ไทยเราเมื่อรับเอาท่ามือนี้มา แต่เดิมก็คงยังใช้ไหว้พระไหว้เจ้ามาก่อน ไม่ได้ใช้ไหว้คน เพราะยังมีคำคนเฒ่าคนแก่ที่ใช้รับไหว้อย่าง ‘ไหว้พระเถอะลูกเอ๊ย’ อยู่เลยนะครับ ที่มาใช้ไหว้คนกันนี้น่าจะมีในภายหลัง เพราะไม่อย่างนั้นคนเฒ่าคนแก่จะตอบรับไหว้ว่าให้ไปไหว้พระทำไมกัน?
ส่วนคำว่า ‘สวัสดี’ นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีประวัติความเป็นมาว่า พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยผูกมาจากคำว่า ‘สวสฺติ’ ในภาษาสันสกฤตและใช้อยู่ในเฉพาะคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ท่านสอนอยู่กันเป็นการเฉพาะมาก่อน เรียกว่าเป็นธรรมเนียมที่ยูนีคและคัลต์เอามากๆ ในสมัยที่เริ่มมีการใช้คำนี้กันเฉพาะกลุ่ม
ในจุฬาฯ จะมีใครใช้คำว่า สวัสดี กับพระยาอุปกิตฯ บ้างหรือเปล่าไม่รู้ เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คำนี้ก็กลายเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้มีอำนาจในขณะนั้นอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ (ซึ่งก็ไม่มีบันทึกไว้หรอกนะครับว่า จอมพล ป. หรือท่านจอมพลแปลกของเราไปได้ยินมาจากไหนหรือว่ารู้มาได้ยังไง) จนถึงขนาดประกาศให้คำนี้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการของคนไทยเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 เป็นต้นมา
ความเป็นไทยบางครั้งจึงอาจจะไม่ต้องมีรากที่มาลึกซึ้งอะไรก็ได้ แค่ชนชั้นนำเคยประดิษฐ์อะไรขึ้นมาใช้กันเก๋ๆ ไม่กี่คน แล้วคนมีอำนาจไปประกาศบังคับให้คนทั้งประเทศใช้ตามก็เป็นอันใช้ได้แล้วนะครับ เพราะในยุคจอมพล ป. ก็ยังมีการประดิษฐ์คำทักทายจำพวก อรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ ซึ่งก็เอามาจากคำทักทายจำพวก Good Morning หรือ Good Night ในภาษาอังกฤษ
พูดง่ายๆ คือ มีการสร้างมาตรฐานของ ‘มารยาท’ เพื่อแสดงความเป็นอารยประเทศ ซึ่งก็หมายความด้วยว่าไม่ได้มีเฉพาะชาติไทยเท่านั้นที่ทำกัน ชนชาติอื่นๆ ที่มีอารยะเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ
เอาเข้าจริงแล้ว ใครๆ ก็รู้กันว่า ชนชาติไหนเขาก็ล้วนมีมารยาทจำพวกนี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทักทายกันด้วยคำว่า Hello หรือ หนีห่าว แล้วจับมือหรือยกมือขึ้นไหว้ จะคำว่า Thank You หรือ Sorry ก็ไม่ได้ต่างไปจากคำไทยว่า ขอบคุณ หรือ ขอโทษ (แต่อาจจะไม่มีเสน่ห์เท่าเรา เพราะเขาไม่มีรอยยิ้มสยามเป็นแพ็กเกจพ่วงเข้าไปด้วย :P)
มารยาทจำพวกนี้จึงเป็นอารยะของความเป็นคนนะครับ ไม่ใช่อารยะของความเป็นไทยเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่มีชนชาติไหนในโลกที่จะมีสิทธิ์เคลมว่า มีเฉพาะพวกตัวเองเท่านั้นที่เป็นคน ไม่ว่าชนชาตินั้นจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหนก็ตามที
และ ‘ความเป็นไทย’ ก็ไม่สามารถหมายถึง ‘ความเป็นคน’ ได้ในทุกแง่มุม เพราะในความเป็นคนยังมีคนชาติอื่นๆ อยู่ร่วมด้วยอีกเต็มไปหมด
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in