3 คำถามสำหรับนักทำหนังหน้าใหม่หัวใจรักการทดลอง โดย Eyedropper Fill



        หลายคนบ่นว่างานสร้างสรรค์ในบ้านเราย่ำอยู่กับที่ ไม่ก็ดีแต่ลอก บางคนเลือกที่จะเลิกบ่น แต่ลงมือทดลองหาแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ภารกิจป้อนยาขมให้สังคมแข็งแรงขึ้นด้วยการผสมรสความแมสกับความใหม่เข้าด้วยกันนั้นมีขั้นตอนอย่างไร Eyedropper Fill ที่มีสองผู้กำกับผู้หมกมุ่นกับการหาความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ยาวนานถึงเจ็ดปีอย่าง เบสท์—วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท—นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล จะมาเล่าเรื่องระหว่างการทดลองของพวกเขาให้ฟัง

        มิวสิกวิดีโอเพลง The Haunted House ของ Part Time Musicians เป็นงานทดลองเต็มตัวของทั้งคู่ แต่การตอบรับจากผู้ชมกลับดีเกินคาด “เราคิดว่าคนดูกินรสเดิมจำเจเกินไปแล้ว เราจึงต้องทำรสใหม่ขึ้นมาเป็นทางเลือก และเราได้เห็นแล้วว่ามีคนที่อยากกิน ถ้าเราปรับอีกนิดมันจะมีคนกินaได้มากขึ้น แนวทางของเราจึงเป็นไปอย่างที่เห็นในตอนนี้” นัทเล่าเปรียบเทียบให้เห็นภาพอาหารตารสชาติแปลกใหม่ที่พวกเขาตั้งใจปรุงออกมาเสิร์ฟเมื่อปีก่อน

The Haunted House - Part time Musicians


        บันทึกการทดลองของ Eyedropper Fill เต็มไปด้วยความเป็นไปได้นับไม่ถ้วนของแต่ละวัตถุและวิธี เช่นคลิปเลียนแบบสื่อการสอนชวนให้ลองเล่นกล้องอย่าง Eyedropper Fill Visual Lab “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเลนส์?” นั้นได้มาจากเศษเหลือของการทดลองที่สะสมไว้ “เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำไปจะไม่เสียเปล่า จะยังเหลือตะกอนให้เอาไปทำอะไรต่อได้เยอะแยะเลย” นัทย้ำกับเราอย่างนั้น


        ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา Eyedropper Fill ก้าวออกจากจอไปพูดคุยกับผู้คนในสังคมมากขึ้น และหาแนวทางที่จะย้ายภาพเคลื่อนไหวไปขยับอยู่บนพื้นที่อื่นนอกเหนืออาณาเขตของความคุ้นเคย เพื่อนิยามความหมายใหม่ๆ ให้แก่วิธีการเล่าเรื่องของพวกเขา เช่น โปรเจกต์ Dreamscape ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล Popular Vote ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 19 ประจำปี 2558 มาหมาดๆ 

Dreamscape Project

และนี่คือ 3 คำถามที่นักทำหนังหน้าใสหัวใจรักการทดลอง ควรอ่านผ่านตาก่อนจะลงมือทำจริง

ขอบเขตของการทดลองคืออะไร ทดลองแค่ไหนจึงจะพอ
นัท : เวลากับงบประมาณจะช่วยตีกรอบให้เราได้มาก เราเองพอทำมาเรื่อยๆ จะเริ่มรู้ว่านี่แหละพอแล้ว อาจจะทำต่อไปอีกนิด จนเห็นว่าไปข้างหน้าก็คงคว้าน้ำเหลวแล้วล่ะ ค่อยกลับมาพัฒนาอันที่ดีแล้วให้ดีขึ้น 

ออกแบบวิธีการทดลองกันอย่างไร
เบสท์ : ยกตัวอย่างเพลง Haunted House ของ Part time Musicians เนื้อหาเพลงค่อนข้างชัดมากอยู่แล้ว เราจึงมาลองคิดดูว่า จะทำยังไงให้มันเบลอ แต่ยังสื่อสารกับคนดูอยู่ เนื้อเพลงพูดถึงความทรงจำในบ้านหลังเก่า ทำให้เรานึกถึงความรักของคนแก่ แล้วได้ไปอ่านหนังสือเจอว่า ช่วงเวลาก่อนที่คนจะตาย ความทรงจำมันแฟลชแบ็คกลับมาเป็นความรู้สึกตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เรารู้สึกว่า เฮ้ย! เจ๋งว่ะ! ก็เลยเริ่มพัฒนาจากตรงนั้น ค่อยๆ ร่างภาพในหัวลงบนกระดาษแล้วหาวิธีที่จะทำให้มันเกิดเป็นภาพจริงๆ ขึ้นมา

หนังสืออ้างอิงสำหรับการทำ MV ของ Eyedropper Fill

ดูเรฟฯ บ่อยๆ เข้าก็เริ่มจะกลายเป็นลอก หากไม่ดูงานคนอื่นแล้วเราจะเอาแรงบันดาลใจมาจากไหน
เบสท์: สำหรับเราอินพุตมาจากสิ่งรอบตัว เราคิดว่าการนั่งดูเรฟฯ ในอินเทอร์เน็ตแล้วเอามาดัดแปลงเป็นงานตัวเองมันง่ายเกินไปหน่อย อันนี้เราไม่นับงานที่เป็นของลูกค้าเต็มตัวนะ งานไหนที่ลูกค้าปล่อยเราก็พยายามตีจากโจทย์จริงๆ เราพยายามทำให้มัน pure ที่สุดโดยการสังเกตจากสิ่งรอบตัว เราเชื่อว่าถ้าแกนมันดี ทุกอย่างมันจะตามมาเอง


ติดตามชมผลงานอื่นๆ ของ Eyedropper Fill ได้ที่ eyedropperfill.com

จาก Face of Visual Artist เล่นแลแปรภาพ
คอลัมน์ Face of—giraffe issue 20
GREAN ISSUE 2/2 AUG 2015