บทความต้นฉบับ: Preventing COVID-19 from Spreading
เขียนโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC; Centers for Disease Control and Prevention)
จาก: เว็บไซต์ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา
อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2563
แนวปฏิบัติชั่วคราวฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้น จากข้อมูลทางระบาดวิทยาเท่าที่เป็นที่ทราบในปัจจุบันของโรคไวรัสโควิด-19 ร่วมกับข้อมูลเรื่องการแพร่เชื้อของไวรัสก่อโรคในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ CDC จะปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติชั่วคราวนี้เท่าที่เล็งเห็นความจำเป็น และเมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
โคโรน่าไวรัส (Coronavirus) เป็นตระกูลไวรัสที่ประกอบไปด้วยสายพันธุ์ย่อยมากมาย บางสายพันธุ์ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ ในขณะที่บางสายพันธุ์สามารถอาศัยอยู่ในตัวสัตว์หลากหลายชนิด เช่น อูฐ แมว และค้างคาว ในบางกรณี เมื่อมนุษย์สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ โคโรน่าไวรัสก็สามารถแพร่พันธุ์จากสัตว์สู่มนุษย์ และจากมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันเอง อย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของเชื้อเมอร์ส (MERS-CoV) และซาร์ส (SARS-CoV) คาดว่าอุบติการณ์ของโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก็มีต้นเหตุมาจากกรณีนี้เช่นกัน การปฏิบัติตนตามแนวทางชั่วคราวฉบับนี้อาจช่วยป้องกันการแพร่ไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ให้ระบาดกระจายจากคนสู่คนในที่พักและชุมชนได้
แนวปฏิบัติชั่วคราวนี้จัดทำขึ้นเพื่อบุคคลต่อไปนี้:
หากคุณมีนัดหมายตรวจสุขภาพ กรุณาติดต่อแพทย์หรือผู้ให้บริการทางสุขภาพของคุณล่วงหน้า และแจ้งให้พวกเขาทราบ ว่าคุณติดเชื้อ COVID-19 หรือสงสัยว่าตนกำลังติดเชื้อ COVID-19 การปฏิบัติตนเช่นนี้ จะช่วยให้ผู้บริการทางการแพทย์ดำเนินแผนการต่างๆเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้าใช้บริการคนอื่นจากการติดเชื้อได้
คุณควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพบปะผู้อื่น (เช่น การใช้ห้องหรือรถยนต์ร่วมกัน) เข้าใกล้สัตว์เลี้ยง และเมื่อต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือสถานบริการทางสุขภาพ ในกรณีที่คุณไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัย (ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น หน้ากากอนามัยทำให้คุณหายใจไม่สะดวก) สมาชิกร่วมที่พักหรือผู้ใกล้ชิดคุณไม่ควรใช้พักอาศัยหรือใช้ห้องพักร่วมกับคุณ หรือควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องอยู่ในห้องร่วมกับคุณ
กรุณาปิดปากและจมูกของคุณด้วยกระดาษทิชชู่ทุกครั้งที่ไอหรือจาม ทิ้งกระดาษทิชชู่ที่ให้แล้วลงถังขยะ และล้างมือของคุณทันทีด้วยสบู่และน้ำ โดยให้ใช้เวลาล้างนาน 20 วินาทีเป็นอย่างน้อย หรือทำความสะอาดมือของคุณ ด้วยน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์เข้มข้น 60-95% ชะโลมน้ำยาให้ทั่วมือแล้วถูมือเข้าหากันจนกว่าคุณจะรู้สึกว่ามือแห้งดีแล้ว หากมือของคุณมีคราบสกปรกชัดเจน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่แทนการใช้น้ำยาล้างมือ
ล้างมือสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำ โดยให้ใช้เวลาล้างนาน 20 วินาทีเป็นอย่างน้อย หรือทำความสะอาดมือของคุณ ด้วยน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์เข้มข้น 60-95% ชะโลมน้ำยาให้ทั่วมือแล้วถูมือเข้าหากันจนกว่าคุณจะรู้สึกว่ามือแห้งดีแล้ว หากมือของคุณมีคราบสกปรกชัดเจน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่แทนการใช้น้ำยาล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปากตัวเองก่อนการล้างมือ
คุณไม่ควรใช้จาน แก้วน้ำ ถ้วย อุปกรณ์การกิน ผ้าเช็ดตัว หรือที่นอนร่วมกับผู้อื่นและสัตว์เลี้ยงในบ้านของคุณ และควรทำความสะอาดเครื่องใช้เหล่านี้ด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดหลังใช้
ทำความสะอาดพื้นผิวสิ่งของที่จับต้องเป็นประจำทุกวัน
พื้นผิวสิ่งของที่จับต้องเป็นประจำ ในที่นี้ มีความหมายไปถึงโต๊ะ ลูกบิดประตู สุขภัณฑ์ (อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ชักโครก ฯลฯ) โทรศัพท์ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโต๊ะข้างเตียง นอกจากนี้ ควรทำเช็ดทำความสำอาดทุกพื้นผิวที่อาจเปื้อนคราบเลือด อุจจาระ หรือสารคัดหลั่งใดๆ ด้วยสเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาดตามขั้นตอนและปริมาณที่ระบุของแต่ะผลิตภัณฑ์ หากสารทำความสะอาดที่ใช้ระบุให้ปฏิบัติตนป้องกันตัวเป็นพิเศษ เช่น ควรสวมถุงมือก่อนใช้ หรือ ควรใช้ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท ควรปฏิบัติตามแนวทางป้องกันเหล่านั้นด้วย
