ปัญหาส่วนใหญ่ที่คนเขียนนิยายมักจะเจอก็คือ เขียนๆ ไปแล้วเกิดอาการ " ตัน " คิดไม่ออก เรื่องออกนอกอ่าว ด้นสดต่อไปไม่ไหวแล้ว! มินิมอร์ก็เลยขอเสนอ 20 Tips จาก (นักเขียน) นิยายขายดี ที่ทางสำนักพิมพ์ Iuniverse Publishing เขารวบรวมไว้ (และมินิมอร์นำมาขยายความต่อ) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการค้นหาแรงบันดาลใจ มาจุดประกายไฟให้ไอเดียของคุณพุ่งกระฉูดจนฉุดไม่อยู่กันเถอะ!
1. กฎข้อแรก คือการอ่าน
Michael Moorcock เจ้าของหนังสือ Behold the Man ที่ชนะเลิศรางวัลเนบิวล่า สาขาเรื่องสั้นขนาดยาวยอดเยี่ยม ค.ศ. 1967 ได้พูดถึง tips ของเขาเอาไว้ว่า "กฎข้อแรกของผมได้รับมาจาก TH White ผู้เขียนThe Sword in the Stone and other Arthurian fantasies and was เขาบอกกับผมว่า จงอ่านทุกอย่างที่ผ่านมือคุณ ฉันบอกคนที่อยากจะเป็นนักเขียนอยู่เสมอว่าอย่าหยุดอ่าน"
>>> อย่างที่มินิมอร์เคยบอกไว้ นักเขียนที่ดีมีที่มาจากนักอ่านที่ขยัน และในคำแนะนำข้างต้นนั้นยังมีหัวใจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ "อ่านแม่--ให้หมด" ถ้าเราเขียนนิยายโรแมนซ์ก็อย่าอ่านแต่เฉพาะโรแมนซ์ อ่านไซไฟ นอนฟิคชั่น หรือกระทั่งข่าวตามหน้าเว็บ คืออ่านไปเถิดจักเกิดผล ข้อนี้มินิมอร์พิสูจน์มาแล้วจริงๆ นะ!
2. รักษา time and space
Zadie Smith เจ้าของหนังสือขายดีอย่าง White Teeth ให้ความเห็นว่า เวลาเขียนน่ะนะ เรื่องเวลาและสถานที่เขียนสำคัญเหมือนกัน คือต้องอยู่คนเดียวอย่าให้ใครมายุ่มย่าม ต่อให้เป็นคนที่สำคัญที่สุดก็เถอะ เขียนคือเขียน ต้องมีสมาธิจดจ่อกับตัวเองรู้ไหม!
>>> มินิมอร์เห็นด้วยมากๆ เพื่อนๆ คงไม่อยากเขียนๆ อยู่แล้วต้องโดนเรียกลงไปรับหลานหรือ คือมันขาดจังหวะ ใช่ไหมล่ะ บางคนชอบเขียนตอนเช้าหรือบางคนชอบเขียนตอนกลางคืน บางคนรักที่จะขังตัวเองไว้ในห้องเงียบๆ ทว่าคนไม่น้อยเลยเลือกที่จะทำงานท่ามกลางผู้คนแปลกหน้าในร้านกาแฟ นี่แหละ คือช่วงเวลาอันแสนมีค่าที่จะทำงานได้
3. แบ่งส่วนให้จัดการง่ายๆ
โดยปกติแล้วเรามักแบ่งส่วนของนิยายเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ และ Michael Moorcock ก็ได้ให้คำแนะนำเพิ่มไว้ดังนี้จ้ะ "เขียนให้คนทำความรู้จักตัวเอกในนิยายของคุณ และมีบทบาทตั้งแต่ส่วนแรก แต่ถ้าหากว่าคุณเขียนอย่างเน้นพล็อต ก็ต้องเริ่มอธิบายเกี่ยวกับไอเดียและธีมหลักของมันตั้งแต่ส่วนแรก ในส่วนที่สอง เป็นการพัฒนาตัวละครหรือพลอตให้ไม่หยุดนิ่ง และในส่วนสุดท้ายควรเป็นการคลี่คลายปมหรือสรุปเรื่องราวทั้งหมด
