เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LIFE IN LETTERSSilapa Junior
Extracurriculum : ถึงการเรียนหมอฟัน
  • ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถ้าก็พูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นก็คือกลางเดือนธันวา ชีวิตการเรียนการฝึกในฐานะนิสิตทันตแพทย์ของผมได้เดินถึงเส้นชัยอย่างไม่เป็นทางการ ถึงจะยังไม่จบดีก็ใกล้เต็มแก่ ขาดก็แต่การไหลผ่านขั้นตอนตามระบบก่อนสำเร็จการศึกษาเท่านั้น

    ความสุขจากการทำสำเร็จตามเป้าหมายครั้งนี้ไม่ได้หวือหวา ตื่นเต้นหรือตื้นตัน euphoric เหมือนนักเตะทำประตูได้ในช่วงทดเวลา ไม่เหมือนกับร้านค้าที่ขายของหมดเกลี้ยง ถ้าจะคล้ายก็คงจะคล้ายกับทหารที่ ที่เพิ่งรบชนะมากกว่า (ดราม่าซะ) เมื่อสงครามจบแล้วยังต้องทนนับศพเพื่อนทหารและแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

    อย่างที่บอกน่ะครับว่ามันก็แค่คล้าย ตัวผมเองก็มีส่วนในการตัดสินใจเลือกเดินในสายวิชานี้การเป็นหมอฟันเองก็มีข้อดีของมันอยู่ ตลอดเวลาร่วมหกปีในคณะเล็กๆ แห่งนี้มันได้สอนความจริงให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ให้ผมมีมุมมองชีวิตที่อาจจะชัดและจริงมากขึ้น

    คลินิกรวมในวันปิดทำการ

    จงเล่นตามเกม

    ในเมื่อสมัครใจและต้องการได้อะไรสักอย่างจากอีกฝ่าย สิ่งที่ดีที่สุดคือการเคารพข้อตกลงที่ตั้งขึ้นแต่ทำตามให้สำเร็จ การบ่นไม่ได้ช่วยอะไรทั้งนั้น สำคัญที่การมองเกมให้ออกใช้ตัวช่วยและกลยุทธ์ที่มีให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักพลิกแพลง และที่สำคัญคือไม่เล่นนอกเกม

     

    ดวง ไม่สำคัญเท่า...อะไรทั้งนั้น

    จริงอยู่ที่คนดวงดีอาจจะมีทางเดินที่ง่ายและสบายกว่า แต่นั่นไม่ได้ให้สิทธิเราในการลดค่าความสำเร็จของเขา สิ่งที่สำคัญกว่าคือการพัฒนาและพยายามให้ตัวเราต้องพึ่งดวงน้อยที่สุด การที่เพื่อน'ดูเหมือน' เดินสบายอาจจะไม่ได้แปลว่าเขาโชคดี แต่เป็นเพราะเขาเตรียมตัวมาดีก็เป็นได้

    รูปปั้นสมเด็จย่า ที่พึ่งทางใจของเหล่านิสิตทันตแพทย์

    การบริหารคน บริหารเวลา

    คณะนี้สอนให้ผมเข้าใจคำว่า priority อย่างลึกซึ้ง คำนี้ แปลตรงตัวแล้วคือ "การจัดให้สิ่งหนึ่งมีความสำคัญมากกว่า" ผมไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยที่ไม่ประสาทกินได้เวลาแค่ไม่กี่วินาที สามารถส่งผลแตกต่างราวฟ้ากับเหว เพราะฉะนั้น การเลือกทำตามลำดับความจำเป็นได้อย่างถูกต้อง รู้ว่าตอนไหนต้องทุ่ม ตอนไหนพัก ได้จะเป็นสิ่งที่จะช่วยเราได้มากที่สุด สำหรับคนไข้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องจัดการให้ตัวเขาเลื่อนลำดับความสำคัญของการมารักษากับเราเป็นอันดับต้นๆให้จงได้ คำว่าไม่ว่าง ย่อมาจากไม่ว่างมากหาเราเพราะเขาว่างไปทำธุระอื่นที่สำคัญกับเขามากกว่า

     

