เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Album ReviewEARWAXED
[Album Review #7] Taylor Swift - reputation (2017) "The Old Taylor ตายแล้วจริงหรอ?"
  • "I'm sorry.
    The Old Taylor can't come to the phone right now.
    Why?
    Oh, 'Cause she's dead."

    วงการดนตรีและ pop culture ของโลกต้องสั่นสะเทือนกันอีกระลอกหลังจาก Taylor Swift ได้ทำการล้างรูปใน instagram กวาดทวิตเก่า ๆ ของเธอใน twitter ออกเกือบหมด และปรากฎตัวออกสู่สังคมอีกครั้งหลังจากมรสุมข่าวฉาวด้วยการปล่อย "Look What You Made Me Do" ซิงเกิ้ลแรกจาก reputation อัลบั้มลำดับที่ 6 ของตัวเธอ

    แน่นอนว่าแฟนเพลงหรือสื่อต่าง ๆ ก็แตกตื่นกับการ comeback ของ Taylor เพราะตัวศิลปินได้ทำการประกาศกร้าวในเพลงใหม่ของเธอว่า ตัวตนเก่าของเธอนั้นได้ตายไปแล้ว และ 2017 ก็ถือเป็นการที่โลกของเราจะได้รู้จักกับ The New Taylor

    เราเชื่อว่าหลายคนที่อ่านรีวิวชิ้นนี้อยู่นั้นอาจจะพอรู้เรื่องราวของตัวนักร้องสาวไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวเกาเหลากับ Kimye หรือ Katy Perry กลยุทธ์ในการโปรโมทงานเพลง หรือแม้แต่การต่อสู้คดีกับเรื่อง sexual assault ระหว่างตัวเธอกับดีเจคนหนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดได้ทำตัว Taylor ได้รับทั้งชื่อเสียงและชื่อเสียมากมายจนตัวเค้าได้หนีไปจำศีล ไม่ออกสื่อ ไม่ทวิต ไม่อัพรูปใด ๆ ทั้งสิ้น การหวนคืนสู่โลกอีกครั้งจึงทำให้ทั้งตัวศิลปินและงานเพลงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่เหล่านักฟังเพลงจะได้ลุ้นว่า reputation จะมีดนตรีมาเป็นแนวไหน แต่เหล่านักวิจารณ์ก็จะได้มันมือกับการวิพากษ์ตัวศิลปินอย่างเมามันเหมือนกัน


    Genres: pop, electropop, trap, hiphop, synthpop
    Release Date: November 10, 2017

    Album Overview

    กลับมาต่อกับคำถามที่ว่าตกลง "The Old Taylor นั้นตายไปแล้วจริงหรอ?" หลังจากที่เราได้ฟัง reputation แบบ non-stop มาตลอดตั้งแต่วันปล่อย เราก็ปล่อยให้ความคิดตกตะกอนบวกกับตามอ่านบทความหรืองานวิจารณ์ต่าง ๆ จนรวบรวมความคิดได้ว่า "จริง ๆ แล้ว Taylor คนเก่ายังไม่ไปไหนหรอก" เพลงต่าง ๆ (ถ้าหากคุณได้ฟังแล้ว) จะพบว่ามันใหม่จริง ๆ นะ แต่หากฟังดี ๆ จะพบว่าตัวตน Taylor แบบที่โลกรู้จักนั้นไม่ได้จากเราไปไหนเลย