>>> อะ แบ่งง่ายๆ คือ ปูพื้น - เล่าเพิ่มเติมให้มีพัฒนาการจนไปถึง conflict - เขียนถึง conflict ผลกระทบ บทสรุป แต่...บางครั้งเราก็สลับได้นะ! นิยายหรือภาพยนตร์บางเรื่องก็เอาคอนฟลิคต์ขึ้นมาเล่าก่อนเพื่อความตื่นตาตื่นใจ แล้วค่อยย้อนกลับไปดูที่มาของมันว่ามาจากไหน
4. อย่าคิดตอนจบ
Rose Tremain นักเขียนนิยายขายดีอีกคน พูดไว้ว่า ตอนที่เริ่มแพลนเรื่องที่จะเขียน อย่าเพิ่งคิดตอนจบ คิดเรื่องราวก่อนจะเดินไปถึงจุดนั้นจะดีกว่า
>>> มินิมอร์ว่าใช่เลยนะ เพราะตอนจบไม่ว่ายังไงก็รอเราอยู่ที่ท้ายเล่มอยู่แล้ว เรื่องราวระหว่างทางสิ มีอะไรให้น่าค้นหาอีกเยอะ มิหนำซ้ำ การสร้างเหตุผลให้มันไปสู่จุดจบแบบนั้นได้มันท้าทายสุดๆ เลยล่ะ ยังไงก็ต้องโฟกัสในทุกจุดด้วยนะ แต่อย่าคิดว่าจะจบเว่อวังอลังการงานสร้างแต่อย่างเดียว ถ้าข้างในกลวงโบ๋ไม่สนุก ไม่สมเหตุสมผล คนจะอ่านไปถึงตอนจบได้ยังไงล่ะ
5. พกสมุดไว้อุ่นใจกว่า
Will Self ให้ทริคไว้ว่า ความจำระยะสั้นของคนเราอยู่ได้แค่สามนาที เพราะฉะนั้นจงพกสมุดหรือกระดาษไว้เพื่อไม่ให้ไอเดียของคุณหายไปตลอดกาล
>>> จริงอยู่ว่าสมองคนเรานั้นเจ๋งกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์อีก เป็นหน่วยความจำที่มากเกินหน่วยเทอราไบต์อีกมั้ง แต่ว่าสมองที่จะจดจำได้ดีนั้นต้องผ่านการฝึกฝน และมีสุขภาวะที่เพียงพอ *มองไปทางการนอนดึกกินจังค์ฟู้ดดื่มคาเฟอีน* ฉะนั้นแล้ว...จดเถอะ จดทิ้งขว้างเอาไว้ พอกลับมาเปิดสมุดเล่มเก่าได้ไอเดียนะเอ้อ
6. อินเทอร์เน็ตอาจไม่ใช่เพื่อนนักเขียนที่ดี
บางครั้ง เราก็อาจจะต้องใช้สื่อออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลบางอย่างเพื่อนำมาเขียนนิยายของเรา แต่ก็อย่างว่าล่ะ พอเข้าสู่โลกไซเบอร์บางทีมันก็เผลอหลุดเข้าไปนานกว่าที่ตั้งใจ Jonathan Franzen เลยตั้งคำถามว่า "ถ้าเขียนงานในทีที่ต่อเน็ตได้เนี่ย มันไม่น่าจะได้งานนะ" ส่วน Zadie Smith ก็กล่าวว่า "ให้ทำงานกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้คอนเน็คอินเทอร์เน็ตไว้"
>>> อันนี้มินิมอร์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนะ ถ้าไม่ต่อเน็ตนี่บางทีหาข้อมูลลำบากมาก ไหนเว็บวิทยุออนไลน์ที่ชอบยังต้องใช้เน็ตอีก ที่สำคัญคือต้องเอาบรรดา "โซเชียลมีเดีย" ออกไปต่างหาก พวกที่ต้องมีโนติฟิเคชั่นให้เราต้องละสายตาจากงานนี่แหละ เพื่อนๆ ลองดูน้า
7. คำที่ดีบางครั้งอาจจะไม่ดี
Jonathan Franzen แนะนำว่าบางครั้งคำที่ดูน่าสนใจมากๆ อาจจะไม่ได้น่าสนใจเลยก็ได้
