เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WILD SIDE ในนามของธรรมชาติSALMONBOOKS
๐๑: การไปสู่สรวงสวรรค์ของ Bird of Paradise


  • “หากเครื่องบินตกระหว่างบินอยู่ใจกลางเกาะนิวกินี โชคดีก็ขอให้ตายเลย ไม่ต้องทรมาน เพราะหากรอดชีวิตก็จะไม่มีเจ้าหน้าที่บุกป่าเข้ามาช่วย บริเวณกลางเกาะยังเป็นดินแดนลึกลับ พื้นที่ส่วนมากยังไม่ได้รับการสำรวจ มนุษย์เข้าไม่ถึง เป็นป่าดงดิบ หนองน้ำ ชุกชุมด้วยโรคภัยและดงมาลาเรีย อันตรายเกินกว่าที่จะมีใครเสี่ยงชีวิตเดินทางเข้าไปช่วยได้”

    ผมนึกถึงคำพูดของชาวพื้นเมืองคนหนึ่งในช่วงที่อยู่บนเครื่องบินและมองลงไปเห็นป่าทึบเบื้องล่าง

    นิวกินีเป็นเกาะใหญ่อันดับสองของโลก รองจากเกาะกรีนแลนด์ มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๗๘๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ระยะทางไม่ห่างจากประเทศไทย แต่เดินทางไกลกว่าที่คิด เราต้องนั่งเครื่องบินสามทอดจากเมืองไทยกว่าจะเข้ามาในเกาะแห่งนี้ได้

    ถือเป็นดินแดนลี้ลับที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

    นิวกินีแบ่งเป็นสองประเทศ ฝั่งตะวันตกเป็นจังหวัดปาปัว—ส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ฝั่งตะวันออกเป็นประเทศปาปัวนิวกินี

    การูด้า สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย พาเราร่อนลงจอดที่โซรง (Sorong) เมืองท่าสำคัญของจังหวัดปาปัว

    ชาวปาปัวพื้นเมืองเป็นชาวคริสต์ผิวดำ ผมหยิก หน้าตาแตกต่างจากคนอินโดนีเซียที่เป็นชาวเอเชียผิวเหลือง นับถือศาสนาอิสลามโดยสิ้นเชิง

    เกาะนี้ถูกค้นพบโดยนักเดินเรือชาวสเปนเมื่อประมาณห้าร้อยปีก่อน ประชากรบนเกาะเป็นชาวเมลานีเซียน มีลักษณะผิวคล้ำ ผมหยิกเหมือนชาวกินีในแอฟริกา จึงเรียกเกาะนี้ว่า New Guinea และมีข้อสันนิษฐานว่าชาวแอฟริกันกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่บนเกาะนี้เมื่อประมาณหกหมื่นปีที่ผ่านมา
  • ต่อมาในช่วงที่ชาวยุโรปขยายอาณานิคมไปทั่วโลก พวกเนเธอร์แลนด์และเยอรมนีก็มายึดครองเกาะนี้ พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ถูกญี่ปุ่นยึดครอง จนสงครามสิ้นสุดลง เกาะนิวกินีก็อยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติและจากการแทรกแซงของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และแร่ธาตุ อินโดนีเซียเลยมีแผนการจะขยายประชากรไปยังเกาะนิวกินี อินโดนีเซียเข้าครอบครองซีกตะวันตกของเกาะ ตั้งชื่อเป็นจังหวัดอีเรียนจายา ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดปาปัว ส่วนฝั่งตะวันออกได้เอกราชเป็นประเทศปาปัวนิวกินี ในปี ค.ศ. ๑๙๗๕

    เกาะนิวกินีเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีนกมากกว่า ๖๕๐ ชนิด แมลง ๒๐๐,๐๐๐ ชนิด พืชกว่า ๒๐,๐๐๐ ชนิด และยังเป็นเขตที่มีวัฒนธรรมและภาษาหลากหลายที่สุดในโลก เนื่องจากมีชนเผ่าอยู่เป็นพัน ต่างก็มีภาษาเป็นของตัวเอง จนนักภาษาศาสตร์บันทึกภาษาได้กว่าพันภาษา โดยครึ่งหนึ่งของภาษาเหล่านั้นมีผู้พูดได้ไม่ถึงหนึ่งพันคน แม้กระทั่งบางหมู่บ้านที่ห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตรก็มีภาษาที่ต่างกันแล้ว

