กองกำลังติดอาวุธปฎิวัติโคลอมเบีย หรือ ฟาร์ก (FARC) การรัฐประหารและการตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการรวมกว่า 40 ปีของประเทศกัวเตมาลา หนึ่งในการสังหารหมู่อันไร้มนุษยธรรมที่อยู่ในนิยาย
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ทั้งหมดมีความเหมือนกันตรงที่สามารถเล่าผ่าน "กล้วยหอม" ผลไม้ยอดนิยมได้
ทั้งหมดนี้เล่าย่อ ๆ นะคะ
บริบททางประวัติศาสตร์
แน่นอนว่ากล้วยจะกลายเป็นตัวกลางเรื่องราวหลากหลายได้ผ่านการถูกนำไปค้าขายระหว่างประเทศ บริบททางประวัติศาสตร์ในยุคที่เรากำลังจะพูด มีการเปิดการค้าให้เสรีมากขึ้น มีการคมนาคม เช่น รถไฟ มีนวัตกรรมเช่น ตู้เย็น ที่ช่วยให้ผลผลิตทางอาหารหลายประเภทสดใหม่และเก็บได้นานขึ้น มีการนำเข้า-ส่งออกเกิดขึ้นแล้ว
ขณะนั้นอเมริกาได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจเบียดยุโรป นายทุน (หลายคนเกี่ยวข้องและมีอำนาจในด้านการเมือง เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองนั้นสัมพันธ์แน่นแฟ้น) มองหาประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรเพื่อเข้าไปลงทุน
บริษัทอเมริกันหลายบริษัทเข้าไปมีบทบาทในประเทศบริเวณอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในที่นี้เราจะพูดถึงบริษัทผลไม้ที่เข้าไปมีบทบาทในอเมริกากลาง ซึ่งก็มีหลายบริษัท และบริษัทที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ยูไนเต็ด ฟรุ๊ต คอมปานี (United Fruit Company)
กำเนิดยูไนเต็ดฟรุ๊ต
เดิมทีเจ้าของยูไoเต็ดฟรุ๊ตชื่อ ไมเนอร์ คีีต (Minor Keith)เป็นเจ้าของกิจการคมนาคมใหญ่ เขาเซ็นสัญญาทำธุรกิจกับประเทศกอสตาริก้า โดยจะสร้างรางรถไฟเชื่อมเมืองหลวงกับเมืองท่าให้ ในกระบวนการการตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น รัฐบาลเสนอผลตอบแทนเป็นที่ดินปลอดภาษีข้างทางรถไฟ แลกกับการให้สหรัฐอเมริกาพิจารณาเรื่องหนี้สาธารณะของประเทศกอสตาริก้าใหม่
ไมเนอร์ คีีต (public domain)
ที่ดินข้างทางรถไฟที่เขาได้มานั้นเขาเอาไปทดลองปลูกกล้วย ด้วยหวังว่ากล้วยจะเป็นแหล่งอาหารราคาถูกให้คนงานของเขาในยามข้าวยากหมากแพง
ในเวลาต่อมาเมื่อเขาประสบปัญหาด้านการเงินและมีหนี้จากการกู้มาลงทุนทำธุรกิจ เขาก็เริ่มมองหาแหล่งเงินทุนใหม่ ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า กล้วยที่เขาทดลองปลูกนั้นสามารถเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีผ่านการส่งออก โดยเฉพาะหากเขาทำให้มันเป็นผลไม้ราคาถูกที่สุดในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าจะเริ่มต้นที่คอสตาริก้า แต่ไม่นานต่อมาพื้นที่ที่คีตใช้ปลูกกล้วยก็กระจายไปทั่วอเมริกากลาง ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากจะทำให้กล้วยเป็นผลไม้ที่ถูกที่สุดในสหรัฐอเมริกา ยูไนเต็ดฟรุ๊ตจึงยึดมั่นในการติดสินบน จ่ายใต้โต๊ะ เลี่ยงภาษี ลดภาษี และใช้งานแรงงานมนุษย์ให้คุ้มค่าที่สุด
ยูไนเต็ดฟรุ๊ตคอมปานีขยายอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่หลายส่วน ทั้งเดิมทีเป็นเจ้าของคมนาคม แล้วก็ยังเป็นเจ้าของที่ดินรวมถึงมีอำนาจในการคุมเมืองท่าอีกด้วย