>>> มีหลายกรณีที่เราคิดว่าถ้อยคำสวยๆ น่าจะช่วยดึงความสนใจของนักอ่านได้ แต่บางครั้ง คำเหล่านั้นอาจไม่ได้เหมาะจะอยู่ในหนังสือของเรา ลองเปลี่ยนไปใช้คำที่เขาใจได้ง่ายและสื่อความหมายที่ตรงใจอาจจะดีกว่าก็ได้นะ อย่างในภาษาไทยมี "ระดับภาษา" หลากหลาย แทนที่จะให้คำอลังการดาวล้านดวง เลือกคำที่เหมาะสมกับระดับและบริบทจะดีกว่า
8. อ่านออกเสียง
" การอ่านออกเสียง จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าจังหวะหรือคำพูดนั้นๆ ไม่ขัดหู เพราะบางที สำนวนในนวนิยายก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้หูฟังเพื่อให้แน่ใจว่ามันดี " นี่เป็นทริคการเขียนของ Diana Athill เจ้าของรางวัล Costa Book Awards 2009 ประเภทชีวประวัติ จากงานเขียนชื่อ Somewhere Towards the End
>>> แม้จะไม่ได้อ่านออกเสียง แต่เวลาคนอ่านหนังสือก็อ่านในใจกันใช่ไหมล่ะ หลายคนมีเสียงดังในใจเสียด้วยซ้ำ การเขียนที่สรรคำมาดี และมีการใช้วรรคตอนที่ดี จะสร้างจังหวะให้การอ่านได้ด้วยนะ ลองดูๆ
9. แสดงความพิเศษของคุณ
Anton Chekhov นักเขียนเรื่องสั้นคนดังของรัสเซียได้กล่าวเอาไว้ว่า "อย่าได้บอกฉันว่าจันทร์นั้นฉายเช่นไร แต่จงบอกถึงแสงสว่างไสวยามสะท้อนกระจกแลระยิบระยับ"
>>> เราสามารถบอกเสน่ห์ของสิ่งที่แฝงเร้นได้ โดยการทำให้ผู้อ่านเห็นถึงใจความที่เราต้องการจะสื่อ คือไม่ต้องบอกตรงๆ ก็ได้ เรามีกลวิธีในการเล่าหลากหลาย ยกตัวอย่าง เราต้องการจะบอกว่าตัวละครนี้เป็นคนที่ขยันนะ เราไม่ต้องบอกว่าเขาทำอะไรบ้าง a b c ในแต่ละวัน แต่อาจจะให้เพื่อนเล่าว่า คนๆ นี้เขาไม่เคยบกพร่องต่องานเลย ทำทุกอย่างเป็นระเบียบ หรือสะท้อนผ่านคำบอกเล่าของวินมอเตอร์ไซค์ว่าเขาออกไปทำงานตรงเวลาทุกวัน อะไรแบบนี้ โดยใช้บริบทและคนรอบข้างเป็นตัวบอก เพราะถ้าให้คนนั้นบอกว่าฉันเนี่ยโคตรตรงเวลาเลย เป็นคนที่สุดๆ งานการไม่เคยบกพร่อง โคตรเจ๋งอะ....ลองคิด จะเอ็นดูหรือหมั่นไส้ /ง้างมือรอตบ
10. รับฟัง
Rose Tremain บอกเอาไว้ด้วยว่า "ถ้าคนที่เราไว้ใจให้อ่านเป็นคนแรกมีคอมเมนต์หรือวิจารณ์อะไรมา ฟังไว้นะ"
>>> First Reader อาจจะไม่ใช่บ.ก.ก็ได้จริงไหม อาจะหมายถึงเพื่อนสนิทที่ได้อ่านเรื่องของเราทั้งเรื่อง แล้วบอกว่า เฮ้ย ตรงนี้เนือยไปนิดอะ ปรับหน่อยได้มะ ให้มันกระชับขึ้น ซึ่งเขาเหล่านั้นที่เราจะให้อ่านเรื่องของเราเนี่ยต้องเป็นบุคคลทีเ่ราไว้ใจได้และเชื่อถือสายตาและความเห็นอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเขาทักมาก็ลองฟังๆ แล้วเอาไปปรับดูนะ
11. เขียนให้เหมือนนิยายเป็นเรื่องของเรา
