การจางหายไปของร้านการ์ตูน : ทำไมร้านการ์ตูนจึงทยอยปิดตัวลงไปเรื่อยๆ มุมมองจากนักอ่าน


สังเกตกันหรือเปล่าครับว่า สมัยนี้ร้านการ์ตูนหายากขึ้น ? จากเดิมที่เราพอจะเดินไปแถวตลาดที่ไหนสักแห่ง แย่สุดมันก็ต้องมีร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีการ์ตูนขายอยู่สักร้านล่ะ แต่เดี๋ยวนี้ถึงขั้นที่ร้านการ์ตูนที่เปิดขายตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ยังเจ๊งกันให้ดูกันแบบชัดๆ เลยนะ ทั้งที่ในช่วงนี้สังคมของเราก็มีการส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น มิหนำซ้ำงานกิจกรรมเกี่ยวกับการ์ตูนต่างๆ ก็ดูมีจำนวนมากขึ้น มีคนที่ไปร่วมงานแต่ละครั้งเกินพันคน และอาจจะเกินหมื่นสำหรับงานใหญ่ๆ ด้วย


ทำไมร้านขายหนังสือการ์ตูนที่น่าจะเป็นปากทางเข้าสู่วัฒนธรรมญี่ปุ่นถึงได้ลดจำนวนลงล่ะ ? ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่พระรามเก้าเอง จากเดิมที่มีร้านที่พอจะเดินทางไปได้ใน 15 นาที ราว 4-5 ร้าน ตอนนี้ก็เหลือร้านที่ยังไม่ปิดอยู่แค่  1 ร้านเท่านั้น ทำไมร้านถึงปิดตัวลงไปเยอะล่ะ ? คนอ่านเขาไม่ซื้อหนังสือการ์ตูนแล้วเหรอ ??? ทีมงานมินิมอร์จึงลองไปถามผู้อ่านการ์ตูนแต่ละกลุ่มคนว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ



มุมมองจากนักอ่านวัยทำงาน

ทีมมินิมอร์ลองวนเวียนไปถามเพื่อนวัยทำงาน ทั้งในทีมงานมินิมอร์กันเอง และคนนอกออฟฟิศของเรา  คำตอบที่พวกเขาให้กับเรามามีจุดร่วมที่ใกล้เคียงกันมาก คือพวกเราวัยทำงานยังคงเก็บการ์ตูนกันอยู่ โดยหลักแล้วก็ยังแวะเวียนไปซื้อการ์ตูนที่ตนเองสะสมตามห้างสรรพสินค้าที่ใกล้บ้านหรือสถานที่ทำงาน และจะเก็บเฉพาะซีรี่ส์ที่ตัวเองติดตามมาตั้งแต่สมัยก่อน เช่น One Piece, Bleach, โคนัน ยอดนักสืบ, คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา ฯลฯ แม้ว่าบางเรื่องอาจจะต้องลุ้นว่าจะถูกลอยแพกันหรือไม่ก็ตามที  แต่สำหรับคนทำงานแล้วก็ยังพอมีโอกาสอยู่บ้างที่ซื้อการ์ตูนซีรี่ส์ใหม่ โดยอ้างอิงจากกระแสภายในอินเตอร์เน็ตก่อนที่จะซื้อ 



ทั้งนี้ทุกท่านในกลุ่มตัวอย่างที่เราสอบถามมาล้วนสังเกตได้ว่าร้านการ์ตูนสมัยนี้ลดลงอย่างมาก การที่ร้านการ์ตูนปิดตัวไปเยอะ มีผลพวงมาจากเศรษฐกิจของยุคนี้ที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่แพงขึ้น ตัวร้านเลยตัดสินใจถอนตัวกันมากขึ้นนั่นเอง

มุมมองอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจจากคนทำงานคือ พวกเขามองตัวเองเป็นตัวแปรตัวหนึ่งในการที่ทำให้ร้านหนังสือบางส่วนปิดตัวลง อันเนื่องจากสภาพการเงินและสังคมของแต่ละคนเปลี่ยนไป ใช้เวลาในการตัดสินใจเสียเงินเพื่อซื้อของมากขึ้น และความอดทนที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนอายุ ทำให้หลายคนสามารถอดใจรอจนกว่าจะถึงช่วงงานสัปดาห์หนังสือที่มีโปรโมชั่นเพิ่มเติมสำหรับผู้ซื้อ ซึ่งเหตุเหล่านี้ทำให้ร้านเล็กๆ ที่เคยพอขายได้บ้างก็ขายไม่ได้ไปในที่สุด

ก็แบบนี้ล่ะครับพอทำงานกันเองแล้ว เลยมีการเทคโนโลยีมาสนับสนุน เพื่อให้การใช้เงินเซฟตัวเป็นที่สุด



มุมมองของนักอ่านวัยรุ่น

หลังจากนั้นเราลองทำตัวเนียนๆ ลดอายุไปสอบถามนักอ่านการ์ตูนในช่วงวัยมัธยมปลาย - มหาวิทยาลัย กันบ้างครับ เพราะความเชื่อของคนส่วนมากในสังคมเห็นพ้องว่า เด็กวัยรุ่นเนี่ยแหละที่ชื่นชอบการ์ตูนที่สุดแล้วล่ะ ... แต่ผลที่ทีมงานมินิมอร์ได้มาก็ค่อนข้างสร้างความแปลกใจได้พอสมควรเลย เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่เราสอบถามมานั้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ติดตามการ์ตูนที่ท็อปฮิตติดลมบนเท่านั้น ไม่ได้ติดตามการ์ตูนกระแสรองลงมาแต่อย่างใด 

เมื่อสอบถามเพิ่มเติมไปอีกว่าแล้วยังวนเวียนไปหาซื้อกันแถวไหน ? ในละแวกสถาบันศึกษาใช่หรือเปล่า ? 

