1. เขียนไม่ยาวมาก แต่โดนใจมาก
การเขียนยาวเกินไปอาจทำให้ผู้อ่านเบื่อซะก่อนที่จะเจอกับไคลแมกซ์ที่เราเตรียมไว้ ลองเขียนแบบเข้าใจง่ายๆ เน้นเนื้อหาหลัก และที่สำคัญใส่ความเป็นตัวเองลงไปอย่างนุ่มนวล น่าจะช่วยสร้างความสนใจ และทำให้อยากติดตามอ่านมากขึ้นนะ
2. เรียงลำดับความสำคัญ หนึ่ง สอง สาม!
นี่เป็นข้อผิดพลาดที่เจอได้บ่อย เพราะบางครั้งเราก็อาจจะเผลอ ยกเอาเนื้อหาข้างหลังมาใส่ข้างหน้า ข้างหน้าไว้ตรงกลาง ซึ่งจุดนี้สังเกตได้ง่าย แต่ทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก ลองเช็คดูดีๆ ว่าที่เราเขียนไปเนื้อหาดูแบ่งแยกกับส่วนที่เป็นเรื่องโดยรวมหรือเปล่า
3. หลีกเลี่ยงการสะกดผิดกับคำง่ายๆ
บางครั้งเราอาจจะเผลอพิมพ์ผิดไปบ้าง มันก็โอเค หรือบางทีอาจจะใส่เข้าไปอย่างตั้งใจเพื่อให้รู้สึกตลกหรือเป็นมุกขำๆ อันนี้ก็เข้าใจได้ ( แต่อย่าใช้เยอะเกินไป มันจะกลายเป็นว่าไม่ฮาแต่พาเครียดแทน ) แต่กับคำง่ายๆ ที่ใช้กันบ่อยๆ แต่ก็ยังสะกดผิด อย่างเช่น ‘ นะคะ ’ เป็น ‘ นะค่ะ ’ หรือ ‘ สบายดีไหมคะ ’ เป็น ‘ สบายดีไหมค่ะ ’ อ่านแล้วรู้สึกอยากจะปิดหนีใช่ไหมล่ะ
4. ระวังภาษาที่ใช้ใน blog
ในชีวิตประจำวันบางทีเราอาจติดคำพูดบางอย่าง ซึ่งในการพูดคุยมันก็ทำให้เข้าใจง่ายและสะดวกรวดเร็วดี แต่ไม่ใช่กับการเขียน blog เพราะอาจทำให้ได้ผลตรงกันข้าม ถ้ายังนึกไม่ค่อยออก มินิมอร์ ขอยกตัวอย่างภาษาวิบัติที่เขียนตัวสะกดแปลกๆ อ่านยากๆ ชวนให้หงุดหงิด นั่นล่ะ! แต่ถ้าเป็นพวก วลีฮิต ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงเวลานั้น จะเอามาใช้ก็ไม่ผิดนะ บางโอกาสอาจจะเวิร์กด้วยล่ะ
5. สี่วันผ่านไป ไหนลองเช็คดูหน่อยสิ
เมื่อเราโพสต์งานเขียนลง blog ในช่วงแรก อะไรๆ เราก็มักจะรู้สึกว่ามันดีไปซะทุกอย่าง งานฉันดี ไร้ที่ติ สนุกสนาน ไม่ว่าจะอ่านทวนกี่ครั้งก็ยังดี เพราะเรายังจำเรื่องราวได้ทั้งหมด การอ่านทวนของเราจึงจะเป็นไปแบบที่เรียกว่า อ่านกวาดสายตา แต่ถ้าลองทิ้งเวลาไว้สักนิด (ไม่ใช่ชั่วโมง สองชั่วโมงนะ) ผ่านไปสักสามสี่วันลองกลับมาอ่านใหม่ ตอนนั้นล่ะเราจะจำไม่ค่อยได้ และเริ่มอ่านอย่างละเอียดมากขึ้นและเห็นข้อผิดพลาดในตอนแรกได้ชัดเจนขึ้นด้วย
6. เช็ค บรรทัด ต่อ บรรทัด
มันอาจจะดูเป็นเรื่องจุกจิกไปสักหน่อย สำหรับ blog ที่เราไม่เน้นความเพอร์เฟค (แต่เราเน้นความเป็นตัวเรา) แต่มันก็ดีนะ ถ้าเราจะเช็ค เผื่อว่าตรงไหนยังสามารถปรับแก้ได้อีก ก็จะได้พัฒนางานของเราให้กลายเป็นงานเขียนคุณภาพได้ยังไงล่ะ!
7. เช็คให้ชัวร์
ก่อนจะโพสต์ผลงานลงไปใน blog อย่าลืมเช็คให้ดีก่อนว่างานของเราไม่ตีกันเอง เอ้า ก็อย่างบางคน อาจจะลืมสังเกตว่าประเด็กหลักและประเด็นรองมันขัดแย้งกันโดยไม่รู้ตัวก็ได้นี่นา เอาน่า เสียเวลาเช็คหน่อย คนอ่านจะได้สนุกไปกับเรื่องที่เราตั้งใจ แถมไม่เกิดคำถามทีหลังด้วยนะ
8. เขียนเรื่องที่เรานี่ล่ะรู้จริง!
จำไว้เลยว่า จะเป็น blogger ชั้นยอด content ต้องมาก่อน! ที่พูดเนี่ย คือจะบอกว่าเราต้องมีเรื่องที่อยากจะเล่าก่อนจะลงมือเขียน จริงไหม? มินิมอร์ ว่า การได้เขียนเรื่องที่เราสนใจหรือเราชอบมากๆมันดีสุดๆไปเลยนะ เพราะเราสามารถบอกถึงข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดเจาะลึกได้ (แฟนพันธุ์แท้ก็แบบเนี้ยะ) เอาเป็นว่า เขียนเถอะ เรื่องอะไรก็ได้ที่เรารัก!
9. แบ่งเนื้อหาตอนเช็คช่วยได้
การเช็คเนื้อหาทั้งหมดในครั้งเดียวอาจจะทำให้เราล้าซะก่อน แล้วก็เลยลืมส่วนสำคัญไปซะได้ ลองแบ่งเป็นส่วนๆ ตามหัวข้อหรือประเด็นที่เราแบ่งไว้ แล้วค่อยๆเช็คไปทีละอัน ส่วนนี้มั่นใจว่าดีแล้วค่อยขึ้นส่วนใหม่ แบบนี้จะทำให้งานระเอียดรอบคอบแถมไม่เหนื่อยด้วย
10. ไวยากรณ์กับการสะกดอักษรก็สำคัญ
ถ้าหากว่าเราใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์พิมพ์เนื้อหา ส่วนใหญ่มักจะมีตัวช่วยตรวจทานตัวอักษร หรือการเว้นวรรคให้อยู่แล้ว แต่หากว่าใช้โปรแกรมอื่นก็อาจจะขอให้ใครสักคนช่วยตรวจทาน มินิมอร์ ว่าการเขียนให้ถูกหลักไม่ว่าจะไวยากรณ์หรือตัวสะกดนี่ดีนะ ป้องกันข้อผิดพลาดอื่นๆ แล้วเรายังได้เช็คเนื้อหาไปในตัวอีกด้วย แต่ไม่ต้องไปเคร่งมากนักก็ได้ เอาแค่พอดีๆ และสนุกไปกับการเขียนเรื่องจะดีกว่า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in