Jonathan Franzen ให้คำนิยามไว้ว่า "นิยายที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาอย่างไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะน่ากลัว หรือเรื่องลึกลับ มันก็มีค่าแค่เขียนไว้เอาเงินเท่านั้น "
>>> พูดง่ายๆ เลย เขียนแล้วต้องอิน! บางคนอาจจะเขียนนิยายถึงเรื่องความทุกข์ตรมอย่างสาหัส แต่ก็เขียนไปงั้นอะ ไม่ได้เอาตัวเข้าไปอยู่ตรงจุดที่ตัวละครอยู่ ไม่ได้มองโลกผ่านมุมมองของเขา แล้วมันจะกลายเป็นเรื่องที่สมจริงและสนุกไหมนะ? อินนะอิน ต้องอินนะทุกคน!
12. อย่ากังวล
"อย่ากังวล เมื่อคุณเขียนไปได้ครึ่งเรื่องแล้วมันติดขัด ฉันมีประสบการณ์เลวร้ายหลายรูปแบบให้เผชิญเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการทำงานเอง เรื่องรายได้ไม่พอ หรือกระทั่งการฟ้องหย่า การทำงานในช่วงเวลาที่ย่ำแย่มันก็แบบนี้แหละแต่สุดท้ายแล้วก็ยังมีฉันในตอนจบ ออกจากโต๊ะทำงานเพื่อไปหาอะไรที่ช่วยได้ จะพูดคุยเกี่ยวกับอะไรที่ติดขัดหรือออกไปเดินเล่นเพื่อหาอะไรใหม่ๆ จดมันแล้วนำกลับมาเขียนอีกทีก็ได้ หรือถ้าในท้ายที่สุดมันยังไม่เข้าท่า ก็สวดมนต์อธิษฐานซะ มันช่วยฉันได้เสมอแหละ" Sarah Waters
>>> งานเขียนของSarah Waters มักเกี่ยวกับประเด็นรักร่วมเพศ สะท้อนแนวคิดทางสังคม เพราะเนื้อหาค่อนข้างหนักแบบนี้ เธอถึงได้มีทริคในการช่วยให้ไอเดียลื่นไหลไปได้ด้วยการออกจากโต๊ะทำงานแล้วมองหาตัวช่วยใหม่ๆ มินิมอร์ว่าการได้ออกไปพูดคุยกับคนอื่นบ้าง บางทีอาจจะไปปรึกษาในส่วนที่เรายังรู้สึกว่าเขียนต่อไม่ได้ ก็มักจะได้มุมมองใหม่ๆ กลับมานะ สรุปแล้วท้ายสุดไม่ว่าจะมีปัญหาแค่ไหน ถามตัวเองอยากเขียนมันจริงๆ หรือเปล่า อยากเข็นมันไปจนจบหรือไม่ ถ้าใช่ พักผ่อนแล้วกลับมาลงมือทำให้สำเร็จเถอะ
นี่มินิมอร์นึกถึงเพลงนี้เลย Ain't No Mountain High Enough
13. รู้สิ่งที่ต้องการ
Will Self กล่าวว่า "ชีวิตนักเขียนมันก็เหมือนถูกโดดเดี่ยว ถ้าจัดการกับมันไม่ได้ก็อย่าเป็นเลย"
>>> ไม่ได้หมายความว่าให้เร้นตัวไปซ่อนอยู่ในเกาะลึกลับ ต้องเรือแตกหรือโดนลอยแพไป ถึงจะมีคนเจอไรงี้ นั่นไม่ใช่นักเขียน นั่นราชสีห์ขนทอง (?) แต่งานเขียนเป็นงานที่เราต้องสื่อสารกับตัวเองขณะที่ทำ จะหันหน้าไปคุยกับใครว่าประโยคนี้เขียนอะไรดีน้ามันก็ไม่ได้ใช่มะ เพราะงั้นถ้าทนความเงียบที่มีแต่เสียงตัวเองดังในหัวไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาตัวเองล่ะ
14. รู้จักวิจารณ์
Joyce Carol Oates ได้ชี้แนวทางไว้ว่า "จงเป็นบรรณาธิการงานของคุณเอง คือมีเมตตา แต่อย่าปราณี!"
