[Album Review #9]
Noel Gallagher's High Flying Birds
- Who Built the Moon? (2017)
"ดวงจันทร์ของลุงโนล"
การฉีกแนวดนตรีของศิลปินคนหนึ่งจัดได้ว่าเป็นประเด็นที่สามารถสร้างการถกเถียงที่แสนดุเดือดในกลุ่มนักฟังเพลงตัวยงได้อย่างมาก เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นงานเพลงจากวงร็อคสัญชาติอังกฤษอย่าง Arctic Monkeys ที่มีชื่อว่า Tranquility Base Hotel + Casino ซึ่งหัวหอกของวงอย่าง Alex Turner ได้โค่นซาวน์กีต้าร์ที่เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของวงทิ้งไป แล้วปรับแนวทางดนตรีของวงที่แฟนเพลงเดนตายถึงกับร้องจ๊าก
ลุงโนล Noel Gallagher หนึ่งในสมาชิกของอดีตวงร็อคระดับตำนาน Oasis ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ต้องเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายกับการปล่อยอัลบั้มชุดที่สามในฐานะ Noel Gallagher's High Flying Birds ที่มีชื่อว่า Who Built the Moon? ที่ออกมาในปีที่แล้ว
เราได้ตกหลุมงานชิ้นนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คนที่ติดตามงานเพลงของทั้ง Oasis และงานโซโล่ของสมาชิกทั้งสอง แต่ Who Built the Moon? จัดว่าเป็นงานอัลเทอร์เนทีฟที่สมบูรณ์ทั้งในด้านของดนตรีและเนื้อหา จนทำให้ก่อนที่จะเขียนงานชิ้นนี้ เราได้บ้าคลั่งในตัวลุงโนลในเบอร์ที่ต้องไปหาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวลุงหรือแม้แต่น้าเลียมและ Oasis จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเทศและไทย ยิ่งตอนได้ไปอ่านหาข้อมูลของลุงในเพจ All about RKID แล้วยิ่งทำให้รู้จักถึงมุมต่าง ๆ ของชีวิตลุงโนลมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจถึงแก่นสารของสิ่งที่ลุงอยากจะสื่อออกมาในงานเพลงของเขา ไม่ว่าจะเป็นมุมดาร์ก ๆ ของชีวิตที่ลุงผ่านมา หรือแม้แต่ความโรแมนติกแบบที่เราก็คาดไม่ถึงว่าชายผู้มีภาพลักษณ์ดุดันจะมีมุมอะไรแบบนี้
ลุงโนลได้จำกัดความงานเพลงในชุด Who Built the Moon? ว่าเป็นงานที่มีความป็อปมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่น่าช็อคมากสำหรับแฟนเพลง Oasis ในงานโซโล่สองชุดที่แล้ว ภาพรวมจะออกมาเป็นเพลงที่มีความคล้ายคลึงกับเพลงของ Oasis เป็นอย่างมาก แต่ในอัลบั้มชุดนี้ นอกจากป็อปแล้ว ลุงยังหยิบเอาเพลงสาย psychadelic music ซึ่งเป็นเพลงในกลุ่มของ alternative ที่ถูกจำกัดความว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วชวนให้รู้สึกเหมือนกำลังเสพยาเสพติด รวมไปถึงยังมีการทำเพลงในแบบฉบับของ glam rock เพิ่มสีสันและมิติให้กับภาพรวมของงานเพลงชุดนี้มากขึ้นไปอีก
ไม่ใช่แค่เรื่องของดนตรีที่สร้างความประทับใจได้อย่างมากมาย เนื้อเพลงของอัลบั้มนี้ก็ยังถูกเขียนขึ้นออกมาได้อย่างมีเอกภาพ ธีมหลักของอัลบั้มนี้จะพูดถึงความรักของลุงที่มีให้กับภรรยาของเขา Sara MacDonald (และเธอก็คือผู้หญิงที่อยู่บนปกอัลบั้มอีกด้วย) ที่แสนจะหวานและโรแมนติกได้อย่างมีชั้นเชิงไม่เหมือนเพลงรักทั่วไป อีกทั้งลุงโนลยังมีการโชว์ความอ่อนแอที่ดูขัดกับบุคลิกภาพที่ดูแสนกวนชวนหัวร้อนได้ออกมาให้คนฟังได้สัมผัสกันอีก
