เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#TranslationFoundThe Mellow Being
อาหารเฮลตี้ราคาสูง อาหารถูกไม่ดีต่อร่างกาย
  • บทความต้นฉบับ: The high price of healthy food… and the low price of unhealthy food 

    เขียนโดย Derek Headey และ Harold Alderman

    จาก: บล็อกธนาคารโลก  

    (ตัวองค์กรมีแปลบทความอื่นเป็นภาษาไทยด้วยค่ะ แต่จากที่ลองค้นดู ยังไม่พบว่าบทความตัวนี้มีฉบับภาษาไทย และตัวเจ้าของบล็อกมีความสนใจในหัวข้อ จึงอยากนำมาแปลค่ะ)

    เผยแพร่เมื่อวันที่: 23 กรกฎาคม 2562



    คณะชี้วัดภาวะโรคและความเจ็บป่วยของประชากรโลก (Global burden of disease; GBD) ชี้ ว่าการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่ง อันส่งผลให้ประชาชนทุกหนึ่งในห้าคนเสียชีวิตทั่วโลก มื้ออาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาล ไขมัน และเนื้อสัตว์สีแดงในปริมาณมากเกินพอ จะทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังคร่าชีวิตในยามบั้นปลาย (ของประชาชนในประเทศที่มีรายได้สูงเป็นส่วนมาก) ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำกว่ามักประสบปัญหาการเสียประชากรเด็กจากภาวะเจ็บป่วยในช่วงต้นของชีวิต เช่น ภาวะน้ำหนักลดผิดปกติ การเจริญเติบโตตามวัยหยุดชะงัก และภาวะขาดสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยทว่ายังมีความจำเป็น จากการรับประทานผัก ผลไม้ ผลิตภัณท์จากนม ไข่ เนื้อปลาและสัตว์ที่โภชนาการสูงในปริมาณที่ต่ำเกินไป พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายจึงปักหลักเป็นใจกลางซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพหลากหลายประเภทในพื้นที่ที่แตกต่างกัน


    แต่ปัญหาทางโภชนาการในประเทศที่ร่ำรวยและยากจนต่างกัน มีเหตุจากธรรมชาติของกลไกในระบบการผลิตและจัดการอาหารของโลกหรือไม่?

    นั่นคือข้อสงสัยที่เราตั้งคำถามผ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสาร The Journal of Nutrition และหาคำตอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสำรวจของโครงการเปรียบเทียบข้อมูลนานาชาติ (International Comparison Program; ICP) ของธนาคารโลก ว่าด้วยราคาอาหารสำหรับผู้บริโภค 657 รายการจาก 176 ประเทศ


    มาตรวัดที่เราใช้เพื่อวิเคราะห์สภาวะของระบบอาหารโลกในมุมมองของผู้บริโภคก็คือ “ราคาแคลอรีสัมพัทธ์ (relative caloric price)” ของอาหารแต่ละชนิด ยกตัวอย่าง เช่น พลังงานสารอาหารที่ได้จากไข่ในประเทศไนเจอร์ มีราคาถูกหรือแพงกว่าอาหารชนิดอื่นที่เป็นที่นิยมบริโภคมากในประเทศเดียวกันนี้? พบว่า แคลอรีที่ได้จากไข่แพงกว่าอาหาร เช่น ข้าวหรือข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารที่ชาวไนเจอร์บริโภคโดยทั่วไปถึง 23.3 เท่า ในทางกลับกัน ราคาแคลอรีสำหรับไข่ในสหรัฐอเมริกานับแพงกว่ากลุ่มอาหารประจำชาติเพียง 1.6 เท่าเท่านั้น ค่าราคาแคลอรีสัมพัทธ์ของไข่ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศปรากฏตามแผนภูมิด้านล่าง


    ไข่ที่มีสารอาหารสูง มีราคาแพงกว่าอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่า เช่น ข้าว แป้งสาลี และข้าวโพด ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

    ราคาแคลอรีสัมพัทธ์ (CPR) ของไข่เทียบกับอาหารประจำชาตินั้นๆ

    [คลิกเพื่อชมภาพที่บทความต้นฉบับ]

