เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
To all the movies I've watched beforeilysm
Movie Review “From the land of the moon รักร่วงหล่นบนดวงจันทร์”
  •  

    บทวิจารณ์ภาพยนตร์

    “From the land of the moon รักร่วงหล่นบนดวงจันทร์”

     






                From the land of the moon (Mal De Pierres)ภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าที่ดัดแปลงจากนิยายอิตาลีของ มิเลนา อังกุส (Milena Angus) ได้เข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2016 ด้วยคุณภาพและเสน่ห์ในแบบฉบับภาพยนตร์ฝรั่งเศสกำกับโดย นิโคล การ์เซีย (Nicole Garcia) ผู้กำกับสาวผู้ปั้นผลงานชิงรางวัลอีกมากมาย เช่น  Place Vendôme, The Adversary, และ Charlie Says อีกทั้งเรื่องนี้ยังได้นักแสดงมากฝีมืออย่างมาริยง โกติยาร์ (Marion Cotillard) มาร่วมรับบทตัวละครหลักกาเบรียล(Gabrielle) และ อเล็กซ์ เบรนเดอมึล (Àlex Brendemühl) ในบทบาทพระเอกโฌเซ่ (José)


    ‘กาเบรียล’ หญิงสาวครอบครัวชาวไร่ในเมืองลียง(Lyon) ฝรั่งเศสตกหลุมรักชายหนุ่มที่แต่งงานแล้ว เธอไม่เคยปิดบังความรักความปรารถนาที่มีต่อเขา ผู้คนเล่าลือกันว่ากาเบรียลป่วยทางจิตครอบครัวเลยจับเธอแต่งงานกับ ‘โฌเซ่’ คนงานในไร่ผู้แอบรักแอบมองกาเบรียลมาโดยตลอด และไม่ปฏิเสธที่จะดูแลเธอแทนครอบครัว ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ระหองระแหงห่างเหินเพราะกาเบรียลลั่นวาจาว่าจะไม่มีวันรักเขาเรื่องราวขมวดเกลียวซับซ้อนขึ้นเมื่อกาเบรียลพบรักกับ อังเดร ซาเวจ นายทหารหนุ่มที่โรงพยาบาลขณะรับการรักษาโรคนิ่ว ยิ่งใช้เวลาด้วยกันเธอก็ยิ่งต้องการเขา ทั้งสองจึงให้สัญญาว่าจะหนีไปอยู่ด้วยกัน


    From the land of the moon ดำเนินเรื่องแบบ ‘Early point of attack’ คือ ทิ้งปมไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องให้ผู้ชมรอติดตาม ภาพยนตร์เปิดฉากด้วยภาพสามีภรรยาคู่หนึ่งพาลูกชายไปร่วมการแข่งขันเปียโนจู่ๆผู้เป็นแม่ก็ขอลงจากรถไป กระตุ้นให้ผู้ชมเคลือบแคลงใจว่ามีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากลกับผู้หญิงคนนี้เรื่องค่อยๆย้อนอดีตเล่าชีวิตของกาเบรียล ภาพยนตร์เน้นความสมจริง (Realistic)ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ลีลาการถ่ายทอดจะเนิบนาบ เรียบเรื่อยจนถึงขั้นน่าเบื่อ เพราะทั้งฉาก ตัวละคร บทสนทนา ระยะเวลาต่างๆแทบจะเรียกได้ว่าหลุดมาจากชีวิตประจำวันของผู้คนจริงๆ


