เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความไม่เรียงrainbowflick17☂️
เกลียดชัง & สังหาร: การฆาตรกรรมผู้หญิง และเสียงประท้วงในลาตินอเมริกา
  • จากกรณีการสังหารผู้หญิงหรือ Femicide ที่กำลังรุนแรงและมีการประท้วงขึ้นที่เม็กซิโก ประกอบกับในวันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล (International Women's Day)  และจะเกิดการประท้วงที่เรียกว่า #8M เป็นปีที่ 3 ใน50ประเทศทั่วโลก และวันที่ 9 มีนาคมก็จะมีแคมเปญประท้วงหยุดงานในเม็กซิโก จึงจะขอมาเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ให้พอรู้ว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงนี้มีอะไรบ้าง และอธิบายเรื่อง Femicide ว่าเป็นมาอย่างไร และดูว่าเขามีวิธีประท้วงที่น่าสนใจอะไรบ้างค่ะ 

    ***

    Bullet Points : Mexico
    • ปี 2019 มีรายงานความรุนแรงทั่วไปในเม็กซิโกสูงขึ้นถึง 59 % มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการถูกฆาตรกรรมไม่ต่ำกว่า 1,006 คน
    • ในเดือนมกราคม ของปี 2020 มีผู้หญิงถูกฆาตรกรรมไปแล้ว 73 คน 
    • ปัญหาการฆาตรกรรมผู้หญิง รวมไปถึงการฆาตรกรรมโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงโดยเฉพาะนี้เป็นลักษณะของการสังหารผู้หญิงหรือเรียกว่า Femicide ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานมากแล้ว
    • ฆาตรกรมักเป็นคนใกล้ตัว (Intimate Femicide)
    • หนึ่งในสาเหตุความรุนแรงต่อผู้หญิงมาจากอคติทางเพศ 

    Bullet points : Latin America
    • ผู้หญิงในลาตินอเมริกาเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 12 คน ด้วยสาเหตุที่ว่า เธอเป็นผู้หญิง
    • ปัญหานี้มีมายาวนานมาก หนึ่งในสาเหตุมาจากความเกลียดชังผู้หญิงที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่
    ***


    *หมายเหตุ เนื้อหาข่าวมีความรุนแรง ถ้าใครที่ไม่ชอบแนะนำให้ข้ามไปอ่านช่วงอื่น ๆ ค่ะ  



    เหตุการณ์ชนวน




    วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ก่อนวันวาเลนไทน์ อินกริด เอสกามียา (Ingrid Escamilla) สาววัย 25 ปีถูกสามีฆาตรกรรมและหั่นศพอย่างโหดเหี้ยม ภาพของเธอขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วประเทศ 
    วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ญาติของฟาติมาร์ อัลดริเกต (Fatima Aldriguett) เด็กหญิงวัย 7 ปี ได้เข้าไปแจ้งความเรื่องที่เด็กหญิงหายตัวไป แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งเนื่องจากตามกระบวนการแล้วต้องรอ 72 ชั่วโมงจึงจะทำการค้นหาได้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ร่างของเด็กหญิงที่หายตัวไปได้ถูกพบพร้อมร่องรอยของการถูกข่มขืนและทรมาน  (Kennon, Valdevitt, 2020; BBC Mundo, 2020) 

    ทั้งสองเหตุการณ์เป็นข่าวดังในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ทำให้ผู้คนนับพันออกมาลงถนนประท้วงที่หน้านอกทำเนียบประธานาธิบดีของเม็กซิโกเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อต่อต้านการสังหารผู้หญิง (Femicide) โดยมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการพ่นสีแดงเป็นชื่อผู้เสียชีวิตลงบนกำแพง

    Puebla, Mexico, February 22, 2020. REUTERS/Imelda Medina
    เข้าถึงจาก Atlantic Council

