เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Social and History by Jack okKiattisak Wongliang
พลิกชะตา เจ้าชายสู้ชีวิต Chapter 3
  •        หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ฯ ทรงรับราชการมาเป็นเวลา 12 ปี ได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2468 เนื่องจากพระอนามัยไม่สมบูรณ์ 

           จนกระทั่งถึง สมัยพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาท        นเรนทร” และทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นองคมนตรีสำหรับปรึกษาราชการส่วนพระองค์ ในปีพุทธศักราช 2475

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ที่สหรัฐอเมริกาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงแต่งตั้งเสด็จในกรมฯ(ชื่อเรียกของพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) เป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ  

          ยิ่งไปกว่านั้นในปี พ.ศ.2481 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงมอบหมายให้เสด็จในกรมฯเป็นพระอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯและสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอฯ เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรก

    ภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯส่วนพระองค์มายังวังวิทยุภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    ที่มาภาพ http://thaitribune.org/contents/detail/309?content_id=22746&rand=1475417176

  •         นับได้ว่าเป็นความภูมิใจและถือเป็นเกียรติสำหรับพระองค์ท่านที่ได้ประกอบคุณงามความดีเพื่อชาติบ้านเมืองแต่ไฉนเลยจากคำกล่าวที่ว่า ความสุขย่อมผ่านไปอย่างรวดเร็วเสมอเห็นคงจะเป็นความจริง ในปีพุทธศักราช 2481 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ กบฎพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)  เจ้านายหลายพระองค์ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดในฝ่ายกบฏครั้งนี้ รวมถึงเสด็จในกรมฯหรือพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์                              กรมขุนชัยนาทนเรนทร 

            ดังที่ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบันทึกไว้ใน เกิดวังปารุสก์สมัยประชาธิปไตย ความว่า 

           “ปลายเดือนมกราคม ทุกๆ คนได้ฟังข่าวอย่างสะทกสะท้านหวาดหวั่นมากมีคนสำคัญและผู้หลักผู้ใหญ่คนอื่นๆ อีกเป็นอันมากถูกตำรวจจับโดยข้อหาว่าจะทำการกบฏ” 

           อีกทั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังทรงบรรยายต่ออีกว่า 

           “ เหตุเกิดในตอนเช้ามืดวันที่ 29 มกราคม 2481 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 51 คน ฐานดำเนินการเพื่อคิดการกบฏและวางแผนประทุษร้ายชีวิตบุคคลในคณะรัฐบาลในบรรดาผู้ถูกจับกุมครั้งนั้น มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร รวมอยู่ด้วยทโดยตำรวจสันติบาลได้เชิญเสด็จพระองค์จากลำปางเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2481 ซึ่งทำให้เจ้านายและประชาชนทั่วไปประหลาดใจมาก เพราะทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่และไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด”

          ทางการในขณะนั้นได้นำพระองค์ท่านไปคุมขังไว้ยังสถานีตำรวจพระราชวังในห้องขังรวมผู้ต้องหาด้วยความที่พระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นพระราชบุตรขององค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงวางตนเป็นปกติ ไม่สะทกสะท้านแต่อย่างใด ดำรงไว้ซึ่งความเป็นขัติยมานะอย่างแท้จริง ดังที่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมท บันทึกไว้ว่า

          “...ตั้งแต่เวลาที่ตำรวจเข้าไปจับหรือเชิญเสด็จตลอดจนถึงเวลาที่เสด็จขึ้นรถด่วนเข้าไปในห้อง มีเจ้าพนักงานยืนคุมหัวรถท้ายรถ เสด็จในกรมฯมิได้มีพระอาการผิดปรกติหรือสะทกสะท้านแม้แต่น้อย คำว่า ขัตติยมานะ นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินคนพูดบ่อยครั้ง และตีความหมายกันไปมากมาย แต่ผู้เขียน(มร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้เคยเห็นของจริงก็ในคราวนั้นครั้งเดียว...”  

           เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี ด้วยความที่รักราชบุตรแม้ไม่ใช่พระโอรสที่ประสูติแต่พระองค์ หากแต่ทรงอภิบาลมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จึงมีความเป็นห่วงพระราชโอรสเป็นอย่างยิ่งถึงกับทรงปรารภว่า 
    “ทำไมรังแกฉันอย่างนี้ มันจะเอาชีวิตฉัน มาทำลูกชายฉันเห็นได้เทียวว่า รังแกฉัน”
    สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
           สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระทัย จึงมีพระราชเสาวนีย์ถึงเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) 1 ใน 2 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อให้หาทางช่วยเหลือกรมขุนชัยนาทฯ (เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯคนนี้เคยเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระบรม  โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร) โดยทรงดำรัส ความว่า 
    ภาพ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) ที่มา Wikipedia

              “...เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนๆครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด ขอให้เธอช่วยไปบอกจอมพลทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทฯเข้าห้องขัง มีผิดอะไรส่งมาให้ฉัน ฉันจะขังไว้เอง ให้มาอยู่ที่บ้านนี้ข้างห้องฉันนี่ เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ 12 วัน พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทานเอง ถ้ากรมชัยนาทหนีหายฉันขอประกันด้วยทรัพย์สินที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหายฉันก็จะยอมเป็นขอทาน...”

             ด้วยความรักพระราชบุตรสุดหัวใจ จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้พระโอรสทรงปลอดภัยเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธินจึงนำความไปบอกแก่รัฐบาลผลการเจรจาปรากฎว่าไม่เป็นผลสำเร็จโดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า “เกี่ยวกับเรื่องของบ้านเมือง”  
           พระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯถึงกับทรงดำรัสด้วยความโทมนัสว่า 

            “...เขาจะแกล้งฉันให้ตาย ฉันไม่รู้จะอยู่ไปทำไมลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจ เหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลกครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว...” 

            พระองค์ยังทรงรำพึงรำพันกับพระองค์เองความว่า 

            “...ฉันตายแล้ว ฉันจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงได้อย่างไรท่านอุ้มมาพระราชทานฉันกับพระหัตถ์เองทีเดียว เมื่อ 12 วันแท้ๆ...”

            จากเนื้อความผู้อ่านคงจะทราบกันดีถึงความรักที่พระมารดามีต่อราชบุตรแม้ไม่ใช่บุตรในอุทรหากทรงเลี้ยงมาแต่พระเยาว์ก็ทรงรักดั่งแก้วตาดวงใจ คนเป็นแม่จะมีความสุขก็เมื่อลูกของตนเองสุขจะทุกข์ที่สุดก็เมื่อเห็นลูกของตนเองตกที่นั่งลำบาก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯแสดงบทบาทความเป็นพระราชมารดาที่จะพยายามช่วยเหลือบุตรทุกวิถีทางเป็นแบบอย่างมารดาที่น่ายกย่องและนำมาเป็นแบบอย่างเป็นอย่างยิ่ง 
    โปรดติดตามตอนต่อไป 
    ติดตามเรื่องราวอื่นๆผ่าน Facebook page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม 
    อ่านตอนอื่นๆ
     (1) พลิกชะตา เจ้าชายสู้ชีวิต Chapter 1
     (2) พลิกชะตา เจ้าชายสู้ชีวิต Chapter 2
    ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ผ่าน Social and History by Jack ok 
    โปรดอ่านสักเล็กน้อย 
          หากตัวหนังสือมีช่องว่างของคำขึ้นอยู่กับโทรศัพท์ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ผู้เขียนเว้นช่องว่างของคำโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก จึงขออภัยมา ณ โอกาสนี้ 
    กศว เขียน 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in