เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Cambridge CallPaphavee S.
Seeking Scholarships
  • จริงๆปีนี้ถือเป็นปีที่ดีในการไปเรียนต่ออังกฤษอย่างมาก
    เพราะเกิดสถานการณ์ Brexit ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ตกฮวบจาก 55 บาทมาเหลือ 45 บาท
    อารมณ์จู่ๆค่าเทอมก็ดันมาถูกลงเกือบ 20% ซะงั้น
    ซึ่งตอนเราส่งใบสมัครปีที่แล้วก็เดาไม่ออกหรอก ถือว่าเจอแจ็คพ็อตไป555
    แต่รวมๆแล้ว ถึงค่าเงินจะตก ค่าเทอมของเหล่า Top Universities ก็คงยังค่อนแพงมากอยู่ดี
    ส่วนใหญ่มากจะเป็นงี้ คือเก่งด้วยไม่พอ ต้องรวยด้วย
    สมมติมหาลัยอังกฤษทั่วไปค่าเทอมจะตกอยู่ที่ £10000 หรือประมาณ 4-5แสนบาท
    มหาลัยท็อปๆก็จะสูงกว่าเป็น 2-4 เท่า แล้วนี่คือยังไม่รวมค่ากินอยู่ด้วยอีกนะ

    กราฟเงินปอนด์ ตกฮวบๆๆๆ คือ ก็เห็นใจนะ แต่ในฐานะนักเรียนต่างชาติแล้ว เอาอีกๆๆๆๆค่า ลดมาอีกได้เลยค่าาาา


    ถ้าบ้านไม่รวย อีกหนทางก็คือขอทุน ซึ่งถ้าจะขอทุนด้วยก็ต้องเตรียมตัวกันมากหน่อย
    เพราะส่วนใหญ่ทุนจะมี deadline ของการสมัครค่อนข้างเร็ว ต้องทำตัวหูตาไว 
    และเตรียมเขียน essay เอาไว้ ซึ่งหัวข้ออะไรก็แล้วแต่ทุนแต่ละทุนกำหนดอีก

    ถ้าจะแบ่งประเภทของทุนแบบคร่าวๆ ก็คงแบ่งได้ 2 ประเภท

    1. (เราเรียกว่า) ทุนนอก : คือทุนจากรัฐ บริษํท หรือองค์กร ที่ให้เราสมัคร แล้วค่อยเลือกมหาลัยทีหลัง
    มหาลัยที่ให้เลือก เค้าอาจจะให้มันอยู่ในลิสต์ก็ได้ว่าต้องมหาลัยชื่อนี้ๆเท่านั้นนะ 
    ตัวอย่างทุนแบบนี้ก็เช่น ทุนรัฐบาล (อเมริกาก็ Fulbright อังกฤษก็ Chevening ญี่ปุ่นก็ทุนมงฯ) 
    ทุนก.พ. (อันนี้ก็เยอะแยะหลายสาขา) ทุนธนาคาร (อันนี้เจาะจงให้เรียนต่อสายการเงิน) ซึ่งทุนประเภทนี้ มักจะจ่ายเต็ม ค่าเทอม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน ค่ากินอยู่ จ่ายให้หมด เรียนฟรีรัวๆ แต่ก็มักจะแลกกับเงื่อนไขบางอย่าง เช่น กลับมาชดใช้ 2 เท่า หรือห้ามทำงานต่อต่างประเทศอย่างน้อย 2 ปี อะไรก็ว่ากันไป

    2. ทุนใน : คือทุนของทางมหาลัยแต่ละมหาลัยเอง ซึ่งก็แล้วแต่มหาลัยว่ามีให้ใครบ้าง สาขาวิชาอะไร ซึ่งก็จะมีทั้งให้เต็มจำนวน และให้บางส่วน  

    ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เท่าที่เราสังเกต ทุนส่วนใหญ่จะเป็น merit-based หรือวัดกันที่คุณสมบัติมากกว่าจะเป็น need-based หรือวัดกันที่ฐานะทางการเงิน คือฐานะทางการเงินที่บ้านอาจจะมีส่วนช่วยได้นิดหน่อยแหล่ะตอนเขียนเล่าลงไปใน essay แต่เราว่าก็ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆด้วย เช่น เรียนเก่ง เล่นกีฬา มีความเป็นผู้นำ ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม อะไรทำนองนี้



  • สำหรับเรา เราสมัครทุนไปทั้งหมด 2 ทุนถ้วนด้วยกัน คือ
    1. Chevening หรือทุนรัฐบาลอังกฤษ 
    2. Cambridge Trust หรือทุนของมหาลัยเคมบริดจ์เองเลย

