ที่จริงช่วงนี้ไม่ค่อยมีหนังที่ดูแล้วประทับใจจนอยากกลับมาเขียนโน้ตถึงไว้เลย
เมื่อวานไปดู Where to Invade Next จบออกมาแล้วสนุก จนอยากรีบกลับบ้านมาอัพบล็อกเลย
(แต่ก็ไม่ได้กลับนะ พอกลับมา ก็ไม่รีบละ, ขี้เกียจ)
Where to Invade Next เป็นสารคดีของไมเคิล มัวร์ (ผู้กำกับ Fahrenheit 9/11—ไม่เคยดู)
เข้าใจว่าตั้งใจทำมาเพื่อแดกดันเรื่องคุณภาพชีวิตและแนวคิดแบบอเมริกา (ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง)
ด้วยการบอกว่าตัวเองจะเดินทางไปบุกประเทศในยุโรป เพื่อขโมยแนวคิดดีๆ กลับไปใช้ในอเมริกา
เช่น ที่อิตาลี พนักงานบริษัทจะมีวันหยุดได้มากกว่าสองเดือนต่อปี
หรือผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ห้าเดือน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับค่าจ้างตามปกตินะ (โว้ยยยย…)
เยอรมนี มีกฏหมายห้ามบริษัทหรือนายจ้างส่งอีเมลรบกวนพนักงานนอกเวลางาน
พนักงานในโรงงานผลิตดินสอ (ยี่ห้อเฟเบอร์คาสเทล ที่เราใช้อะ) เลิกงานบ่ายสอง
และบอกว่าพวกเค้าไม่จำเป็นต้องหางานพิเศษทำ
เพราะว่ามีเงินเดือนที่ทำให้ชีวิตดีพออยู่แล้ว (โว้ยยยย…)
ฝรั่งเศส ในโรงเรียนมีอาหารกลางวันสุดหรูให้เด็กๆ กิน
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าการศึกษาที่มีคุณภาพที่สุด ทั้งที่ให้เด็กใช้เวลาในการเรียนต่อวัน
น้อยที่สุด และมีแนวคิดว่าโรงเรียนที่ดีที่สุด คือโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด
เพราะทุกโรงเรียนใช้มาตรฐานเดียวกัน พ่อแม่จึงไม่จำเป็นเลยที่จะดิ้นรนหาโรงเรียนที่ไหนเลย
ส่วนสโลวีเนีย รัฐบาลก็ซัพพอร์ตค่าเรียนในมหาวิทยาลัยฟรี (โว้ยยยยย…)
ที่โปรตุเกสยาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย แต่กลับมีแนวโน้มปัญหายาเสพติดลดลง
คุณภาพชีวิตอันสุขสบายของนักโทษในเรือนจำที่นอร์เวย์
ภายใต้แนวคิดการให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พวกเค้าคิดว่าการลงโทษด้วยการ ‘ทำให้ขาดอิสรภาพ’ ก็รุนแรงเกินพอแล้ว… (โว้ยยยย…)
แล้วก็มีประเทศอย่างตูนิเซียและไอซ์แลนด์ ที่มีกฏหมายเรื่องสิทธิสตรีอีก (โว้ยยยย… จำไม่ได้แล้ว)
สรุปว่าหนังทำมาเพื่อให้เราอื้อหือ และอิจฉาตาร้อนประเทศตัวอย่างที่ไมเคิลมัวร์ตั้งใจยกมาศึกษา
คนไทยอย่างเราดูแล้วก็ได้คิดแล้วก็สงสัย… ถ้าพี่มาเมืองไทย จะเอาแนวคิดอะไรกลับไปได้บ้างมั้ยวะ
ประเทศเรามีกรุงเทพฯ ที่มีกล้องวงจรปิดและอุโมงค์ระบายน้ำท่วม (ที่ใช้ไม่ได้สักอย่าง) ด้วยนะ
แต่เอาจริง Where to Invade Next มันก็เป็นสารคดีคอนเซ็ปต์ที่เลือกนำเสนอ
เฉพาะประเด็นที่อยากพูดถึงและเพื่อให้มันตรงคอนเซ็ปต์นั่นแหละ
แล้วมันก็เลยสนุกไงล่ะ
เพราะไมเคิลมัวร์วางโครงเรื่องไว้ให้จุดเริ่มต้นกับตอนจบมันทบกลับมาเจอกันได้พอดี
แม้เราจะรู้สึกว่าบทสรุปของหนังไม่ได้เป็นการแดกดันที่เจ็บแสบแบบที่ทำมาตลอดเรื่อง
แต่กลับเลือกจบหล่อๆ แบบที่คนอเมริกันดูแล้วก็ด่าเค้าไม่ได้, ซึ่งก็ดีแหละ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in