บทนำ
๑
เมื่อแรกก่อนที่ข้อเขียนชุดนี้จะทยอยลงในสำนักข่าวออนไลน์อย่าง The MATTER มันเกือบจะไม่ได้มีชื่อว่า ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง แล้วนะครับ เคราะห์ดีที่อยู่ๆ มีแสงบุญสว่างวาบขึ้นมากลางใจผม ทำให้ข้อเขียนพวกนี้ไม่ถูกรวบเข้าด้วยกันในชื่อเห่ยๆ ที่ผมคิดขึ้นมาเองว่า Fake in Thailand
ต้องขอบคุณ ลูกแก้ว-โชติรส ที่ทักขึ้นมาว่า “เอิ่ม...ใช้ชื่อว่า ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง จะดีกว่ามั้ยพี่?” เธอทักขึ้นมาด้วยสีหน้าและอารมณ์ทำนองแบบ “นี่พี่จะใช้ชื่อเหียกๆ นั่นจริงเหรอคะ?”
ถูกต้องแล้วครับ ชื่อ ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ของข้อเขียนชุดนี้ผมไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นมาเองหรอก แต่เป็นลูกแก้วต่างหากที่อุตส่าห์คิดเอาไว้ให้
แน่นอนว่าผมชอบชื่อที่เธอคิดให้มากกว่า (ไม่อย่างนั้นผมจะเอามันมาใช้เป็นชื่อข้อเขียนชุดนี้ทำไมกันล่ะ ปั๊ดโธ่!) และผมยังนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าบรรดาข้อเขียนพวกนี้ถูกเขียนขึ้นในชื่อ Fake in Thailand จะมีใครมาอ่านบ้างไหม? เพราะเอาเข้าจริงแล้วชื่อที่ผมคิด มันดูไม่ค่อยจะตรงประเด็นกับอะไรๆ ที่ผมจะเขียนเอาเสียเลย
เรียกได้ว่า แสงบุญที่สว่างวาบขึ้นมาในใจผม ณ ขณะจิตนั้นก็คือ ลูกแก้ว-โชติรส นี่แหละ
๒
ก่อนหน้าที่ผมจะต้องมาปวดหัวกับการคิดชื่อของข้อเขียนชุดนี้ มันมีสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ผมกับคุณแชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ได้มารู้จักกัน จนกระทั่งได้มาเป็นเพื่อนกันบนโลกเกรียนๆ อย่างเฟซบุ๊ค
ใช่ครับ ใช่ คุณแชมป์ที่เก่งๆ หล่อๆ ดังๆ แล้วก็เป็นบรรณาธิการของ The MATTER นั่นแหละ (แผล่บๆ)
จนกระทั่ง ณ ห้วงขณะจิตหลังจากที่ผมได้รู้จักกับคุณแชมป์ไม่นานนัก กองบรรณาธิการ The MATTER ที่มีคุณแชมป์เป็น ‘The Boss’ ก็เริ่มตามล่าหาสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาจะมอบตำแหน่งที่เรียกว่า ‘Thinker’ ให้ เพื่อทำหน้าที่เขียนคอลัมน์ในสำนักข่าวออนไลน์แห่งนี้สัปดาห์ละหน
และแล้วก็มีใครบางคนในกองบรรณาธิการเสนอชื่อผมเข้าไปในนั้น ไม่อยากจะบอกเลยว่า ใครคนนั้นมีชื่อว่า ลูกแก้ว-โชติรส คนเดิม
แปลกดีนะครับที่คุณแชมป์รับผมไว้พิจารณาในอ้อมใจ เพราะถึงแม้ว่าผมจะเคยเขียนคอลัมน์ลงวารสารรายสัปดาห์ต่างๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วบรรดางานเขียนของผมก็หนักไปในลักษณะเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นสายงานโดยตรงที่จบหรือทำงานมาอย่างประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี หรือสายงานที่เกี่ยวข้องอย่างประวัติศาสตร์ ไม่เคยได้เฉียดใกล้กับอะไรอย่าง The MATTER ในมโนของผมขณะนั้นเลยสักนิด
ข้อเขียนชิ้นแรกในงานชุดนี้อย่าง เผ็ดมาตั้งแต่รุ่นแม่ หรือที่แท้ฝรั่งเอามาให้? (ซึ่งก็มีรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มน้อยในมือของคุณๆ ในขณะนี้) ตอนแรกที่ถูกนำเสนอออกมาในเวอร์ชั่นออนไลน์จึงมีลักษณะเกร็งๆ และพยายามยัดเยียดข้อมูลทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เสียเหลือเกิน แถมยังมีชื่อยาวกว่าชื่อที่ถูกตัดทอนลงเมื่อนำมาตีพิมพ์ในครั้งนี้อีกคือ เผ็ดมาตั้งแต่รุ่นแม่ หรือที่แท้ฝรั่งเอามาให้?: ประวัติศาสตร์ว่าด้วย ‘พริก’ ในอาหารไทย (ชื่อจะยาวไปไหนเนี่ย?)