    อาจารย์ที่ปรึกษา

    ทั้งชีวิตผมถูกเลี้ยงมาแบบอิสระมาก ทั้งโรงเรียนและก็ที่บ้านแทบจะไม่ดุหรือทำโทษเลย การขึ้นคลินิกที่คณะเลยทำให้ผมได้สัมผัสมิติใหม่แห่ง  Tough love ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษารายวิชาคลินิกสองท่าน จะว่าไปอาจารย์ก็ไม่ได้ถึงกับดุมากมายอะไร ส่วนมากจะหวังให้เราเคารพกฎและทำตามข้อกำหนด รู้จักคิดอย่างเป็นระบบและรับผิดชอบงานและคนไข้ แต่ที่โหดคืออาจารย์เป็นคนที่มาตรฐานสูงมาก ไม่ได้ยอมรับหรือพอใจอะไรง่ายๆ  บวกกับออร่าความน่ากลัวเข้าไปอีก มันทำให้การทำงานนั้น ทวีความฝืดเคืองไม่ใช่น้อย แต่ก็ไม่เคยคิดเลยนะว่าความกดดันสไตล์นี้มันจะเวิร์คผม รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้เรียบร้อย ครบถ้วน และเป็นระบบมากขึ้นมาก ได้ใช้สกิลคิดวิเคราะห์อย่างเต็มที่แล้ว ทุกครั้งที่สามารถเอาชนะขีดที่อาจารย์กำหนดแล้วอาจารย์ยอมรับเรานะ โหแม่งโคตรมีความสุขเลย ถือโอกาสขอบคุณอาจารย์ อุไรวรรณ และอาจารย์ ปราณปรียา มา ณ ที่นี้ด้วยครับผม

    อาจารย์กำลังสอนเพื่อนๆ และ น้องๆ ในกลุ่ม

     

    Take the matter to you own hands.

    การเรียกร้องให้ผลประโยชน์ของเราขึ้นกับตัวเราเอง คือสิ่งที่พึงกระทำถ้ามีปัญหา ถูกเอาเปรียบ หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร ให้ทำซะ อย่าไปรอฟ้ารอฝนเลย จงช่วยเหลือตัวเองให้มาก ซึ่งการขอให้เพื่อนช่วยก็ถือเป็นการช่วยตัวเองเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่ผมดีใจคือได้รู้ว่า ความกล้าที่จะแตกต่าง ทำในสิ่งที่เชื่อ ซื่อสัตย์ต่อความคิดของตัวเอง ยังคงส่งผลเชิงบวกเมื่อลงมือทำ แม้พลังแห่งความตั้งใจมันจะไม่ได้ตอบรับตามที่หวังร้อยทั้งร้อยเหมือนเมื่อก่อนก็เถอะ ยกตัวอย่างเช่นการช่วยกันผลักดันให้ทันตแพทยสภาเปลี่ยน minimum requirement ของฟันปลอมทั้งปากจากหนึ่งคู่เป็นหนึ่งฝา(ระเบียบเพิ่งจะมาออกตอนเด็กๆ รับเคสกันไปแล้ว) หรืออย่างที่เห็นน้องร้องเรียนให้มีการซ่อมแซมอุปกรณ์ในห้องแลป ก็รู้สึกชื่นชมน้องมาก ที่ดีที่สุดคือ การช่วยเหลือตัวเองมันก็เป็นการช่วยเหลือคนอื่นในทางอ้อมเหมือนกัน

     

    ใจสู้หน่อย

    ต้องรู้จักคว้าโอกาสไว้ อย่าปล่อยปละละเลย คำว่าเดี๋ยวไว้ค่อยครั้งหน้าก็ได้คือยาพิษขนานเอกอย่าไปกลัวงานยาก หรืองานที่ข้อจำกัดเยอะ นอกจากมันจะช่วยฝึกเราแล้ว ให้แน่ใจได้ว่ามันจะมีข้อดีซ่อนอยู่ภายได้ความยุ่งยากที่แสดงออกมาตอนแรกอีกประเด็นคือ ต้องใจกล้า กล้าขอ กล้าพูด กล้าถาม (อย่างมีเหตุผลนะ) เวลาผมเห็นเพื่อนที่วิ่งตามอาจารย์ส่งแลปเพราะต้องนัดคนไข้มาทำต่อหรือถามว่าสามารถเตรียมสิ่งนี้มาในครั้งได้ไม๊ หรือขอให้อาจารย์เซ็นชาร์ตที่ค้างตอนที่กำลังจะไปแล้ว ผมรู้สึกชื่นชมนะ ว่าพวกเขาพยายามจัดการธุระของตัวเองอย่างเต็มที่ให้ได้งานต้องมีความกล้าไม่น้อยเลย

    เพื่อนกำลังเลือกสีครอบฟันให้คนไข้

    Don’t adopt, do adapt.

