงช่วงวัยเดียว เนื่องจากผู้เขียนอาจใช้เสียงหัวเราะที่ไม่ตรงกับวัย เพื่อให้ภาพลักษณ์ของตัวละครดูเยาว์วัยลง หรือดูมีความอาวุโสมากขึ้นก็ได้เช่นกันค่ะ ตัวอย่างเช่น

    เด็กเล็ก เด็กทารก

    • きゃっきゃっ (เคี๊ยก ๆ) เป็นเสียงหัวเราะของเด็กที่ฟังดูมีความสุข สนุก บริสุทธิ์ ฟังแล้วชวนให้นึกถึงจิตใจที่เป็นเด็ก ส่วนในภาษาไทยมีการเลียนเสียงหัวเราะเด็กว่าหัวเราะเอิ้กอ้าก ค่ะ 

    • ひーひー、ひぁっっ、ひっひー、ヒィーッ (ฮี่ ๆ) การหัวเราะแบบยิ้มกว้างของเด็ก (引き笑い) เนื่องจากทารกที่ยังพูดไม่ได้ จึงถือเป็นหนึ่งในภาษาของเด็กด้วยนั่นเอง
    http://blog.poko.daa.jp/?eid=593309

    ชายวัยกลางคน หรือผู้สูงอายุ 

    • ほっほっほっ (โฮ่ ๆ ๆ) เป็นหัวเราะแบบลุง ๆ หน่อยค่ะ คือจะมีการเว้นช่วงหายใจ ให้ดูมีภูมิฐาน และในบางครั้งจะให้ภาพลักษณ์ของคุณลุงที่ไว้เคราอีกด้วย นึกออกไหมคะว่าเป็นเสียงหัวเราะของใคร ใช่แล้วค่ะเป็นเสียงของ "ซานตาคลอส" นั่นเอง โฮ่ ๆ ๆ ๆ ๆ
    ตัวละคร安西先生 จากเรื่อง Slam Dunk

    3) เสียงหัวเราะแบ่งชนชั้น ลองมาหัวเราะแบบคุณหนูด้วยกันสิคะ

    เสียงหัวเราะของชนชั้นสูง (上品)

    • ほほほ (โฮะ ๆ ๆ) เป็นเสียงหัวเราะที่เพื่อน ๆ น่าจะคุ้นเคยค่ะ เมื่อฟังแล้วจะนึกถึงภาพของคุณหนู ที่หัวเราะไป และเอามือป้องปากไปด้วย การหัวเราะแบบนี้ยังอาจครอบคลุมไปถึงคุณนาย หรือภรรยาของชนชั้นสูงด้วยค่ะ     ลองไปฟังเสียงหัวเราะแบบคุณหนูกันดีกว่าค่ะ




    4) บอกคาแรคเตอร์ของตัวละคร

          หนึ่งในเสียงหัวเราะที่สามารถบอกคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนได้มากที่สุดก็คือบทตัวร้ายอย่าง "วายร้าย หรือ จอมมาร" เสียงนี้ให้ลองนึกถึง Evil laugh ในเกมเดอะซิมค่ะ โดยจะถอดออกมาได้เป็น ハハハ、ムワハハハ、ムアハハハ、ブワハハハ  (บุวะฮะฮะฮ่า , มุวะฮะฮ่าฮ่า) ดูชั่วร้ายมาก ๆ เลยค่ะ! ?

    นอกจากนี้ยังเสียงหัวเราะที่แฝงลักษณะนิสัยอื่น ๆ อีกมากมายเลย เช่น 

    เสียงหัวเราะ

    ลักษณะนิสัย/อารมณ์ที่แสดงออกมา

    ケケ

    เสียงหัวเราะที่ชั่วร้าย เมื่อแผนการบางอย่างสำเร็จ หรือหัวเราะเยาะความล้มเหลวของผู้อื่น

