เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
On Shelvespiyarak_s
"หัวใจวาย" : (เหมือนจะ) เข้าใจ Y

  • ชื่อหนังสือ : หัวใจวาย
    เรื่อง: ณิชชารีย์ เลิศวิชญโรจน์
    ประเภท: non-fiction 
    สำนักพิมพ์: BUNBOOKS 





    (1)


    ว่าไปแล้ว งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องวายๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือไม่เคยมีใครทำมาก่อนเสียเลย เพราะนักวิชาการในต่างประเทศได้ศึกษา pop culture เหล่านี้ ทั้งในด้านสังคม วรรณกรรม จิตวิทยา และอื่นๆ มามากต่อมาก และหนังสือรวมบทความที่น่าสนใจก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น "Boys' Love Manga: Essays on the Sexual Ambiguity and Cross-Cultural Fandom of the Genre" ของ ดร. แอนโทเนีย ลีไว (Antonia Levi, Ph.D.) ที่ได้ Dru Pagliassotti (นักวิชาการสื่อสารมวลชนและนักเขียนนิยายสตีมพังค์) มาเป็นบรรณาธิการร่วม หรือของ "Boys Love Manga and Beyond" ของ Marc Mcclelland และนักวิจัยทั้งชาวญี่ปุ่นและตะวันตกเขีียนร่วมกัน โดยสำรวจทั้งมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวข้องกับมังงะวาย แต่ที่มาทั้งหมดก็เป็นงานรวมบทความทางวิชาการเป็นหลัก 

    สำหรับ 'หัวใจวาย' เป็นงานกึ่งวิชาการที่นำเอางานวิจัยทางวิชาการมาเขียนใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น มีความ 'ป็อป' มากขึ้น ย่อยง่ายขึ้น และอยู่ในรูปเล่มที่สวยงาม กะทัดรัด ภาพลักษณ์มีความเป็นมิตรกับผู้อ่านที่ไม่อยากอ่านที่มีความเป็นวิชาการสูง อาจเรียกได้ว่า เป็นข้อดีของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้รู้สึกว่า น่าสนใจ 



    (2)


    จากการมีเพื่อนเป็นสาววายระดับ veteran คือ ผ่านยุคโดจินซีร็อกซ์มาก็แล้ว ผ่านยุคหลุมดำมาก็แล้ว แต่ขอสารภาพว่า ความเป็นสาววายนั้น ยากแท้หยั่งถึง เพราะในบางครั้ง สิ่งที่เพื่อนพูดมา คล้าย ๆ จะเข้าใจ แต่เราก็ไม่เข้าใจ แค่อ่านเขียนนิยายหรือมังงะวายได้ ก็ใช่ว่าจะเป็น 'สาววาย' แท้ๆ เสมอไป ที่เกริ่นมานี้ คงฟังดูซับซ้อน แต่ถ้าอธิบายด้วยคำง่ายๆ ว่า 'วาย' เป็น sub-culture หรือวัฒนธรรมย่อยอย่างหนึ่ง ก็ (อาจ) ทำให้พอเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า จะเขียนคลี่ม้วนภาพของสาววายออกมาแบบไหน คนดูคนอ่านถึงจะเข้าใจ


    พอพูดถึงวัฒนธรรม สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมก็มักจะประกอบไปด้วย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคม แบบแผนปฏิบัติของผู้คน ความเชื่อค่านิยม รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ หนังสือเล่มนี้ จึงดูเหมือนว่าจะพยายามค้นหาคำตอบว่า ในความเป็นสาววาย มีอะไรซ่อนอยู่ และจะทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการเป็นสาววาย ตัวตนของสาววาย และคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาววาย


    คำถามที่ว่ามาข้างต้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากอยู่เหมือนกัน และเราก็เห็นความพยายามของผู้เขียนอยู่ อย่างไรก็ตาม การพยายามหาคำตอบให้กับคำถามในเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่เคยมีคำตอบที่ตายตัว และการจำแนกประเภทของสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมานั้น ทำได้ยาก และบางครั้ง 'คำเรียก' ก็คือ คำที่ใช้เรียกขาน ไม่อาจจัดเป็นลำดับ หรือประเภทได้อย่างชัดแจ้ง สิ่งที่พูดมาตรงนี้ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เมื่ออ่านไปแล้ว รู้สึก 'แปลกๆ' อยู่พอสมควร




