สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ แสดงบทบาทความเป็นพระราชมารดา ที่จะพยายามช่วยเหลือบุตรทุกวิถีทางเป็นแบบอย่างมารดาที่น่ายกย่อง และนำมาเป็นแบบอย่าง กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) ทรงถูกขังเป็นเวลา 10 เดือน จนกระทั่งมาถึงวันพิพากษาคดี คำตัดสินยิ่งนำความบอบช้ำมาแก่พระองค์นั่นคือ ในขั้นแรกศาลตัดสินประหารชีวิต และลดโทษของพระองค์เป็น จำคุกตลอดชีวิต ส่งเสด็จไปกักขัง ณ เรือนจำบางขวาง หลังจากนั้นก็ถอดพระยศของพระองค์ให้เหลือเพียง นักโทษชายรังสิต
นับว่าพระดวงชะตา ณ ตอนนั้นตกต่ำอย่างหาที่เปรียบมิได้ นำความทุกข์มาสู่พระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ อย่างที่สุดแทบบรรทมไม่หลับ เสวยไม่ได้ ความทุกข์ท่วมทวี เมื่อมีข่าวในปีนั้นเอง ยังต้องทรงสูญเสียสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ฯ พระราชธิดาพระองค์สุดท้าย สถานการณ์เวลานั้นทำให้การจัดงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ เป็นการจัดงานพระศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่น่าเศร้าที่สุดดังที่ปรากฏความว่า
“...แต่มาถึงงานพระเมรุสมเด็จพระราชธิดาซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้ารัฐบาลแจ้งให้ทราบว่าไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระเมรุตามพระราชอิสสริยยศ ถ้าต้องพระประสงค์จะถวายพระเพลิงก็ต้องพระราชทานเงิน (เอง)...” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ: สมภพ จันทรประภา)
ในตอนที่พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ถูกจองจำในเรือนจำบางขวางเวลานั้นแม้ว่าพระองค์จะทรงทุกข์โทมนัส เพราะการจากสูงสุดก็สู่สามัญ เป็นเพียงนักโทษชายรังสิต แต่พระองค์ก็ทรงดำรงอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง กำลังใจส่วนหนึ่งมาจากบุคคลผู้ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นหม่อมเอลิซาเบธผุ้เป็นพระชายาของพระองค์ หม่อมปรนนิบัติตั้งแต่ตอนที่ถูกจองจำ เมื่อย้ายมาที่คุกบางขวาง หม่อมเอลิซาเบธ ก็หาห้องเช่าแถวบริเวณคุกบางขวางเพื่ออาศัยอยู่ คอยทำเครื่องเสวยถวายพระองค์เจ้ารังสิตฯโดยมิได้ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด
นับเป็นสตรีต่างแดนที่มีพระทัยจงรักภักดีต่อพระสวามีอย่างหาที่เปรียบมิได้ สมกับตำแหน่ง สะใภ้หลวงแห่งราชวงศืจักรียิ่งนัก พระองค์ทรงถูกจองจำไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวันเป็นระยะเวลา 5 ปี 7 เดือน กับอีก 28วัน จึงได้รับการปล่อยตัว ในปีพุทธศักราช 2486 และเมื่อถึงรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ พระองค์ก็ได้รับสถาปนาพระยศตามเดิม
“ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทรนเรนทร ”
พระภารกิจสุดท้ายที่เสด็จในกรมฯ ทรงปฏิบัติ นั่นคือ ได้เข้าร่วมงานอภิเษกสมรสพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อปีพุทธศักราช 2493 จนกระทั่งในวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2494 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากโลกนี้ไปด้วยความสงบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้ทรงเฉลิมพระนามเป็น ”สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร” พระอิศริยยศ สมเด็จกรมพระยา ที่ได้รับการสถาปนานี้พระองค์เป็นพระราชบุตรองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระอิศริยยศสูงสุด
ติดตามเรื่องราวอื่นๆผ่าน Facebook page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม
อ่านตอนอื่นๆ คลิก
ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ผ่าน Social and History by Jack ok
โปรดอ่านสักเล็กน้อย
หากตัวหนังสือมีช่องว่างของคำขึ้นอยู่กับโทรศัพท์ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ผู้เขียนเว้นช่องว่างของคำโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก จึงขออภัยมา ณ โอกาสนี้
กศว เขียน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in