    ภาพยนตร์ผูกความขัดแย้งสารพัดที่เราเห็นได้ชัดตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างกาเบรียลกับครอบครัวที่ดูไม่ผูกพันกันเลยแม้แต่น้อยหนำซ้ำกาเบรียลเหมือนถูกมองเป็นตัวปัญหามากกว่า ตรงนี้ต้องขอชื่นชมว่ามาริยงโกติยาร์ สวมบทบาทเป็นผู้หญิงที่แสนซับซ้อนเข้าใจยากคนนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม สีหน้าท่าทาง หรือแม้แต่แววตาของมาริยงนั้นราวกับว่าตัวเธออยู่อีกโลกหนึ่งโลกคนละใบกับที่คนอื่นๆในเรื่องอยู่ โลกของเธอโหยหาความรักที่ร้อนรุ่มและงดงามอย่างที่กาเบรียลภาวนากับรูปพระเยซูว่า "มอบของสำคัญแก่ฉัน ไม่ก็ปล่อยให้ฉันตาย" ของสำคัญในที่นี้ขอตีความว่าหมายถึงรักแท้น่าสนใจว่าฉากนี้สะท้อนความเชื่อและยึดเหนี่ยวในศาสนา หรือแท้ที่จริงแล้วความจับต้องไม่ได้ของศาสนาและความรักคือสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของกาเบรียลมาโดยตลอด?ไม่ว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ มาริยงก็ทำให้ผู้ชมเชื่อหมดใจว่ากาเบรียลนั้นช่างเพ้อฝันและความฝันของเธอน่าลุ่มหลงไม่แพ้ตัวเธอเอง ขณะเดียวกันก็อ้างว้างราวกับมาจาก ‘ดวงจันทร์’ อันไกลโพ้นเสน่ห์อีกอย่างของมาริยงคือเธอแสดงนิ่งและสงบค่อยๆไต่ระดับไปจนถึงจุดที่ระเบิดอารมณ์ออกมา เช่น ฉากร้องไห้ท่ามกลางม้วนคลื่นซัดโถมมาริยงคือตัวแทนของคำว่า ‘ใจแตกสลาย’ โดยแทบไม่ต้องฟูมฟายหรือที่เราเรียกกันว่า ‘Less is more’ แสดงออกน้อยแต่ส่งพลังมาถึงคนดูมาก


    อย่างไรก็ตามนอกจากมาริยงแล้ว ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกถึงพลังในการแสดงของใครเลยจริงอยู่ที่อเล็กซ์ทำได้ดีในบทของโฌเซ่ แววตาของอเล็กซ์สะท้อนความเงียบขรึม ความรักความห่วงใย เจ็บปวด ผิดหวัง แต่อเล็กซ์ไม่ได้ทำให้บทนี้มีเสน่ห์น่าดึงดูด จนถูก ‘กลืนหาย’ ไปกับเรื่อง และ ‘จืดชืด’ ยิ่งกว่านิสัยของโฌเซ่เสียอีก แม้แต่ลูอิสการ์เรล ที่รับบทอังเดร ยังแย่งเอาความโดดเด่นไปเสียหมดทั้งที่บทของโฌเซ่มีความลึกและน่าค้นหากว่าหลายเท่านัก แต่การแสดงที่ยัง ‘ไปไม่ถึง’ ดวงจันทร์ของอเล็กซ์ทำให้ผู้เขียนลืมโฌเซ่ทันทีที่ออกจากโรง


    ความขัดแย้งต่อมาของเรื่องคือ ความปรารถนาของกาเบรียลที่ตรงข้ามกับสิ่งที่โลกภายนอกปรารถนา เธอรักอังเดรทั้งที่แต่งงานแล้วและเขียนจดหมายเป็นร้อยๆฉบับถึงเขาเรื่องราวเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆเมื่อกาเบรียลบอกโฌเซ่ว่าเธอคบชู้ ก่อนที่จะตู้ม—ไคลแมกซ์—ภาพยนตร์เฉลยว่าอังเดรนั้นเสียชีวิตไปตั้งแต่ครึ่งเรื่องแรกภาพที่กาเบรียลเห็นว่าเขารักเธอ ถ่ายรูปกับเธอ มีสัมพันธ์ทางกายกับเธอ ล้วนคือมายาหลอนที่จิตอ่อนแอของเธอสร้างขึ้นมาเองและคนที่รู้มาโดยตลอดก็คือโฌเซ่ เรียกได้ว่าภาพยนตร์ ‘หลอก’ ทั้งกาเบรียลและคนดูได้อยู่หมัดและกลายเป็นการหักมุมอันตลกร้ายที่ทำให้แม้แต่ผู้เขียนก็ต้องยอมรับว่าตัวบททั้งแยบคายและเร้าอารมณ์กว่าที่คาดไว้ถึงกับปรบมือให้ผู้เขียนบทในใจว่า ‘ฉากนี้สิโคตรตบหน้าดวงจันทร์’