    ทุน Chevening

    ขอพูดสั้นๆเกี่ยวกับทุนชีฟนิ่งก่อน
    (Chevening มันอ่านออกเสียงว่าชีฟนิ่งแหล่ะ คือเราแอบหลงไปอ่านว่าชีเวนนิ่งอยู่ตั้งนาน 5555)
    จริงๆทุนนี้ดีมาก ให้หมดทุกอย่าง ค่าเทอม ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ กินอยู่ แถมเครือข่ายของนักเรียนทุนชีฟนิ่งก็กว้างไกลมาก มาจากทั้งทั่วโลก แถมไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียนด้วย คือจะเรียน law, finance, architecture, art, design, science อะไรก็ได้หมด แต่เค้าอาจจะให้ priority กับคนที่เรียนสาขาที่เป็นผลประโยชน์ต่อรัฐบาลอังกฤษในประเทศไทย เช่น ด้าน environment, human trafficking, investment ละอื่นๆ และผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 2 ปีด้วย

    ทุนชีฟนิ่งนี่ ประกาศผลเมื่อเดือนมกราที่ผ่านมา
    ปรากฏเราตกรอบ ไม่ได้ผ่านไปรอบสัมภาษณ์ต่อ ก็อดไป
    อาจจะเป็นเพราะว่าเราเพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ ประสบการณ์การทำงานของเราส่วนใหญ่จะเป็น part-time ไม่ก็เป็นงานฟรีแลนซ์ที่ทำระหว่างเรียน ยังไม่เคยทำ full-time มาก่อน กับสาขาวิชาไม่ตรงกับ priority area เท่าไหร่ ก็เลยชวดไป...


    รูปประกอบจากทางเว็บ Chevening รวมคนที่ได้ทุนจากหลายประเทศเลย อยากได้มั่งอ่ะ 555

    แต่นั่นแหล่ะ ก็คือจะเห็นได้ว่าทุนนี้เค้าให้น้ำหนักกับ work experience กับ purpose of study เป็นหลัก ประกอบกับคุณสมบัติอื่นๆเช่น leadership, network ถ้าใครถึงเกรดจะไม่ดีมาก แต่คุณสมบัติโดดเด่น และศักยภาพสูง ก็น่าจะมีสิทธิ์ลุ้นทุนนี้ เท่าที่รู้ ปีก่อนก็มีพี่ Aim Noppatjak นักข่าวเนชั่นได้ทุนนี้ไป ปีนึงก็มีจำนวนทุนให้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ประมาณ 30 ทุน ไม่รู้ปีนี้มีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า


  • ทุน Cambridge Trust

    จริงๆตอนแรกนึกว่าตัวมหาลัยเคมบริดจ์จะมีทุนให้ไม่เยอะ
    ถ้าให้ก็อาจจะให้แค่สาขาแบบวิทย์ๆยิ่งใหญ่ๆ ที่ดูจะช่วยโลกค้นพบนวัตกรรมอะไรงี้ 55555
    ปรากฏว่า Cambridge Trust นี่ยิ่งใหญ่มากกก 
    มันจะแบ่งซอยย่อยๆเป็นทุนเล็กทุนน้อยอีก และมีเยอะมากๆ
    ครอบคลุมแทบทุกสาขาเลยทีเดียว ทั้งสาย Arts, Humanities, Sciences ก็มีหมด
    แถมบางทุนก็เจาะจงว่าให้นักเรียนชาติไหนโดยเฉพาะบ้าง ซึ่งก็ดี ยิ่งบีบจำนวนคู่แข่งให้น้อยลงไปอีก

    แต่ประเด็นก็คือ ทุนเนี่ย จะพิจารณาก็ต่อเมื่อเราได้ผลตอบรับเข้าเรียนจากคณะที่สมัครไปแล้วเท่านั้น
    แถมคู่แข่งนี่ก็ระดับยอดของยอดของยอดของยอดอีกที ยิ่งระดับ postgrad ทุกคนก็แทบมี First Honours ยืนพื้นกันทั้งนั้น แต่ส่วนตัวแล้ว เรารู้สึกว่าคนไทยหรือคนเอเชียที่สมัครไปเคมบริดจ์มักจะรวยอยู่แล้ว (5555) ไม่ได้ยื่นขอทุนกัน เอาเป็นว่าถ้าได้ offer แล้ว ก็มีสิทธิ์ได้ทุนสูงแล้วแหล่ะ

    ชื่อทุนที่เราสมัครไปนั้น ชื่อทุนมูลนิธิเคมบริดจ์ไทย (Cambridge-Thai Foundation)
    เป็นทุนที่ร่วมกันกับทางศิษย์เก่าเคมบริดจ์ นำโดยท่านอานันท์ ปันยารชุน จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน
    เด็กไทยไปเคมบริดจ์ ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปีแล้ว ทุนนี้เปิดกว้างให้ทุกระดับชั้น ทั้ง Undergraduate, Master หรือ PhD ก็ได้ และเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น 

