อ่านบทความนึงมา...
ว่าด้วย การค่อยๆ ล้มหายตายจากของนิตยสารและการเกิดขึ้นของเว็บที่ (คนเขียนบอกว่า) มากเกินไป (?) บทความพูดถึงคุณค่าของนิตยสารซึ่งเกิดจาก 'กระบวนการผลิต' ที่ยุ่งยากและซับซ้อน ใช่, กว่าจะออกมาเป็นนิตยสารสักเล่ม มันต้องใช้อะไรมากมายอย่างที่คนเขียนบอกไว้ ตั้งแต่การวางคาแรกเตอร์ ไดเร็กชั่น เลย์เอาต์ ฟอนต์ ไปจนถึงการพัฒนาคอลัมน์ การคัดเลือกคนมาขึ้นปก ไหนจะงานของฝ่ายศิลป์ ข้อจำกัดทางการพิมพ์ลงกระดาษ ในฐานะคนที่อยู่กับอะไรพวกนี้มาเหมือนกัน ก็ เออ จริงของเขานะ เข้าใจมากๆ เลย
ต่อมา...
คนเขียนพูดถึงการที่คนในวงการนิตยสารต่างพากันหันหน้าเข้าหาโลกดิจิทัลมากขึ้น มากจนทำให้ความเป็นอยู่ของนิตยสารที่เลวร้ายอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะการเอาคอนเทนต์ไปไว้บนเว็บไซต์ ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อนิตยสารต่อไปอีก เป็นเหตุให้คนเขียนต้องตัดพ้อว่า
'ทำไมนิตยสารราคา 100 บาทที่ออกแค่เดือนละหนึ่งฉบับ คนไม่อยากซื้ออ่าน แต่กาแฟแก้วละ 130 บาท คนซื้อดื่มได้ทุกวัน' ...
อ่านมาถึงตรงนี้... (จริงๆ อ่านตรงนี้ก่อนด้วยซ้ำ เพราะในบทความดันทำไฮไลท์ไว้ที่ข้อความนี้) ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้วว่ะ การเปรียบเทียบของสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันแบบนี้ คิดตามยังไงก็ไม่สามารถเข้าใจได้ คนจะกินกาแฟ แล้วบอกให้เขาเอาเงินร้อยบาทไปซื้อนิตยสารแทน มันไม่ใช่ไง เพราะกูจะกินกาแฟ (เคยเห็นโควตประมาณว่า 'ถ้ามีเงินพอที่จะซื้อไอโฟนได้ ให้เอาไปซื้อเครื่องซักผ้าสักเครื่องดีกว่า...' เนี่ย คนจะซื้อไอโฟนแปลว่าอยากได้โทรศัพท์ไง ให้ไปซื้อเครื่องซักผ้า ละมันโทร.หาเพื่อนได้ไหมเล่า!)
หรือการบอกว่าต่อให้นิตยสารขายดียังไงก็ไม่มีทางคุ้มทุน
แต่...