    (3)

    ถ้าให้แบ่งหนังสือเล่มนี้ออกเป็นส่วน ๆ อาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ของความวาย วัฒนธรรมของสาววาย และบทสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้อง 


    ส่วนของประวัติศาสตร์ จะพูดถึงวรรณกรรมก่อนที่จะมาเป็นวาย กรณีชายรักชายและหญิงรักหญิงที่มีจริงในประวัติศาสตร์ ส่วนด้านสังคมก็พยายามอธิบายว่า สาววายรวมถึงหนุ่มวายมีพฤติกรรม คำเรียกขาน ลำดับขั้นในสังคมหรือวัฒนธรรมนั้นอย่างไร และส่วนของการสัมภาษณ์เป็นคำสัมภาษณ์ของคนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมความวาย ไม่ว่า yaoi หรือ yuri ทั้งคนที่เป็นสาววายและคนที่สาววายชิป 


    ถ้าพูดถึงเฉพาะองค์ประกอบในภาพรวมของเล่ม จัดว่าน่าสนใจและมีประเด็นครอบคลุมทีเดียว   


    จากสามส่วน ส่วนที่ดีที่สุดและอ่านสนุกที่สุดของเล่มนี้ คือ ส่วนของประวัติศาสตร์ทางวรรณกรรมที่เริ่มจาก Tanbi มาเป็น shounen-ai จนกลายเป็น Yaoi ในที่สุด (ส่วนของ Yuri มีพูดถึงบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย) ปกรณัมกรีก-โรมัน อียิปต์โบราณที่เทพเจ้าแสดงความรักกับเพศเดียวกัน และบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ว่ากันว่า รักเพศเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องในยุคคลาสสิกมากกว่า (ในความเห็นของตัวเองแอบคิดว่า เล่มนี้ข้ามเรื่องของออสการ์ ไวลด์ และใครอีกหลายคนในช่วง ศ. 19 ที่ผลิตงานวรรณกรรมและภาพวาด แฝงความ homoerotic เอาไว้มากมาย และเป็น movement หนึ่งที่สำคัญของงานในฝั่งตะวันตกไปอย่างน่าเสียดาย) คิดว่า คนเขียนถนัดการเล่าประวัติศาสตร์ และเป็นส่วนที่เรียบเรียงมาอย่างดี ความเห็นส่วนตัว นี่คือส่วนที่ดีที่สุดของเล่มนี้ก็ว่าได้ 


    พอมาถึงส่วนของการพยายามแสดงภาพวัฒนธรรมและสังคมของสาววาย ตอนนี้ละ ที่อ่านแล้วเริ่มสะดุดเพราะการเรียบเรียงเรื่องราวและการพยายามทำความเข้าใจเรื่องวาย ๆ ว่า "Why Y ?" นั้นยังไม่ชัดเจนและอาจยังสื่อสารได้ไม่ตรงจุดอย่างที่อยากสื่อสาร และบางประเด็นก็ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นอยู่เท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อมองกลับไปจากมุมมองของคนที่เป็นสาววายหรือใกล้ชิดกับสิ่งที่เรียกว่า 'วาย' จริง ๆ 


    เพราะสิ่งที่หนังสือบอกเล่าคาบเส้นระหว่าง การทำความเข้าใจ กับ การ stereotype ความเป็นสาววาย 


    สำหรับการพูดถึงเรื่องเฉพาะกลุ่มเฉพาะทางที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ การให้นิยามศัพท์เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันเป็นเรื่องที่จำเป็น และเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การอธิบายคำนิยาม และการจัดประเภทหรือระดับของสิ่งที่กำลังพูดถึงด้วย 