คำตอบที่รับก็คือ ณ เวลานี้ สถานที่ซื้อการ์ตูนของนักเรียนนักศึกษาไม่ใช่ร้านค้าใกล้กับโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยแบบที่ทีมงานของเราเคยทำกันมาสมัยเอ๊าะๆ เสียแล้ว (แย่ล่ะสิ...เผลอแสดงความแก่) ในยุคที่ห้างเต็มเมืองแบบนี้นักเรียนนักศึกษาเองก็แวะเวียนไปซื้อตามห้างสรรพสินค้าและเก็บเฉพาะเรื่องไม่ต่างอะไรกับคนทำงานเลย 

นอกจากนั้นด้วยกิจกรรมในยามว่างที่มีมากขึ้น หลายคนจึงเลือกใช้วิธีเช่าอ่านตามร้านเช่าที่มีเยอะกว่าในพื้นที่ใกล้สถาบัน เพื่อเซฟเงินของตัวเองไปใช้ในกิจกรรมที่ราคาแพงมากกว่า อย่างเช่น เกมคอมพิวเตอร์ / การ์ดเกม / บอร์ดเกม เป็นอาทิ  

ทีมงานมินิมอร์ อยากบอกน้องๆ ด้วยความเป็นห่วงเงินในกระเป๋าน้องๆ ว่าบอร์ดเกมราคาไม่ใช่น้อย ดังนั้นติดตามชมรายการ Board Jockey เพื่อดูว่าบอร์ดเกมอันไหนน่าสนใจได้นะจ้ะ กดตรงนี้ 



มุมมองของเหล่านักสะสมฮาร์ดคอร์ หรือ โอทาคุ

สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ยังตามติดหนังสือการ์ตูนหลากหลายเรื่อง อย่างเหนียวแน่น บางคนอธิบายกับเราว่าพวกเขาเก็บหนังสือ(อันเป็นส่วนหนึ่งในสินค้าที่พวกเขาสะสม) จนพื้นที่ในห้องของเขาแทบจะไม่มีที่สำหรับนอนเหลือทีเดียว และนักอ่านกลุ่มนี้เห็นน่าจะเป็นกลุ่มที่สัมผัสได้ถึงการจากไปของร้านการ์ตูนมากที่สุด แต่ในทางกลับกันพวกเขาก็ค้นหาร้านที่ยังมีชีวิตรอดแล้วตามไปอุดหนุนต่อเช่นเดิม

อีกสิ่งที่กลุ่มนี้พูดชัดเจนก็คือ การที่ร้านการ์ตูนลดลง ผลพวงอย่างหนึ่งมาจากการที่สำนักพิมพ์ออกหนังสือการ์ตูนน้อยลง ออกช้า และเรื่องที่ออกวางตลาดก็มักไม่ใช่เรื่องที่เป็นกระแสสำหรับกลุ่มโอทาคุเท่าใดนัก จุดนี้เองที่พวกเขาคิดว่าเป็นอีกเหตุที่ทำให้คนซื้อหนังสือการ์ตูนน้อยลงจนเกิดการล่มสลายของร้านขายการ์ตูนขึ้น



เชื่อว่าหลายท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้อาจจะแปลกใจว่ามีคำใดคำหนึ่งตกหล่นไปในการสอบถามหรือเปล่า ...ไม่เลยครับ ไม่ได้มีอะไรตกหล่นไปเลย เราแค่ยังไม่ได้พูดถึง "การ์ตูนสแกน" (Scanlation) หรือ การอ่านการ์ตูนผิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ เนื่องจากทุกคนทุกคนที่เราไปสอบถามนั้น ตอบเรื่องนี้เป็นสาเหตุแรกกันทุกท่าน และเข้าใจดีว่าคนส่วนหนึ่งไม่ซื้อการ์ตูนเป็นเล่มเพราะถือว่าอ่านตอนนั้นๆ มาก่อนแล้ว อย่างเช่นนักสะสมตัวยงคนหนึ่งให้ความเห็นไว้ว่า 

"จากเดิมเนี่ยที่สมัยก่อนเราไม่รู้ว่าการ์ตูนแต่ละเรื่องมีอะไรบ้าง มันเลยต้องเสี่ยงซื้อกัน คือซื้อกันสัปดาห์ละ 10 เล่มได้เลย แต่สมัยนี้พอมีสแกน พอมีเน็ต จากที่เคย 10 มันได้เห็นก่อน ได้อ่านก่อน ก็เลือกเก็บได้ จำนวนที่เคยซื้อเป็น 10 ก็เลยลดเหลือ 2-3 เล่มแทน พอซื้อน้อย ร้านมันก็เลยตายดิ"

จากทรรศนะข้างต้นทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า โดยพื้นฐานกลุ่มคนที่เก็บหนังสือการ์ตูนไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ข้าใจตรงกันว่า การละเมิดลิขสิทธิ์มีผลโดยตรงต่อการล่มสลายของร้านการ์ตูน นั่นเอง

และทั้งหมดในส่วนนี้ก็เป็นมุมมองของนักอ่านการ์ตูนเท่านั้น ครั้งหน้า เราจะมาพูดถึงมุมมองของ ร้านการ์ตูน และมุมมองจากสำนักพิมพ์การ์ตูนกัน


เขียนโดย Prepanod