    แต่กรณีของอินกริดและฟาติมา เป็นแค่หนึ่งในกรณีฆาตรกรรมที่จมหายไปในแฟ้มคดีกว่าพันที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ผู้หญิงถูกฆ่าเนื่องด้วยอคติทางเพศเฉลี่ย 10 คนต่อวัน น้อยกว่า 5% ได้รับการสืบสวนจนปลดคดีได้ และบ่อยครั้งขบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้แจ้งข้อหา 

    หลายคนออกมาเรียกร้องเพราะรัฐไม่ได้ออกมาตรการหรือแผนอะไรในการจัดการกรณีสังหารผู้หญิงอย่างจริงจัง และยังมีปัญหาในด้านอื่น ๆ เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ให้พื้นที่กับคำให้การของฆาตรกรมากกว่าให้พื้นที่กับชีวิตของผู้ตาย

    ปัญหาการฆาตรกรรมผู้หญิงในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นทุกปี


    Femicide คืออะไร ต่างจากการฆาตรกรรมอื่น ๆ อย่างไร 

    Femicide ไม่เหมือนกับการฆาตรกรรมเฉย ๆ ที่บังเอิญว่าผู้ตายเป็นผู้หญิง แต่เป็นความุรนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-based Violence) คือเกิดมาจากอคติที่ฝังลึกเกี่ยวกับเพศนั้น ๆ ซึ่งจะขยายความต่อไปในหัวข้อสาเหตุค่ะ

    การฆาตรกรรมผู้หญิงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายสังคม โดยเฉพาะเกิดขึ้นรุนแรงและต่อเนื่องในประเทศลาตินอเมริกาหลายแห่ง เกิดจากทั้งการฆาตรกรรมโดยคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนรักหรือสมาชิกครอบครัว และการฆาตรกรรมโดยคนที่ไม่รู้จัก โดยการฆาตรกรรมโดยคนใกล้ตัวมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 

    ปี 2014 ราชบัณฑิตยสถานแห่งชาติของสเปน (RAE) บรรจุคำว่า Feminicidio (Femicide, สังหารผู้หญิง)  ลงในพจนานุกรม โดยให้ความหมายว่า การฆาตกรรมผู้หญิงเนื่องด้วยสาเหตุที่ผู้หญิงมีเพศหญิง  (Asesinato de una mujer por razón de su sexo.) 

    ทางด้านกฎหมายในหลายประเทศก็บรรจุ feminicidio แยกออกมาเป็นอาชญากรรมที่มีบทลงโทษเฉพาะ 

  • สาเหตุของ Femicide 


    สาเหตุของการฆาตรกรรมผู้หญิงนี้แต่ละมุมมองการศึกษาก็จะมองต่างกันไป

    นักสิทธิสตรีมองว่าการฆาตรกรรมผู้หญิงมีผลมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศในโครงสร้างสังคม
     
    อธิบายอีกแบบก็คือการฆาตรกรรมผู้หญิงนี้เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งของความรุนแรงทางเพศ โดยมีเบื้องหลังเป็นการกีดกันทางเพศ (sexism) การเกลียดผูหญิง (misogyny) วัฒนธรรมที่ยึดกับความเป็นชาย (cultura machista) การเลือกปฎิบัติกับเพศหญิง ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) รวมไปถึงการที่ผู้กระทำผิดได้รับการละเว้นโทษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายครั้งสังคมวางเฉยและมองข้ามไป

    (Violence Pyramid จาก CCASA)
    อธิบายให้เห็นว่าความรุนแรงเริ่มจากฐานคือทัศนคติและความเชื่อ


    ทฤษฎีสังคมและนิเวศวิทยาสันนิษฐานว่ามีปัจจัยหลายประการ เช่น เคยพบความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน มีประวัติความรุนแรงในครอบครัว อยู่ในครอบครัวที่ฝ่ายชายมีอำนาจเหนือสมาชิกคนอื่น ๆ (รวมไปถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ) ถูกทำร้ายในวัยเด็ก ติดสุรา มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ รวมไปจนถึงรายได้ต่ำ และทุนทางสังคมต่ำ