>>> งานเขียนที่ดี มินิมอร์ว่า นักเขียนควรรู้ว่าจุดดีของงานตัวเองอยู่ที่ไหนแล้วนำเสนอส่วนนั้นให้เต็มที่ ในขณะที่หากพบจุดอ่อน ก็ควรกล้าที่ยอมรับและแก้ไข เพื่อให้งานของเรา เป็นงานเขียนคุณภาพยังไงล่ะ อย่าเข้าข้างตัวเองนะ คือลองถอยออกมาอยู่ในมุมคนอ่านบ้างอะเนาะ แต่บางครั้งรู้แหละว่าแบบนี้คนอ่านจะไม่ได้ชอบมากที่สุด แต่ถ้าเราชอบ...ก็เอาตามนั้นแหละ บางทีมันก็เป็น gulity pleasure ที่พูดยาก
15. ผู้อ่านคือเพื่อน
Jonathan Franzen (เจ้าเก่าอีกแล้ว) พูดเสมอว่า นักอ่านคือเพื่อนของนักเขียน ไม่ใช่ศัตรู หรือผู้เข้าชมเฉยๆ
>>> บางครั้ง เสียงสะท้อนจากนักอ่านสามารถบอกได้ว่างานของเราอยู่ในระดับไหน และจะพัฒนาต่อไปอย่างไรดี นักเขียนบางคน ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคำติชมของเหล่านักอ่านเหมือนกันนะ ใครจะรู้ คนอ่านบางคนของเราที่กลายเป็นเพื่อนไปแล้ว อาจจะกลายเป็นผู้รู้ในแขนงใดแขนงหนึ่ง ที่จะสามารถช่วยเหลือและชี้แนะเราได้ใจอนาคต จริงไหม? กระทั่งคนที่ติงานเราอย่างจริงใจเขายังอุตส่าห์เสียเวลามาเล่ามาบอกเรา นั่นเขาช่วยเรามากเลยนะ (ส่วนพวกติหาเรื่องก็ต้องพิจารณาเอง)
16. ระวัง เครื่องหมาย
Elmore Leonard แนะทริค "ระวังการใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์หรือเครื่องหมายตกใจ ( ! ) ที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกรำคาญได้"
>>> นอกเหนือจากการใช้เครื่องหมาย ( ! ) เครื่องหมายอื่นๆ ก็สำคัญนะจ๊ะ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องหมายวรรคตอน เครื่องหมายไหนต้องใช้งานอย่างไรก็ใช้ให้ถูก และที่มินิมอร์อยากเสริมคือ การใช้เครื่องหมายวรรคตอนให้ถูกต้อง จะสร้างจังหวะในการอ่านให้กับงานเขียนได้ด้วยนะ!