    แล้ว The New Taylor ที่ว่าเป็นยังไงหรอ?
    จากการที่เธอบอกทุกคนในโลกว่าร่างเก่าเธอตายไปแล้ว ทุกคนก็น่าจะคาดหวังที่จะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ จากตัวนักร้อง ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง ตลอดการฟังอัลบั้มชุดนี้ แฟนเพลง (หรือคนที่ไม่ใช่คนที่ตามงาน Taylor มาตลอด) จะได้พบกับซาวน์ใหม่ที่ตัวนักร้องยัดมาเต็มอัลบั้ม reputation เปรียบเหมือนฝาแฝดด้านมืดของ 1989 ในแง่ที่งานชุด 5 จะเป็นเพลง pop ที่เน้นกับเครื่องดนตรีสาย live music และผสมผสานระหว่าง rock กับ synthpop แต่สำหรับน้องสาวฝาแฝดของเธอ reputation กลับกลายเป็นการโชว์ dark side ของตัวนักร้องด้วยการหยิบเมโลดี้หนัก ๆ จากเพลงสาย electronic ที่ฟังครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความมืดมัวของดนตรี Taylor จับมือกับ Jack Antonoff, Max Martin, และ Shellback อีกรอบจากการทำ 1989 และสร้างสรรค์ความใหม่ให้กับงานดนตรีของ Taylor ความเป็น pop ฟังง่าย ๆ จากงานชุดที่แล้วถูกกลบด้วยบีท R&B และ hiphop ที่ทำให้เพลงมีมิติหลายชั้น ฟังแล้วอาจจะตึ้บกับความหนักของดนตรีมาก ๆ และนี่ก็คือ The New Taylor ที่เราได้รู้จักกัน

    แล้ว The Old Taylor ล่ะ?
    หลังจากที่ฟัง "Look What You Made Me Do" แล้วได้ยินว่า Taylor ได้ฆ่าตัวตนเก่าของเธอทิ้งไป เราดีใจและตื่นเต้นมากที่จะได้เสพย์ความใหม่จากตัวศิลปิน แต่เมื่อฟัง reputation ไปประมาณ 6-7 รอบแล้ว เราบอกได้เลยว่า วิญญาณ Taylor คนเก่ายังไม่ได้ไปผุดไปเกิดหรอกนะ ความเก่าหรือ Taylor แบบดั้งเดิมที่ว่ายังคงล่องลอยอยู่ในทักษะการแต่งเพลงของเธอนั่นเอง โอเค หลายคนอาจบอกว่าเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มใหม่นี้มีความลึกและชั้นเชิงที่ล้ำมากขึ้น ซึ่งเรายอมรับว่าจริง Taylor กล้าที่จะแสดงความรู้สึกและความอ่อนแอออกมามากขึ้น หรือแม้ไหวพริบในการแต่ง diss track (เพลงด่าคน) ก็ดูฉลาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ความเก่าที่ว่านั่นคือ "ผู้ชาย" ก็ยังคงเป็น universal theme ในเพลงของเธอ หลายเพลงใน reputation ทำให้เราร้องหูยกลับความจัดจ้านในเนื้อเพลงแต่ก็กลับมากลอกตาอีกระลอกหลังจากเธอก็วกกลับไปพูดเรื่องผู้ชาย ต่างกับงานของ Lorde's Melodrama ที่แม้ว่าธีมจะเน้นที่ความรัก แต่เธอกลับโชว์ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ได้ลึกกว่า ในความใหม่ของเนื้อเพลงที่ว่าก็อาจจะมี motif ใหม่ ๆ ที่เธอไม่เคยพูดถึงในงานเพลงชุดก่อน ๆ เช่นเรื่อง alcohol และ sex แต่ธีมเกี่ยวกับ fairy tales ที่เป็นธีมหลักในเพลงของ Taylor ก็ยังคงเห็นได้ตลอดในหลาย ๆ เพลงใน reputation

    ณ วันที่เขียนตอนนี้ เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะได้ฟัง reputation กันแล้ว เพราะ Taylor ลีลาในการปล่อยเพลงออกมามาก ซึ่งตอนนี้ช่องทางในการฟังอัลบั้มชุดนี้น่าจะเปิดกว้างไปถึงเหล่า streaming services กันแล้ว เพราะฉะนั้น เรามาอ่านกันต่อดีกว่าว่าเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มชุดนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง

    Track-by-Track Review

    1. ...Ready for It?

