เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#TranslationFoundThe Mellow Being
กลยุทธ์การปราบปราม ควบคุม และสลายการชุมนุมของกองกำลังตำรวจสหรัฐ

  • ศาสตร์ปราบจลาจล:
    กลยุทธ์การปราบปราม ควบคุม และสลายการชุมนุมของกองกำลังตำรวจสหรัฐ


    บทความต้นฉบับ: Racial Justice Protests - Weapons of Control: What U.S. police are using to corral, subdue and disperse demonstrators เขียนโดย มีมี ไดวเออร์ (Mimi Dwyer) 

    จาก: สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) และสหภาพสิทธิพลเรือนอเมริกัน (American Civil Liberties Union)

    เผยแพร่เมื่อวันที่: 5 มิถุนายน 2563


    **ผู้แปลไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์หรือแสวงหาผลกำไรใดๆ จากบทความแปลนี้ และหวังแปลบทความต้นฉบับจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพียงเพื่อเป็นวิทยาทานแด่ผู้ที่สนใจเท่านั้นค่ะ


    เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น กรุณาอ้างอิงข้อมูลและรูปภาพประกอบเพิ่มเติมจากทางต้นฉบับระหว่างอ่านบทความด้วยนะคะ**


    เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วสหรัฐอเมริกากำลังใช้อาวุธและอุปกรณ์หลากประเภท เพื่อรับมือกับประชาชนผู้ก่อการชุมนุมต่อต้านระบอบเหยียดชาติพันธุ์ (Systemic Racism) และการกระทำรุนแรงต่อพลเรือนจากฝีมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Police Brutality) 


    จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันวัย 46 ปี เสียชีวิตขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวนายหนึ่งประจำรัฐมินนิแอโพลิสคุกเข่ากดทับคอของเขาเป็นเวลากว่าแปดนาที  เหตุการณ์ความรุนแรงถึงแก่ชีวิตคนครั้งนี้กลายเป็นชนวนก่อให้เกิดการลุกฮือเรียกร้องความเป็นธรรมหลายระลอกทั่วประเทศและอีกหลายแห่งบนโลก ในขณะที่การชุมนุมหลายแห่งเป็นไปอย่างสงบและสันติ การประท้วงในอีกหลายพื้นที่ก็ยกระดับความขัดแย้งสูงขึ้น เกิดเป็นความรุนแรงด้วยการวางเพลิง ทำลายและลักขโมยทรัพย์สิน รวมไปถึงการปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ


    เจ้าหน้าที่รัฐประกาศใช้มาตรการจำกัดเวลาเข้าออกเคหสถานของประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศ ดังที่เคยบังคับหลังเหตุการณ์ลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) เมื่อปี 1968


    อาวุธควบคุมการจลาจล

    (แปลจากซ้ายไปขวา สามารถเปิดไปดูภาพประกอบที่บทความต้นฉบับเพื่ออ้างอิงและทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันค่ะ)


    • สารก่อความระคายเคือง (Chemical Irritants) สเปรย์พริกไทยแบบฉีด แก๊สน้ำตาแบบกระป๋องสำหรับขว้าง สเปรย์พริกไทยแบบกระป๋องสำหรับขว้าง และสเปรย์พริกไทยแบบกระสุน

    • กระสุนปืนและอุปกรณ์สร้างความเสียหายด้วยการยิงหรือขว้างปา (Kinetic Impact Projectiles) กระสุนไม้ กระสุนยาง กระสุนฟองน้ำ และระเบิดกระสุนยาง (Sting-ball grenade)

    • อุปกรณ์ดึงความสนใจหรือสร้างความสับสน (Disorientation device) ระเบิดแสง (Flashbang grenade)



    แม้อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกผลิตด้วยวัตถุประสงค์และวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดผลแก่ชีวิตโดยทั่วไปก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ใช้พวกมันในหลากหลายการชุมนุม กระทั่งในหมู่ผู้ประท้วงอย่างสันติและสื่อมวลชน ก็เคยมีประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส พิการ รวมถึงเสียชีวิตจากวัตถุเหล่านี้มาแล้ว



    สารก่อความระคายเคือง 


    สารก่อความระคายเคืองในที่นี่ หมายถึงแก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน และทำให้ทางเดินหายใจอักเสบได้


    ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและโรคติดเชื้อหลายรายต่อต้านการใช้สารก่อความระคายเคืองเหล่านี้ พวกเขาแสดงความคิดเห็นผ่านจดหมายเปิดผนึกรณรงค์ต่อต้านระบอบเหยียดชาติพันธุ์ฉบับหนึ่ง ว่า สารเคมีเหล่านี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ได้ด้วยการ “ทำให้ระบบทางเดินหายใจไวต่อการติดเชื้อมากขึ้น”


    เพราะสารก่อความระคายเคืองเหล่านี้สามารถกระจายตัวในอากาศได้เป็นวงกว้าง บุคคลในบริเวณนั้นนอกเหนือจากเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ก็มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบได้เช่นกัน