    ในคลาส Problem based learning มีเพื่อนถามว่าเวลาจบออกใบทำงาน เวลาเห็นเคสแปลกๆ เราควรจะประเมินยังไงดีอาจารย์สุณิสาบอกว่า ให้คำนึงถึงสามวงร่วมกัน

    หนึ่ง คืองานวิจัยและแนวทางปฎิบัติสากล

    สอง คือประสบการณ์และความสามารถของตัวหมอและเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มี

    และสาม คือตัวคนไข้

     

    โยงไปถึงคลาสทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่อาจารย์มัทนาสอนอาจารย์พูดการดูแลฟันปลอมตอนถอดว่า

     


    • ผู้ป่วยไอซียูที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีการดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ ที่ญี่ปุ่นเช็ดปากด้วยน้ำยาชนิดนึง (คล้ายเบตาดีน) แล้วพบว่าได้ผลดีแต่ที่สหรัฐฯเอามาใช้แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดลง จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นน้ำยาอีกตัวที่มีผลฆ่าเชื้อดีกว่า อาจารย์บอกว่าเพราะญี่ปุ่นมีมาตรการการดูแลผู้ป่วยที่ดีมาก บวกกับนิสัยติดตัวที่สามารถตามข้อปฎิบัติได้อย่างไม่หย่อนตามเวลา จึงเป็นเหตุผลที่ว่าการใช้น้ำยาตัวเดียวกันในสองประเทศจึงให้ผลที่แตกต่างกัน


    • มีงานวิจัยทดลองเอาฟันปลอมที่ทำความสะอาดแล้วแช่น้ำ (การดูแลฟันปลอมแบบเดิม) วันต่อมาก็วัดปริมาณเชื้อโรคเทียบกับการเก็บแห้ง ปรากฎแบบแห้งมีการสะสมของเชื้อที่น้อยกว่า การเก็บแห้งจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ด้วยที่ว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อนการเก็บแห้งตามชาวตะวันตกแบบดื้อๆ อาจจะส่งผลต่อความความแข็งแรงของฟันปลอมได้จึงเชียร์ให้เก็บเฉพาะในห้องแอร์ถ้าห้องพัดลมให้แช่น้ำแล้วทำความสะอาดด้วยน้ำยาบ้วนปากก่อนใส่แทน

     

    สองเรื่องนี้สอนผมว่า การคำนึงถึงบริบทรอบตัวเป็นสิ่งที่สำคัญมากควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ให้ดีก่อน ไม่ทำตามอย่างนกแก้วนกขุนทอง การสังเกตดูเทคนิกการทำฟันของอาจารย์แต่ละคนก็เหมือนกัน  ให้เข้าใจถึงเหตุผลการเทคนิกนั้น และลองเอามาปรับใช้อันไหนเวิร์คก็เอามาเสริม อันไหนไม่ถนัดก็ไม่จำเป็นต้องตาม

     

    จง Adapt (ปรับ) อย่า Adopt (รับมา)

    บรรยากาศหน้าตึกบรมนาถศรีนครินทร์


    ยูนิตถนัดซ้าย

    ที่โรงพยาบาลเลิดสิน อาจารย์ดนัยผู้ดูแลจะชอบมีเรื่องราวมาเล่าในเด็กๆ ที่ไปเวียนตามโรงพยาบาลของวิชาศัลย์อยู่เสมอ (ประโยค Don’t adopt, do adapt  ก็มาจากอาจารย์นี่แหละ) ในบ่ายวันสุดท้าย อาจารย์ได้เล่าเรื่องหนึ่งที่สะดุดหูผม อาจารย์บอกว่าวิชาชีพทันตแพทย์น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อรับรองกับคนถนัดซ้ายทั้งอุปกรณ์และยูนิตทำฟัน (ซึ่งไม่น่าจะจริง อย่างน้อยก็ไวโอลินก็ด้วยที่ไม่มีเวอร์ชั่นสำหรับคนถนัดซ้าย) เพราะฉะนั้นการฝึกของเหล่าหมอถนัดซ้ายก็คงเป็นไปด้วยความยากลำบากกว่า แต่พอทำจนถนัดแล้วคนเหล่านั้นก็เหมือนปลดล็อคสกิลที่พิเศษกว่าคนทั่วไปเช่นกานแคะรากด้วย 190-191 พร้อมกันได้หรือขูดหินปูนจนเมื่อมือก็สามารถเปลี่ยนมือได้ (ฮา) เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อะไรดี น่าจะเป็นวิธีหาข้อดีในข้อด้อยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสละมั้ง

     

