ร้านการ์ตูนหายไปไหน: การปรับตัวของการ์ตูนเมื่อเทคโนโลยีใหม่มาถึง

เรารับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการจางหายไปของร้านการ์ตูนมาแล้วถึงสามมุมแล้ว ตอนนี้ก็จะเป็นตอนสุดท้ายของมินิคอลัมน์การจางหายไปของร้านหนังสือการ์ตูนแล้วครับ ในตอนสุดท้ายนี้เราจะลองมองไปข้างหน้ากันต่อว่ามันจะมีอะไรรอวงการการ์ตูนอยู่ และมันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของร้านหนังสือการ์ตูนที่หายไปเท่านั้น

(รูปสรุปผลมุมมองสามฝั่งจากบทความ 2 ตอนแรกโดยคุณ Patiroop Seetidprasert)

อย่างที่เรานำเสนอไปในสองตอนก่อนหน้านี้ว่าแต่ละฝ่ายมองปัญหาจากมุมมองไหนกันบ้าง มุมมองเหล่านั้นบางส่วนก็ทับซ้อนในเชิงสนับสนุนกันกับอีกส่วนที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งยังกลายเป็นการพูดสลับสับสนจนเหมือนต่างฝ่ายต่างบอกว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด อ่านฟรีกันจนเคยตัว...ทำงานแบบล้าสมัยกันจนเคยตัว...ขายของแบบเดิมๆจนเคยตัว...แล้วใครควรจะเป็นคนที่ผิดที่สุดกันแน่ ? 

สำหรับทีมงานมินิมอร์ที่ไปสัมภาษณ์กลุ่มคนทั้งสามเชื่อว่าไม่มีใครเป็นฝ่ายผิดครับ แต่เราได้เห็นการยอมรับอะไรบางอย่างจากกลุ่มตัวอย่างที่เราไปสัมภาษณ์มาเช่นกัน เรื่องที่พวกเขายอมรับอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นเรื่องเหล่านี้ครับ

จากเหตุข้างต้นทำให้เราคิดว่ามีคำหนึ่งที่อธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด คำนั้นก็คือ 'การปรับตัวของยุคสมัย' และการเปลี่ยนครั้งนี้คงจะไม่ได้ผลเฉพาะ คงเป็นการมองว่าวงการหนังสือการ์ตูนจะเป็นอย่างไรต่อไปด้วย

นอกจากนั้นแล้วเรายังเห็นเรื่องอีกหลายอย่างที่เกิดจาก 'การปรับตัวของยุคสมัย' อย่างเช่นกลุ่มตัวอย่างของเราทั้งสามกลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่าเด็กวัยรุ่น (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ซื้อหนังสือการ์ตูนน้อยลง แต่ที่ทีมงานมินิมอร์เห็นมาไม่น้อยว่าลูกค้าในวัยเหล่านั้นอาจจะดูหายไปจากร้านหนังสือการ์ตูนจริง แต่พวกเขายังบุกตะลุยมายังงานหนังสือในโซน Book Wonderland เดินทางมายังบูธสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อซื้อของกลับไปอยู่ทุกครั้ง (บูธทางSalmon Books ก็ตั้งอยู่ที่บูธ Y07 ในโซนนี้ครับ)  

หลายคนมองว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ฆ่าสังหารร้านค้าทีละเล็กทีละน้อย แต่ทีมงานฝั่งสื่อออนไลน์ของเราก็พบเจอร้านที่นำสื่อออนไลน์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขายของพวกเขาแทน หรือบางร้านก็ปรับตัว จากเดิมที่ขายแค่การ์ดกับของเล่นเพียงอย่างเดียวก็หยิบจับเอาหนังสือการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขายดีในร้านตัวเองผนึกกำลังจนยอดขายดีขึ้นก็มีเช่นกัน 

ฝั่งผู้บริโภคเองถึงจะมีมุมมองว่าซื้อหนังสือการ์ตูนกันน้อยลงเพราะบรรจงเลือกสินค้ากันมากขึ้น แต่ในจุดนั้นก็สะท้อนได้ว่าพวกเขาไม่ได้กำลังจ่ายลดลง พวกเขาเพียงแค่มีสื่อบันเทิงอื่นๆ ที่ใกล้มือขึ้นและหาซื้อง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกดเพลงบน iTunes หรือการซื้อเกมบน Digital Platform ที่พวกเขาไม่ต้องพยายามวิ่งไปควานหาร้านค้าเหมือนสมัยก่อนแล้ว หรือถ้ายังจะเก็บสินค้าที่จับต้องได้พวกเขาก็มีความประสงค์ที่อยากจะรับเป็นสินค้าในลักษณะของสะสมมากขึ้น (ถ้าในฝั่งการ์ตูนก็จะเป็นแนว Big Book เล่มใหญ่หน้าสีครบถ้วน)