สำหรับแฟนเพลงของ Oasis ที่โหยหาบรรยากาศเก่า ๆ จากลุงโนลน่าจะได้ชื่นอกชื่นใจกับแทรคที่เจ็ด "Black & White Sunshine"ลุงโนลให้สัมภาษณ์ว่าในบรรดาเพลงต่าง ๆ ใน Who Built the Moon? แทรคนี้คือเพลงที่จำกัดความเป็น original pop rock ได้ดีที่สุด และเราก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะแค่เมโลดี้ขึ้นมาก็ทำให้เรานึกถึงเพลงของ Oasis ได้ทันที ได้ด้านของเนื้อหา "Black & White Sunshine" ก็ยังคงตอกย้ำธีม "finding love in a hopeless place" เหมือนเดิม แต่ความน่ารักของเพลงนี้คือการแสดงความขอบคุณต่อคนรักที่ช่วยพาให้เราได้เห็นแสงสว่างจากพระอาทิตย์ที่ถึงแม้จะเป็นแค่สีขาวดำก็ตาม หลาย ๆ เพลงในอัลบั้มชุดนี้ให้ความรู้สึกของความย้อนแย้งในตัวมันเองที่จะพาคนฟังให้สุขแต่ก็ดันตลบพวกเขาด้วยความทุกข์ แต่ผลดีก็คือการที่เราได้สัมผัสถึงความแท้จริงของชีวิตที่จะต้องมีทั้งสุขและเศร้าปนกันไปดั่งพระอาทิตย์ที่เป็นตัวแทนของความสุขและสีขาวดำที่เป็นตัวแทนของความเศร้า
แทรคที่เก้าของอัลบั้ม "If Love Is the Law" เป็นเหมือนกับจุดแตกหักหรือ downfall ของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครใน Who Built the Moon? การันตีได้เลยว่าใครก็ตามที่ฟังเพลงนี้ผ่าน ๆ อาจจะเข้าใจว่าเป็นเพลง folk และ soft rock สนุก ๆ ฟังสบาย ๆ แต่เปล่าเลย ลุงหลอกเราอีกแล้วกับการทำเพลง uptempo แต่เนื้อหาฆ่าคนตาย ลุงหยิบเอาประเด็นความทุกข์ระดับสากลมาใช้บรรยายเนื้อหาของ "If Love Is the Law" ซึ่งนั่นก็ "การอกหัก" นั่นเอง แทรคนี้ถ่ายทอดความเจ็บปวดจากการโดนหักอกให้อย่างมีความเจ้าบทเจ้ากลอนด้วยการเปรียบเทียบกับตัวเอกให้เหมือนกับเรือที่ต้องฝ่าฟันกับพายุโหมกระหน่ำ หากเพลงอื่นที่ผสมปนเประหว่างความสุขและเศร้า เพลงนี้เหมือนจะเป็นแค่เพลงเดียวในอัลบั้มนี้ที่จะขยี้จิตใจคนฟังให้ดำดิ่งลงสู่ความเศร้าเหมือนซากเรือที่ถูกพายุพัดจนแตกกระจาย
10. The Man Who Built the Moon
"You and I
The spider and the fly
Will meet where the shadows fall"
และเรื่องของ Who Built the Moon? ก็มาถึงบทสรุปกับ title track "The Man Who Built the Moon" ตามขนบของการออกแบบ tracklist ของศิลปินส่วน closing track หรือแทรคปิดอัลบั้มมักจะมีความมืดหม่นมากที่สุด (เว้นแต่ว่าธีมของอัลบั้มนั้น ๆ เป็นในแนวตรงกันข้าม) ซึ่งแทรคนี้ก็หยิบเอาธรรมเนียมดังกล่าวมาใช้ เพลงเดินด้วยเมโลดี้มีสุดจะดาร์กและชวนให้คนฟังนึกถึงภาพยนตร์ชุด James Bond ซึ่งลุงโนลได้กล่าวไว้เช่นนั้น แต่แทนที่จะจบสวยเหมือนหนังสายฮีโร่ทั่วไป เพลงกลับมาคนฟังดำดิ่งสู่ห้วงแห่งความมืดกับการที่ตัวเอกต้องพบจุดจบ "The Man Who Built the Moon" ถูกเขียนด้วยสไตล์การเขียนเพลงแบบเล่าเรื่อง (narrative) ที่มีการอ้างอิงถึงทั้งศาสนาและบทกลอนที่มีชื่อเสียงอย่าง "The Spider and the Fly" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแมลงวันตัวน้อยที่ตกกับของแมงมุมแสนร้ายกาจ แทรคนี้จึงเป็นการปิดอัลบั้มที่หลอกคนฟังให้สนุกในช่วงแรก ๆ ให้เหมือนกับสัจธรรมของชีวิตที่มีสุขก็ต้องมีทุกข์กันไป
12. Dead in the Water (Live at RTÉ 2FM Studios, Dublin)
"Let the storm rage, I’d die on the waves
But I will not rest while love lies dead in the water"