    แต่ก็มีจุดที่อยากติติงเกี่ยวกับตัวบทค่อนข้างผิดหวังที่เนื้อหาดันสร้างบุคลิก "มีปัญหาทางจิต" ให้กับกาเบรียล โดยไม่คลายปมว่าที่จริงกาเบรียลมีความคิดความรู้สึกอย่างไร และปัญหาทางจิตที่มีคืออะไร ความสมเหตุสมผลของเนื้อเรื่องน้อยลงกาเบรียลไม่ได้ปรากฏว่ามีเค้าอาการจิตหลอนมาก่อน จึงดูขัดๆที่กลายเป็นว่าเธอแยกระหว่างผู้ชายสองคนไม่ออกด้วยซ้ำและสภาพจิตหลอนนั้นดำเนินไปเป็นระยะเวลาใหญ่ ฝังในจิตใต้สำนึกเธอหลายปีดูตรงข้ามกับความสมจริงที่ภาพยนตร์พยายามคุมโทนอารมณ์มาโดยตลอดหรือหากมีคำอธิบายที่เหมาะสมภาพยนตร์ก็ไม่ได้เฉลยส่วนนั้นให้ผู้ชมเข้าใจอย่างถ่องแท้ จนผู้เขียนไม่แน่ใจว่าหรือตัวบทจะเฉลยแล้ว—แต่ก็ในมุมที่พร่ามัวเสียเหลือเกิน


    ในส่วนของฉากผู้เขียนประหลาดใจกับการไม่มี Soundtrack ในภาพยนตร์แต่เน้นความเงียบ และเสียงเปียโนประกอบซึ่งก็ผ่านการคัดสรรเพลงที่เหมาะสมจะบรรเลงมาแล้วความรู้สึกที่ได้จึงแปลกใหม่ไปอีกแบบ แต่ละฉากสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดีสิ่งเดียวที่ผู้เขียนไม่เข้าใจคือฉากที่ถ่ายให้เห็นเรือนร่างนางเอกจน ‘หมดเปลือก’ เกินคำว่า ‘ศิลปะ’ ซึ่งไม่ใช่เพราะมันไม่เหมาะสมแต่เพราะผู้เขียนยังตีความไม่ได้ว่าผู้กำกับต้องการสื่ออะไรผ่านการเปิดเผยภาพความเปลือยเปล่าชนิดทุกซอกทุกมุมโดยที่ประเด็นเซ็กส์ก็ไม่ได้หยิบจับมาถกเถียงในภาพยนตร์อย่างจริงจังกลายเป็นฉากที่ใส่มาเหมือนจะเล่นให้สุด แต่ก็ไม่สุดเสียทีเดียว ทิ้งแต่คำถามว่า ‘เพื่ออะไร?’


    และจุดเด่นที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดตั้งแต่ดูเรื่องFrom the land of the moon ก็คือ ความพิถีพิถันและแฝงนัยยะในฉาก, Cinematography, มุมกล้อง, และองค์ประกอบต่างๆของภาพที่ไม่ใช่เพียงสวยงามหมดจดไปทุกฉากทุกตอน แต่มีความเป็น ‘Symbolic’ หรือเชิงสัญลักษณ์สูงมาก ตัวอย่างเช่นฉากที่ถ่ายเป็นภาพกว้างๆให้เห็นกาเบรียลวิ่งหนี และล้มลง หลายต่อหลายครั้งส่งผ่านความรู้สึก ‘หลีกหนี’จากโลกความจริงของกาเบรียลให้ผู้ชมรับรู้ฉากที่จงใจใช้มุมกล้องถ่ายภาพผ่านประตูแคบๆ ผู้เป็นแม่อยู่บริเวณสว่าง และกาเบรียลหลบอยู่ในความมืดเป็นฉากที่แบ่งแยกระหว่างเธอและแม่อย่างชัดเจนโดยใช้ความขัดแย้งของแสงและความมืดแทนความขัดแย้งของแม่และกาเบรียลและพื้นที่สว่างก็เหมือนเป็นกำแพงที่มองไม่เห็น กั้นเธอให้แปลกแยกจากคนทั่วไปหรือแม้แต่ฉากยิบย่อยอย่างเซ็กส์ระหว่างกาเบรียลและอังเดร กล้องใช้แสงนุ่มนวลสบายตา บางเบา อันเป็นลักษณะของความรัก ความสุข ความลุ่มหลงที่บริสุทธิ์ดังนั้นผู้เขียนไม่ลังเลที่จะใช้คำว่า ‘ไร้ที่ติ’ กับ Spectacle หรือภาพ ของ From the land of the moon ที่จะตราตรึงใจไปอีกนาน


