เป็นสารคดีประวัติร้าน Tower Records
เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งร้านในยุคแผ่นเสียงเฟื่องฟู แล้วก็ประสบความสำเร็จในยุคซีดีเพลง
ก่อนธุรกิจจะถึงขาลง เพราะการเข้ามาของไฟล์เพลงดิจิทัล (อิ mp3 มึง!!!)
และร้านขายเพลงที่ยิ่งใหญ่ ก็ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมวงการเพลง
สาขาที่ขยายไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว (เกินไป) ก็ต้องเริ่มทยอยปิดตัวลง
"In 1999, Tower Records made $1 billion. In 2006, the company filed for bankruptcy."
เรา, และคนวัยเราน่าจะเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมการฟังเพลงจากซีดี
ก่อนจะกลายเป็นไฟล์เพลง mp3 ที่หาฟังฟรีๆ ง่ายกว่าหาซื้อซีดีตามร้านเยอะ (ตอนเด็กฮิตร้านเจได)
กว่าจะพาตัวเองกลับเข้าวงจรการซื้อเพลงจริงจังอีกครั้ง ก็เข้าสู่ยุค itunes store นู่นแล้ว
ทุกวันนี้ นึกไม่ออกแล้วว่าซีดีเพลงล่าสุดที่ซื้อนั้น ซื้อที่ไหน อัลบั้มอะไร ราคาเท่าไหร่
รู้ตัวอีกทีก็วันที่พบว่า รอบตัวเริ่มหาเครื่องเล่นซีดีไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
(ก็ Apple เล่นถอดไดรฟ์อ่านแผ่นออกไปแล้วหนิ)
...
สำหรับเราวงการหนังสือก็คล้ายกับวงการเพลง
ช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด
Tower Records แห่งวงการหนังสือ (ถ้ามี) ก็คงกำลังพยายามหาทางรับมือกับอะไรแบบนี้อยู่เหมือนกัน
โชคดีที่ วาทะกรรม 'กระดาษกำลังจะตาย' ก็ยังคงเป็นวาทะที่พูดถึงความเป็นอนาคต
และการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ก็เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ไม่เหมือนทาวน์เวอร์เรคอร์ดส์ที่สั่นคลอนทันทีที่มีเว็บไซต์
Napster เกิดขึ้น
มานั่งนึกว่าดีเท่าไหร่แล้วที่ไฟล์ pdf หนังสือไม่ได้เป็นที่นิยมระดับที่่่จะเอามารวมเป็นแผ่นแวมไพร์ขาย
และหนังสือเล่มยังมีเสน่ห์พอให้คนหยิบจับและซื้อหา โดยไม่ถามว่า เอาแค่บทที่ชอบได้ไหม...
แล้วก็ดีเท่าไหร่แล้ว ที่การอ่านหนังสือเล่มไม่ต้องพึ่งพาอะไรที่จะโดน Apple ถอดออกไปได้อีก
(เอาจริง ตั้งแต่เครื่องแมคต่างๆ ไม่สามารถเล่นแผ่นอะไรได้ด้วยตัวเองแล้ว
พวกซีดี ดีวิดี บ็อกซ์เซ็ตสะสม—ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าซื้อเพื่อเก็บไว้เฉยๆ เรายังไม่รู้จะซื้อมาทำไมเลย)
ถึงอย่างนั้น ทุกครั้งที่เราไปนั่งมองคนเดินซื้อหนังสือในงานฯ
เวลาเห็นคนต่อแถวขอลายเซ็นและพูดคุยให้กำลังใจกันไปมากับนักเขียน
ก็อดจินตนาการถึงวันที่สิ่งเหล่านี้ถูกตัดทอนออกไปตามเรื่องตามราวของมันไม่ได้
วันที่คนไม่รู้ตัวว่าเลิกซื้อหนังสือกระดาษตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปจนถึงวันที่ร้านหนังสือใหญ่ๆ ปิดตัว
(ไม่พูดถึงเล็กๆ, เพราะเล็กๆ คงปิดไปก่อนหมดแล้ว)
หรือถ้าวันนึง ทุกอย่างเจริญรอยตามวงการเพลง แล้วกระดาษมันจะตายขึ้นมาจริงๆ
วันนั้นก็คงนึกถึงประโยค All things must pass นี่แหละ
ป.ล. เพิ่งรู้ว่าผู้กำกับ All things must pass คือ Colin Hanks เป็นลูกชายทอม แฮงส์
และก็เพิ่งรู้ว่าทอม แฮงส์แก่ขนาดที่มีลูกชายอายุจะสี่สิบแล้ว ...
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in