โถ! จะเขียนอะไรอย่างนี้ทั้งที ยังอุตส่าห์มีคำโปรยชื่อเรื่องที่ทางก๊ารทางการอีกนะพ่อคู้ณณณณ...
๓
“พลังอันยิ่งใหญ่ มักมาพร้อมกับหน้าที่รับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”
คุณลุงของปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ หรือสไปเดอร์แมนในคราบปุถุชนบอกกับเราเอาไว้อย่างนั้น (เอ่อ... ว่าแต่มีใครพอจะจำชื่อลุงได้บ้างมั้ย?) ดังนั้นเมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งใน Thinker ขององค์กร ผมจึงต้องหาไอเดียไปเสนอ The Boss อย่างคุณแชมป์ด้วยว่าจะมีธีมในการเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ประวัติศาสตร์โลกในอุ้งตีนเหมียว (คงจะไม่ต้องบอกนะครับว่าผมเป็นทาสอะไร?) เป็นหัวข้อแรกที่ผมนำไปเสนอ ด้วยเห็นว่าตัวคุณแชมป์ก็เป็นทาสแมวไม่ต่างกับผม
ผลลัพธ์น่ะหรือครับ?
หัวข้อที่ว่าถูกตีตกมาอย่างไม่มีทางเลือกให้ผมอุทธรณ์สักแอะ แต่คุณแชมป์ในฐานะท่านบรรณาธิการก็ให้ไอเดียกว้างๆ กลับมาว่า เอาแบบสเตตัสหนึ่งที่ผมเขียนในเฟซบุ๊คบัญชีส่วนตัวของผมเป็นแนวทางได้ก็ดี พูดง่ายๆ ว่า The Boss แกชอบสเตตัสอันนั้นแหละครับ
สเตตัสที่ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเพณีการยืนตรงเคารพธงชาติของไทยว่ามันเกิดเมื่อไหร่ มีขึ้นได้ยังไง และทำไปเพื่ออะไรกัน? ซึ่งก็เป็นงานชิ้น Prototype ของข้อเขียนเรื่อง ธงชาติต้องเคารพทำไม เพราะเป็น ‘วัตถุศักดิ์สิทธิ์ขลัง’ ไง กระทรวงศึกษาฯ บอกไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 โน่นแหนะ (เอิ่ม... บางทีถ้าคนเราหมดมุก มันก็ต้องมีการหยิบเอาของเก่าๆ มาหากินกันบ้างนะครับ) หรือที่ถูกนำมาปรับปรุงสำนวนและข้อมูลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ในชื่อที่กระชับยิ่งขึ้นว่า ธงชาติต้องเคารพทำไม? เพราะรัฐว่าขลังไง คนไทยเลยต้องเคารพ
เรียกได้ว่า ข้อเขียนชิ้นนี้นั่นแหละครับ คือที่มาของแนวทางของ ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ทั้งหมด
๔
ข้อตกลงแรกระหว่างผมกับคุณแชมป์คือ ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง จะเป็นชุดข้อเขียนที่มีขนาดใหญ่ยาวเพียงแค่แปดตอนเท่านั้น แต่วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก (วันเวลานี่นิสัยไม่ดีเลยเนอะ ศีลข้อมุสาแค่นี้ยังรักษาไม่ได้) ณ ขณะจิตที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับชิ้นนี้อยู่ สามารถนับจำนวนพลของข้อเขียนใน ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ได้ราวๆ สามสิบชิ้นแล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมข้อเขียนชุดนี้ถึงออกลูกออกหลานเลยเถิดมาถึงขนาดนี้ได้
ตลอดช่วงระยะเวลาที่
ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ได้ทยอยลง The MATTER สัปดาห์ละครั้ง (อันที่จริงแล้วก็มีหยุดเขียนบ้าง โดยมีเหตุมาจากทั้งงานราษฎร์ งานหลวง และเหตุผลส่วนตัว) ดังนั้นกว่าที่หนังสือเล่มนี้จะวางแผง ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง จึงมีอายุเฉียดๆ จะครบหนึ่งขวบอยู่รอมร่อแล้วนะครับ
