พอพูดถึงห้องสมุด เราก็จะคิดถึงสถานที่ที่มีหนังสือเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ความจริงแล้วห้องสมุดเด็กทำอะไรที่มากกว่านั้นเยอะเลย วันนี้เราอยากมาเล่าถึงสิ่งเล็ก ๆ ที่พวกเราทำเพื่อเพิ่มสีสันให้ห้องสมุดในวันที่ห้องสมุดยังไม่สามารถจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบ
นิทรรศการหนังสืออวกาศ
อย่างแรกคือพวกเราจัดนิทรรศการหนังสือเล็ก ๆ เอาไว้ เป็นนิทรรศการหนังสือที่เกี่ยวกับอวกาศ ก่อนหน้านี้หนังสือตรงนี้จะเป็นหนังสือใหม่ แต่เราเปลี่ยนให้เป็นนิทรรศการอวกาศเอาใจเด็ก ๆ ซึ่งหนังสือในนี้ก็มีทั้งหนังสือสารคดี เป็นความรู้อวกาศไปเลย และมีทั้งหนังสือบันเทิงคดี แนวอบอุ่นหัวใจและเหนือจริง อย่างดาวอมยิ้ม เรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวกับดวงดาว หนังสือแนวนี้มีเยอะมาก ๆ เลย พอเวลาผู้ปกครองยืมหนังสือจากตรงนิทรรศการไป พวกเราเลยมีหนังสือมาเติมเรื่อย ๆ ผู้ปกครองหลายท่านมักเลือกหยิบหนังสือจากตรงนี้ เพราะเป็นส่วนที่หน้าปกหนังสือได้แสดงให้เห็นเต็มที่มากกว่าหนังสือในชั้นที่ส่วนใหญ่เป็นแค่สัน ต้องค่อย ๆ หยิบออกมาทีละเล่ม นิทรรศการจะถูกเปลี่ยนทุก ๆ สองสามสัปดาห์ เพื่อให้หนังสือนิทานเล่มอื่น ๆ ได้ออกมาเฉิดฉายบ้าง การตกแต่งนิทรรศการเองก็มีผลต่อหนังสือด้วยนะ บริเวณที่หนังสือวางอยู่ ไม่ควรจะจกแต่งเยอะหรือใกล้กับปกหนังสือมากเกินไป เพราะมันจะรบกวนสายตาและรบกวนปกหนังสือ หนังสือแต่ละเล่มมีหน้าปกที่ดีของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นพวกเราจึงอยากให้หนังสือได้แสดงตัวเองให้มากที่สุด เลยตกแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้เป็นธีมอวกาศที่ดูสนุก
รถพยาบาลหนังสือ
เดิมทีที่ห้องสมุดของเรามีสิ่งที่เรียกว่า "โรงพยาบาลหนังสือ" เวลาผู้ปกครองมาที่ห้องสมุดครั้งแรกเราก็จะแนะนำให้รู้จักกับโรงพยาบาลหนังสือเป็นจุดที่เมื่อเด็ก ๆ เผลอจับหนังสือแรงจนฉีกขาดสามารถนำหนังสือมาหย่อนไว้ในโรงพยาบาลหนังสือได้เลย (เด็กยังไม่สามารถกะแรงในการจับสิ่งของได้) ทางเจ้าหน้าที่จะเป็นคนซ่อมแซมด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะกับการซ่อมหนังสือจริง ๆ เด็ก ๆ ไม่โดนดุ ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ แค่เพียงอยากให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าหนังสือไม่สบายก็ต้องไปโรงพยาบาลนะ แต่ว่าโรงพยาบาลหนังสือทำมาจากกล่องลังธรรมดา เมื่อเวลาผ่านไปเลยต้องซ่อมแซม ตอนนี้จึงเป็นยุคของ "รถพยาบาลหนังสือ" แทนนี่เอง
ตอนทำแอบมีเด็ก ๆ อยากช่วยเพียบเลย จุดที่ตั้งรถพยาบาลหนังสือ