    "In the middle of the night, in my dreams
    You should see the things we do, baby"

    Opening track ของ reputation ที่แค่ขึ้นอินโทรมาก็อาจจะทำให้ขนลุกขนพองกันได้เลย "...Ready for it?" จัดเป็นความโคตรแปลกของตัวศิลปินมาก ตัวเพลงเดินด้วยบีท trap และ electronic บวกกับการร้องแบบกึ่งร้องกึ่งแรป แฟนเพลง Taylor หรือคนที่เกลียดเพลงแบบ electronic อาจจะกดปิดทันที แต่บอกเลยว่าเพราะความ avant-garde ของเพลงนี้จัดเป็น introduction ของอัลบั้มได้ดีมาก เพราะ Taylor เหมือนถามคนฟังว่าพร้อมจะเจอกับสิ่งใหม่ ๆ หรือยัง ด้านเนื้อก็ยังสร้างความสยิวกิ้วให้คนฟังเหมือนกัน เพราะหลายสื่อยกให้เพลงนี้เป็นพี่สาวของ "Wildest Dreams" ที่เพ้อเรื่องของ sex กับความฝันอะไรประมาณนี้ 

    2. End Game (feat. Ed Sheeran and Future)

    "I swear I don't love the drama
    It loves me"

    ต่อกับแทรคที่สองที่เป็นแทรคเดียวในอัลบั้มที่มี features มา "End Games" จัดว่าเป็นความใหม่ให้กับผลงานของ Taylor ด้วยการที่นำเอา rapper มาเป็น feature ให้กับเพลงของตัวเอง ตัวเพลงจะมีความคล้ายกับ Love the Way You Lie ของ Eminem และเนื้อหาก็พูดถึงชื่อเสียของตัวศิลปินที่ถูกเหล่าศัตรูและสื่อต่าง ๆ ประณาม แต่ตัว Taylor ก็ร้องขอให้คนรักของเธอนั้นยังคงอยู่ข้างตัวเธอไปเหมือนกับ Endgame หรือผลลัพธ์สุดท้ายหลังจากเรื่องราวร้าย ๆ เกิดขึ้น

    3. I Did Something Bad

    "If a man talks shit, then I owe him nothing
    I don't regret it one bit, 'cause he had it coming"

    หลายสำนักตีความแทรคที่สามนี้ว่าเป็นเพลงถึง Calvin Harris หนึ่งในแฟนเก่าที่เคยพูดจาแย่ ๆ กับตัว Taylor มาแล้ว ผลลัพธ์จึงออกมาเป็น "I Did Something Bad" แทรคที่ชาวโลกจะได้ฟัง Taylor สบถเป็นครั้งแรกในเพลงของเธอ!!! เพลงนี้จัดว่าเป็นเพลงที่เราชอบมากที่สุดในอัลบั้มเพราะไม่ใช่แค่เราจะได้สัมผัสตัวตนของศิลปินในด้าน badass สุด ๆ แต่ยังได้สะใจกับดนตรีที่มีความกระแทกกระทั้นหนักเหมือนชื่อเพลงมากด้วยการทำซาวน์เหมือนยิงปืน บวกกับท่อน Ratatatata ที่ฟังแล้วร้องโว้ยยยยหนักมากกับความเท่ของเพลง หลายคนที่ชอบด่า Taylor เพราะภาพลักษณ์ที่ดู innocent จะต้องอึ้งกับความ not give a fuck ในเพลงนี้แน่นอน

    หนึ่งในฉากที่ทรงพลังมากจาก music video "Look What You Made Me Do"

    4. Don't Blame Me

    "Don't blame me
    Love made me crazy
    If it doesn't, you ain't doin' it right"

    ความสนุกในการฟังเพลงของ Taylor ตั้งแต่ยุค 1989 อย่างหนึ่งคือการได้ฟังตัวศิลปินกัดจิกตัวเอง และ "Don't Blame Me" ก็เป็น electronic mid tempo ballad ที่เล่นกับชื่อเสียงในเรื่องที่เธอโดนด่าว่ามี character เป็นพวกอีบ้ากระหื่นกระหายที่หมกมุ่นความรัก เทยังใช้ metaphor ของการเสพย์ยามาเป็นสัญลักษณ์ในเพลงที่จัดว่าเป็นความใหม่ในการแต่งเพลงของเธอด้วย เพลงนี้จึงตอกย้ำ tone ของ reputation ในเรื่องของการ dark ในการเล่าเรื่องได้อย่างดีเลย

    5. Delicate

    "This ain't for the best
    My reputation's never been worse, so
    You must like me for me"