เฝ้าสังเกตอาการตนเอง
ติดต่อแพทย์ทันทีหากอาการป่วยของคุณรุนแรงขึ้น (เช่น หายใจไม่สะดวกมากขึ้น) ให้ข้อมูลกับแพทย์ล่วงหน้าเสมอ ว่าคุณติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนเข้าไปยังสถานบริการทางสุขภาพ การปฏิบัติตนเช่นนี้ จะช่วยให้ผู้บริการทางการแพทย์ดำเนินแผนการต่างๆ เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้าใช้บริการคนอื่นจากการติดเชื้อได้ ขอความร่วมมือให้ผู้ให้การรักษาของคุณติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขระดับชุมชนหรือรัฐ ผู้ที่อยู่ระหว่างการสังเกตอาการโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือเฝ้าระวังอาการด้วยตนเองควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขระดับชุมชน/รัฐ หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม
หากคุณมีความจำเป็นต้องติดต่อแพทย์โดยฉุกเฉินหรือใช้บริการสายด่วนทางสุขภาพใดๆ กรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปลายสายทราบเสมอว่าคุณติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 และสวมหน้ากากอนามัย (หากทำได้) ขณะรอเจ้าหน้าที่มาถึง
ข้อพิจารณาสำหรับการเลิกกักตัว
ผู้ป่วย COVID-19 ควรกักตัวในที่พักไปจนกว่าตนจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในระดับต่ำ ผู้ป่วยควรได้รับคำปรึกษาจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนถึงหน่วยงานสาธารณสุขระดับชุมชนและรัฐ เพื่อตัดสินว่าตนควรเลิกกักตัวป้องกันการแพร่โรคหรือไม่ โดยจะต้องทำการพิจารณาเป็นรายกรณี
สมาชิกร่วมที่พักอาศัย บุคคลใกล้ชิด* และผู้ให้การดูแลนอกสถานพยาบาล ที่มีความจำเป็นต้องติดต่อคลุกคลีกับผู้ป่วย COVID-19 ที่ได้รับผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อแล้วและแสดงอาการ จะต้องสังเกตอาการของตนเองเช่นเดียวกับผู้ป่วย หากพบว่าตนเริ่มมีอาการต้องสงสัยติดเชื้อ COVID-19 (เช่น มีไข้ ไอ หายใจไม่สะดวก) ควรติดต่อผู้ให้บริการทางสุขภาพทันที (อ่านแนวปฏิบัติชั่วคราวสำหรับการประเมินความเสี่ยงและดำเนินการทางสาธารณสุขกับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ 2019 (COVID) ระหว่างการท่องเที่ยวหรือในที่ชุมชนของสหรัฐอเมริกาได้ ที่นี่ (ภาษาอังกฤษ))
ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย (หรือผู้ต้องสงสัยว่าจะป่วย) ควรปฏบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้:
ทำความเข้าใจคำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยจากแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยที่คุณใกล้ชิดด้วยปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น คุณควรช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่บ้านได้ และให้ความช่วยเหลือในกิจวัตรต่างๆ เช่น ช่วยออกไปซื้ออาหารและเครื่องใช้ จัดซื้อยาและอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ รวมถึงความต้องการส่วนตัวอื่นๆ ของผู้ป่วย
เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วย หากอาการของผู้ป่วยทรุดหนักลง ควรติดต่อแพทย์หรอผู้ให้การรักษาของเขา และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 โดยได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรคจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว การปฏิบัติตนเช่นนี้ จะช่วยให้ผู้บริการทางการแพทย์ดำเนินแผนการต่างๆ เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้าใช้บริการคนอื่นจากการติดเชื้อได้ ขอความร่วมมือให้ผู้ให้การรักษาของคุณติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขระดับชุมชนหรือรัฐ หากคุณมีความจำเป็นต้องติดต่อแพทย์โดยฉุกเฉินหรือใช้บริการสายด่วนทางสุขภาพใดๆ กรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปลายสายทราบเสมอ ว่าผู้ป่วยติกเชื้อ COVID-19 หรือกำลังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยโรค COVID-19
สมาชิกร่วมที่พักอาศัยไม่ควรพำนักอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย ควรอาศัยในอีกห้องแยกจากกัน และหากเป็นไปได้ ควรใช้ห้องน้ำและห้องนอนแยกจากผู้ป่วยด้วย
ไม่ควรอนุญาตให้ผู้อื่นมาเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน หรือมาประกอบธุระที่บ้านโดยไม่จำเป็น