    Being Interviewed

    เคยรู้สึกเสียดายโอกาสเล็กน้อยว่าเลือกสายงานนี้แล้วจะไม่ได้สอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกแบบคนอื่นเขา (สมัยเรียนก็ไม่เคยมีโอกาส) รู้สึกว่าตัวเองน่าจะทำได้ดี ปรากฏว่าสมใจอยากได้ลองไปสัมภาษณ์งานอยู่ครั้งสองครั้ง สรุปได้ว่าเกลียดมาก (ฮา) รู้สึกว่าเราถูกตัดสินและอนุมานจากข้อมูลที่ผู้ตัดสินเก็บเกี่ยวได้เพียงแค่เวลาไม่กี่นาที มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายการถูกปฏิเสธในแต่ละครั้งมีพลังทำลายล้างมากกว่าที่คิด เพื่อนคนนึงเคยทวิตว่าตอนเด็กๆ ไม่มีอะไรที่ตั้งใจแล้วทำไม่ได้ แต่พอโตขึ้นมามีเต็มไปหมดเลยมันคือสัจธรรมใหม่ที่เพิ่งได้มาเรียนรู้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ รู้สึกโชคดีเหมือนกันที่เราสามารถเลือกป้องกันการเสี่ยงถูกทำร้ายทางจิตใจได้ ถ้ายังไม่พร้อม

    ตารางขึ้นคลินิก-นัดคนไข้เทอมสุดท้าย

    ทำกิจกรรม

    ค่อนข้างเป็นหัวเรื่องที่ละเอียดอ่อน 

    ตอนปีต้นๆ เราทำงานเพราะต้องการถูกยอมรับจากสังคม เราเชื่อในการเปิดรับทุกโอกาสและคิดว่าทุกๆ งานมันสอนและให้บทเรียนเราได้ 

    ตอนปีหลังๆ เวลามีความสำคัญกับผมมากขึ้น ทำให้เราเริ่มคิดถึงประโยชน์ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมความคุ้มค่าก็ด้วย เลือกทำอะไรที่ตัวเองพอใจแล้วมีประโยชน์พัฒนาเราให้เข้าใกล้เป้าหมายในอนาคตดีกว่า

     

    กล่องดินสอ

    เป็นเรื่องที่แปลกมาก คือตอนเด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบเครื่องเขียนอย่างบ้าคลั่ง ดินสอปากกากล่องดินสอแพรวพราวมาตั้งแต่ประถมยันมัธยมยิ่งช่วงม.ปลายที่เริ่มมีกำลังทรัพย์และเหตุผล (ปลอมๆ) ในการซื้อนี่ยิ่งหนักใหญ่ ขำที่ตอนนี้ผมเป็นคนที่พกกล่องดินสอไม่ได้เลย คือยังมีซื้อเครื่องเขียนอยู่บ้างแต่มันขาดเหตุผลในการเอามาใช้อย่างสิ้นเชิง ด้วยลักษณะการเรียน บวกกับความไม่ใส่ใจในการอ่านหนังสือของผมไม่ว่าพยายามเท่าไรสุดท้ายร่างกายก็กำจัดส่วนเกินออกจากกระเป๋าด้วยทฤษฎี use and disuse อย่างน่าประทับใจ ทุกวัันนี้ถ้าต้องเขียนเมื่อไรก็ขอยืมเพื่อนข้างๆหรือวิ่งเข้าสหกรณ์หยิบแท่งที่ราคาถูกสุด ขอให้จรดลงไปบนกระดาษแล้วมีสีออกมาเป็นพอ

    หน้าตึกพรีคลินิก

    เรื่องกล่องดินสอเป็นตัวแทนการอธิบายที่ดีว่า ระยะเวลา 6 ปีในคณะมันหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงคนคนหนึ่งได้เอนกอนันต์นัก (ทำไมต้องใช้คำใหญ่) นิสัยและความคิดเราถูกเปลี่ยนแปลงโดยนอกเหนืออำนาจจิตใจมันทำให้ผมอดทนมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น และเตรียมใจรับกับสิ่งเหนือความคาดฝันได้ดีขึ้นเห็นจุดเด่นและข้อด้วยของตัวเองชัดเจนขึ้น และที่สำคัญคือโตขึ้นเลยอยากจะบันทึกเรื่องราวนี้เอาไว้ให้ คนอื่นๆ และตัวเราในอนาคตได้รู้ว่า เฮ้ย การมาเรียนที่คณะทันตะแพทย์ศาสตร์มันให้อะไรเรามากว่านิสัยชอบจ้องฟันและหลังส่วนล่างที่ปวด 

    เข็มบรรจุน้ำยาสารพัดเวลารักษาคลองราก

    อันนี้คือฟันปลอมก่อนส่งแลปไปอัดอะคริลิก

    แม้ว่าจะทุกข์มากว่าสุขหน่อยก็ถือว่าเป็นการเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ประสบความสำเร็จ

    และผมก็พอใจกับมันนะ : )

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in