    อีกหนึ่งแทรคโปรดของเราจากอัลบั้มชุดนี้ "Delicate" คือ synthpop ช้า ๆ ที่จัดว่าเป็นหนึ่งในงานที่ personal มากที่สุดในเพลงทั้งหมดของเทก็ว่าได้ อินโทรที่เปิดมาด้วยการพูดถึงชื่อเสียงของเธอที่ป่นปี้ แต่กระนั้นเธอก็ยังหวังให้คนมองตัวเธอที่เธอเป็นจริง ๆ ตลอดการฟังเราจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนแอของตัวเทที่สื่อออกมาได้อย่างชัดเจนจนทำให้คนฟังรู้สึกเศร้าตามกันไปด้วย ความพิเศษคือเพลงนี้เป็นเหมือนเพลงแรกของ Taylor ที่ใช้เทคนิค autotune มาแต่งเสียงร้องด้วย

    6. Look What You Made Me Do

    "And then the world moves on, but one thing's for sure
    Maybe I got mine, but you'll all get yours"

    ซิงเกิลแรกที่ต้อนรับทุกคนเข้าสู่ยุค reputation ที่ไม่ใช่แค่สร้างกระแสปั่นป่วนให้กับทุกคนเพราะตัววิดีโอที่มีความยิ่งใหญ่ทั้งในด้าน production และการออกแบบที่แฝงสัญลักษณ์และข้อความจนคนไปตีความกับเป็นร้อยอย่างพันอย่าง แต่ "Look What You Made Me Do" ยังจัดเป็นความใหม่ในด้านงานเพลงของเทด้วยเพลงที่เป็นแบบ techno ที่ได้ sample จากเพลง "I'm Too Sexy" ของ Right Said Fred มั่นใจว่าทุกคนที่ฟังครั้งแรกต้องอึ้งกับการเปลี่ยนแนวครั้งยิ่งใหญ่ของเท แต่ด้านคำวิจารณ์ เพลงนี้กลับถูกแบ่งเป็นเชิง love it or hate it ไปเลย

    7. So It Goes...

    "I'm yours to keep
    And I'm yours to lose
    You know I'm not a bad girl, but I
    Do bad things with you"

    "So It Goes..." เป็นอีกแทรคที่ช่วยให้ความเป็นเอกภาพย์ของ reputation สมบูรณ์แบบมากขึ้น ด้วยการใช้สำนวน 'so it goes' มาเสริมความเป็น new Taylor ให้ต่อออกไปตลอดยันแทรคสุดท้ายของอัลบั้ม สำหรับด้านดนตรี เพลงนี้เป็นแทรคที่มีใช้ดนตรี trap ได้ชัดเจนมาก บวกกับเนื้อเพลงที่มีธีมมายากล จึงสร้างบรรยากาศความลึกลับและน่าชวนหัวให้คนฟัง ในขณะที่เนื้อเพลงก็เปรียบเปรยถึงเรื่อง sex ได้อย่างแยบยล แทรคที่ 7 นี้จึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของ reputation ก็ว่าได้

    8. Gorgeous

    "You make me so happy it turns back to sad
    There's nothing I hate more than what I can't have
    And you are so gorgeous it makes me so mad"

    ธีมการนอกใจมักพบได้บ่อยได้เพลง pop ซึ่งครั้งแรกที่ได้ฟัง "Gorgeous" ก็รู้สึกตกใจที่ good girl Taylor ก็ทำเพลงแบบนี้กับเค้าเหมือนกับ เพลงนี้คือ promotional single ลำดับที่ 3 ก่อนปล่อยอัลบั้มเต็มออกมา ในด้านกระแสก็ค่อนข้างโดนจวกยับเพราะเหมือนเป็นการทำเพลงแบบถอยหลังเข้าคลอง เพราะ "Gorgeous" มีความอ่อนในเรื่องของดนตรีที่เป็น bubblemgum pop ธรรมดา และเนื้อเพลงก็ยังแสดงความเป็น The Old Taylor เหมือนเดิม แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความสามารถของตัวศิลปิน แทรคที่กลับกลายเป็น 'grower' (เพลงที่ฟังไปเรื่อง ๆ แล้วจะชอบ) เพราะตอนนีี้ ทุกครั้งที่ฟัง reputation แทรคนี้ก็กลับดูเข้ากันกับเพลงอื่น ๆ อยู่เหมือนกัน