    ทุน CTF นี่จะไม่ได้เป็นทุนเต็ม แต่เป็นทุนช่วยเหลือบางส่วน (Partial scholarship) ซึ่งก็ไม่เท่ากันในแต่ละคนแต่ละปี อย่างของเรา เราได้เงินก้อนเป็นมูลค่าประมาณเกือบครึ่งนึงของค่าเทอม 
    ซึ่งก็นับว่าช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของที่บ้านไปได้เยอะมากกก และทำให้เรารู้สึกผิดน้อยลงในการถลุงเงินที่บ้านไปใช้

    วิธีสมัครก็ง่ายมาก มันจะต้องสมัครไปพร้อมๆกับตัว Application form หลัก ตอนที่สมัครกับทางคณะเลย ตรงหน้าท้ายๆ มันจะมีช่องให้ติ๊กว่า จะสมัครทุน Cambridge Trust มั้ย ซึ่งถ้าติ๊ก ก็ต้องเขียนเรียงความเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง ว่าด้วยทำไมเราจึงควรได้ทุน แล้วก็เขียนชื่อทุนที่เราอยากขอไปด้วย แล้วก็จะมีช่องให้กรอกแจกแจงสถานะทางการเงินของที่บ้านเพิ่มนิดหน่อย เพื่อการประกอบพิจารณาของคณะกรรมการว่าควรให้เงินก้อนเราเท่าไหร่ดี

    สรุปกระบวนการ (รวมๆแล้วก็เกือบ1ปี)
    ส่งใบสมัครไปตอนเดือนต.ค. > ทางคณะตอบรับมาประมาณเดือนเม.ย. > ได้ offer > ทางเคมบริดจ์จะส่งรายชื่อมาให้ทางมูลนิธิพิจารณาตอนประมาณเดือนมิ.ย. > เรียกสัมภาษณ์ปลายเดือนก.ค. > ทราบผลกลางเดือนส.ค. > พิธีมอบทุนที่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษต้นเดือนก.ย.  


    วันพิธีรับทุน ต้องขอเรียนว่าท่านคณะกรรมการทุกท่านน่ารักและเป็นกันเองมากๆ
    ทุนท่านล้วนเป็นรุ่นพี่ศิษย์เก่าเคมบริดจ์ เล่าประสบการณ์สนุกๆให้ฟังเยอะแยะมาก ขอบพระคุณมากเลยค่ะ ❤️


    นอกจากนี้ก็ยังมีทุนเคมบริดจ์อื่นๆอีก เช่นทุน Gates Cambridge Trust ทุนที่บิลเกตส์ก่อตั้ง เน้นให้นักเรียนที่มีความโดดเด่นทางด้านความผู้นำและมีความต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลก และแน่นอนว่าจ่ายเต็มทุกอย่าง เครือข่ายดีมาก และการแข่งขันสูงมาก แต่ก็น่าสนใจมากๆเช่นกัน 

    หรือจะทุน Studentship ของแต่ละ College ในเคมบริดจ์ (ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วงงว่า college คืออะไร คือระบบ college ในเคมบริดจ์จะต่างจากที่อื่นหน่อย ไว้เราจะอธิบายตอนถัดไปละกันนะ) ซึ่งก็ต้องเข้าไปดูในหน้าเว็บของแต่ละคอลเลจเองว่ามีทุนอะไร ให้สาขาไหนบ้าง ถ้าไม่รู้จะเริ่มคอลเลจไหนดี ก็แนะนำให้เริ่มที่คอลเลจที่ร่ำรวยสุดๆ อย่าง Trinity, St John, King's ที่มีทุนเยอะแยะจ้อกแจ้กไปหมด 
    ถ้านึกไม่ออกว่าเค้าเงินเหลือขนาดไหน คือเราได้ยินว่ามีทุนให้นักเรียนไปเที่ยวเพื่อการหย่อนใจฟรี! หรือถ้านักเรียนจู่ๆบ่นว่าเครียด อยากเล่นไวโอลิน ขอเงินทุนจากคอลเลจไปซื้อไวโอลินมาเล่น เค้าก็ยังให้เงินไปซื้อ! คือไม่รวยจริงทำไม่ได้นะนี่


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
pepper (@pepper)
สวัสดีค่ะ คุณ Paphavee S. ขออนุญาตรบกวนสอบถามนะคะ
1. ทุน Cambridge trust ให้ทุนเต็มจำนวนหรือเปล่าคะ ในทุรเต็มจำนวนมีค่าครองชีพให้ด้วยไหมคะ
2. ต้องส่งเอกสารเพื่อสมัครทุนเเยกจากเอกสารสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหรือเปล่าคะ
3. ทุนของมูลนิธิเคมบริดจ์ไทย หรือ CTF เป็นทุนที่ให้เเค่บางส่วนเท่านั้นใช่ไหมคะ อย่างนี้ถ้าต้องการทุนเต็มควรสมัครเป็นทุน Cambridge trust จะเีกว่าใช่ไหมคะ กรณีที่บ้านไม่พร้อมจ่ายค่าเทอมจริงๆ
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะคะ บทความคุณเป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