    แก๊สน้ำตา


    เจ้าหน้าที่ตำรวจนิยมใช้แก๊สน้ำตาในการสลายชุมนุมต่างๆ โดยแก๊สน้ำตานี้ มาจากผงแป้งทำจากสารเคมีที่เรียกว่า CS (Chlorobenzylidene Malononitrile; คลอโรเบนซิลิดีน มาโลโนไนไตรล์) หรือ CN (1-Chloroacetophenone; วัน-คลอโรอะซิโตฟีโนน) ซึ่งเมื่อถูกฉีดพ่นเป็นสเปรย์ออกมาแล้ว ก่อให้เกิดอาการแสบร้อนแก่ตาและปากของเป้าหมาย


    ภาพซ้าย จากมินิแอโพลิส เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม: เจ้าหน้าที่ตำรวจถือปืน ส่วนซ้ายมือที่ยื่นออกมาจากกระบอกปืน (Launcher) คือขวดบรรจุแก๊สน้ำตา หรือกระสุนยาง/พลาสติก

    ภาพขวา จากแอตแลนตา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน: แก๊สน้ำตาแบบกระป๋องสำหรับขว้างสลายการชุมนุม



    สเปรย์พริกไทยแบบขวดฉีดและแบบกระสุน


    เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยใช้สเปรย์พริกไทย ทั้งแบบขวดฉีดและแบบกระสุนเพื่อรับมือกับผู้ชุมนุมมาแล้ว โดยส่วนประกอบแล้ว สเปรย์พริกไทยสร้างจากสารเคมีที่แตกต่างไปจากแก๊สน้ำตา แต่ออกฤทธิ์คล้ายกัน คือ ทำให้ผิวและตาเป้าหมายแสบร้อน ระคายเคือง หากถูกฉีดที่ตาจะทำให้ระคายเคืองจนน้ำตาไหลได้


    ตำรวจยังใช้สเปรย์พริกไทยแบบกกระสุนยิงจากปืนใส่ผู้ประท้วงด้วย กระสุนเหล่านี้อาจประกอบด้วยสารเคมี เช่น PAVA (Nonivamide; โนนิวาไมด์ หรือ Pelargonic Acid Vanilyylamide; กรดเพลาร์โกนิคผสมวานิลิลเอมีน) อันเป็นสารก่อความระคายเคืองคล้ายสเปรย์พริกไทย รวมไปถึงแก๊ส CS ด้วย ตำรวจมักบรรจุกระสุนเหล่านี้เพื่อใช้ในปืนประเภท Launcher หรือปืนสำหรับเล่นเพนท์บอลที่ดัดแปลงมาเพื่อใช้เฉพาะกิจ

    ภาพซ้าย จากมินิแอโพลิส เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม: เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้สเปรย์พริกไทยแบบฉีดสลายการชุมนุม

    ภาพขวา จากลูอีวิลล์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม: ปืนยิงกระสุนพริกไทย


    กลยุทธ์ป้องกันตัวของผู้ชุมนุม


    ผู้ชุมนุมมีวิธีป้องกันตนจากสารก่อความระคายเคืองมากมาย บางรายที่สวมถึงมือป้องกันสามารถโยนกระป๋องแก๊สน้ำตาที่ถูกขว้างมาหาตนกลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ใช้กรวยจราจรครอบกระป๋องแก๊สหยุดการกระจายตัวของสารเคมี หรือเป่าแก๊สไปอีกทิศทางด้วยการใช้เครื่องเป่าใบไม้


    ภาพแสดงการรับมือกับกระป๋องแก๊สน้ำตาทั้งสามวิธีของผู้ชุมนุมจากซินซินนาตี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ซีแอตเทิล เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน และจากจอร์เจีย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม


    ผู้ชุมนุมยังกางร่มใช้แทนโล่และนมสำหรับราดบรรเทาอาการแสบร้อนของสเปรย์พริกไทย ดังภาพจากซีแอตเทิล เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน และเทเนสซี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 


    (หมายเหตุจากผู้แปล:

    ปัจจุบัน ประเด็นการบรรเทาอาการจากสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตายังเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรบนโลกอินเตอร์เน็ตนะคะ บางแหล่งก็บอกว่าใช้นมดีกว่า บางแหล่งก็บอกว่าใช้น้ำเปล่าดีกว่า เนื่องจากผู้แปลเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวข้อนี้โดยตรง จึงอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการรับสาร และหากเป็นไปได้ ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยค่ะ)



    กระสุนของตำรวจ


    กระสุนปืนและอุปกรณ์สร้างความเสียหายด้วยการยิงหรือขว้างปา ในที่นี้ หมายถึงกระสุนทำจากยาง พลาสติก ไม้ และกระสุนโฟม/ฟองน้ำ (Sponge bullets, sponger bullets) ที่เจ้าหน้าที่มักบรรจุใส่ปืนเพื่อยิงผู้ชุมนุม กระสุนเหล่านี้สามารถยิงออกมาได้ครัั้งละหนึ่งนัด หรือยิงรัวทีละหลายนัดต่อครั้ง อาจก่อให้เกิดแผลฟกช้ำรุนแรง หรือกระทั่งเกิดแผลถลอกทะลุชั้นผิวหนังได้


    งานวิจัยสำรวจชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แห่งอังกฤษ (British Medical Journal) เมื่อปี 2017 เผยว่า 2.7% จากกลุ่มเป้าหมายที่ถูกยิงด้วยกระสุนเหล่านี้เสียชีวิต


    กระสุนยางและกระสุนพลาสติก


    กระสุนยาง พลาสติก และโฟมสำหรับยิงสลายการชุมนุมมีหลายชนิด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนพลาสติกแข็งขนาด 40 มม. ใส่คณะผู้สื่อข่าวจากรอยเตอร์ส ระหว่างการชุมนุมที่มินนิแอโพลิสเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


    ภาพจากแอตแลนตา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน: ปืนยิงกระสุนสลายการชุมนุมในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ


    กระสุนไม้


    ผู้ชุมนุมจากโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ บอกเล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐยิงกระสุนทำจากไม้เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ภาพถ่ายเผยแพร่ตามโลกออนไลน์เผยให้เห็นว่า กระสุนเหล่านี้สร้างจากการหั่นแท่งไม้ทรงกระบอกเป็นชิ้นเล็กขนาดพอเหมาะสำหรับบรรจุปืนยิง กรมตำรวจโคลัมบัสยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้กระสุนชนิดนี้กับผู้ชุมนุมในวันที่ 30 พฤษภาคมจริง และกล่าวว่า กระสุนชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กระสุนเจาะยาง (Knee Knockers)” เนื่องจากตำรวจมักจะยิงกระสุนไม้ไปที่พื้น ทำให้กระสุนเด้งไปโดนขาของผู้ชุมนุมให้ล้มนั่นเอง


    ระเบิดกระสุนยาง


    ตำรวจยังใช้ระเบิดกระสุนยางกับผู้ชุมนุมอีกด้วย โดยเมื่อขว้างวัตถุชนิดนี้ออกไปแล้ว ทันทีที่มันระเบิด กระสุนยางขนาดเล็กภายในจะพุ่งกระจายสร้างความเสียหายแก่บริเวณรอบข้าง ระเบิดกระสุนยางบางชนิดยังบรรจุสารเคมีอื่นๆ หรือมีฤทธิ์ระเบิดสร้างแสงจ้าหรือเสียงดังอีกด้วย


    กลยุทธ์ป้องกันตัวของผู้ชุมนุม


    ผู้ชุมนุมป้องกันตัวจากกระสุนเหล่านี้ด้วยการสวมหมวกกันน็อค หรือใช้วัตถุข้างทาง เช่น ม้านั่ง เป็นโล่กำบัง ตามภาพจากมหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน และลูอีวิลล์ รัฐเคนทัคกี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม



    อุปกรณ์ดึงความสนใจหรือสร้างความสับสน


    อุปกรณ์อาทิ ระเบิดแสง หรือระเบิดเสียง ยามระเบิดจะให้แสงจ้า หรือเสียงดังเพื่อทำให้เป้าหมายสับสน ชะงักงันจนเสียความรับรู้ทิศทางและการควบคุมตัวเองไปชั่วขณะ หากเข้าปะทะในระยะประชิด ระเบิดเหล่านี้อาจทำให้ผิวไหม้หรือพุพองรุนแรงได้


    ระเบิดเหล่านี้มีโครงสร้างคล้ายระเบิดชนิดอาวุธสงครามจริง และใช้สำหรับขว้างปาเข้าไปกลางฝูงชน แสงจ้าและเสียงดังที่เกิดขึ้นหลังระเบิดตัวสามารถทำให้เป้าหมายตาบอดหรือหูหนวกชั่วคราว รวมถึงทำให้เสียการทรงตัวได้ นอกจากนี้ เศษวัสดุที่หลงเหลือจากการระเบิดยังพุ่งกระจายสร้างความเสียหายได้อีกด้วย



    จากแรงโกรธสู่การปฏิรูป


    ผู้จัดและเข้าร่วมการชุมนุมหลายรายแสดงความต้องการเปลี่ยนกระแสความไม่พอใจจากการตายของจอร์จ ฟลอยด์ ให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อปรับปรุงสิทธิพลเรือนครั้งใหม่ และสร้างแรงกดดันให้เกิดการปฏิรูประบบการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของสหรัฐอเมริกาในที่สุด


    เทอร์เรนซ์ ฟลอยด์ (Terrence Floyd) น้องชายของจอร์จ ฟลอยด์ เข้าร่วมชุมนุมที่บรุคลินพร้อมกับฝูงชนจำนวนมาก ที่แสดงท่าทางประท้วงต่อความไม่เป็นธรรมด้วยการคุกเข่าและย้ำคำเรียกร้องว่า “ความยุติธรรมไม่มา ความสงบสุขก็ไม่เกิด”


    เขายังสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมร่วมเรียกร้องหาความเป็นธรรมต่อไปโดยไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยการกล่าวว่า “อย่าให้พี่ของผมกลายเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงสำหรับพวกคุณ”


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in