ตอนได้โจทย์มาว่าต้องการโรงพยาบาลหนังสือใหม่ที่แข็งแรง ทนทาน เราคิดภาพว่าจะทำให้มันสนุกขึ้นค่ะ (แต่พี่ ๆ เตือนว่าถ้าสนุกเกินเด็ก ๆ จะสนใจมาก ๆ จนอยากหยิบ อยากแกะเกินไปค่ะ 5555) แต่เราก็พยายามเซฟความเป็นโรงพยาบาลไว้ ด้วยการเปลี่ยนเป็นรถแทนค่ะ ตอนทำกับเพื่อนอีกคนนึง พวกเราหัวหมุนมาก ต้องกะขนาดให้พอดีกับหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดของห้องสมุด ต้องทำที่กั้นด้านล่างให้สูงพอดี เวลาเด็ก ๆ หย่อนหนังสือจะได้ไม่ล้นออกมาง่าย ๆ อีกทั้งต้องไม่ให้เด็ก ๆ มุดเข้าไปเล่นข้างในด้วย กาวกับเทปก็ต้องติดให้แน่นหนาที่สุด จุดที่เป็นไฟสัญญาณของรถคือจุดที่เด็ก ๆ สนใจมากที่สุดค่ะ อยากจะหยิบจะจับ แม้กระดาษลังจะไม่ได้มีส่วนคม แต่เวลาเราตัดเราต้องเก็บทุกส่วนให้มน ห่อด้วยกระดาษ ด้วยเทปซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องมั่นใจว่าเด็ก ๆ จะปลอดภัยที่สุดค่ะ ความน่ารักคือ เด็ก ๆ มักจะชอบหยิบหนังสือที่สบายดีมาใส่ เช่นหนังสือ "กุ๊กไก่ปวดท้อง" เพราะน้องเข้าใจว่าปวดท้องต้องไปหาหมอ น่ารักมากเลยค่ะ y-y บางครั้งก็ต้องแอบมาเช็คว่าหนังสือที่อยู่ในรถพยาบาลขาดจริงไหม 5555
บรรยากาศตอนเล่านิทาน
ช่วงนี้ห้องสมุดเปิดปกติแล้วและมีการเล่านิทานที่เกือบจะเต็มรูปแบบทุกวันเสาร์ ประมาณ 11 โมง กิจกรรมเล่านิทานนี่เป็นส่วนที่ทำให้ห้องสมุดสดใสมีสีสันมากเลยค่ะ พวกเรามีทั้งการอัดคลิปเพื่อให้เด็ก ๆ ทางบ้านได้ชมกัน และมีทั้งการเล่าสดที่ห้องสมุด พี่ ๆ ที่เล่ามี 3 คน คนละ 2 เรื่อง ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในพี่ที่เล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟังค่ะ บางอาทิตย์จะเจอน้องที่บอกว่าให้ทุกคนเงียบเพราะว่ากำลังอัดคลิปอยู่ ทั้งน่ารักและตลกดีค่ะ 5555 เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่มาฟังจะมีความเขินอาย เพราะเราเพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก ๆ พอเวลาพี่ ๆ ถามตอบว่า "ต่อไปคุณหมี (ตัวละคร) จะทำอย่างไรดีล่ะ" เด็ก ๆ ก็จะแอบตอบเบา ๆ หรือหันไปตอบกับผู้ปกครองแทนค่ะ ซึ่งแตกต่างจากเวลาเราไปเล่าที่โรงเรียน เด็ก ๆ ในโรงเรียนจะตอบกันอย่างรวดเร็ว เพราะคุ้นเคยกับโรงเรียนดี พี่ ๆ เป็นคนเข้ามาใหม่ในโรงเรียน น้องเป็นเหมือนเจ้าถิ่น 555 แต่ที่ห้องสมุดเด็ก ๆ ไม่คุ้นเคย และส่วนใหญ่เด็ก ๆ ที่มาจะยังไม่เข้าโรงเรียนกันค่ะ ก่อนเล่าเรามีแค่แนะนำตัวเล็กน้อย เด็ก ๆ จึงยังไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ แต่ถ้าหนังสือเล่มนั้นสนุกมาก ๆ หรือเป็นเรื่องที่สนใจ เขาก็จะรีบตอบเลยค่ะ อย่างเรื่องในมือของเราคือเรื่อง "เจ้าสิงโต...ไปอาบน้ำได้แล้ว" ค่อนข้างสนุกและตลก เด็ก ๆ ชอบกันมากเลยค่ะ ถึงจะแอบตอบกันเบา ๆ แต่ทำให้รู้เลยว่าเขาฟังอยู่ตลอด นิทานเป็นสื่อกลางที่ทำให้เด็ก ๆ มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นจริง ๆ ค่ะ