17.ข้อควรระวัง
Neil Gaiman "เวลามีใครบอกว่า เนี่ยเหมือนมีบางอย่างไม่โอเคอะ ไม่ชอบเท่าไหร่ จำไว้ว่าพวกเขาพูดถูกเกือบทั้งหมดนั่นแหละ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีคนมาบอกว่า ตรงเนี้ย ไม่โอเคเลย แถมยังเสนอวิธีแก้ด้วย จำไว้ว่าผิดแน่นอน"
>>> โบราณว่าไว้ ฟังหูไว้หู มินิมอร์ว่าบ้าง เชื่อคำคนแต่อย่าเชื่อทั้งหมด บางทีเราอาจจะฟังเพื่อหาทางแก้ไข แต่ลองหาข้อมูลหรือฟังมาจากหลายๆที่ ก่อนตัดสินใจ น่าจะดีกว่านะจ๊ะ
18.เบื่อนัก ก็พักก่อน
Will Self บอกไว้ นักเขียน ยังไงก็เป็นนักเขียน ต่อให้ประสบความสำเร็จกับงานเขียนแค่ไหน ยังไงก็ต้องมีมุมบางมุมที่เบื่อกับประโยคที่ต้องเจอบ่อยๆ หรือเรื่องราวเดิมๆที่เลี่ยงไม่ได้ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าออกไปพักผ่อนแล้วจะหายสนิทเป็นปลิดทิ้งหรอกนะ เพราะยังไงมันก็จะวนซ้ำกลับมาเหมือนเดิม สิ่งที่ทำได้ คือจัดการความรู้สึกตัวเองซะ ยังไงนักเขียนทุกคนก็ต้องเจอ"
>>> โอเค แม้ว่าบางครั้ง การพักผ่อนจะไม่ได้ช่วยให้ความเบื่อเหลานี้หายไป แต่มินิมอร์ว่า ห่างกันสักพักเพื่อจะได้มีเวลาเจออะไรใหม่ๆหรือผ่อนคลายบ้างก็ไม่เลวนะ มินิมอร์ก็เคยเจอภาวะที่มันตันไปหมดเหมือนกัน เลยเดินไปอาบน้ำ สระผม อ้าว ปมปัญหาที่คิดมาตั้งนานได้คำตอบเฉย หรือบางทีก็เดินออกไปตลดา ได้พล็อตตอนเดินถือผักกลับบ้านซะงั้น ภาวะแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรอก แต่จะปล่อยให้มันกลืนกินเราไม่ได้เด็ดขาด
19.ความมั่นใจ
กฏหลักของการเขียน คือเขียนด้วยใจรักและมั่นใจในงานของตัวเอง อย่างที่ Neil Gaiman "กล่าวไว้ เขียนอย่างมั่นใจในสิ่งที่คุณรัก การเขียนมันก็เหมือนการใช้ชีวิต จงเขียนอย่างที่อยากและมันควรจะเป็น ซื่อตรงต่องานเขียนของตนเอง และเล่าให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะมีกฎอื่นอีกไหม แต่คงไม่ได้สำคัญนักหรอก"
>>> ถ้าเราไม่รักงานเราก่อน จะหวังให้ใครมารักล่ะ จริงไหม?
20. ลงมือทำ
Helen Simpson ส่งท้ายทริคที่ง่ายที่สุดด้วยประโยคที่ว่า "ฉันมีกระดาษโพสอิทเขียนกฏ ‘Faire et se taire’ (Flaubert) เอาไว้บนกำแพงหน้าโต๊ะทำงานของฉัน ซึ่งฉันแปลมันว่า จงเงียบซะแล้วลงมือทำ"
>>> อยากเขียนเรื่องนี้จัง อยากสร้างงานพล็อตแบบนี้...ไม่เขียนเองแล้วจะรอใครเขียน ลงมือทำเลย Just Do It! #จบด้วยNikeเฉย
ก่อนจะมาเป็นนักเขียนที่มีนิยายขายดีและประสบความสำเร็จ ล้วนผ่านประสบการณ์ต่างๆ ทั้งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ การได้รับแรงบันดาลใจ การได้รับคำแนะนำเทคนิคดีๆ เรียกว่าสาระพัดย่างก้าว แต่สุดท้ายปลายทางเเห่งความสำเร็จก็สวยงามจริงไหมจ๊ะ ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Iuniverse Publishing ที่ช่วยรวบรวม Tips ต่างๆ ไว้ให้เหล่านักเขียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ (ยังมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะนะ ลองเข้าไปอ่านกันได้) สุดท้าย มินิมอร์ก็ยังรออ่านงานเขียนกันอยู่น้า
เขียนโดย Minimore Trainnee : Little Swan, Minimore
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in