    ปัจจัยอีกข้อคือความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของผู้หญิง (เช่น เชื่อว่าผู้ชายเป็นเจ้าของร่างกายผู้หญิง) เชื่อว่าความเป็นชายเชื่อมโยงกับการมีอำนาจและการเป็นฝ่ายปกครอง ยึดบทบาททางเพศ การยอมรับความรุนแรงระหว่างบุคคลและการลงโทษทางร่างกาย

    มองในหน้าข่าวก็จะเห็นว่าในกรณีของการฆาตรกรรมโดยคนใกล้ตัวผู้ชายที่เป็นผู้กระทำจะมีกรณีของการก่อเหตุเพราะผู้หญิงที่เป็นคู่รักปฎิเสธคำขอ ไม่ยอมให้เขาควบคุม หรือผู้หญิงมีคนอื่นและควรได้รับ "การลงโทษ"

    ผู้กระทำผิดอาจเริ่มจากเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่าในบ้าน เชื่อว่าการลงโทศโดยการทำร้ายทางร่างกายนั้นกระทำได้ และเกิดปัญหาเป็นลำดับขั้นต่อ ๆ ไป 

    บ่อยครั้งที่มีการใช้ข้ออ้างว่าผู้กระทำผิดถูก"ผลักดัน" ให้กระทำความผิดเพราะ "ความรักที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง" ซึ่งข้ออ้างนี้บางครั้งใช้ลดเวลาจำคุกได้ด้วย ในทางกลับกันผู้หญิงมักจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ข้ออ้างว่าถูกอีกฝ่ายยั่วยุจึงก่อการฆาตรกรรม ในกรณีนี้ก็มีการวิจารณ์ความลำเอียงของศาลอยู่ด้วย

    อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือมีความเชื่อที่ผูกกับบทบาททางเพศที่ว่าผู้หญิงมีพื้นที่อยู่แค่ในครัวกับในห้องนอน ในบ้าน เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่คนชอบพูดถึงกันว่าผู้หญิงมักจะถูกฆ่าตายในบ้านของตัวเองเช่นกัน

    ในกรณีของการฆาตรกรรมโดยคนไม่รู้จักก็อาจออกมาในรูปแบบของการมองว่าผู้หญิงไม่ยอมอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น ออกมาเดินตามถนน
  • การประท้วง


    Ni una Menos 
    เป็นการเคลื่อนไหวที่เริ่มขึ้นในอาร์เจนติน่าเพื่อต่อต้าน Femicide และต่อมาก็แพร่กระจายไปทั่วลาตินอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ติดไฟต่อให้ประเทศอื่น ๆ  Ni Una Menos แปลประมาณว่า (Not one(woman) Less) สื่อความว่าไม่ควรมีผู้หญิงน้อยลงแม้แต่คนเดียว ในโซเชียลมิเดียใช้แฮลแท็ก #niunamenos ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ และมีกรณีใหม่ออกมาเรื่อย ๆ

    ภาพจาก Prensa Latina


    อย่างทวิตนี้เป็นเรื่องต้นเดือนมีนานี้เอง ผู้หญิง(คาดว่าท้องอยู่ด้วย)ถูกแฟนฆาตรกรรมแบบโหด ทวิตนี้วิจารณ์ว่าสื่อเลือกที่จะใช้รูปผู้หญิงใส่บิกีนี ขณะที่ปิดหน้าให้ผู้ชาย


    #8M 
    เริ่มจัดขึ้นในปี 2017 โดยเป็นการเคลื่อนไหวที่อาศัยความร่วมมือจาก 50 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสตรีสากล เริ่มต้นมาจากการประท้วงเรื่องค่าแรงที่ไม่เท่ากันของผู้หญิงและผู้ชาย ดังนั้นจึงจัดแคมเปญให้ผู้หญิงหยุดงาน เพื่อให้สังคมเห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทอะไรในการสร้างผลประโยชน์ให้สังคมและผู้ประกอบการบ้าง และจะเกิดอะไรเมื่อเธอพร้อมใจกันหยุดงาน