    9. Getaway Car

    "It was the best of times, the worst of crimes
    I struck a match and blew your mind
    But I didn't mean it"

    "Getaway Car" คือเพลงที่มี reference ถึง Bonnie and Clyde คู่หูสามีภรรยาอาชญากรชื่อดังของอเมริกาที่ออกปล้นและฆ่าผู้คนในช่วง Great Depression และสุดท้ายก็ถูกตำรวจจับตายขณะหนีด้วยรถยนต์ หรือ a getaway car นั่นเอง Taylor ใช้เรื่องราวของคู่หูนี้มาถ่ายทอดเรื่องราวรักล่มของตัวเธอ โดยหลายคนตีความเป็นเพลงที่โยงไปถึงช่วง Hiddleswift (Tom Hiddleston & Taylor Swift) นั่นเอง และเพลงก็มีความเศร้าในแง่ที่ตัว Taylor รู้อยู่แล้วว่ารักครั้งนี้กะพ่อหนุ่มโลกิจะต้องจบลง แต่ก็ยังฝืนต่อไปจนชีวิตของพวกเขาทั้งสองต้องพัง เพลงนี้เหมือนเป็นญาติของ "Out of the Woods" ในแง่ของดนตรี ซึ่งแน่นอน Jack Antonoff มาทำเพลงนี้ให้ และคุณภาพของเพลงของยังของดีงามเหมือนเดิม

    10. King of My Heart

    "Salute to me, I'm your American Queen
    And you move to me like I'm a Motown beat
    And we rule the kingdom inside my room"

    ถ้าถามเพลงไหนใน reputation ที่เราชอบดนตรีมากที่สุด "King of My Heart" นับว่าเป็นหนึ่ืงในเพลงที่เราประทับใจในการสร้างสรรค์ดนตรีมาก เพราะเมโลดี้ของเพลงนี้มีความซับซ้อนด้วยการให้ท่อน verse เดินบีทด้วยเสียงดีดนิ้วฟังสบาย และหักมุมด้วยบีท hiphop ใน pre-chorus ก่อนตลบด้วยการเดินเพลงแบบ acoustic ใน chorus และตามด้วยท่อน break ที่จัด electronic แบบเต็ม ๆ แต่ถ้าพูดถึงเนื้อเพลง Taylor ก็ยังคงเก่งในแง่การคลุมธีมเรื่อง fairytale ของเธอไว้อย่างดี ด้วยการใช้สัญลักษณ์ของ king, queen, และ kingdom มาบอกเรื่องราวความรักน่ารัก ๆ ของเธอที่ได้เจอตัวคนรักซักที


    11. Dancing with Our Hands Tied

    "I loved you in spite of
    Deep fears that the world would divide us"

    การใช้ชีวิตอย่างสงบ ๆ กับคนที่เราแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยกับเหล่า public figures หรือ superstars และศิลปินสาวก็หยิบประเด็นนี้มาพูดในแทรคที่ 11 "Dancing with Our Hands Tied" Taylor ใช้สัญลักษณ์ของการถูกพันธนาการด้วยการมัดมือมาเป็นตัวสื่อการที่ชีวิตเธอถูกจับตามองตลอดเวลาจากเหล่าสื่อ แล้วยิ่งความรักกับ Joe Alwyn (แฟนคนปัจจุบัน) ตัวสาวเทก็คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องพบกับความยากลำบากจากเหล่าสื่ออีกแน่นอน เธอจึงเขียนเพลงนี้เพื่อเป็นการตั้งคำถามว่า เขายังจะรักเธอได้มั้ยในขณะที่ชีวิตของเราทั้งสองจะต้องถูกจับตามองตลอด ด้านดนตรีก็ต้องยกให้กับความแปลกใหม่ในการทำเพลงแบบ house ที่ฟังต่อจาก "King of My Heart" แล้วสุดจะลื่นหูเลย