ความแตกต่างจากตอนเรียนอีกอย่างคือ วิชาเล่านิทาน พอเวลาเราออกไปสอบเล่านิทานด้านหน้าห้อง แล้วเราถามตอบอะไรสักอย่าง เพื่อน ๆ ของเราเนี่ยจะมีปฏิกิริยาตอบรับที่ดีมากเลยค่ะ ถามปุ๊บตอบปั๊บ หัวเราะให้ สนุกกันเองสุด ๆ ในทางกลับกันเวลาเพื่อนไปเล่า เราเองก็ทำแบบนั้นค่ะ เป็นการให้กำลังใจกัน และทำให้คนอ่านรู้ว่ามีคนฟังคุณอยู่ตลอดนะ 5555 ซึ่งในชีวิตจริง ๆ เด็ก ๆ กว่าจะคุ้นเคยกับเราและตอบเราอย่างเปิดเผย ก็ผ่านไปครึ่งเล่มแล้ว ถ้าเด็ก ๆ ไม่กล้าตอบ เราก็ต้องหาทางรับมือต่อไปอีกด้วยค่ะ คุยเองตอบเอง 5555 แต่ยังไงเราก็ค่อนข้างมีความสุขทุกครั้งเลยค่ะ ตอนอ่านเสร็จเด็ก ๆ จะแอบมองแล้วก็เดินมาขอบคุณกันน่ารักมากเลยค่ะ y-y บางอาทิตย์เราเล่าเป็นคนแรก ๆ หลังเราเล่าจบจะไปนั่งฟังกับเด็ก ๆ ก็จะมีน้องที่หันมาเล่นกับเรา มาคุยกับเรา น้องจะบิดไปบิดมาเขินแต่ก็อยากคุย น่ารักมากเลยค่ะ หนังสือนิทานทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่และก็ทำให้เด็ก ๆ มีความกล้าเพิ่มขึ้นด้วยนะคะ แค่เพียงการฟังนิทานมีพลังมหาศาลต่อเด็ก ๆ และผู้ปกครองมากเลยทีเดียวค่ะ
เด็ก ๆ เองก็ทำให้ห้องสมุดมีสีสันเพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ วันไหนเด็กน้อย ๆ หนังสือกะเจ้าหน้าที่หงอยมากเลยค่ะ วันเสาร์ที่เด็กเยอะหน่อย พวกเราก็เหมือนต้นไม้ได้รับแสงอาทิตย์กะน้ำเต็มอิ่มเลยค่ะ สดใสมีชีวิตชีวากันมากเลย แล้วก็ขออวดหน่อยนะคะว่างานเบื้องหลังที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ผ่านแล้วค่ะ y-y ฮึก ๆๆ พี่ ๆ บอกว่านี่แก้น้อยกว่าคนอื่น ผ่านเร็วกว่าคนอื่นแล้วนะ แต่เราก็ยังคาดหวังในตัวเองสูงกว่านั้นค่ะ ถ้าเกิดงานได้เผยแพร่ให้เห็นแล้วจะเอามาเล่าให้ฟังนะคะ อีกอย่างก็คือมีสำนักข่าวออนไลน์มาถ่ายทำช่วงเสาร์ที่ผ่านมาค่ะ เราเลยได้ลงในข่าวเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนเล่านิทานค่ะ เพิ่งรู้ว่ามีตัวเองในนั้นด้วย y-y แต่ถ้าอยากเห็นก็สามารถจิ้มลิงค์นี้ได้เลยค่ะ
https://www.isranews.org/article/isranews/90154-new-normal00.html?fbclid=IwAR1OoiJblfDkAihC5c8MGvUwWSBqeF8ttze9y2Ft1bx2_97_jNK6PT3z-Zw
เอามาแปะท้าย ๆ เพราะเขินจริง ๆ ค่ะ y-y ไม่รู้ตัวว่าโดนถ่ายไว้ด้วย นึกว่าถ่ายแค่เพื่อนเรา ขอให้ทุกคนมีวันที่ดีและสนุกกับการทำงานนะคะ เราเองก็จะทำงานอย่างเต็มที่และสนุกสนานต่อไปเลยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in