    ヒヒヒ

    เสียงหัวเราะที่น่าขนลุกและหยาบคาย เป็นการหัวเราะที่ทำให้ดูเป็นคนไม่ดี

    フッフッフッ 

    มีความมั่นใจ ดูถูก คิดว่าตัวเองอยู่สูงกว่าคนอื่น

    シシシ

    แสดงถึงความไร้เดียงสา และ บริสุทธิ์ เป็นการหัวเราะแบบ 愛想笑い

    へへへ

    อาจมองได้ว่าเป็นการหัวเราะที่น่ารังเกียจ และแฝงความรู้สึกเชิงดูถูก
                        
    เสียงหัวเราะ へへへ ของตัวละครไจแอนท์จากการ์ตูนเรื่องโดราเอม่อน
    มีลักษณะนิสัยชอบกลั่นแกล้งคนอื่น


              อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ได้รู้จักเสียงหัวเราะแบบต่าง ๆ ในมังงะเพิ่มขึ้นมากมายแน่ ๆ เลย ชอบเสียงไหนเป็นพิเศษสามารถมาพูดคุยกันด้านล่างได้นะคะ ไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆว่าแค่เสียงหัวเราะของตัวละครจะทำให้เราบอก อัตลักษณ์ต่างๆของตัวละครได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ สถานภาพทางสังคม ไปจนถึงลักษณะนิสัยเลยทีเดียว ไม่แน่ว่าครั้งต่อไปที่เราอ่านมังงะที่ชอบและเห็นเสียงหัวเราะ ก็อาจจะคาดเดาไปถึงการกระทำต่อไปของตัวละครได้ด้วยนะ! เนื่องจากผู้เขียนเองก็ได้นำเสียงหัวเราะไปใช้เป็น 役割語 ในมังงะของตัวเองเพื่อสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละครให้ชัดเจนขึ้นด้วยนั่นเองค่ะ  

    แล้วพบกันใหม่ในบล็อกหน้า ซึ่งจะเป็นบล็อกสุดท้ายของเราแล้วค่ะ
    วันนี้ขอลาไปก่อน โฮะ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ><


    อ้างอิง
    住田哲郎 (2018) 「マンガの笑い声表記に見る役割語 」pp.136-157
    ワンピースの笑い方の表現が凄い!豊富な笑い声で臨場感アップ!?
    https://hikari20.com/deresi-882(17/04/2021アクセス)
    グラグラの実の能力と技とエピソード(2020)
    https://onepiece-akumanomi.com/tremor-tremor-fruit.html 
    Yahoo Japan (2019) https://detail.chiebukuro.yahoo.co.jp/qa/question_detail/q14213022899
    Yahoo Japan (2017) https://detail.chiebukuro.yahoo.co.jp/qa/question_detail/q10172307090
    Yahoo Japan (2019) https://detail.chiebukuro.yahoo.co.jp/qa/question_detail/q11210587396
    Michiru (2008) 「海外の漫画ファンが語る「漫画キャラの笑い方」
    http://blog.livedoor.jp/fairypot/archives/51389379.html 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
clinomaniac (@clinomaniac)
น่าสนใจมากเลยค่ะ เราสังเกตจากการดูอนิเมะเลยค่ะ ว่าตัวละครที่มีคาแรคเตอร์ต่างกัน ก็มีเสียงหัวเราะต่างกันไป ให้ดูสมกับอุปนิสัย555 ส่วนตัวคิดว่าเป็นอะไรที่ดูญี่ปุ่นม๊ากกมาก ได้รู้จักการหัวเราะแบบอื่นๆที่ไม่เคยรู้มาก่อนเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ
padumpalm (@padumpalm)
@clinomaniac ใช่เลยค่ะ การหัวเราะบางอันก็แทบจะกลายมาเป็นวัฒนธรรมการเขียนการ์ตูนของไทยไปแล้วด้วยค่ะ อย่างในการ์ตูนลาฟลอร่า ก็มีตัวละครที่ชื่อนาร์ซิสซ่า ชอบหัวเราะโฮะ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จนเป็นภาพจำของเราไปเลยค่ะ