ทำไมร้านการ์ตูนถึงล่มสลาย ? ...จากมุมมองของคนอ่านก็เห็นได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ กับอีกส่วนที่พวกเขารู้สึกได้ว่าสินค้าออกน้อยลงจนตัดสินใจลดการซื้อกันไปเอง คราวนี้เรามาลองฟังคนที่อยู่ใจกลางประเด็นนี้กันครับ เพราะคราวนี้เราจะเดินไปคุยกับร้านหนังสือการ์ตูน แถมท้ายด้วยการลอบไปคุยกับสำนักพิมพ์ ว่าพวกเขา...คิดอย่างไรกับภาวะการณ์เหล่านี้
เริ่มต้นกันที่ร้านหยินหยางการ์ตูน อันเป็นจุดเริ่มต้นของมินิคอลัมน์ในครั้งนี้ หลังจากทางร้านได้ประกาศเซ้งร้านอย่างกะทันหัน สร้างความแปลกใจไปทั่วดินแดนแฟนการ์ตูนไม้เว้นแม้แต่ในทีมมินิมอร์ของเราเอง (ร้านอยู่ใกล้ออฟฟิศของเรามาก) ด้วยเหตุนี้เราจึงเดินทางไปสอบถาม คุณวิน เจ้าของร้านว่าทำไมหรือ อะไรที่ทำให้ร้านของเขาตกเข้าสู่วังวนการล่มสลายของร้านการ์ตูนไปอีกหนึ่งร้าน
"ที่ร้านการ์ตูนปิดตัวไปเยอะเนี่ย ผมโทษสำนักพิมพ์ก่อนเลย" คำพูดของเจ้าของร้านการ์ตูนขนาดใหญ่ที่เปิดตัวมา 14 ปีแสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าเขาไม่โทษการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่มองว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากตัวสำนักพิมพ์เอง เมื่อเราถามรายละเอียดลงไปว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น คุณวินก็ยกตัวอย่างขึ้นมาเช่น สำนักพิมพ์ บ. เคยออกหนังสือสัปดาห์หนึ่งครั้งละ 10 กว่าเล่มต่อสัปดาห์แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้กลับลดกำลังผลิตลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 1-2 เล่ม หรืออย่างสำนักพิมพ์ น. ที่ตอนนี้ออกหนังสือแค่เดือนละ 4-5 เล่ม ต่างกับช่วงท็อปฟอร์มราว 70% เลยทีเดียว
แม้จะเข้าใจได้ว่าต้องการปรับตัวเพื่อรักษาต้นทุน ก็ยังมีอีกเรื่องที่น่าติติงสำนักพิมพ์อีกประเด็นก็คือเรื่องที่จำหน่ายการ์ตูนออกมาแล้วก็ไม่สามารถพิมพ์ออกมาให้ครบ ไม่ว่าจะกรณีถูกลอยแพ หรือกรณีที่พิมพ์ซ้ำแล้วออกไม่ครบ คุณวินได้บอกกล่าวว่าการออกไม่ครบหรือขาดแล้วทำให้หายากก็ทำให้คนซื้อไม่กล้าซื้อ และการที่สำนักพิมพ์ทำตลาดออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Application หรือ การทำ E-Book ยิ่งถือเป็นการเตะตัดขาเพื่อฆ่าร้านขายการ์ตูนด้วยซ้ำ
คุณวินได้ทิ้งไว้ว่า ตัวของคุณวินเองที่เปิดร้านมา 14 ปี เชื่อมั่นว่ายังมีลูกค้าจะซื้อการ์ตูนอยู่เสมอ เพียงตัวของเขาเองอยากจะขยับขยายธุรกิจรองที่ทำอยู่ด้วยความสนใจให้เติบโตขึ้น จึงตัดสินใจเซ้งร้านไป
ในขณะเดียวกัน เราก็สอบถามร้านอื่น (ไม่ประสงค์จะออกนาม) อีกจำนวนหนึ่งครับ ทรรศนะของร้านอีกกลุ่มนั้นกลับมองเรื่องโลกออนไลน์ต่างกันไป พวกเขามองว่า สแกน หรือ การทำตลาดออนไลน์นั้นช่วยสร้างการรับรู้ของผู้คนให้ทราบกันว่า การ์ตูนเรื่องไหนดี เรื่องไหนดัง เรื่องไหนกำลังจะมีสื่อผสม (เช่นมีภาพยนตร์คนแสดงฉาย) และเรื่องไหนมีเล่มลิขสิทธิ์แล้วในไทย ซึ่งเรื่องที่ว่าไปข้างต้นนั้นช่วยเหลือให้พวกเขาในการคาดการณ์ว่าควรจะสั่งซื้อหนังสือการ์ตูนแบบใดมาให้กับลูกค้าที่ยังวนเวียนมาซื้อกันอยู่