    แน่นอน เราเห็นความพยายามในการจะอธิบาย แต่ก็ยังมีสิ่งที่อ่านแล้วชะงักอยู่หลายจุด


    ศัพท์บางคำมีคำอธิบายคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจกัน เช่น คำพื้นฐานที่สุดอย่าง 'คู่ชิป' ที่บอกว่าถอดเสียงมาจากคำว่า ship ในภาษาอังกฤษแบบตรงตัวและแปลว่าเรือ ซึ่งจริงๆ แล้วที่มาของคำว่า ship ทอนมาจากคำว่า relationship หรือ ความสัมพันธ์ คือ อยากเห็นสองคนนี้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งทั้งแฟนเกิร์ล (และแฟนบอย) ทั้งไทยและเทศก็เล่นมุกเดียวกัน โดยเอาคำว่า ship มาเล่นคำและแปลตรงตัวว่า เรือ หรือ ชิป กันตอนหลัง  หรือคำว่า 'เรือผี' ซึ่งจริงๆ แล้ว หมายความว่า เป็นการชิปที่ตัวละครสองตัวนั้นแทบไม่ได้อยู่ด้วยกัน แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่มีเคมีที่เข้ากันก็เลยชิป ไม่จำเป็นต้องมีที่มาจากเรือล่มแล้วพาย หรือ สานสัมพันธ์กันในจินตนาการของแฟนเกิร์ลกันต่อไปเสมอไป 


    (การชิปไม่จำเป็นต้องเป็น romantic relationship หรือ same-sex relationship เสมอไป เช่น Hawk Eye กับ Black Widow จาก Avengers คู่ชิปของดิฉันเอง แต่คู่นี้ไม่ใช่เรือผี เพราะมีโมเม้นต์อยู่ด้วยกันเพียบ ต่อให้มาร์เวลเอาแบล็ควิโดว์ใส่มือพี่เขียวฮัลค์ ก็ยังเรียกว่า เรือผีไม่ได้ แค่เรือล่มไปต่อหน้าต่อตา... พูดเองก็เศร้าเอง เข้าใจออฟฟิเชียล แต่มันก็แอบเสียดาย T-T)


    แต่ที่อ่านแล้วชะงักนานขึ้นอีกนิด คือ ลำดับขั้นของสาววาย ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่า มีพลังจินตนาการสูงขึ้นตามอายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งแก่กล้ามากขึ้น ไม่รู้ว่าแหล่งที่มาของข้อมูลมาจากไหน แต่เสียดายนิดหน่อย ที่ขาดการเปรียบเทียบกับบริบทของสาววายไทยว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่เท่าที่สังเกตมาบ่อยๆ เรามักจะได้ยินเสียงสาววายรุ่นเก๋าบ่นๆ พลังจินตนาการและการแสดงออกของสาววายรุ่นเด็กๆ มากกว่าละว่า เก็บๆ อาการไว้บ้างก็ได้ ในขณะที่สาววายที่มีวัยวุฒิเพิ่มขึ้นก็จะนิ่งมากขึ้น หรือบางคนอาจจำเป็นต้องล้างมือจากวงการ เพราะมีเวลาน้อยลง หรือด้วยความจำเป็นอื่นๆ 


    และอย่างที่บอกมาข้างต้น การอธิบายคำนิยามของอะไรบางอย่างที่อาจดู extreme หรือแปลกไปจากมาตรฐานทั่วไป หรือ มาตราฐานแบบ heterosexual อาจทำให้เกิดผลสองทาง คือ ทำให้เข้าใจมากขึ้น หรือทำให้ 'คนนอก' มาตรฐานของคนส่วนใหญ่กลายเป็น 'คนนอก' มากขึ้นไปอีก ทั้งที่เขาและเธอเป็น 'คนใน' ในวัฒนธรรมย่อยของตัวเอง ซึ่งผลประการหลังจะมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น เมื่อน้ำเสียงและการใช้คำในการอธิบายตอกย้ำความ 'ไม่ธรรมดา' แทนที่จะเป็น 'เอกลักษณ์' หรือ 'ลักษณะเฉพาะ' 


