เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#TranslationFoundThe Mellow Being
สุขภาพดีด้วยประชาธิปไตย
  • บทความต่อไปนี้เป็นบทความแปล เนื้อหาและรูปภาพทั้งหมดมีที่มาจากบทความต้นฉบับ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


    บทความต้นฉบับ: 

    Good News About Democracy: It’s Good For Your Health เขียนโดย Jonathan Lambert

    จาก: สำนักข่าว NPR (National Public Radio) 

    เผยแพร่เมื่อวันที่: 4 กรกฎาคม 2562



    [กลุ่มหญิงชาวปากีสถานกรูเข้ามารับบัตรก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เผยว่า การเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมมีความสัมพันธ์ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังประสบกับความรุนแรงของโรคน้อยลง]

    เชิญรับข่าวใหม่ช่วนให้ใจชื้นรับวันที่ 4 กรกฎาคมนี้: ประชาธิปไตยดีต่อสุขภาพของเรา


    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์ ”ประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Experience)” ว่ามีผลต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศหนึ่งๆ อย่างไร และสิ่งที่พบล้วนเป็นผลดีเข้าข้างความเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน


    พลเมืองในประเทศที่อยู่ใต้ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีสิทธิใช้เสียงเลือกตั้งโดยเสรี เป็นธรรม และไม่ป่วยได้รับเชื้อ HIV มีอายุขัย หรือค่าคาดหมายคงชีพ (Life Expectancy) โดยรวมยืนยาวกว่าอีกกลุ่มที่อยู่ใต้ระบอบเผด็จการ ผลวิจัยพบว่า ประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตย ยังช่วยบรรเทาความรุนแรงและลำบากที่เกิดขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดในสมองตีบ ให้เบาลงได้อีกด้วย


    “นี่คืองานวิจัยที่น่าสนใจ เพราะผู้เขียนพยายามจะทำความเข้าใจ ว่ามีปัจจัยอื่นอะไรบ้างที่ส่งผลต่อสุขภาพของบุคคลได้นอกจากระดับรายได้ของประเทศที่พวกเขาอาศัย” Margaret Kruk ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขประจำมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ กล่าว


    การศึกษาผลต่อสุขภาพประชาชนที่เกิดจากความเป็นประชาธิปไตยอย่างเจาะจง ไม่คำนึงถึงส่วนที่เกิดจากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้นทำได้ยาก แต่ศาสตราจารย์ Kruk ก็กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้คือตัวแทนของความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ที่จะทำให้พวกเราเข้าใจ ว่าความต้องการทางการแพทย์และสุขภาพที่แปรเปลี่ยนของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา จะมุ่งไปสู่ทิศทางใด


    ความจริงที่ว่าประชาธปิไตยมีผลเสริมสุขภาพมวลชน อาจเป็นที่ทราบได้ง่ายและชัดเจน เมื่อประชาชนต้องการระบบสาธาณสุขที่ดีขึ้น และรัฐบาลสามารถจัดการให้ได้เช่นนั้น ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการสนับสนุนระบบการให้บริการด้านสุขภาพที่ดีได้ย่อมไม่ถูกเลือกในสมัยต่อไป เพื่อให้คณะปกครองที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่ามารับตำแหน่งแทน ในขณะรัฐบาลใต้ระบอบเผด็จการไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสอบหรือตัดสินเช่นนั้น แม้ระบบสาธารณสุขใต้สังกัดจะล้มเหลวในหน้าที่


    อย่างไรก็ตาม Tom Bollyky นักวิชาการอาวุโสทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และการพัฒนาระดับโลก ประจำองค์กรคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (Council on Foreign Relations) ผู้นำคณะนักวิจัยของผลงานชิ้นนี้ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนก็ปรากฏในบางประเทศที่มีความเป็นประชาธิไตยต่ำเช่นกัน และตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อขยายความจากสิ่งที่เขาค้นพบดังกล่าว


