เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Better DaySopon Supamangmee
ความฝัน โชคชะตา และสองมือ
  • ทุกคนมีความฝันด้วยกันทั้งนั้น

    บ้างเล็ก บ้างใหญ่ บ้างใกล้ บ้างไกล บางครั้งเกิดขึ้นกลางวัน บางคราเกิดขึ้นกลางคืน อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวกระจ้อย วัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัย วัยทำงาน วัยกลางคน แม้กระทั่งใกล้วัยเกษียณ ไม่มีคำว่าสายเกินไป

    ความฝันไม่เลือกที่เกิด ไม่เลือกอายุ ไม่เลือกสถานะ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกแม้กระทั่งว่าคนที่ฝันต้องมีคุณสมบัติครบเครื่อง ไอคิวสูงลิ่ว พรสวรรค์ฟ้าประทาน มีทุกอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสังคมปัจจุบันว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้

    มันเกิดขึ้นกับคนธรรมดาอย่างเราๆทุกคนนี้แหละครับ แต่สิ่งเดียวที่แบ่งแยกระหว่างคนที่ทำความฝันได้สำเร็จกับคนที่ชอบเพ้อฝันและละทิ้งไว้กลางทางอยู่บ่อยๆคือ "การลงมือทำด้วยความเชื่ออย่างไม่ท้อแท้" เป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่พูดง่ายแต่เวลาทำจริงๆแล้วโครตยาก

    อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพเคยพูดเอาไว้ว่า

    "ผมไม่ได้เป็นคนฉลาดอะไรนักหรอก เพียงแต่ผมอยู่กับปัญหานานกว่าคนอื่นเท่านั้น ผมคิดแล้วคิดอีกถึง 99 ครั้ง แล้วครั้งที่ 100 นั้นแหละผมถึงจะคิดออก"
    ขนาดผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกยังคิดแบบนี้ ผมต้องเริ่มปรับทัศนคติต่อความผิดพลาดบนเส้นทางแห่งความฝันของตนเองใหม่เสียแล้ว

    เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาผมได้รับหนังสือ "ทดเวลาฝันเจ็บ" ของนักเขียนคนหนี่งที่ชื่อโครตคุ้นหูว่า "พอกลอน" ตอนแรกยังสงสัยตัวเองว่าไปได้ยินชื่อของเขาจากที่ไหน รีบหันหน้ากดแป้นพิมพ์ถามที่ปรึกษาประจำตัว กูเกิ้ลพ่นคำตอบกลับมาว่าเขาเป็นบก.เล่มของหนังสือชื่อดัง "เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด" ซึ่งตอนนี้ตีพิมพ์ไปแล้วสิบกว่ารอบ (แอบมีไฟอิจฉาริษยาเกิดขึ้นเล็กน้อย :-)) แถมไม่พอผมยังมีโอกาสได้มารู้จักเขาผ่านงานเขียนบน storylog อีกด้วย ไม่รีรอผมส่งเมสเสสรูปภาพปกหนังสือไปให้เขาพร้อมกับบอกว่าหนังสืออยู่ในมือแล้ว เดี๋ยวรีบอ่านทันทีเลย เขาส่งรอยยิ้มกลับมาพร้อมบอกว่า "ค่อยๆอ่านนะครับ ผมใช้เวลาสี่ปีกว่าจะเขียนเล่มนี้เสร็จ"