    12. Dress

    "'Cause I don't want you like a best friend
    Only bought this dress so you could take it off"

    "Dress" คือแทรคที่กระแสแรงมากก่อนที่จะได้ปล่อยออกมา เพราะเหล่าแฟนคลับที่ได้ไป secret session ของ Taylor ต่างพูดถึงเพลงนี้อย่างหนาหู และพอได้ฟัังก็เข้าใจเลย เพราะแทรคที่ 12 นี้เป็นเพลงที่น่าจะ sexual ที่สุดในบรรดาเพลงทั้งที่เทเคยทำมา แค่อ่านท่อนที่ยกมาข้างบนก็อืมมมมแล้ว ช่วงแรกมีการตีความว่าเพลงนี้ Taylor แต่งถึง Ed Sheeran แต่หลังจากนั้นทั้งสองก็ออกมาปฏิเสธ ในด้านดนตรี ก็มีความ sensual มากด้วยการร้องแบบเสียงกระเส่า ๆ ตามขนบเพลง sexy

    13. This Is Why We Can't Have Nice Things

    "Did you think I wouldn't hear all the things you said about me?
    This is why we can't have nice things"

    อีกหนึ่ง diss track จาก reputation ที่เหมือนเป็นน้องของ "Bad Blood" ในขณะที่แทรคนี้จาก 1989 ดูมีความหนักกว่าในเรื่องดนตรี แต่ "This Is Why We Can't Have Nice Things" มีความชิลล์กว่าเพลงที่แล้ว แต่ด้านเนื้อเพลงมีชั้นเชิงกว่าหลายขุม เพราะ Katy Perry ไม่ใช่แค่เหยื่อของการเอาคืนคนเดียว แต่รอบนี้เทด่าทุกคน 555555555 เธอด่าทุกคนที่ชอบทำเรื่องเสีย สาวเทเล่าใน secret session ว่าแต่ก่อนเธอแค่อยากจะสังสรรค์กับเหล่าเพื่อน ๆ แสดงความยินดีในความสำเร็จของเธอ แต่เหล่าสื่อหรือศัตรูต่าง ๆ ก็หาเรื่องด่าเธอให้เสียหาย เพราะฉะนั้นอย่าญาติดีกันเลย เพลงมีความสะใจที่เราจะได้ยินเสียงเทหัวเราะแรงในท่อนนึงที่ฟังแล้วจะต้องรู้สึกแสบสันกันไปเลย

    14. Call It What You Want

    "My castle crumbled overnight
    I brought a knife to a gunfight
    They took the crown, but it's alright"

    ต่อกับเพลงรองสุดท้ายของ reputation ที่เป็น ballad ช้าเดินเมโลดี้เหมือน dream pop ตอนเราฟังครั้งแรกคือชอบมาก ชอบจนไม่รู้จะบรรยายยังไงออกมา เพราะไม่ใช่แค่ความไพเราะของเพลง แต่กลับเป็นการประทับใจการแต่งเพลงของตัวศิลปินจริง ๆ ท่อน verse ของ "Call It What You Want" ถือเป็นความพีคในความเป็นศิลปินของ Taylor จริง ๆ เพราะเธอใช้สัญลักษณ์ของ fairytale ที่โคตรจะชาญฉลาดในการเล่าถึงความล่มสลายของชีวิตที่ดีของเธอ แต่เราก็แอบหงุดหงิดกับการวกกลับไปเรื่องผู้ชายต่อในท่อนฮุคในแง่ที่เออ ไม่เป็นไรก็็ได้วะ ชีวิตพังแต่ก็ยังมีผัว อะไรแบบนี้ แต่ด้วยความดีงามของท่อน verse จึงทำให้เรารักแทรคนี้เป็นอันดับต้น ๆ ในอัลบั้มเลย

    15. New Year's Day

    และเรื่องราวของ reputation ก็จบลงด้วย closing track "New Year's Day" ที่เป็น piano ballad เล่าเรื่องของการเริ่มต้นหลังจากมรสุมชีวิตกับคนที่เรารัก สาวก Taylor ที่ชื่มชมงานเก่า ๆ ของเธอน่าจะชอบเพลงนี้ที่สุดแล้วแหละ เพราะเพลงมีความเป็น The Old Taylor มาก (บอกแล้วว่าตัวตนเก่ามันยังไม่ตาย!) เพลงนี้มีลักษณะเหมือนกับ "Begin Again" จาก Red ที่ไม่ใช่แค่เป็นการพูดถึงการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต แต่เทยังใช้เพลงแนว acoustic ช้า ๆ มาปิดอัลบั้มได้อย่างสวยงามอีกด้วย

    There will be no further explanation. There will just be reputation.