ถึงแม้ร้านค้าอาจจะไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกันจนหมดแต่ก็ยังมีอีกสองเรื่องที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันก็คือ วัยลูกค้าที่ซื้อของที่ร้านโดยส่วนมากเป็นวัยมหาวิทยาลัยขึ้นไป และการรับของ Non-Book (สินค้าที่ไม่ใช่หนังสือ) อย่างพวกโมเดล การ์ดเกม หรือตู้หยอดกาชาปอง รวมไปทั้งหนังสือทำมือ (โดจินชิ) มาลงขาย ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้ร้านมากขึ้น อีกสิ่งที่พวกเขามองว่าทำร้ายพวกเขาเหลือเกินก็คือ การจัดงานอีเวนท์เกี่ยวกับหนังสือที่มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรือ งานของห้างอื่นใดก็ตาม
ตัวอย่างเช่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดปีละ 2-3 ครั้ง ซึ่งไม่นาจะสำนักพิมพ์แบบใดก็พยายามที่จะจัดโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถมกันภายในงานนี้ ถึงจะเห็นว่าภายในงานหนังสือนั้นมีคลื่นมนุษย์ไปอุดหนุนหนังสือจำนวนมหาศาล ในทางกลับกันมันก็บอกได้ว่าผู้คนอย่างน้อยที่สุดราว 50% ของคนที่ไปงานหนังสือคือผู้ที่เลิกซื้อหนังสือตามร้าน อันเนื่องจากพวกเขารอการลดราคาและโปรโมชั่นอันหอมหวานในงานนั่นเอง
แล้วแบบนี้ก็แปลว่าคนอ่านที่ปรับตัวไปตามยุคสมัยเองก็มีผลต่อการหายไปของร้านเช่นกัน แล้วเราควรจะโยนความผิดกลับไปทางสำนักพิมพ์การ์ตูนได้อย่างเต็มมือหรือเปล่า ? ทีมงานมินิมอร์เห็นพ้องว่าการที่พวกเราจะด่วนตัดสินใจเช่นนั้นคงจะไม่ถูกต้อง เราควรจะไปสอบถามบุคลากรจากสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์ก่อนว่าพวกเขาเห็นอย่างไรในการล่มสลายไปของร้านการ์ตูน
ทีมงานมินิมอร์ได้ทำการสัมภาษณ์บุคลากรภายในสำนักพิมพ์ที่จัดทำการ์ตูนลิขสิทธิ์ญี่ปุ่นในไทยอยู่หลายท่าน สิ่งที่เราได้รับคำตอบมาจากพวกเขานั้น ในขั้นต้นไม่แตกต่างจากมุมมองของกลุ่มคนอื่นๆ มากนัก ไม่ว่าจะสแกนละเมิดลิขสิทธิ์ที่ลดทอนความอยากซื้อของหลายๆ คนไป เพราะหาอ่านออนไลน์(เถื่อน) ได้ง่ายกว่า, เรื่องเศรษฐกิจที่ทำให้คนซื้อการ์ตูนต้องคิดมากก่อนซื้อ รวมไปถึงราคาค่าพื้นที่ของสถานที่ต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น
เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็ส่งผลให้สำนักพิมพ์ต้องลดการผลิตสินค้า ส่งผลให้ร้านค้าขาดสินค้าสำหรับขายจนต้องเลิกกิจการไป
สำนักพิมพ์ที่เราสอบถามบางแห่งก็น้อมรับว่าการประสานงานของพวกเขาในการกระจายของยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีก ทั้งยังขอน้อมรับคำติในส่วนกระจายสินค้าอย่างดุษณี (หลายท่านมีความยินดีให้ทางร้านที่ต้องการสินค้าสอบถามโดยตรงมายังทางสำนักพิมพ์โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ มาด้วย)
กล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่มีผลทำให้คนตัดสินใจอ่านหนังสือการ์ตูนน้อยลง(จากมุมมองของสำนักพิมพ์) และทางเราคิดว่าน่าสนใจก็คือ การที่คนรักการ์ตูนทำการเสพสื่ออื่นๆ จนทำให้ยอดขายหนังสือลดลง ตัวอย่างเช่น คนรักการ์ตูนส่วนหนึ่งทำการรับอนิเมชั่นเรื่อง ผ่าพิภพไททัน ถูกสร้างมาอย่างประณีต สนุก เร้าใจนับตั้งแต่เสียงเพลงประกอบจนถึงฉากแอคชั่น แม้พวกเขาจะทราบว่ารายละเอียดบางประการปรากฏบนหนังสือการ์ตูนมากกว่า แต่มันก็เป็นการยากที่พวกเขาจะยอมซื้อหนังสือการ์ตูนที่ความเร้าใจน้อยกว่าสิ่งที่พวกเขาเสพมา