    ถ้าสังเกตดู การตอกย้ำว่า สังคมวายเป็นสังคมปิด สาววายไม่เปิดเผยตัว ไม่เข้าถ้ำเสือจะได้ลูกเสือหรือ และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน เป็นการใช้คำที่ทำให้รู้สึกว่า โซนของสาววายเป็นดินแดนลึกลับต้องห้ามอะไรสักอย่างหนึ่งที่เข้าถึงยากมาก ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ในการลงภาคสนามในทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา โดยเฉพาะการเข้าถึงเรื่องที่ไม่เป็นที่แพร่หลายทั่วไป ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน และต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการรายงานสิ่งที่สังเกตเห็นจากพื้นที่ที่ลงไปสำรวจ 


    การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกหรือข้อมูลโดยตรงจากสาววายที่ได้ทำในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในมุมมองอีกด้านหนึ่งของคนที่กลายเป็นคู่ชิป แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายอีกนั่นละ ที่การนำคำสัมภาษณ์มาบอกเล่า ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่าปากคำของผู้ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลในการเข้าวงการวายคืออะไร และเหตุผลที่ไม่ได้ลึกไปกว่าความชอบบางประการ 


    แต่เรื่องที่น่าเสียดายกว่านั้น คือ ผู้เขียนวางตัวเองอยู่ในสถานะของ reporter หรือผู้รายงาน เป็นคนนอกที่คอยสังเกตการณ์อยู่นอกวง โดยที่ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่คนในเป็นอยู่ในความเป็นจริงออกมา ทั้งที่มีโอกาสสัมผัสกับคนวงในไปไม่น้อยเลย ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ไม่รู้คิดไปเองไหมตอนที่อ่าน คือ หนังสือเล่มนี้พยายามเล่าเรื่องของสาววาย ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธเป็นนัยว่า ตนเองไม่ได้รายงานในฐานะของสาววาย และไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับโลกของสาววาย 


    ในงานบทความ ในงานสารคดี ในฐานะของคนอ่าน เราไม่ได้สนใจหรอกว่า คนเขียนจะเป็นอะไรยังไง เหมือนผู้ชายแท้ ๆ ที่ไปทำสารคดีนางโชว์อัลคาซ่า ก็ใช่ว่าจะเป็นกย์ หรือ แม้กระทั่งรายการ pop จ๋าอย่าง Try Guys ของ Buzzfeed ที่หนุ่มๆ บางคน มีแฟนสาวแล้ว มีภรรยาแล้ว (มีลูกแล้วด้วยซ้ำไป) ไปลองเป็น  drag queen ลองใส่ส้นสูง แล้วกลับมาบอกว่า เห็นอะไร ทำแล้วรู้สึกอย่างไร เมื่อไปยืนอยู่ตรงจุดนั้นด้วยตัวเอง หรืออยู่ใกล้ชิดกับจุดนั้นมากที่สุด ก็ไม่มีใครออกมาบอกว่า เฮ้ย นายเป็นเกย์แน่ๆ ถึงทำแบบนั้นได้ เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่รอดู คือ reaction ของหนุ่มๆ ที่ไปสัมผัสประสบการณ์ในโลกที่แตกต่างออกไปมากกว่า 


    ในกรณีของหัวใจวายนี้ก็เช่นกัน การสะท้อนเสียงและมุมมองของสาววายออกมาอย่างชัดเจน ถูกต้อง ให้คนอ่านสัมผัสถึงความชอบ มุมมอง หรืออารมณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่า คนอ่านจะมองว่า คนเขียน หรือแม้กระทั่งตัวสำนักพิมพ์เองเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำงานวาย (โดยส่วนตัว สำนักพิมพ์ที่กล้าเสนองาน LGBTQA โดยไม่หวังผลทางการตลาด แต่นำเสนอในสิ่งที่ควรเสนอ ในฐานะงานเขียนทั่วไปที่มีตัวละครเป็น LGBTQA อยู่เท่านั้นเอง เราจะชื่นชมด้วยซ้ำไป) 