เราแค่อยากให้คุณ “ได้อ่านความตั้งใจของเรา” ต่างหาก
อันนี้ส่วนตัวก็ไม่ค่อยเห็นด้วยอีก (ทำไมเรื่องเยอะงี้วะ) เรารู้ว่าความตั้งใจทำอะไรสักอย่างมันมีค่าและสำคัญมาก ถ้าลองไม่ตั้งใจแล้ว มันก็ยากแหละที่จะทำอะไรออกมาได้ดี แต่ในทางกลับกัน เราคิดว่าความตั้งใจก็การันตีคุณภาพของสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่ดี คือเราอาจจะตั้งใจทำชิบหาย แต่ถ้าผลงานออกมาห่วย มันก็คือห่วย ไม่รอด ก็คือไม่รอด จะบอกว่าตั้งใจทำมากขนาดนี้ ทุกคนควรซัพพอร์ตงานเราเต็มที่ มันก็ไม่ใช่
เช่นกัน, เราซื้อนิตยสารเพราะชื่นชอบในรูปเล่มและเนื้อหา ถ้ามันถูกใจเรา เราก็จะมองลึกลงไปจนเห็นความตั้งใจของคนทำ นั่นแหละความตั้งใจจึงมีค่า แต่ไม่น่าจะซื้อมาเพื่ออ่านความตั้งใจของใครแน่นอน
(จะจบละ)
บทความสรุปไว้ว่า นี่ไม่ได้เขียนมาเพื่อโจมตีหรือเรียกร้องให้คนเคยทำนิตยสาร หันกลับมาทำนิตยสารกันอีกครั้งอะไรนะ
หากแต่เป็นการอ้อนวอนให้ทุกคนให้ความสนใจกับนิตยสาร เจียดเงินอย่างน้อย 100 บาทต่อเดือนเพื่อ ‘ซื้อนิตยสารฉบับใดก็ได้’ นั่นก็เท่ากับเป็นการต่อชีวิตนิตยสารฉบับอื่นๆ ได้เหมือนกัน
นี่เลยเป็นครั้งแรกที่อ่านบทความเกี่ยวกับการตายของนิตยสารแล้วไม่ได้รู้สึกเสียดายนิตยสาร เพราะหากเราทำงานออกมา แล้วต้องเรียกร้องให้คน 'เจียดเงิน' มาสนับสนุนผลงานที่อ้างตัวว่ามีคุณค่ากว่าทางเลือกอื่น เพราะมันทำยากกว่าและตั้งใจกว่า—มันก็ไม่น่าใช่ทางออกที่ควรจะเป็น เพราะถ้าย้อนกลับไปมองเรื่องรายละเอียดของการทำนิตยสาร ตั้งแต่การวางคาแรกเตอร์ ไดเร็กชั่น เลย์เอาต์ ฟอนต์ ไปจนถึงการพัฒนาคอลัมน์อะไรต่างๆ ทั้งหมดที่ว่ามา ใช่ว่าพอเข้าสู่หนทางสายดิจิทัลแล้วไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำเสียเมื่อไหร่... มันก็ยากง่ายต่างกันไปมากกว่า
สุดท้าย (เมื่อยมือเลยเนี่ย)
เราก็เป็นคนที่โตมาในยุคของนิตยสาร ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า 'นิตยสารกำลังจะตาย' ก็หวั่นไหวอยู่ ถ้าจะมีใครยืนหยัดอยู่กับการทำนิตยสารไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็คงจะดีใจมาก แต่ถ้ามันจะอยู่รอดได้ด้วยการอ้อนวอนให้ช่วยกันเจียดเงินมาซื้อนิตยสารแทนที่จะกินกาแฟล่ะก็... ไม่รู้สึกว่าเป็นการเอาตัวรอดที่น่าประทับใจอะไรเลย.
(ป.ล. ไม่อยากลงลิงก์บทความ เดี๋ยวยอดวิวเยอะ—ฮ่าาา)
ตอนแรกเราเฉยๆกับหัวข้อนี้ เพราะเห็นคนพูดเยอะเหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นค่ะ
เมื่อกี้อ่านจบแล้วรู้สึกเหมือนหัวใจตัวเองที่มีโพรงอันใหญ่มันได้รับการเติมเต็ม
(ไม่รู้ว่าจะเล่าได้ไหม แต่ก็ขออนุญาตเล่าไปแล้วกัน)
เมื่อวานเราถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์หนึ่งมา...แว้บนึง เราคิดเลยว่า "เราตั้งใจมากนะทำไมเขาไม่เห็นคุณค่า"
แต่พอได้มาอ่านบทความนี้ เราก็รู้เลย ว่า ไม่ใช่แค่ความตั้งใจอย่างเดียว มันต้องถูกใจด้วย
อยู่ๆอ่านแล้วก็ปลงได้ ไม่ได้รู้สึกแอบน้อยใจอะไรอีก
ขอบคุณมากสำหรับข้อคิดดีๆ ที่แฝงอยู่ในบทความนี้ค่ะ : )