ขอจบรีวิวนี้ด้วยการแถม bonus track ของอัลบั้มนี้ไว้ ในขณะที่ "Dead in the Water" เป็น bonus track ของ Who Built the Moon? เพลงนี้กลับถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางและถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในแทรคที่ดีที่สุดของอัลบั้มนี้ไปแบบงง ๆ เบื้องหลังของเพลงนี้คือการที่ลุงโนลได้ไปออกรายการวิทยุที่เมือง Dublin และเหล่าสต๊าฟในสถานีวิทยุก็ขอให้ลุงโนลเล่นอีกเพลงหนึ่ง ลุงจึงเลือก "Dead in the Water" มาเล่นโชว์ซะเลย โดยที่ลุงไม่รู้ว่าสถานีวิทยุได้แอบอัดเพลงเอาไว้ และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีจนถึงช่วงที่ Who Built the Moon? จะถูกปล่อยมา ทางค่ายเพลงจึงขอให้ลุงโนลหา bonus track มาเติมซักแทรค และทางค่ายก็เสนอให้มาเป็นเพลงนี้ แต่ลุงก็ค้านไว้เพราะไม่อยากอัดเพลงนี้ใหม่อีกรอบ แต่หารู้ไม่ว่าทางค่ายได้เตรียมงานเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยให้ไปเอาบันทึกสดที่สถานีวิทยุนั้นมาใส่เป็นแทรคเต็ม ๆ ให้พวกเราได้ฟังกันเลย เราทุกคนจึงได้ฟังแทรคไลฟ์สดที่เรียกได้ว่าเกือบจะกลายเป็นเพลงที่เกือบหายสาปสูญไปซะแล้ว
ขอเวิ่นถึงเนื้อหาอีกนิดนึง "Dead in the Water" เป็นเหมือนภาคแยกของ "If Love Is the Law" ที่หยิบเอาประเด็นความอกหักและเรือร่มมาใช้ขยายต่อในเพลง แทนที่ลุงจะยอมจำนนให้กับชะตากรรมของเขาถูกพายุโจมตีไปเหมือนกับในเพลงที่แล้ว ในแทรคนี้เราจะเห็นการต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและความเจ็บปวดต่อความรักที่พังทลายไปของผู้ชายคนหนึ่ง "Dead in the Water" จึงเป็นแทรคอะคูสติกเพราะ ๆ ที่เนื้อหาบาดใจตามสไตล์ของลุงโนลที่ต้องฟังอีกเพลงหนึ่ง
Conclusion
หนึ่งสิ่งที่เหล่านักวิจารณ์หลายสำนักมักจะทำเมื่อรีวิวเพลงของลุงโนลคือการนำเอาเพลงของลุงไปเทียบกับน้าเลียม และความพีคอีกอย่างคือ Who Built the Moon?ได้ถูกปล่อยออกมาในช่วงที่งานโซโล่ของน้าเลียม As You Were ได้ปล่อยออกมาเช่นเดียวกัน และเราก็จะเป็นอีกคนที่ขอเปรียบเทียบเล็ก ๆ ไว้ตรงนี้ ในขณะที่ As You Were ของน้าดูประสบความสำเร็จมากกว่าทั้งได้ด้านกระแสและยอดขาย แต่ด้วยความ play safe ของงานเพลงใน As You Were ที่ฟังดูเป็นงานดั้งเดิมแบบฉบับ Oasis ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใด แต่ด้วยความที่ Who Built the Moon? ของลุงโนลมีความกล้าที่จะฉีกความเดิม ๆ ในการทำเพลงออกไปมากกว่า บวกกับการออกแบบโครงสร้างอัลบั้มและเนื้อเพลงที่ดูมีรายละเอียดเยอะมากกว่าจริง ๆ จึงทำให้ Who Built the Moon? ดูเป็นอัลบั้มที่โดดเด่นกว่า
ท้ายสุดจึงอยากฝากให้นักฟังเพลงในไทยที่อาจจะเป็นแฟนคลับของ Oasis หรือไม่ก็ตามได้ลองฟัง Who Built the Moon? ดู เพราะอัลบั้มชุดนี้ถือเป็นการพิสูจน์ความเป็นศิลปินที่สามารถก้าวข้ามขอบเขตของตัวเองและสร้างสรรค์งานที่เรียกได้ว่าเสี่ยงและคุ้มค่ามากที่สุด ชื่อของ Noel Gallagher ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีพรสวรรค์มากที่สุดในยุคนี้ และ Who Built the Moon? ก็จัดได้ว่าเป็นอัลบั้มที่ตอกย้ำชื่อเสียงเหล่านั้นได้ดีจริง ๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in