    โพสต์ที่แชร์โดย Taylor Swift (@taylorswift) เมื่อ

    Magazine พิเศษจากอัลบั้ม reputation ที่ออกมาให้เหล่าติ่งได้สะสมกัน
    และตัว caption ของภาพก็ยังสื่อถึงการที่ Taylor ได้หยุดให้สัมภาษณ์กับทุกสื่อ และให้เพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มเล่าเรื่องของเธอ

    Conclusion

    ถ้าให้เปรียบงานชิ้นนี้กับอะไรที่เข้าใจง่าย ๆ เราขอยกละครเรื่อง แรงเงา มาเปรียบให้ทุกคนเข้าใจกันอีกรอบ ในขณะที่ 1989 เป็นเหมือนกับมุตตาที่แสนจะ innocent โลกสวย เล่นบทสาวที่เป็นเหยื่อของเหล่าคนใจร้ายและสุดท้ายก็ฆ่าตัวตายกันไป แล้วมีมุนินทร์ หรือ reputation แฝดพี่ที่มีความเฉี่ยวเปรี้ยวโหดกลับมาล้างแค้นทุกคนที่เคยทำร้ายแฝดของเธอ 

    และก็เหมือนกับในละครที่ตลอดการล้างแค้นของมุตา วิญญาณของมุนินทร์ก็ยังมาหลอกหลอนให้เห็นตลอด ซึ่งก็เปรียบได้กับการที่เรายังคงสัมผัสได้ถึงตัวตนของ Taylor ฉบับเก่าที่ไม่ได้ตายไปไหนหรอก เรายังคงเห็นการแต่งเพลงแบบฉบับของ Taylor ที่ถึงแม้จะดูโตขึ้นในเรื่องของความลึกในการแสดงความอ่อนแอหรือสัญลักษณ์และการเปรียบเปรยต่าง ๆ แต่เทก็ยังคงไม่หลุดจากวงเวียน high school mentality และการ play the victim อยู่ มีแต่เรื่องดนตรีนั่นแหละที่เป็นความแปลกใหม่ที่ทำให้ต้องร้องว้าวได้ เพราะฉะนั้นอย่าห่วงว่าจะไม่ได้เจอกับเทคนเก่าแล้ว เพราะเธอยังคงวนเวียนหลอกหลอนเราไม่ไปไหนหรอก

    เขียนแบบนี้หลายคนอาจคิดว่าเราเกลียดเทรึป่าว แต่ขอปฏิเสธและบอกเลยว่าเราก็เป็นหนึ่งในสาวกที่ตามเสพย์งานเพลงของเธอมาตลอด ถึงแม้ตัวศิลปินจะมีข่าวฉาว (ซึ่งเราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ) แต่งานเพลงคือสิ่งที่ทำให้ตัวเทยังคงผงาดอยู่ในวงการได้ เพราะไม่ใช่แค่เป็นคนที่ความสามารถในการสร้างสรรค์เมโลดี้ แต่เธอยังมีพรสวรรค์ในการแต่งเพลงได้ยอดเยี่ยมมาก ๆ บวกกับอิทธิพลของเธอต่อวงการอื่น ๆ ทั้งเรื่องของ business, feminism, หรือ politics จึงไม่แปลกใจที่ชื่อของ Taylor Swift ได้ถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลในยุคนี้

    สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลองฟัง reputation ก็อย่ารอช้า ไปลองหาฟังกันดูเลย แล้วมาแสดงความเห็นพูดคุยกันได้เหมือนเดิมเลยนะ ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in