    ข้อมูลราคาอาหารจากโครงการ ICP เมื่อปี 2554
    ที่มา: Derek Heady และ Harold Alderman, IFPRI

    ราคาแคลอรีสัมพัทธ์ถือเป็นมาตรวัดที่มีคุณสมบัติดีๆ หลายประการ คือ สามารถแสดงให้เห็นการให้ราคาสารอาหาร (แคลอรี) ที่แตกต่างในสังคมที่มีพื้นฐานรายได้จำนวนหนึ่งเป็นอย่างแรก ผลการสำรวจระบบอาหารตามค่า CPR ที่ได้นี้ยังมีแนวโน้มไปในทางเดียวกันกับพฤติกรรมผู้บริโภครายได้ต่ำที่เราสังเกตได้ ว่ามักมีความสนใจต้องการซื้ออาหารให้พลังงานราคาถูก ประการสุดท้าย คือ ค่า CPR ไม่ขึ้นกับหน่วยเงินสกุลใด สามารถใช้เปรียบเทียบราคาอาหารระหว่างประเทศได้


    การวิเคราะห์ของเรานำมาสู่ผลที่น่าตะลึง: ยิ่งประเทศใดมีความเจริญมากขึ้น ระบบผลิตและจัดการอาหารของประเทศนั้นย่อมทำให้อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมีราคาถูกลง แต่อาหารที่มีคุณค่าน้อยและให้โทษก็สามารถไปถึงมือประชาชนในราคาที่ถูกลงอีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่ากำลังประสบ คือสภาวะที่คนจนของประเทศต้องอยู่กับระบบผลิตและจัดการอาหารที่ไม่ดี: อาหารมากคุณค่าเช่นไข่ นม ผักและผลไม้มีราคาแพงในประเทศเหล่านี้ ทำให้การลดหลีกการบริโภคอาหารโภชนาการต่ำประจำชาติ เช่น ข้าว ข้าวโพด และขนมปัง เป็นไปได้ยากขึ้น ปัญหาของประเทศที่เจริญกว่าจึงต่างออกไป: อาหารที่ดีมีราคาถูก แต่อาหารที่ไม่ดีถูกยิ่งกว่า เช่นในสหรัฐฯ พบว่าราคาแคลอรีของน้ำอัดลมแพงกว่าอาหารสามัญนิยมอื่นเพียง 1.9 เท่า ซ้ำยังไม่ต้องเสียเวลาปรุงแต่งใดเพื่อบริโภค จึงดึงดูดใจผู้ซื้อได้มากไม่แพ้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ


    รูปแบบราคาอาหารเหล่านี้ขึ้นลงพ้องกับสิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ (Nutrition Transition):  เมื่อประเทศหนึ่งมีความเจริญขึ้น ประชาชนมีแนวโน้มจะลงทุนบริโภคอาหารที่มีคุณค่าสูงมากขึ้น (แม้พัฒนาการนี้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าในบางคราว) ทว่ากำลังซื้อหลายส่วนก็กระจายไปสู่อาหารที่ให้ประโยชน์น้อย เช่น น้ำอัดลมด้วย และแม้เราจะควบคุมตัวแปรแล้วหลายประการ อาทิ ค่ารายได้ต่อหัวประชากร (per capita income) ระดับการศึกษา และระดับความเป็นชุมชนเมือง ค่า CPR ของอาหารที่ผลิตจากสัตว์ (Animal-sourced foods; ASF) ก็ยังแปรตามจำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการหยุดชะงัก (Stunting)ในวัยเด็ก แผนภูมิด้านล่างแสดงให้เห็นว่า ราคานมวัวที่สูงขึ้นมีผลสัมพันธ์กับภาวะพัฒนาการหยุดชะงักที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่า CPR ของอาหารอุดมน้ำตาลแปรผกผันกับอัตราการเกิดโรคอ้วน (เมื่อราคาน้ำตาลต่ำลง อุบัติการณ์เกิดโรคอ้วนสูงขึ้น)


    ภาวพัฒนาการหยุดชะงักในเด็กพบมากขึ้นในภูมิภาคที่นมวัวมีราคาแพง

    [คลิกเพื่อชมภาพที่บทความต้นฉบับ]