    #UNDIASINNOSOTRAS เล่นกับความเงียบ 
    เป็นแคมเปญล่าสุดที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ที่เม็กซิโก จากกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดที่เล่าไปข้างต้น บวกกับที่ผู้หญิงนั้นมักถูกสังคมบอกให้เงียบ ถูกหลายกลุ่มบอกให้หยุดออกมาเรียกร้องวุ่นวาย ในวันที่ 9 มีนาคมนีจึงมีแคมเปญให้ผู้หญิงหยุดทุกอย่าง และหายตัวไป ไม่ออกไปทำงาน ไม่ไปเรียน ในลักษณะเดียวกันกับ 8M 
    มองอีกด้าน การหายตัวไปนี้อาจไปพ้องกับกรณีการรายงานผู้หญิงหายที่เกิดขึ้นประจำด้วย (ผู้หญิงหายไปเฉย ๆ แล้วก็ไม่กลับมา ไม่รู้เป็นตายร้ายดี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย)





    อื่น ๆ
    • มีการประท้วงโดยการเอารองเท้าของผู้หญิงที่ถูกฆาตรกรรมมาทาสีแดง และวางไว้ที่จัตุรัสกลางเมือง
    • บางที่จะมีการชูป้ายชื่อผู้หญิงที่ถูกฆาตรกรรมเพราะข่าวไม่ออกชื่อก็มี 
    • #vivasnosqueremos หรือ We want us alive 
    ภาพจาก Distrito Arte




  • สารคดีเพิ่มเติม

    *มีภาพรุนแรง







    References/Bibliography 
    The causes of femicide in Latin America by Celeste Saccomano accessed from 
    https://www.ibei.org/ibei_studentpaper24_71980.pdf

    Addressing the Global Prevalence of Femicide and Its Causes. (2019, October 13). The Borgen Project. https://borgenproject.org/addressing-the-global-prevalence-of-femicide-and-its-causes/

    Connectas.org. (2017, October 22). Argentina, Pionera En La Lucha De Género Al Grito De #NiUnaMenos. CONNECTAS. https://www.connectas.org/argentina-pionera-en-la-lucha-de-genero-al-grito-de-niunamenos/

    Connectas.org. (2018, July 5). Feminicidios: La Guerra Invisible Que Mata a 12 Mujeres Por Día En América Latina. CONNECTAS. https://www.connectas.org/feminicidios-la-guerra-invisible-que-mata-a-12-mujeres-por-dia-en-america-latina/

    En Lo Que Va Del 2019 Se Registró Un Femicidio Cada 33 Horas – Misiones Opina. (2019, May 7). Bienvenido. https://misionesopina.com.ar/portal/2019/05/07/en-lo-que-va-del-2019-se-registro-un-femicidio-cada-33-horas/

    Laura Viviana Guevara Muñoz. (n.d.). These Are the Numbers of Feminicides in Latin America. Latinamericanpost - LatinAmerican Post. https://latinamericanpost.com/29792-these-are-the-numbers-of-feminicides-in-latin-america

    Phillips, T. (2020, March 6). Mexico: Activists Voice Anger at Amlo's Failure to Tackle 'femicide Emergency'. The Guardian. https://www.theguardian.com/world/2020/mar/05/mexico-femicide-emergency-activists

    What Is #8M All About. (2019, March 8). Facebook Watch. https://www.facebook.com/teleSUREnglish/videos/554278448397641/?v=554278448397641

    Women Protest for Their Lives: Fighting Femicide in Latin America. (2020, February 24). Atlantic Council. https://atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/women-protest-for-their-lives-fighting-femicide-in-latin-america/


    พบข้อมูลผิดพลาดโปรดติดต่อ
    twitter dm : @rainbowflick17
    email : [email protected]
    ขอบคุณค่า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in