    “ประเทศจีนและคิวบาขึ้นชื่อเรื่องการให้บริการสาธารณสุขระดับประเทศที่ดีและมีราคาพูก” Bollyky กล่าว ค่าคาดหมายคงชีพของพลเมืองชาวคิวบาไม่ต่างไปจากค่าเดียวกันของประชาชนในสหรัฐอเมริกา โดยมีการมุ่งพัฒนาการให้บริการรักษาระดับปฐมภูมิและการป้องกันโรคเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อผลสำคัญ


    เขายังชี้ให้เห็นพัฒนาการของระบบสาธารณสุขในอีกหลายประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่ผลิดอก: “ค่าคาดหมายคงชีพของประชาชนในประเทศเอธิโอเปีย รวันดา ยูกันดา และเมียนมา (พม่า) ล้วนเพิ่มขึ้นถึง 10 ปีเป็นอย่างต่ำมาตั้งแต่ปี 2539 และยังเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างมากด้วย”


    Bollyky อธิบายว่า การพัฒนาทางสาธารณสุขที่เป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้เกิดขึ้นได้ในส่วนหนึ่ง เนื่องจากสิ่งที่องค์กรส่งเสริมฟื้นฟูและรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต้องดำเนินการมักเป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ไม่ยากนัก “ปัญหาสุขภาพของประเทศ [ที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย] เหล่านี้คือโรคและตัวก่อเชื้อที่มักส่งผลกับเด็กเป็นส่วนมาก” เขากล่าว


    แต่หลายสิ่งกำลังเปลี่ยนไป


    Kruk กล่าวว่า ประเทศที่ประชาชนมีรายได้ระดับต่ำและปานกลางจำนวนมากกำลังอยู่ในช่วงที่ระบบสาธารณสุขมาถึงจุดเปลี่ยน เธออธิบายว่านวัตกรรมที่ถูกสร้างและใช้งานได้ง่าย เช่น มุ้งลวดกันโรคมาลาเรีย ได้ผลส่งเสริมสุขภาพเป็นอย่างดี ปัญหาสุขภาพที่ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญเป็นลำดับถัดไป จะต้องอาศัยโครงสร้างภายในองค์กรที่กว้างขวางและมั่นคงเพื่อแก้ไข ยกตัวอย่าง โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง หรือเบาหวานนั้น - “จะต้องอาศัยการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณสุขที่กว้างขวางและลำลึกกว่าเดิมมาก ไม่ใช่ทำเพียงสนใจพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยี” Kruk เสนอ


    Bollyky และคณะจึงเก็บเกี่ยวข้อมูลจากฐานข้อมูลภาระจากโรคภัยสากลและโครงการความหลากหลายของประชาธิปไตย (Varieties of Democracy) ซึ่งบันทึกสภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และการแพทย์ใน 170 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2559 เพื่อหาคำตอบว่า ประชาธิปไตยช่วยส่งผลบำบัดบรรเทาโรคที่ Kruk อ้างถึงข้างต้นหรือไม่


    “เราต้องการทราบค่าคาดหมายคงชีพของประชาชนในวัยผู้ใหญ่ อัตราการตายของโรคและอาการบาดเจ็บบางชนิด เพื่อจะวิเคราะห์ว่าค่าเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความเป็นประชาิธปไตยบ้างหรือไม่” Bollyky กล่าว


    ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่วัดค่าได้ยาก ด้วยองค์ประกอบของความเป็นประชาธิปไตย เช่น สิทธิของพลเมือง การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เสรีภาพของสื่อ รวมถึงระยะเวลาการมีอยู่ขององค์ประกอบเหล่านี้ย่อมแตกต่างกันในแต่ละประเทศ “เมื่ออยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลานาน ผลดีใดๆ ที่เกิดจากประชาธิปไตยย่อมเกิดขึ้นและคงอยู่เป็นปกติอย่างยาวนานตามไปด้วย ซึ่งเป็นคำตอบที่เราต้องการพบและบันทึกไว้” Bollyky กล่าว คณะนักวิจัยจึงเริ่มคำนวณ “ประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตย” ของแต่ละประเทศ พิจารณาร่วมกับ “คลังความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Stock)” ที่ประเทศนั้นๆ มีสะสมไว้