และก็เป็นในช่วงระยะเวลาเฉียดๆ หนึ่งปีที่ผ่านมานี้แหละ ที่ผมต้องส่งต้นฉบับให้ อาหมิง (คนที่ทำให้ผมต้องแทนตัวเองว่าโบร และต้องเรียกหล่อนว่า ซิส อยู่ตลอดเวลา) เกือบทุกสัปดาห์ แวะไปคุยงานและสังสรรค์ที่ออฟฟิศของ The MATTER (ที่จริงคือไปเล่นบอร์ดเกม) ทั้งกับกองบรรณาธิการคนอื่นๆ อย่างนัทเทอร์ (ผู้มีบุคลิกภาพตรงข้ามกับงานเขียน จนบางทีผมก็สงสัยว่าน้องเขาเขียนอะไรวิชาการอย่างนั้นได้ไง?) ว่าน (สาบานได้ว่าดู Bitchy อย่างนี้ แต่นางเวรี่เจ๋งในสาขาวิชาที่ค่อนข้างขัดกับลุคของตัวเองอย่างด้านวรรณกรรม) อัพ (ถ้าจะมีนักวิชาการสายโอตาคุ ผมว่าก็ต้องเป็นอัพนี่แหละไม่ผิดตัว) จั๊ก (เห็นเงียบๆ แต่ที่จริงเธอร้าย จนผมต้องขอให้มาออกแบบปกหนังสือเล่มนี้เลยนะครับ) และน้องๆ คนอื่นๆ ในเครือแซลมอน รวมถึงน้องๆ ฝึกงานอีกหลายต่อหลายคน
สำหรับผมแล้ว The MATTER จึงอบอุ่นเหมือนครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องผูกพันกันด้วยสายเลือด หรือสถาบันใดๆ ดังนั้นผมจึงแทบไม่ต้องคิดอะไรเลยเมื่อคุณแบงค์—ณัฐชนน มหาอิทธิดล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ติดต่อเข้ามาว่าจะขอรวมเล่มข้อเขียนชุด
ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง แล้วพิมพ์ออกมาเป็นเล่มภายใต้ชื่อเดียวกับชุดข้อเขียนนี้ (เว้นแต่ที่ต้องครุ่นคิดอยู่สักนิดว่า รวมเล่มออกมาแล้วจะทำให้สำนักพิมพ์เขาขาดทุนหรือเปล่าน่ะนะ?)
ท้ายสุดและสุดท้าย ผมต้องขอขอบคุณ คุณกาย—ปฏิกาล ภาคกาย เป็นอย่างยิ่งที่ช่วยเป็นบรรณาธิการ พันธุ์ทิพย์ ศุภรุจกิจ, คาลิล พิศสุวรรณ, ชนานาฎ ทองมณี และ ฐิตา อวัยวานนท์ กองทัพประจำทีมแซลมอน ที่คอยติดตามคนส่งงานล่าช้าตลอดอย่างผม โดยไม่เคยบ่นกระปอดกระแปดหรือแสดงความย่อท้อให้เห็น (กราบ) แถมยังคอยตรวจแก้ และสอบถามข้อสงสัยอะไรสารพัดสิ่ง ที่ผมก็นึกไม่ถึงในข้อเขียนชุดนี้ของตัวเอง จนผมต้องกลับมารื้อและสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งก็ทำให้ทราบว่าเมื่อแรกที่เขียนลงเป็นฉบับออนไลน์นั้น ข้อมูลบางอย่างได้คลาดเคลื่อนไป อย่างเช่นในข้อเขียนเรื่อง ‘ยิ้มสยาม’ คือยิ้มให้ใคร แล้ว ‘สวัสดี’ คือคำเก่าไทย หรือว่าใครเพิ่งประดิษฐ์ และ ‘แม่นาก’ มาจากไหน เซเลบผีไทยหรือลูกครึ่งผีเขมร เป็นตัวอย่างสำคัญ ข้อเขียนที่ปรากฏทั้งหมดอยู่ในหนังสือเล่มนี้จึงไม่มีชิ้นไหนเลยที่ไม่ได้รับการปรับปรุง สอบทาน และเรียบเรียงบางส่วน (หรือบางชิ้นก็หลายส่วน) ขึ้นใหม่จากฉบับออนไลน์ทั้งหมดก็ด้วยการทำงานหนักของทีมกองบรรณาธิการนี่เอง
สุดท้ายและท้ายสุดอีกที ถ้าข้อเขียนชุด ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ในโลกออนไลน์ จะทำให้ผมได้พบและพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นไทย’ ในฐานะสมาชิกหน่วยหนึ่งในโลกที่กว้างไปกว่าเฉพาะอะไรไทยๆ จากมุมมองทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว การจัดทำต้นฉบับหนังสือ ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ครั้งนี้ ผมก็ได้ทบทวนทั้งความรู้ และวิธีการเขียนของตัวเองไปด้วยในโลกอันลุ่มลึกกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในฉบับออนไลน์ ซึ่งผมก็เชื่อเหลือเกินว่า คุณผู้อ่านทุกท่านซึ่งเคยผ่านตาจากฉบับก่อนรวมพิมพ์ จะสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้
และถ้าไทยๆ ในโลกจะล้วนแล้วแต่ชวนให้อนิจจัง การทบทวนและจัดทำต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยให้ผมรู้ว่า แม้แต่ข้อเขียนชุดนี้ก็เป็นอะไรที่ไท้ยไทยและยังหลีกหนีจากสิ่งที่ชวนอนิจจังไปไม่พ้นเช่นกัน
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in