    ข้อมูลราคาอาหารจากโครงการ ICP เมื่อปี 2554
    ที่มา: Derek Heady และ Harold Alderman, IFPRI

    แล้วเหตุใด ระบบอาหารของโลกกับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงส่งผลให้ราคาของทั้งอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูงและต่ำผิดเพี้ยนไปหมดในหลายพื้นที่? ส่วนหนึ่งอาจมาจากตัวอาหารเหล่านั้นเอง น้ำตาลให้พลังงานได้มาก ในขณะที่ผักใบเขียวให้พลังงานน้อย การคงสภาพสดใหม่รับประทานได้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เราเก็บไข่และนมสดเพื่อส่งค้าขายสู่พื้นที่ที่ไกลออกไปมากไม่ได้ ไข่ในประเทศไนเจอร์จึงแพงมาก เพราะกำลังผลิตภายในประเทศต่ำ ซ้ำยังไม่สามารถนำเข้าไข่ราคาถูกจากสหรัฐฯ ได้ด้วย ในกนณีของอาหารสำเร็จรูป เราตั้งข้อสังเกตว่าราคาอาจเป็นผลจากอุปสงค์ของประชาชน (ประเทศไนเจอร์มีตลาดอาหารขยะที่ใหญ่พอหรือไม่?) และกำลังการผลิตของประเทศนั้น ว่าสามารถผลิตอาหารสำเร็จรูปที่คุ้มทุนและมีคุณภาพได้หรือไม่ (การอาหารประเภทนี้ในทวีปแอฟริกาลำบากและเต็มไปด้วยปัญหา)


    แม้สิ่งที่พบจากการวิจัยครั้งนี้ควรจะเป็นเรื่องทั่วไปที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้รอบรู้ในเรื่องของ ”กฏสินค้าราคาเดียว (The Law of One Price; สินค้าชนิดหนึ่งควรมีมูลค่าเท่าเดิมในทุกที่)” (รวมถึงข้อห้ามของมัน!) จะเข้าใจดีประหนึ่งเป็นสามัญสำนึกก็ตาม ความจริงที่ว่าราคาอาหารในแต่ละที่มีความแตกต่างอย่างมากจากสาเหตุอันเป็นกลไกผลักดันมากมายนี้ ก็ควรถูกพิจารณาและยึดไว้เป็นฐานยืนของหลักการ ที่นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านอาหารที่เน้นพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการได้


    เราจะลดความแตกต่างในความสามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ระหว่างประเทศที่รวยและจนได้ ด้วยการมุ่งลงทุนวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรที่หลากหลายขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตอาหารมากคุณค่าทางโภชนาการ - เป้าหมายสำคัญที่คณะผู้ให้คำปรึกษาด้านการวิจัยทางเกษตรนานาชาติ (CGIAR) ควรดำเนินการ - และเพื่อพัฒนาโครงสร้างภายในและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ขยายกว้างขึ้นด้วย


    ราคาของอาหารคุณค่าโภชนาการต่ำที่ถูกลงเรื่อยๆ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรับมือ: การเก็บภาษีอาหารกลุ่มที่ให้ประโยชน์น้อยอาจเป็นหนทางแก้ไขวิธีหนึ่ง แต่ราคาแคลอรีของน้ำตาลและไขมันก็ยังถูกเป็นอย่างยิ่ง เราจึงสันนิษฐานว่าปัญหานี้น่าจะคลายปมลงได้มากกว่า หากส่งเสริมการให้ความรู้ด้านโภชนาการ และการออกกฏหมายควบคุมฝั่งผู้ผลิตอาหาร เช่น การบังคับระบุรายละเอียดบนฉลากบรรจุภัณฑ์


    ความจริงประการหนึ่งยังคงอยู่: การลดภาระหนักจากโรคทั่วโลก อันเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้คุณภาพจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และการแก้ไขกลไกอาหารของโลกจะต้องเป็นหัวใจสำคัญเพื่อประจัญกับความท้าทายนี้ต่อไป


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in