    ผมรับปากไปแต่กลับทำไม่ได้อย่างที่พูด ด้วยสำนวนภาษาที่ลื่นไหลและวิธีการเล่าที่เรียบง่าย รัดกุม ชัดเจนและเต็มเปี่ยมด้วยพลัง ทั้งๆที่ผมพยายามลดจังหวะการอ่านให้ช้าลงแล้ว เวลาผ่านไปเพียงอาทิตย์เดียวผมก็พลิกมาจนถึงหน้าขอบคุณท้ายเล่มหนังสือเสียแล้ว รู้สึกเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ไม่ยาวกว่านี้ ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้มันจบลงและอยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ เพราะทุกบทที่ผ่านพ้นไปมันเหมือนเป็นฟืนชิ้นใหญ่ที่ช่วยเติมไฟในความฝันที่คงค้างคาอยู่ในหัวใจ ช่วยเติมพลังและความเชื่อมั่นขนาดมหาศาลผ่านเรื่องราวชีวิตจริงที่ต้องฝ่าฟันดิ้นรนและล้มเหลวของคนที่มีชื่อเสียงหลายสิบคน กว่าพวกเขาจะโด่งดังต้องเจอปัญหาต่างๆนานา ไม่มีเส้นทางความฝันใดเลยที่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ มันเต็มไปด้วยขวากหนามหลุมบ่อที่ต้องใช้ความมุมานะอดทน ความมั่นคงของจิตใจที่ไม่จำนนย่อท้อต่อเสียงวิจารณ์ครหาจากภายนอก บางคนที่เราเห็นเพียงความสำเร็จด้านหน้าอันยิ่งใหญ่ของเขาในปัจจุบัน แล้วได้มารู้เบื้องหลังที่มาที่ไปว่าพวกเขานั้นชีวิตไม่ได้มีแต้มต่ออะไรเลยในสังคม เป็นคนธรรมดาเหมือนเราทุกคนนี้แหละ แต่พวกเขาก็ยังเดินตามความฝันจนสำเร็จได้ บางคนอย่าว่าแต่แต้มต่อเลย ชีวิตพวกเขาเริ่มต้นจากติดลบซะด้วยซ้ำ

    มีเรื่องหนึ่งที่ติดใจผมมากเป็นพิเศษ ชีวิตของคอมเมเดี้ยนจมูกโตมากความสามารถที่มีไปที่ไหนก็มีแต่คนรัก เจ้าของการ stand-up comedy หรือการเดี่ยวไมโครโฟนอันมีชื่อเสียงของประเทศไทย จะใครได้ถ้าไม่ใช่พี่โน๊ตอุดมของพวกเรานั้นแหละ จะว่าไปแล้วชีวิตของเขาถูกตีแผ่สัมภาษณ์ออกสื่อมาหลายต่อหลายครั้ง ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นลูกแม่ค้าส้มตำ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่อายุหกขวบ เรียนไม่จบเพาะช่าง เริ่มงานเป็นนักเขียนการ์ตูนที่นิตยสาร 'ชัยพฤกษ์' ได้สองเดือนก่อนตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเอง จนไปอ่านเจอนิตยสาร 'ไปยาลใหญ่' ที่ชอบมากจึงเดินดุ่มๆเข้าไปสมัครงานที่นั้นทันที แต่ตอนนั้นไม่มีตำแหน่งไหนว่างเลย แต่พี่โน๊ตก็ไม่ท้อครับ หน้ามึนแวะมาออฟฟิศแทบทุกวัน ช่วยทำนู้นทำนี้ ไปซื้อน้ำซื้อส้มตำให้ทีมงานก็ไม่ได้เป็นปัญหา

    เขาบอกว่า "ชีวิตผมเริ่มจากติดลบอยู่แล้ว จึงไม่กลัวเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรีใดๆ"

    พี่ 'ศุ บุญเลี้ยง' ที่เป็น บก.อยู่ตอนนั้นเห็นความพยายามของเด็กหนุ่มอารมณ์ดีคนนั้นจึงรับเข้าทำงานตำแหน่งศิลปกรรม คอยตัดกระดาษไขแปะอาร์ตเวิร์ก และในช่วงเวลานั้นเขาก็ได้รู้จักคนเก่งๆมากมายอย่าง 'พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์' และ 'พี่'ปราย พันแสง' ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย นิสัยรักการอ่านหนังสือเริ่มต้นขึ้นอย่างช้าๆเพราะดูดซับเอามาจากผู้คนรอบข้าง เขาเสนอคอลัมน์แก่บก.และในที่สุดเขาก็มีคอลัมน์เป็นของตนเอง

    พี่โน๊ตอุดมเริ่มเป็นตัวประกอบบนละครเวที รายการทีวีบ้างบางครั้ง ด้วยความที่เป็นคนอารมณ์ดีและชอบเอนเตอร์เทน มุกที่ขยันปล่อยนั้นพื้นๆแต่เข้าถึงคนดูจึงเป็นที่ชื่นชอบอย่างทันที ช่วงนั้น 'เจเอสแอล' กำลังมองหาพิธีกรคนใหม่สำหรับ 'ยุทธการขยับเหงือก' อยู่พอดีและนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการแสดงของ 'เสนาโน๊ต' ที่เรารู้จักกันดี