    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสัมภาษณ์ ส่วนที่ชอบที่สุดเป็นการส่วนตัว และต้องขอบคุณที่สัมภาษณ์คุณสแตมป์ อภิวัชร์ ซึ่งอยากบอกมาก ๆ ว่า นี่ละค่ะ คือ น้ำเสียงของคนที่เปิดใจยอมรับและพยายามทำความเข้าใจสาววายและแฟนดอมทั้งหลายในทางบวก (แต่อาจเป็นเพราะว่า คุณสแตมป์ก็เป็นสมาชิกแฟนดอมอื่นเช่นกันก็ได้ ฮา) 


    ท่าทีและการพยายามอธิบายความรู้สึกของตัวเองในฐานะคนที่ถูกชิป ไปพร้อมกับการพยายามทำความเข้าใจคนที่ชิปตัวเองกับคนอื่นของคุณสแตมป์ คือ ตัวอย่างของสิ่งที่เราอยากเห็น อยากอ่าน และอยากได้จากหนังสือเล่มนี้มากที่สุุด 



    (4)

    ถ้าว่ากันด้วยแนวทางการศึกษาวัฒนธรรมย่อย หรือ subculture studies ภาพรวมส่วนใหญ่ของ 'หัวใจวาย' จะอยู่ในแนว subculture and deviance หรือความเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทั่วไป (ซึ่งเป็น movement เก่าแก่มากของการศึกษาวัฒนธรรมย่อย) แต่ไม่ได้พูดในมุมมองของ subculture ที่เป็นการต่อต้านขนบหรือแนวคิดกระแสหลัก (resistance) และมุมมองที่สำคัญมากในยุคหลังและปัจจุบันนี้ คือ "subcultures as forms of distinction" หรือมองว่าเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างออกไปจากกระแสหลัก และไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก แต่เกิดมาเพราะความชอบเฉพาะตัวมากกว่า 


    จากการอ่านจนจบเล่มครั้งที่หนึ่ง และอ่านซ้ำอีก ก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ (และหวังมากๆ ว่า ตัวเองจะเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายไปเองเสียมากกว่า) ว่า น้ำเสียงของบทความสั้น ๆ หลายบทความที่ประกอบกันขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ ค่อนไปในทางที่น่าจะทำให้คนในวัฒนธรรมย่อยนั้นรู้สึกว่า ไม่เป็นมิตร และ มีบางอย่างที่ 'ไม่ใช่' ซึ่งสิ่งที่ 'ไม่ใช่' เป็นปัญหามากกว่าน้ำเสียงที่ใช้บอกเล่าเสียอีก หนึ่งในนั้นอาจเป็นเพราะการให้น้ำหนักกับมุม deviance มากกว่าแง่มุมอื่น 


    ถ้า 'หัวใจวาย' สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสาววายในแง่มุมของความเฉพาะตัว หรือ distinction ได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เสียดายที่อาจจะใช้เวลากับการเรียบเรียงและทำงานกับหนังสือเล่มนี้น้อยไปหน่อย เพื่อให้ทันออกในงานสัปดาห์หนังสือเดือนเมษาฯ นี้ ถ้าใช้เวลากับมันให้เยอะขึ้น มีเวลามองและเขียนให้รอบด้านขึ้น อาจทำให้มีความเป็น 'สาววาย friendly' และสะท้อนวัฒนธรรมผู้นิยมเรื่องวายได้มากขึ้น 


    พูดอย่างรวบรัดที่สุด ปัญหาใหญ่ของ 'หัวใจวาย' คือ ไม่สามารถเข้าถึง 'หัวใจของสาววาย' และไม่สามารถดึงเอาสิ่งที่เป็น 'หัวใจ' ของ 'วาย' ออกมา แล้วอธิบายว่า 'why สาววายถึงชอบ Y?' เพราะเราเชื่อว่าในความวายมีอะไรที่มากกว่าแค่ความฟิน 