    Bollyky ยังใช้เทคนิคการคำนวณทางสถิติหลายวิธี เพื่อแยกผลของสุขภาพประชาชนอันเกิดจากประชาธิปไตยออกมาจากปัจจัยร่วมอื่น เช่น ค่า GDP หรืออัตราการพัฒนาของชุมชนเมือง อีกด้วย “เราไม่สามารถทำการทดลองระดับโลกที่เราจะไปกำหนดให้ประเทศใดๆ [เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยโดยสุ่ม] ได้” Bollyky อ้าง “เราจึงพยายามแยกผลที่เกิดจากประชาธิปไตยออกมาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก”


    Bollyky เล่าว่าหลังการสังเกตวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายมุมมอง รูปแบบความสัมพันธ์หนึ่งก็ปรากฏชัดขึ้น - ประชาธิปไตยดีต่อสุขภาพของมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคเรื้อรัง


    เมื่อควบคุมตัวแปรอื่นแล้ว พบว่า ประชาชนวัยผู้ใหญ่ในประเทศที่เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยในช่วงเวลาที่ผู้วิจัยศึกษา มีค่าคาดหมายคงชีพสูงกว่าประชาชนในประเทศที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยถึง 3% เป็นเวลากว่า 10 ปี


    งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่า ประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตยมีบทบาทส่งผลลดภาระอันเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุจากการจราจร มะเร็ง และโรคไม่ติดต่ออื่นๆ มากกว่าค่า GDP ประเทศที่อยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยบำบัดจัดการวัณโรคได้ดีกว่าประเทศที่อยู่ใต้ระบอบปกครองอื่น อย่างไรก็ตาม ความเป็นประชาธิปไตยไม่มีผลโดยรวมนักต่อการขจัดโรคติดต่อส่วนมาก เช่น มาลาเรีย หรือโรคที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย


    คณะวิจัยยังพบว่าเมื่อประเทศใดมีประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย อัตราการตายเนื่องจากโรคไม่ติดต่อของประชาชนในประเทศนั้นก็จะลดลงด้วย 2% “มันอาจจะฟังดูเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากมายทั่วโลก” Bollyky กล่าว “เพราะฉะนั้น อัตราการตายที่ต่ำลง 2% ในระยะเวลา 20 ปี ก็เท่ากับว่าประชาธิปไตยสามารถช่วยให้มีผู้รอดจากโรคนี้ได้ถึง 16 ล้านคน” 


    “ในแวดวงสาธารณสุข หากสิ่งใดก็ตามที่คุณสร้างขึ้น [ในกรณีก็คือประชาธิปไตย] ช่วยชีวิตคนได้มากกว่าค่า GDP แล้ว สิ่งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก” Bollyky อธิบาย


    แล้วเหตุใด ประชาธิปไตยจึงส่งผลดีอย่างชัดเจนต่อโรคไม่ติดต่อ แต่ไม่มีผลนักกับโรคติดต่อ? Bollyky ตอบว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรคไม่ติดต่อ เป็นกลุ่มโรคที่องค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศมักไม่พุ่งเป้าไปหา ในปี 2559 องค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศใช้กำลังทรัพย์และบุคลากรเพียง 2% เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อทั่วโลก แม้จำนวนคนที่เสียชีวิตหรือพิการจากโรคเหล่านั้นนับเป็น 58% ของผู้เสียชีวิตและพิการทั้งหมดในประเทศฐานรายได้ต่ำเมื่อปีเดียวกันนี้เอง


    เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรข้ามประเทศแล้ว ภาระในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคกลุ่มนี้จึงตกในมือของประเทศนั้นๆ เอง


