เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SALMON FEEDSALMONBOOKS
BOOK HUB: TOMORN SOOKPRECHA

  • เพราะเราคิดว่าร้านหนังสือเป็นสถานที่พิเศษสำหรับคนรักหนังสือ เราเลยอยากรู้ว่านักเขียนแต่ละคนมีร้านโปรดบ้างมั้ย และมีร้านใดที่เขาประทับใจไม่รู้ลืมบ้าง

    ประเดิมคนแรกด้วย ‘โตมร ศุขปรีชา’ หนึ่งในนักเขียนที่เดินเข้าออกร้านหนังสือทั้งในและนอกประเทศอยู่บ่อยๆ


    — ร้านหนังสือที่นึกถึง

    โตมร: “จริงๆ แล้วร้านหนังสือที่ผมนึกถึงอยู่เสมอไม่ใช่ร้านหนังสือนะครับ แต่เป็นเหมือน ‘โกดัง’ หนังสือเก่ามากกว่า ชื่อว่า The Book Thing อยู่ที่เมืองบัลติมอร์ ในสหรัฐอเมริกา เพื่อนที่อยู่ที่นั่นพาไป ไปแล้วต้องตะลึง เพราะมันคือสถานที่ที่ผู้คนเอาหนังสือที่ตัวเองไม่เก็บแล้วมาบริจาค ซึ่งไม่ได้แปลว่าเป็นหนังสือขยะ แต่ The Book Thing มีหนังสือหลากหลายล้นเหลือเกินจินตนาการของผู้คน มีอาสาสมัครที่ทำงานในนั้นคอยคัดแยกหนังสือที่ได้รับบริจาคมา แล้วก็เอาขึ้นชั้นตามหมวดหมู่ต่างๆ ให้คนที่มาเยือนสามารถ ‘เลือก’ หนังสือเล่มไหนก็ได้เอากลับบ้านไป ใช่ครับ—เอากลับไป ‘ฟรีๆ’! 

    “อย่างไรก็ตาม ความน่าประทับใจของ The Book Thing ไม่ได้อยู่ที่ ‘ความฟรี’ แต่อยู่ที่การฉายชัดให้เห็นเลยว่า บัลติมอร์เป็นเมืองที่มี ‘วัฒนธรรมแห่งการอ่าน’ และ ‘วัฒนธรรมแห่งการแบ่งปัน’ มากแค่ไหน ถ้าคนอ่านหนังสือไม่มากพอ The Book Thing ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะจะไม่มีปริมาณหนังสือที่มากจนสามารถคัดเลือกเป็นหมวดหมู่ได้ขนาดนั้น มีตั้งแต่นิยายธรรมดาๆ ไปจนถึงงานวรรณกรรมของนักเขียนใหญ่ๆ ส่วนงาน Non-Fiction ก็มีตั้งแต่งานแบบ Pop Science จนถึงเรื่องทางสังคมศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา ภูมิศาสตร์ เฟมินิสม์ Queer Study และมีแม้กระทั่งเรื่อง Thai Studies 

    “ในเวลาเดียวกัน ถ้ามีแต่วัฒนธรรมการอ่าน แต่ไม่มีวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปัน The Book Thing ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกเช่นกัน เราเห็นได้เลยว่า หนังสือใน The Book Thing ไม่ใช่หนังสือที่คน ‘ทิ้ง’ เพราะมันมีหนังสือดีๆ เต็มไปหมด จริงอยู่ บางคนอาจมีหนังสือซ้ำ บางคนอาจไม่มีที่แล้วเลยต้องตัดใจ แต่โดยมาก คนที่เอาหนังสือมาบริจาคที่นี่ก็เพราะรู้ว่า The Book Thing จัดการหนังสืออย่างคนรักหนังสือ และคนที่หยิบจับเลือกสรรไป ถ้ารักหนังสือเล่มนั้นจริงๆก็จะเก็บเอาไว้อย่างดี แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่ต้องการแล้ว ก็สามารถนำกลับมา ‘หมุนเวียน’ ให้คนอื่นอ่านได้ที่ The Book Thing อีกครั้ง 

    “The Book Thing จึงเป็นร้านหนังสือ (ที่ไม่ใช่ร้านหนังสือ) ที่ผมประทับใจมาก แม้เอาเข้าจริงอาจมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังที่เราไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะลดทอนคุณค่าและความตั้งใจเดิมแท้ของ The Book Thing ลงไปได้ 

    “ล่าสุด The Book Thing เพิ่งถูกไฟไหม้ ร้านน่าจะเปิดใหม่กลางปีนี้ โดยมีอาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแลทำความสะอาดและเก็บกวาดหนังสือที่ถูกไฟไหม้กันมากมาย ทำให้เห็นว่า The Book Thing ยังมีหน้าที่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนอีกด้วย” 


    — ร้านหนังสือที่ไปเป็นประจำ

    โตมร: “เป็นคนไม่มีร้านหนังสือประจำนะครับ เพราะส่วนใหญ่วิถีชีวิตไม่ค่อยได้กรายใกล้ร้านหนังสือในแบบที่ชอบไป (เช่น ก็องดิด, Bookmoby, ร้านหนังสือเดินทาง, ร้านเล่า, ร้าน Book Re:public, ร้านคิโนะคุนิยะที่สยามพารากอน, ฯลฯ) แต่โดยรวมก็คือ ชอบไปร้านหนังสือประเภทที่เป็นร้านเล็กๆ ร้านอิสระ ร้านที่ขายหนังสือแปลกๆ ร้านที่คนขายรู้จักหนังสือของตัวเองอะไรทำนองนั้น แต่น่าเสียดายที่ร้านพวกนี้มักจะไม่ค่อยอยู่กันนาน 

    “อยากยกตัวอย่างร้านที่ชอบมากๆ สองสามร้าน เช่นร้านชื่อ Midnight Special ที่ซานตามอนิกาในแอลเอ เดิมทีเป็นสหกรณ์มาก่อน อยู่ได้เพราะเจ้าของที่คิดค่าเช่าถูก แต่พอเจ้าของที่เปลี่ยนนโยบายก็ต้องปิดร้านไป ร้านนี้ขายหนังสือที่ก้าวหน้ามากๆ และมีนักเขียนมาพูดคุยที่ร้านเยอะมาก เช่น เดฟ เอกเกอร์ส, เอ็ดเวิร์ด ซาอิด ฯลฯ 

    “อีกร้านที่ชอบมากก็คือ A Different Light เป็นร้านที่ขายหนังสือเกย์เลสเบี้ยน อยู่ในย่านคาสโตรของซานฟรานซิสโก เป็นร้านหนังสือ LGBT ที่เคยมีอิทธิพลมากที่สุดในสหรัฐฯ นักเขียน LGBT มาปักธงแจกลายเซ็นที่นี่กันมากมาย จนที่สุดก็ขยายไปหลายสาขา (อีกที่ที่เคยไปคือที่เวสต์ฮอลลีวูดในแอลเอ ซึ่งเป็นย่าน LGBT เหมือนคาสโตร) แต่ร้านนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเจ้าของที่เป็นทนายความล้วนๆ (พูดอีกอย่างก็คือไม่ได้ทำเงินอะไรมากมาย) พอเจ้าของตายกะทันหัน ร้านจึงต้องปิดตัวลงด้วย แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งในสหรัฐฯ การเป็น ‘ร้านหนังสืออิสระ’ ที่ก้าวหน้านั้น ก็มีชะตากรรมพอๆ กับร้านหนังสือในไทยนั่นแหละ”
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in