สมาชิกร่วมที่พักอาศัยควรให้การดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้าน ไม่ควรดูและสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่นในบ้านหากกำลังไม่สบาย
จัดสภาพบ้านให้บริเวณห้องที่ใช้ร่วมกันในบ้าน (เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว) มีอากาศถ่ายเท ด้วยการใช้เครื่องกรองอากาศ หรือเปิดหน้าต่างเมื่อสภาพอากาศอำนวย
ทำความสะอาดมือตนเองเป็นประจำ ล้างมือสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำ โดยให้ใช้เวลาล้างนาน 20 วินาทีเป็นอย่างน้อย หรือทำความสะอาดมือของคุณ ด้วยน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์เข้มข้น 60-95% ชะโลมน้ำยาให้ทั่วมือแล้วถูมือเข้าหากันจนกว่าคุณจะรู้สึกว่ามือแห้งดีแล้ว หากมือของคุณมีคราบสกปรกชัดเจน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่แทนการใช้น้ำยาล้างมือ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปากตัวเองก่อนการล้างมือ
คุณและผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่ในห้องร่วมกัน
ส่วมหน้ากากอนามัยและถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งเมื่อต้องสัมผัสกับเลือด อุจจาระ หรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก อาเจียน และปัสสาวะ
ทิ้งหน้ากากอนามัยและถุงมือหลังใช้ทุกครั้ง ไม่ใช้ซ้ำ
ขั้นตอนการถอดอุปกรณ์ป้องกันตัวหลังสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย: 1.) ถอดและทิ้งถุงมือก่อน 2.) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์ทันที 3.) ถอดและทิ้งหน้ากากอนามัย 4.) ล้างมืออีกครั้งทันที ด้วยสบู่และน้ำหรือน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย คุณไม่ควรใช้จาน แก้วน้ำ ถ้วยชาม อุปกรณ์การกิน ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน ตลอดจนถึงเครื่องใช้อื่นใดร่วมกับผู้ป่วย ทำความสะอาดเครื่องใช้ให้สะอาดทุกครั้งหลังจากผู้ป่วยใช้จนเสร็จ (อ่าน การซักผ้าให้สะอาด ประกอบด้านล่าง)
ทำความสะอาดพื้นผิวสิ่งของที่จับต้องเป็นประจำ ในที่นี้ มีความหมายไปถึงโต๊ะ ลูกบิดประตู สุขภัณฑ์ (อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ชักโครก ฯลฯ) โทรศัพท์ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโต๊ะข้างเตียง นอกจากนี้ ควรทำเช็ดทำความสำอาดทุกพื้นผิวที่อาจเปื้อนคราบเลือด อุจจาระ หรือสารคัดหลั่งใดๆ ด้วยสเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาดตามขั้นตอนและปริมาณที่ระบุของแต่ะผลิตภัณฑ์ หากสารทำความสะอาดที่ใช้ระบุให้ปฏิบัติตนป้องกันตัวเป็นพิเศษ เช่น ควรสวมถุงมือก่อนใช้ หรือ ควรใช้ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท ควรปฏิบัติตามแนวทางป้องกันเหล่านั้นด้วย
การซักผ้าให้สะอาด: 1.) ถอดชิ้นผ้าที่เปื้อนเลือด อุจจาระ หรือสารคัดหลั่ง ออกจากเครื่องนอนหรือเครื่องใช้ทันที 2.) สวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งขณะหยิบจับผ้าและสิ่งของที่เปื้อนสารคัดหลั่ง โดยพยายามอย่านำสิ่งของเหล่านั้นเข้ามาใกล้ตัว ล้างมือ (ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์) ทันทีหลังถอดถุงมือ 3.) อ่านและปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าตามที่ระบุบนฉลาก โดยทั่วไป สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าทั่วไปตามปริมาณและขั้นตอนสำหรับการใช้ในเครื่องซักผ้าได้ และตาก/อบผ้าให้แห้งด้วยอุณหภูมิสูงสุดตามคำแนะนำจากฉลากของผ้าแต่ละชิ้น
ทิ้งถุงมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ปนเปื้อนสารคัดหลั่งอื่นๆ ลงในภาชนะบุด้วยถุงขยะรองรับและมีฝาปิดก่อนนำไปกำจัดพร้อมขยะประเภทอื่นในบ้าน ล้างมือ (ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาล้างมือผสมแอลกอฮอล์) ทันทีหลังจัดการกับขยะเสร็จ หากมือของคุณมีคราบสกปรกชัดเจน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่แทนการใช้น้ำยาล้างมือ
ขอคำปรึกษาเพิ่มเติม จากผู้ให้บริการทางสุขภาพและเจ้าหน้าที่สถานบริการทางสุขภาพในชุมชนและรัฐของคุณ
หมายเหตุ
บุคคลผู้ใกล้ชิด หมายถึง
a.) บุคคลใดๆ ที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วยในรัศมี 2 เมตรโดยประมาณเป็นเวลานานในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การเข้าให้การดูแลผู้ป่วย การอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน การเยี่ยมเยียน หรือการอยู่ในห้องรอเข้ารับการตรวจโรคในห้องพยาบาล
-หรือ-
b.) บุคคลใดๆ ที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยตรง (เช่น ถูกผู้ป่วยไอหรือจามใส่)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in