เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SALMON FEEDSALMONBOOKS
BOOK HUB: NUTTHAPONG CHAIWANITPHON

  • เรื่องเล่าถึงร้านหนังสือที่ประทับใจของ ‘ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล’ นักเขียนผู้นั่งเครื่องบินไปญี่ปุ่นบ่อยอย่างกับนั่งบีทีเอสไปสยามฯ :->


    — ร้านหนังสือในดวงใจทั้งในไทยและญี่ปุ่น

    “ตอนเด็กๆ ถ้าไม่นับร้านหนังสือการ์ตูน ร้านที่ผูกพันที่สุดคงเป็น ‘อาเข่ง บุ๊คเซนเตอร์’ แต่ก่อนถือว่าเป็นร้านใหญ่ในขอนแก่นเลยนะ คือต้องเข้าใจก่อนว่าที่นั่นไม่ค่อยมีอะไรมาก เวลาตามพ่อไปทำงานเราก็ไม่มีอะไรทำ เลยไปนั่งรอพ่อในร้านนี้ประจำ หยิบเล่มโน้นเล่มนี้อ่านจนติดเป็นนิสัย ทำให้ทุกวันนี้กลายเป็นชอบเข้าร้านหนังสือไปเลย

    “พอไปเรียนที่ญี่ปุ่น เราชอบไปร้าน ‘Maruzen’ ร้านหนังสือแฟรนไชส์ที่มีสาขาอยู่กลางเมืองนาโงย่า เราไปร้านนี้บ่อย เพราะมีตำราเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับคนต่างชาติที่ยังอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ขาย มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งอ่านหนังสือได้เหมือนร้านกาแฟ บรรยากาศเหมาะกับการอ่านหนังสือมาก แถมไม่มีคนอ่านบนพื้นเหมือนบ้านเรา แต่เสียดาย ที่ปัจจุบันร้านนี้ปิดไปแล้ว

    “พอเริ่มทำงาน เราจะอยู่ในโตเกียวเป็นส่วนใหญ่ ที่พักอยู่แถวอิเคะบุคุโระ การเดินเล่นแถวนั้นทำให้เราเจอร้านชื่อ ‘Libro’ เป็นร้านใหญ่ มีหกชั้น แต่ละชั้นแบ่งหนังสือเป็นหมวดหมู่ เราชอบไปร้านนี้เพราะเดินทางสะดวก แถมใช้แต้มสะสมคู่กับ Loft ได้ ซึ่งสำคัญมาก (หัวเราะ) แต่น่าเสียดายที่มันปิดไปแล้วเหมือนกัน…”


    — ความประทับใจในร้านหนังสือญี่ปุ่น

    “ข้อแรก ร้านหนังสือญี่ปุ่นจัดหมวดของหนังสือต่างๆ ไว้ดีมาก ทำให้หาหนังสือง่าย

    “ข้อสอง ญี่ปุ่นมีพื้นที่ให้กับนิยาย ถ้ามีนักเขียนนิยายหน้าใหม่ได้รับรางวัล เช่น ‘รางวัลอะคุตะงะวะ’ (Akutagawa Prize) ทางร้านก็จะเอามาโปรโมตวางขายอย่างโดดเด่น นอกจากนี้ยังสนับสนุนงานเขียนคลาสสิก ผลงานของพวกนักเขียนเก๋าๆ อย่าง ‘อะคุตะงะวะ ริวโนสุเกะ’ ‘นัตสึเมะ โซเซกิ’ ‘ดะไซ โอซามุ’ มีวางขายทั่วไป เด็กรุ่นใหม่หาอ่านได้สะดวก แต่กับบ้านเรา งานคลาสสิกอย่าง ‘’รงค์ วงษ์สวรรค์’ หรือ ‘ศรีบูรพา’ หาซื้อไม่ค่อยได้ ต้องไปซื้อมือสองราคาแพงมาอ่าน

    “อีกข้อคือ หนังสือญี่ปุ่นมีหลากหลาย ล่าสุดไปเจอหนังสือ ‘ค่าเฉลี่ยเงินเดือนของแต่ละอาชีพ’ ฟังดูเหมือนเป็นหนังสือน่าเบื่อใช่มั้ยครับ แต่เขานำเสนอคนแต่ละอาชีพด้วยการทำเป็นตัวการ์ตูนในเกมอาร์พีจี เช่น ตัวบาร์เทนเดอร์ก็จะมีอาวุธเป็นแก้วเหล้า มีกราฟอัตราการขึ้นเงินเดือน และคำบรรยายเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ เหมือนหนังสือแนะแนวการงานอาชีพทั่วไป แต่นำเสนอออกมาได้น่าสนใจกว่า นี่ยังไม่รวมหนังสือที่ได้แต่สงสัยว่า ‘ทำมาขายใครวะ?’ อย่างพวกประวัติศาสตร์เกมโป๊ยุค 90s หนังสือที่เอานักกีฬาจักรยานมาแก้ผ้าโพสท่าปั่นเพื่อให้เห็นการใช้กล้ามเนื้อ หรือหนังสือประเภท ‘พระหล่อบอกด้วย’ ยังมีเลย ต้องยอมรับว่าที่ญี่ปุ่นเขาให้คุณค่ากับทุกเรื่อง แถมพอตั้งใจทำอะไรก็ทำสุดทาง”


    — ร้านหนังสือห้ามพลาดในญี่ปุ่น!

    ‘Village Vanguard’ มีหลายสาขา คนชอบการ์ตูนน่าจะรู้จัก ใครไปก็น่าจะสนุก เพราะเขาจะจัดร้านแบ่งโซนตามการ์ตูนที่กำลังดังในช่วงนั้นๆ และสั่งสินค้าที่เกี่ยวกับการ์ตูนเหล่านั้นมาวางขายเยอะแยะไปหมด อย่าง โซน ‘กันดั้ม’ ก็จะมีของเล่นกันดั้ม การ์ตูนกันดั้ม และหนังสือแปลกๆ อย่างหนังสือวิเคราะห์การเมืองของกันดั้ม หนังสือประวัติศาสตร์กันดั้มวางขายด้วย

    "อีกร้านคือ ‘Tower Records’ สาขาชิบุยะ ใครชอบดนตรีคงจะถูกใจ เพราะชั้นสองมีแต่หนังสือเกี่ยวกับดนตรี นอกจากนี้ในร้านยังมีคาเฟ่ที่จัดอีเวนต์อยู่เรื่อยๆ สะดวกสบายเดินจากสถานีชิบุยะไม่ไกลเท่าไร”

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in