ส่วนปัญหาอื่นที่ทางสำนักพิมพ์เห็นพ้องและจำเป็นต้องมีการปรับตัวก็คือ พฤติกรรมผู้บริโภคทั้งตลาดซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี จุดนี้ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสัญญาณอันดีสำหรับตัวผู้ผลิตอย่างสำนักพิมพ์เองต้องขยับตัวเองจากจุดดั้งเดิมที่เคยมั่นคงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ E-Book / การจัดหาของแถมเฉพาะกิจให้กับลูกค้าและร้านคู่ค้า / พยายามสื่อสารพร้อมบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ฯลฯ
ถึงจะพยายามปรับตัวแล้ว ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นรวดเร็วเสมอไป สำนักพิมพ์ต่างๆ เองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างสุดแสนคลาสสิคประการหนึ่งก็คือ การดองหนังสือ... แหงล่ะครับ ในฐานะคนอ่าน ไม่มีใครชอบหนังสือที่ถูกดองจนลืมชัวร์ๆ (ซื้อเล่มที่แล้วเมื่อ 4 ปีก่อนเงี้ยะ) ในทางกลับกันทุกสำนักพิมพ์ที่เราสอบถามมา ตอบกลับเสียงชัดเจนครับว่าสำนักพิมพ์เองก็ไม่อยากดองรายได้ของตัวเองแบบนี้หรอกนะ
แล้วทำไมพวกเขาถึงทุบไหดองรัวๆ ไม่ได้ ? ขั้นต้นสุดพวกเขาไม่สามารถจัดทำอะไรออกมาโดยไม่ผ่านการอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ (จากประเทศญี่ปุ่น) หลายครั้งการรอคำสั้นๆ อันแสนเพริดพริ้งว่า 'ผ่าน' อาจจะกินเวลายาวนานข้ามยุคสมัยเลยล่ะครับ มิหนำซ้ำการตรวจสอบนี้ ไม่ได้แปลว่าทำการตรวจครั้งเดียวแล้วผ่านเสมอไปก็ได้ บางครั้งมันอาจจะต้องผ่านการตรวจเกิน 3 ครั้ง (ใช่ครับ ส่งไปแล้วกลับ 3 รอบ นั่นแหละ) เลยทีเดียว
(ทุกสำนักพิมพ์) รับสมัครคนแปลอยู่เสมอ สมัครกันมาเถอะครับ
ของที่ติดปัญหาภาวะรอไฟเขียวสดใสอีกอย่างก็คือของจำพวกของแถมล่ะครับ หลายสิ่งที่คนอ่านหรือร้านค้าเห็นว่าทางญี่ปุ่นทำได้ง่ายๆ เวลาข้ามประเทศอาจจะเกิดเหตุมหัศจรรย์พันลึกจนทำให้ของแถมง่ายๆ เหล่านั้น เช่น หน้าปกพิเศษ ไม่สามารถทำการผลิตได้ กรณีที่แย่ที่สุดก็ทำให้สินค้านอกประเทศญี่ปุ่น (ไม่ใช่แค่ในไทย) หน้าตาไม่เหมือนกับสินค้าทางญี่ปุ่นเอง
ปัจจัยอีกอย่างที่ทางสำนักพิมพ์ถือว่าเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้แต่ควบคุมลำบากคือ นักแปลภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาไทย ทุกสำนักพิมพ์มีนักแปลอยู่น้อย ทุกเจ้ายังแสวงหาคนมีฝีมืออยู่เสมอ ถ้าใครมั่นใจในฝีมือ พวกเขามีเวทีให้คุณได้แสดงฝีมืออยู่เสมอ
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเช่นสภาพเศรษฐกิจ สภาพการเมือง ฯลฯ ทำให้สำนักพิมพ์หรือบริษัทมีความจำเป็นในการดิ้นรนหารายได้ด้วยการออกขายตามงานกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจไปกันเอง หรือถูกเชิญไปก็ตาม แน่นอนล่ะว่าเหตุเหล่านี้ทำให้สำนักพิมพ์ทำร้ายร้านค้าไปโดยปริยาย และคงเป็นการยากที่จะยับยั้งเหตุนี้
มาถึงท้ายตอนที่สองของบทความชุดนี้แล้ว... เราได้รับทราบมุมมองของนักอ่านนักสะสมแล้ว เราได้รับมุมมองจากทางร้านที่กำลังจะปิด และร้านที่ยังอยู่ ทั้งยังได้รับฟังคำอธิบายจากสำนักพิมพ์ ตอนหน้า... เราอยากจะพูดถึงอนาคตของวงการ 'หนังสือการ์ตูน' ว่าจะเดินต่อไปยังทิศใดกันแน่
เขียนโดย Prepanod