    สุดท้ายนี้การกำกับ ผู้เขียนมองเห็นความเป็นเอกภาพของภาพยนตร์ฉากจบที่ทื่อๆง่ายๆแต่คงระดับอารมณ์ของเรื่องได้เป็นอย่างดีก็เป็นฉากที่ผู้เขียนชอบโดยส่วนตัวเรื่องราวสิ้นสุดลงที่กาเบรียลและโฌเซ่ไปเยี่ยมหมู่บ้านเงียบสงบแห่งหนึ่งทำให้ผู้เขียนนึกถึงประโยค ‘Home is where your story begins’ เพราะเป็นครั้งแรกที่เหมือนตัวละครได้กลับบ้าน บ้านที่ไม่ใช่รูปธรรมแต่เป็นนามธรรม มีคุณค่าทางความรู้สึกในที่สุดกาเบรียลก็พบรักแท้ที่อยู่เคียงข้างเธอมาตลอด และวินาทีนั้นเองเรื่องราวระหว่างทั้งสองก็เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างแท้จริง


    ทว่าการตัดจบด้วยวิธีนี้ก็มีข้อเสียทำให้สารที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อสารยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เพราะในทางกลับกันฉากจบที่คลี่คลายปมไม่หมดทำให้อารมณ์ของผู้ชมเลย ‘ค้าง’ อยู่ที่ดวงดาวมากกว่าจะ ‘เอื้อม’ ถึงดวงจันทร์ จึงเข้าใจว่าผู้กำกับอยากให้From the land of the moon นั้นมีพื้นที่ลึกลับที่ผู้ชมเข้าไม่ถึงทิ้งช่องว่างให้ผู้ชมขบคิด ซึ่งถ้าถามผู้เขียน ก็คงให้คำตอบว่าพื้นที่ลึกลับนั้นกำลังสอนให้เราอยู่กับความจริงและให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัว


    อย่างไรก็ดีสำหรับผู้เขียนแล้ว พื้นที่ลึกลับของ From the land of the moon ที่ว่าไปไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้เขียนอิน (Involvement)จนน้ำตาร่วงอย่างที่กระแสล่ำลือมาเพราะภาพยนตร์ยังมีช่องโหว่หลายจุดที่ฉุดผู้เขียนออกจากอารมณ์ของเรื่อง (หากไม่นับช่องโหว่ที่ผู้เขียนอาจจะพลาดไปเพราะเกือบหลับระหว่างดู) ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า From the land of the moon เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ดีแค่ไม่ตอบโจทย์ความสุดในสักด้าน สำหรับผู้ชมที่ชื่นชอบสไตล์ภาพยนตร์หวือหวาแบบ Hollywoodแล้ว ไม่แนะนำให้ท่องอวกาศมาถึงดวงจันทร์ แต่ถ้าเป็นผู้ชมที่อยาก ‘เก็บสะสม’ ดวงดาวระหว่างทางมากกว่า


    ผู้เขียนคิดว่าFrom the land of the moon ก็เป็น ‘ความไม่สุด’ที่สวยงามทีเดียว

    (7/10)




    - ilysm.



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in