    แต่ดูเหมือนคนภายนอกจะรู้จักเกาะนิวกินีอยู่แค่สองเรื่อง 

    เรื่องแรกคือเป็นเผ่ามนุษย์กินคน หากทำศึกรบชนะศัตรูหรือจับคนแปลกหน้าได้ จะนำมากินเป็นอาหาร

    มีตำนานเล่าว่า สมัยที่มิชชันนารีมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาบนเกาะแห่งนี้ พวกเขาถูกพวกชนพื้นเมืองจับได้ ก่อนจะถูกนำไปแล่เนื้อเป็นชิ้นๆ ใส่ลงหม้อดินใบยักษ์ต้มน้ำเดือด เคียงคู่กับผักเผือกมัน เคี่ยวให้เนื้อนุ่ม ปรุงรส ก่อนจะมาแจกจ่ายกินกันทั้งเผ่า สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในเวลานั้น แต่สุดท้ายพวกมิชชันนารีกลับกลืนกินมนุษย์กินคนเสียเอง เพราะปัจจุบันชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนความเชื่อกลายเป็นชาวคริสต์ไปแล้ว
  • เรื่องที่สองคือ เป็นที่อยู่ของนกที่กล่าวกันว่าสวยงดงามและหายากที่สุดในโลกอย่าง Bird of Paradise หรือนกปักษาสวรรค์ซึ่งทั่วโลกมีเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น

    แน่นอนว่าการเดินทางมาบนเกาะนิวกินีของเราคงไม่ได้มาตามหามนุษย์กินคนที่หมดไปนานแล้ว แต่มาตามหานกสีสวย เริงร่าเต้นระบำตอนเกี้ยวพาราสี และมีตำนานกล่าวขวัญไม่รู้สิ้น

    ตีสามของวันรุ่งขึ้น เราตื่นขึ้นมากลางที่พักในป่าดิบเพื่อออกเดินทางไปซุ่มดูนกในตำนาน รถปิกอัพขับเคลื่อนสี่ล้อแหวกเข้าไปตามทางขรุขระในป่าดงดิบ ครึ่งชั่วโมงต่อมา รถจอดบนไหล่ทาง ไกด์พื้นเมืองพาเราเดินเท้าบุกป่าในความมืดมิดมาให้ถึงบังไพรเพื่อซุ่มดูนก ก่อนอรุณรุ่งจะมาเยือน

    เราเข้าไปแอบบนกระโจมผ้าใบปกคลุมด้วยไม้ไผ่และกิ่งไม้หนา รอเวลาฟ้าสางด้วยความเงียบ สักพักยุงที่ไม่ได้รับเชิญจำนวนมากก็ส่งเสียงหึ่งๆ มาหาเลือดของสิ่งมีชีวิต เกาะนิวกินีขึ้นชื่อว่าเป็นดงมาลาเรียสายพันธุ์รักษายาก เรานั่งภาวนาว่าขอให้รอดจากการเป็นไข้ป่าครั้งนี้ด้วยเถิด

    นั่งรอพักใหญ่ๆ เสียงนกแหวกอากาศดังขึ้นมา คนนำทางชี้ไปบนยอดไม้ให้ดูเจ้าของเสียง

    นกปักษาสวรรค์เล็ก หรือ Lesser Bird of Paradise ขนาดประมาณสามสิบเซนติเมตรตัวผู้ปรากฏขึ้น ส่งเสียงร้องหาตัวเมีย

    เรามองผ่านเลนส์กล้อง สีสวย ลำตัวสีน้ำตาลสลับแดงเลือดหมู หลังส่วนบนสีเหลือง กระหม่อมสีเหลือง ตัวผู้มีคอสีเขียวมรกต มีขนหางคู่ยาว ประดับด้วยชุดขนด้านข้างสีเหลืองเข้มและค่อยๆ จางออกไปข้างนอกจนเป็นสีขาว สักพักเราเห็นตัวเมียสีเลือดหมู หัวสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวส่วนล่างสีขาว เห็นเด่นชัดขึ้นตามแสงเช้าที่เริ่มสว่าง 
  • การเกี้ยวพาราสีของสัตว์โลกชนิดนี้เริ่มต้น ตัวผู้เต้นระบำรอบๆ ตัวเมีย สลับกับการกระพือปีก ตวัดขนหางเหยียดยาวเป็นเส้นโค้ง ฟูและพลิ้วไปกับสายลมโดยเฉพาะในเวลาที่มันเกาะห้อยหัวเพื่อแผ่ขนที่สีข้างออกอวดนกตัวเมีย เป็นภาพที่น่าดูยิ่งนัก มันจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนกที่สวยที่สุดในโลก เพื่อจะได้ดึงดูดตัวเมียให้สนใจ และเมื่อต่างฝ่ายต่างต้องตาต้องใจกันและกัน การผสมพันธุ์ก็จะเริ่มต้นทันที

    ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงที่เราเห็นพฤติกรรมของนกหายากชนิดนี้...ฟินสุดๆ

    แต่ที่น่าสนใจคือ นกปักษาสวรรค์มีวิวัฒนาการมากว่ายี่สิบสี่ล้านปีกว่าจะมีความสวยสดงดงามแบบนี้ โดยมีญาติที่ใกล้ชิดมากที่สุดคืออีกา ซึ่งมีสีสันตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง

    เล่ากันว่าเมื่อชาวพื้นเมืองจับนกปักษาสวรรค์ได้ ก่อนนำไปส่งขายให้กับชาวยุโรปจะตัดขาทิ้ง เหลือแต่หัวและตัว ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครเคยเห็นนกปักษาสวรรค์ตอนมีชีวิต จึงร่ำลือกันว่านกชนิดนี้ไม่มีขา บินลงมาจากสรวงสวรรค์ เป็นที่มาของคำว่า Bird of Paradise

    นกปักษาสวรรค์ในโลกนี้มีประมาณสี่สิบชนิด มีอยู่ในป่าดิบเกาะนิวกินีและบางส่วนของออสเตรเลียเท่านั้น แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์มาโดยตลอด เพราะความสวยสดงดงามของปีกนกชนิดนี้ทำให้มันเป็นสินค้ามีค่ามากว่าสองพันปี
  • ครั้งหนึ่งเมื่อกองเรือของเฟอร์ดินานด์ มาเกลลัน (Ferdinand Magellan) นักสำรวจ นำซากนกชนิดนี้กลับไปสเปน โลกจึงรู้จักความสวยงามของนกปักษาสวรรค์ ขนนกกลายเป็นเครื่องประดับของชาวยุโรปชั้นสูง ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ มีการส่งออกนกปักษาสวรรค์ถึงปีละ ๘๐,๐๐๐ ตัว ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายห้ามการล่านกเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ จนถึงปัจจุบัน Bird of Paradise จึงเป็นสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล

    ตลอดสิบกว่าวันบนเกาะนิวกินี เราออกเดินบุกป่าดิบลุ่มต่ำ ขึ้นเขาลุยป่าดิบตามหานกจากสรวงสวรรค์ได้ห้าหกชนิด เป็นความลำบากและเหนื่อยล้าอันคุ้มค่า แม้ว่าหลายชนิดเห็นได้ไกลๆ บนยอดไม้สูง

    ขากลับเข้าเมือง เราเห็นนายพรานพื้นเมืองเอานกปักษาสวรรค์เล็กมาห้อยต่องแต่งวางขายข้างทาง เราจอดรถทำทีเป็นนักท่องเที่ยวไปสอบถามราคา คนขายใส่เสื้อยืดสกรีนคำว่า ตำรวจ บอกว่าหากเป็นแบบสตัฟฟ์ ราคาตัวละหนึ่งล้านรูเปี๊ยซ (ประมาณสามพันกว่าบาท) แต่หากจะเอาตัวเป็นๆ ยังมีชีวิต สามารถหาให้ได้ในราคาตัวละสิบล้านรูเปี๊ยซ (ประมาณสามหมื่นบาท)

    เราถามผ่านล่ามไปว่า ปีหนึ่งนายพรานล่าได้ประมาณกี่ตัว

    คำตอบคือ ๕๐ ตัว

    ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า บนเกาะใหญ่ มีนายพรานอาสาล่านกปักษาสวรรค์กี่คน ไม่มีตัวเลขระบุว่านกชนิดนี้ถูกล่าไปกี่ร้อยกี่พันตัวต่อปี

    แม้จะมีกฎหมายห้าม แต่ค่านิยมของคนมีเงินในอินโดฯ ยังคงนิยมเอานกชนิดนี้ไปประดับบารมี

    ยังไม่รวมถึงสวนสัตว์และคนมีเงินทั่วโลกที่อยากได้นกชนิดนี้ไปประดับ

    อีกไม่นาน Bird of Paradise บนผืนโลกคงลาจากมนุษย์ไปสู่สรวงสวรรค์ตามชื่อของมัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in