    ผมจำไม่ได้ว่า 'เดี่ยวไมโครโฟน' ครั้งแรกใครเป็นคนหาแผ่นมาเปิดที่บ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้ดีเลยคือความสนุก ความสุข เสียงหัวเราะ อาการปวดกราม น้ำตาไหล และปวดท้องน้อยจากการหัวเราะมากแบบไม่มียั้ง มันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของประเทศไทย ไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน หรือจะพูดให้ถูกคือไม่มีใครกล้าและบ้าพอที่จะทำแบบนี้มาก่อนต่างหาก

    สำหรับการแสดงครั้งแรกนั้นเขาลงทุนใช้เงินเก็บสะสมทั้งหมดที่ทำงานมาสิบปีกว่า 4 แสนบาท ตอนนั้นเขาอายุ 28 ปีและคิดว่าถ้าพลาดอย่างมากก็แค่เริ่มต้นใหม่ ขนาดแม่ของเขาเองยังบอกเลยว่ามันเป็นไปไม่ได้ ขนาดพูดให้ฟังฟรีๆไม่เก็บตังค์ยังไม่มีคนฟังเลย ถ้าไปเก็บเงินเขาอีกจะมีใครมานั่งฟัง และถ้าพี่โน๊ตอุดมโอนอ่อนเชื่อตามที่แม่ของเขาบอกแล้วหล่ะก็ ป่านนี้เสียงหัวเราะและรอยยิ้มในประเทศไทยเราคงน้อยลงไปมากโขเลยทีเดียว

    จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผู้ชายตัวเล็กๆนิสัยน่ารักพูดเก่งคนนี้มีการแสดง stand-up comedy ไปแล้วกว่าสิบเอ็ดครั้ง ทุกครั้งที่เปิดขายตั๋วก็จะหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว จนบางครั้งต้องเพิ่มรอบการแสดงอีกหลายรอบเพราะหลายคนที่อยากดูแต่ซื้อตั๋วไม่ทันคนอื่น ผมมีโอกาสได้เข้าชมการแสดงสดสามครั้ง ค่าตั๋วไม่ได้ราคาถูกแต่ผมเต็มใจจ่ายเพราะเชื่อเหลือเกินว่ามันจะต้องคุ้มค่า และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อพี่โน๊ตกล่าวขอบคุณและอำลาผู้ชมเสร็จ แสงสป๊อตไลท์ที่ฉายบนเวทีมืดดับ ม่านการแสดงปิดลง เสียงปรบมือยังคงกึกก้องต่อไปอีกเป็นเวลาหลายนาที ผมแอบขนลุกทุกครั้งในช่วงเวลาเหล่านั้น

    เขาไม่เคยโทษโชคชะตาที่ทำให้ชีวิตเขาเริ่มต้นที่ติดลบ แต่กลับเชื่อมั่นและทุ่มเททำในความฝันที่ตั้งเอาไว้อย่างหมดตัวและหัวใจ และในที่สุดเขาก็สร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยสองมือของตัวเองทั้งนั้น

    เรื่องราวของโน๊ตอุดมเป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบบทของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้จิตใจฮึกเหิม มันช่วยกระตุ้นต่อมความกระหายในการเดินตามความฝันนั้นแข็งแรงมากยิ่งขึ้น การได้มานั่งอ่านประสบการณ์ของผู้คนเหล่านี้ทำให้ผมเริ่มย้อนกลับมามองตนเองใหม่อีกครั้ง ได้ทบทวนถึงสิ่งที่ผมเรียกมันว่า “ความฝัน” และถามตัวเองอีกครั้งว่าเราท้อแท้ง่ายไปไหม เราพยายามมากพอรึยัง ทำไมมัวแต่โทษคนอื่นแต่ไม่ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด มีทางอื่นอีกไหมที่เราสามารถทำได้ หรือกระทั่งการถามตัวเองว่าผมยังเชื่อในความฝันของตัวเองอยู่ไหม?

    พี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day เคยพูดเอาไว้ว่า

    “วิธีจัดการกับ ความฝัน คือการทำมันให้เป็นจริง”

    ความฝันจะกลายเป็นจริงได้ ก็ขึ้นอยู่ที่สองมือของเราทำเองแล้วหล่ะครับ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in