แนวเรื่องก็เป็นอะไรที่ผู้ติดตามการ์ตูนและผู้ขายการ์ตูนรู้สึกอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครับ จากแต่ก่อนที่การ์ตูนแนวเพื่อนเยอะชนะแน่ได้รับความนิยมอย่างมาก สมัยนี้การ์ตูนแนวสมจริงโลกไม่สวยก็กลับมาตีตลาดอย่างน่าสนใจ ในหัวข้อนี้ถ้าเรามีโอกาสเราคงจะได้พูดถึงต่อไปด้วยครับ

พูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสำนักพิมพ์เอง ในช่วงหลังนี้ก็มีความพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย อาจจะมีแบบที่เห็นได้ไม่ชัดอย่างการเพิ่มของแถมพร้อมหนังสือการ์ตูน แม้ว่าจะไม่ใช่ของใหญ่โตมากแต่ก็พัฒนาขึ้นมาจากที่สมัยก่อนแค่จะใส่หน้าสีมาสักหน้าก็เป็นไปได้ยากแล้ว หรือที่เห็นชัดเจนอย่างมากในช่วงเวลาไม่นานมานี้เช่นการปรับตัวของนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ KC Weekly ไปเป็นรูปแบบดิจิตอลเต็มตัว  / สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิคส์ประกาศ Free Download E-Book หนังสือการ์ตูนชิมะโคซาคุเล่ม 1 ก็ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับหนังสือลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงก็ไมได้เกิดขึ้นภายในประเทศไทยเท่านั้น ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็แสดงความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยเช่นกัน อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับสำนักพิมพ์ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ถ้าหากทางญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยนอะไรเลยก็คงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแล้วถ้าคุยไปในด้านเทคโนโลยีญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแนวหน้าของด้านนี้ก็มีอะไรเพิ่มเติมเข้าให้สื่อการ์ตูนอยู่รอดได้ในยุคดิจิตอลเช่นนิตยสารบางเล่มของทางญี่ปุ่นเปิดให้อ่านแบบดิจิตอลฟรีเป็นระยะเวลาหนึ่งบางเรื่องก็ทำหนังสือให้เป็นรูปแบบ Interactive Manga ซึ่งเป็นสินค้าในลักษณะเดียวกับที่กล่าวไว้ในบทความ จะเป็นอย่างไร? เมื่อเทคโนโลยีทำให้การอ่านไม่น่าเบื่ออีกต่อไปนั่นเองครับ

ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงจะนำพาเรื่องดีๆ เข้ามาในตอนท้ายก็ตามที แต่ในช่วงเวลาที่ถือว่าในอยู่ระหว่างการผลัดยุคก็มักจะทำให้บางอย่างล้มหาย อย่างข่าวน่าตกใจสำหรับผู้สะสมการ์ตูนผู้หญิงที่สำนักพิมพ์หมึกจีนเพิ่งประกาศปิดตัวไป (ขนาดไม่มีลิขสิทธิ์ยังล้มได้เลยครับ) รวมไปถึงร้านหนังสือมือสองที่ปิดตัวตามร้านขายหนังสือมือหนึ่งไป 


ก็อย่างที่เราบอกตั้งแต่ต้นของมินิคอลัมน์ตอนนี้ครับ

เรื่องของร้านการ์ตูนจางหายไปมันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของวงการการ์ตูนเพียงอย่างเดียว มันอาจจะเป็นภาพสะท้อนของการขายสินค้าลิขสิทธิ์ในประเทศไทยที่ค่อยๆหายไปทีละน้อยเสียด้วยซ้ำ

สุดท้ายส่งนี้ถ้าคนที่ยังชื่นชอบการ์ตูน (หรือสื่อบันเทิงลิขสิทธิ์อื่น) และยังอยากแสดงพลังในการอุดหนุนผู้ผลิตก็ย่อมสามารถสร้างผลงานที่ดีพอกับเงินที่จ่ายไปและร้านค้าก็ยังสามารถขายของได้

ทีมงานมินิมอร์ก็คาดหวังให้ร้านการ์ตูนที่เราเคยรักและคลุกคลีได้กลับฟื้นคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่งนะครับ

เขียนโดย Prepanod