ผมสันนิษฐาน (ภาษาวิชาการของคำว่า ‘เดา’) ว่า ท่านขุนวิจิตรมาตราคงอ่านแล้วสรุปความต่อไปเองว่า เมื่อมองโกลมีถิ่นเดิมอยู่ที่เทือกเขาอัลไต คนไทยก็เลยน่าจะเคยอยู่ที่นั่นด้วย และเอาเข้าจริงแล้ว หนังสือ หลักไทย ก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะค้นคว้าว่าคนไทยมาจากไหนเลยนะครับ ท่านแต่งหนังสือประกวดเอารางวัลประเภทซีไรต์ในยุคสมัยของท่านต่างหาก และก็อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า ทั้งเล่มมีชื่อเทือกเขาอัลไตโผล่มาแค่ครั้งเดียวเท่านั้นเอง จะเรียกว่าพูดถึงอยู่หร็อมแหร็มยังไม่ได้ด้วยซ้ำไป
กลับเป็นบรรดาคนอ่านเมื่อครั้งกระโน้นเองต่างหากที่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จนดูราวกับว่า
หลักไทย ทั้งเล่มพูดถึงการค้นคว้าว่าคนไทยมาจากไหน?
ขุนวิจิตรมาตราดูจะไม่ได้ต้องการตรวจสอบเลยด้วยซ้ำ ว่าเทือกเขาอัลไตคืออะไร หลักฐานก็คือการที่หนังสือเล่มนี้เรียก ‘เทือกเขาอัลไต’ ว่า ‘ภูเขาอัลไต’ นี่แหละ (กรุณาย้อนกลับไปอ่านบนย่อหน้าที่ผมคัดจากหนังสือ หลักไทย มาทั้งดุ้น)
คือเทือกเขาอัลไตนี่ไม่ได้อยู่ในไฟลัมเดียวกับเทือกเขาบรรทัด ตะนาวศรี พนมดงเร็ก สันกาลาคีรี หรือถนนธงชัยของบ้านเราเลยนะครับ ความใหญ่ยาวของเทือกเขาที่ว่านี้ต้องเปรียบเทียบกับเทือกเขาไซส์พี่บิ๊กทั้งหลายของโลกจึงจะเหมาะกว่า
และแน่นอนว่าคงไม่มีใครไปเรียกเทือกเขาขนาดมหึมาทั้งหลายว่า ‘ภูเขา’ หรอกนะครับ
พื้นที่ของเทือกเขาอัลไตครอบคลุมดินแดนขนาดใหญ่ยักษ์หลายผืนแผ่นดิน ไล่ตั้งแต่มณฑลซินเจียง ประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย ไซบีเรีย ในประเทศรัสเซีย และประเทศคาซัคสถาน สิริรวมความยาวได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,000 กิโลเมตร (ย้ำอีกทีด้วยว่า 2,000 กิโลเมตรที่ว่าเป็นระยะความยาวของเทือกเขา ไม่ใช่ขนาดของพื้นที่)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in