อิทธิพลมหาศาลเป็นที่มาของฉายา El pulpo ที่แปลว่า ปลาหมึก
สังหารหมู่
คนงานของยูไนเต็ด ฟรุ๊ต คอมปานี ปี 1913 (public domain)
การใช้งานแรงงานมนุษย์ให้คุ้มค่าในสายตานายทุนอาศัยการให้แรงงานทำงานวันละหลายชั่วโมง ทำงานหนัก และให้ค่าตอบแทนต่ำกว่าที่ควรได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุน แรงงานบางกลุ่มได้รายได้ต่ำสุดน้อยกว่า 100 เปโซต่อเดือน ซึ่งน้อยมากจริง ๆ
แน่นอนว่าการใช้งานอย่างขาดมนุษยธรรมนี้นำมาซึ่งความไมพอใจในกลุ่มแรงงาน มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในอเมริกากลาง หนึ่งในนั้นคือกรณีการสังหารหมู่ที่โคลอมเบีย
ที่โคลอมเบีย กลุ่มแรงงานผลิตกล้วยที่ถูกกดขี่ตัดสินใจออกมาประท้วง โดยมีข้อเรียกร้องเก้าข้อ สรุปคร่าว ๆ คือขอเวลาทำงาน ค่าแรง และสวัสดิการที่เป็นธรรม รวมไปถึงสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร
แกนนำประท้วง (public domain)
เนื่องจากอิทธิพลของบริษัทใหญ่ของอเมริกาสัมพันธ์โดยตรงกับการเมืองอเมริกา หลังจากเกิดการประท้วงขึ้นได้มีการเจรจาระหว่างประธานาธิปดีของสหรัฐกับรัฐบาลโคลอมเบีย ผลจากการเจรจาทำให้รัฐบาลโคลอมเบียส่งทหารไปยังที่ประท้วง
ทหารพร้อมปืนกลขึ้นไปเตรียมพร้อมบนหลังคาอาคารบริเวณใกล้เคียง และภายในเวลาไม่เกินสิบนาทีหลังจากทหารไปถึงที่ก็เกิดการยิงผู้ประท้วง
จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจนปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ในขณะนั้นรายงานตัวเลขไม่เท่ากัน อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไปตัวเลขก็เพิ่มขึ้นด้วย ตัวเลขที่สูงที่สุดอยู่ในหลักพัน
เสียชีวิต 100 คน บาดเจ็บอีก 238 คนจากความขัดแย้งในภูมิภาคปลูกกล้วย
หนังสือพิมพ์วันที่ 14 ธันวาคม 1928 (ภาพเข้าถึงจากLa FM ต้นฉบับของ Archivo Casa Museo Gabriel García Márquez)
เหตุการณ์ครั้งนี้บันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โคลอมเบียในชื่อ La masacre de las bananeras หรือ The Banana Massacre. (Massacre = การสังหารหมู่) วันที่ 6 ธันวาคม 1928
Cien años de soledad, One Hundred Years of Solitude
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมีการกล่าวถึงการสังหารหมู่ครั้งนี้ (ในตัวนิยายเอง หนึ่งร้อยปีอ้างว่าเมืองเป็นเมืองแต่ง และเรื่องเป็นเรื่องแต่ง แต่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับเมืองที่มีอยู่จริง และสงครามพันวัน สงครามกลางเมืองของโคลอมเบีย)
Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia (FARC)
Revolutionary Armed Forces of Colombia
กองกำลังติดอาวุธโคลอมเบีย หรือ ฟาร์ก เริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน อ้างอิงจากสารคดี Banana Land: Blood, Bullets & Poison ปี 2014 เหตุการณ์การสังหารหมู่ของกลุ่มคนชนชั้นแรงงานในครั้งนี้ และความเป็นจริงข้อที่ว่าชนชั้นแรงงานถูกกดขี่มาโดยตลอดเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้ฟาร์กกำเนิดขึ้นมาในปี 1964 จุดประสงค์ของฟาร์กคือเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนจนและต่อต้านสหรัฐอเมริกา ต่อมากลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในโคลอมเบีย
ทั้งนี้ เงินทุนของฟาร์กพึ่งพาขบวนการยาเสพติด เวลาผ่านไปวิธีการต่อสู้ก็รุนแรงขึ้นประกอบกับมันเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยอยู่แล้ว ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมด 52 ปี มีผู้เสียชีวิตนับ 2 แสนรายและผู้พลัดถิ่นกว่า 7 ล้านคน
เดือนพฤศจิกายน 2016 ฟาร์กเซ็นต์ข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งในการใช้กำลัง โดยในข้อตกลงจะมีการจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้สมาชิกเพื่อให้มีทุนหาอาชีพกลับคืนสู่สังคม ประธานาธิบดีได้โนเบลสันติภาพไปเลยตอนนั้น
27 มิถุนายน 2017 สมาชิกฟาร์กหลายพันคนวางอาวุธโดยการส่งอาวุธของตนให้สหประชาชาติ (U.N.) และเดือนสิงหาคมได้ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า El Partido Fuerza Alternativa Revolucionaria del Común หรือ El Partido Farc, พรรคฟาร์ก
อย่างไรก็ตาม หลายสำนักข่าวรายงานว่าขบวนการยาเสพติดยังอยู่ต่อไปแม้ฟาร์กจะปิดตัวไปแล้วเนื่องจากยังมีสมาชิกที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ราว 2,000 กว่าคนที่ยังยึดถือวิถีเดิม
(ต้องเข้าใจกันก่อนว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีขาวดำหรอกค่ะ เรื่องจริง ๆ ก็มีความซับซ้อนมีเรื่องภายในภายนอก เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ๆ ไหนจะต้องคิดว่าเรารับสารจากไหน สื่อเบื้องหลังใครสนับสนุนอีก ที่แน่ ๆ คือเป็น 50 ปีที่ทุกข์ทรมานของประเทศเขาค่ะ)
Las Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia - Ejército del Pueblo (FARC-EP)
Revolutionary Armed Forces of Colombia—People's Army
MrPenguin20 / CC BY-SA (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)
ปี 2019 ที่ผ่านมา หัวหน้ากองกำลังออกมาประกาศว่าจะกลับมาเนื่องจากรัฐบาลผิดข้อตกลงเรื่องสันติภาพ
อ้างอิงจากสถาบันเพื่อการพัฒนาและสันติศึกษา องค์กรเอกชน Indepaz ตั้งแต่เซ็นสัญญา อดีตสมาชิกฟาร์กเสียชีวิตไปแล้ว 150 คนและมีนักกิจกรรมท้องถิ่น 627 คนถูกฆ่า
หัวหน้ากองกำลังกล่าวว่ารัฐบาลปกป้องพวกเขาเหล่านั้นไม่ดีพอ
ทั้งนี้รัฐบาลก็อกมาตอบโต้ว่าจะไม่ยินยอมเช่นกัน
หนังยาว
อีกด้านหนึ่งในสารคดีเดียวกัน มีการเล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 80 กว่าปี นักกิจกรรมจัดงานรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าในปัจจุบันก็ยังมีบริษัทข้ามชาติอยู่เบื้องหลังความรุนแรงในพื้นที่ มีการสนับสนุนทุนจัดตั้งกองกำลังที่ใช้กดขี่คนงาน นักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องถูกข่มขู่ คุกคาม อุ้มฆ่า จำนวนคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากใช้กำลังกับผู้ต่อต้านแล้ว บางครั้งก็ยึดพื้นที่มาถือครองโดยใช้กำลังด้วย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in