    ถ้าหนังสือเล่มนี้ สามารถบอกเล่าถึงความพิเศษของสาย Y กติกามารยาท Dos and Don'ts หรือสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ไม่ว่าในบรรดาสาววายด้วยกัน หรือระหว่างสาววายกับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้ หรือไม่เข้าใจได้ ด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจ เป็นมิตรมากกว่าที่เป็นอยู่ ยื่นให้สาววายสักคนอ่าน แล้วพยักหน้ารับว่า 'ใช่ อย่างนี้แหละ' ได้ นั่นละค่ะ หัวใจวายจะเป็นหนังสือที่เข้าใจหัวใจของวายและสาววายจริง ๆ และจะเป็นหนังสือที่น่าอ่าน น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว และอาจเป็นสารคดีสักเล่มได้ด้วยซ้ำไป 


    เอาเป็นว่า อยากรู้ ก็ลองหามาอ่านดูก็แล้วกันค่ะ :) 





     Last but not Least 

    1) สิ่งที่ค่อนข้างขัดตาสำหรับตัวเองที่สุดในเล่มนี้ คือ เชิงอรรถที่เขียนเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่สามารถพลิกไปหาที่มาที่ไปของเชิงอรรถนั้นได้ (เข้าใจว่ามาจากบทความที่เคยลงเอาไว้ในบล็อก หรือเพื่อป้องกัน self-plagiarism ก็ตามแต่ แต่งาน pop science หรืองานกึ่งวิชาการอ่านง่ายทั้งหลายนั้น อาจไม่ต้องใส่ก็ได้ หรือถ้าจะใส่ ก็ใส่ชื่องานที่ใช้เป็น reference หรือเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไปเลย หรือใช้เชิงอรรถเพื่อการขยายความ หรืออธิบายนิยามศัพท์บางคำที่ไม่อยากให้รุงรังอยู่ในเนื้อหาจะดีกว่า) 

    2) คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ ถ้าสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามแต่ จะคาดหวังผลในทางการตลาดด้วยการพยายามชูความวายขึ้นมา เพียงเพราะคิดว่ามัน 'ขายได้' อย่างไรเสีย สาววายก็ซื้อ ซึ่งจริงๆ แล้ว มีบทสัมภาษณ์หนึ่งของสาววายใน 'หัวใจวาย' บอกว่า เธอไม่ชอบการยัดเยียดอย่างนั้น ซึ่งในเวลานี้ ตัวอย่างชัด ๆ ก็มีให้เห็นบ้างแล้ว จากเสียงติงเรื่องคำนำของวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นที่พยายามเน้นเรื่องวาย และก่อนหน้านี้ คือ กรณีของ Let's Comic ที่เคยออก issue เกี่ยวกับวาย แต่ได้รับผลตอบลับในเชิงลบมากกว่า จากกรณีการตีโจทย์วายไม่แตก และมีท่าทีเชิงลบกับเรื่องวายทั้งที่พยายามจะขาย issue นี้ 

    3) จริงๆ ดีใจที่ได้เห็นผู้หญิงทำสารคดี หรืออย่างน้อยก็เริ่มต้นกับงานบทความกึ่งวิชาการแบบนี้ แต่ถ้าได้คนที่ชำนาญด้านงานสารคดีหรือด้านสังคมศาสตร์มาช่วยดู ช่วยอ่านต้นฉบับจะทำให้งานออกมากลมกล่อม เรียบเรียงได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น และทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้านักเขียนงานสารคดีเก่าแก่อย่างคุณอรสม สุทธิสาคร ผู้หญิงที่เข้าถึงทั้งคนคุก เหยื่ออาชญากรรม และคนเล็กๆ ที่เกือบไม่มีใครรู้จัก แล้วหยิบเอาชีวิตของพวกเขามาเขียนสารคดีได้ ลุกขึ้นมาจับเรื่องสาววายดูบ้างจะออกมาเป็นยังไง หรือถ้าสาววายจะลุกขึ้นมาเขียนเรื่องจากสายตาของคนวงในเองบ้าง ก็คงจะสนุกดี 


    จบจริงๆ แล้วค่ะ ^^
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in