    ผู้ป่วยภาวะเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ มักจะได้รับประโยชน์จากการวินิจฉัยตรวจพบโรคที่ฉับไวโดยแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการ การติดตามตรวจโรคอย่างต่อเนื่อง และการได้รับยาและอุปกรณ์รักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างไม่ขาดมือ Bollyky เชื่อว่า รัฐบาลที่ดำเนินการสนองความต้องการของประชาชนที่มีสิทธิเสียงเลือกพวกตนเข้ามา มีแนวโน้มจะจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงลงทุนสร้างระบบการให้บริการสุขภาพที่ยั่งยืนมากกว่ารัฐบาลที่ไม่ได้ตอบสนองหรือก่อเกิดจากการเลือกตั้ง


    ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าไม่อาจได้รับประโยชน์อันเกิดจากกลไกการเลือกตั้งนั้น ผลวิเคราะห์จากงานวิจัยยังเผยอีกว่า การเลือกตั้งโดยเสรีและเป็นธรรม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตย เมื่อปัจจัยข้อนี้ไม่เกิดขึ้น ความแตกต่างประการสำคัญที่ประชาธิปไตยนำมาสู่ปัญหาโรคเรื้อรังย่อมหายไปเช่นกัน


    Kruk กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็น ว่าเมื่อแนวโน้มปัญหาสุขภาพของหลายประเทศเบนไปสู่กลุ่มโรคเรื้อรังมากขึ้น กระบวนการแก้ไขใดๆ ที่เคยใช้ในอดีตอาจไม่เป็นผลในอนาคต


    “ผมคิดว่าวิจัยนี้มอบทางสู่อนาคตเส้นหนึ่งให้กับพวกเรา” Bollyky กล่าว “ความท้าท้ายที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบันก็คือ ภาระจากโรคต่างๆ กำลังเปลี่ยนไปในกลุ่มประเทศฐานรายได้ต่ำและปานกลาง [เปลี่ยนจากโรคติดต่อเป็นหลัก สู่โรคไม่ติดต่อเป็นหลัก] ทว่าการให้ความช่วยเหลือระหว่างชาติกลับล่าถอย โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ที่เพิ่มจำนวนเร็วที่สุด” 


    Bollyky เสนอว่า องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพควรปรับกลยุทธ์การทำงานตามสถานการณ์ ด้วยการเริ่มส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มด้วย แม้เขาเล็งเห็นว่าจะเกิดผลกระทบเชิงปัญหาทางการเมืองตามมาอย่างแน่นอนด้วยก็ตาม “เราต้องทำให้การส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยไม่เป็นเรื่องที่มีแต่นัยยะทางการเมือง” Bollyky กล่าว “เพราะทุกวันนี้ หลากรัฐที่เข้าสู่การปกครองระบอบเผด็จการ ก็ไม่ได้เป็นไปเช่นนั้นผ่านการทำรัฐประหารแต่อย่างเดียวแล้ว แต่เป็นไปเพราะการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสได้ด้วย”


    Kruk เห็นต่างในประเด็นนี้ “งานวิจัยของพวกเขาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างความเป็นประชาธิปไตย และผลลัพธ์ทางสุขภาพที่สำคัญหลายประการ และฉันอยากเห็นคนศึกษาในประเด็นนี้เพิ่มขึ้น” เธอกล่าว “แต่ฉันคิดว่า การส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะผลดังกล่าวนี้ อาจจะยังเป็นข้อสรุปที่บุ่มบ่าม ฉันเพียงไม่แน่ใจ ว่าการทำเช่นนั้นมีหลักฐานสนับสนุนมากพอแล้วหรือยัง ว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพจริง”


    ประสบการณ์ในความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ มาตรการอื่นจากนโยบายทางสุขภาพ เช่น การเข้าถึงประกันสุขภาพ หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอง ก็เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาวะของคนในประเทศได้เช่นกัน


    ไม่ว่าผลการวิจัยจะมีความนัยใดต่อนโยบายรัฐบาล Bollyky ก็กล่าวว่า “การมีข่าวดีเกี่ยวกับประชาธิปไตยในวันประกาศอิสรภาพอเมริกาก็เป็นเรื่องที่ดี หากมองไปรอบๆ ทุกวันนี้ มีปัญหามากมายที่อาจทำให้พวกเราว้าวุ่นและหมดกำลังใจ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้จุดประกายความหวังให้กับหลายคน”

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in