เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Scandals on Cleveland Streetpiyarak_s
Chapter 3: เหตุที่ถนนคลีฟแลนด์
  • (3)

     

    หลังจากได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของนักแสดงหนุ่มผู้รับบทคูร์เวนาลในอุปรากรเรื่องทรัสตันและอิโซลด์ของวากเนอร์แล้ว ประมาณหนึ่งเดือนให้หลังข้าพเจ้าก็ได้พบกับแอนโธนี เกรเซียนนอกโรงละครในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินัก และยังมีความเกี่ยวพันกับคดีอื้อฉาวที่สุดคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในย่านเวสต์เอนด์ของลอนดอนอีกด้วย


     

    ก่อนที่ชาวลอนดอนจะได้รู้ว่า อาคารเลขที่ 19 ถนนคลีฟแลนด์เป็นสถานที่ค้าบริการทางเพศและมีโสเภณีชายไว้ให้บริการแก่ลูกค้า เบาะแสที่ชักนำไปสู่ความจริงอันน่าตื่นตะลึงและไม่มีใครคาดคิดกลับมาจากจับผู้ต้องสงสัยในคดีเล็ก ๆ คดีหนึ่ง

     


    จุดเริ่มต้นแห่งคดีอื้อฉาวบนถนนคลีฟแลนด์มาจากการที่ตำรวจเรียกเด็กส่งโทรเลขคนหนึ่ง ซึ่งมีท่าทีพิรุธมาเพื่อสอบถาม และพบว่าเขามีเงินสิบแปดชิลลิงที่เขาพกติดตัวมาด้วย นั่นเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะเขามีเงินจำนวนมากเกินกว่าเด็กหนุ่มชนชั้นแรงงานที่มีรายได้วันละไม่ถึงชิลลิ่งควรถือครอง แต่การพกเงินไว้กับตัวเป็นการกระทำที่ผิดกฎการทำงานของคนส่งโทรเลขด้วย ตำรวจจึงเกิดข้อสงสัยว่า เงินสิบแปดชิลลิ่งของเขามีที่มาจากที่ใดกันแน่


     

    เมื่อคดีดังกล่าวถูกขยายผล ความจริงเบื้องหลังเงินสิบแปดชิลลิ่งดังกล่าวก็ทำให้คดีลักทรัพย์ที่ควรจะจบเพียงหาตัวเจ้าของเงินให้พบและดำเนินคดีกับคนลักกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และทำให้ทุกชนชั้นในสังคมของมหานครลอนดอนตกตะลึงกับสิ่งที่ถูกเปิดเผยออกมา คดีนี้ สารวัตรเฟรเดอริค แอบเบอร์ไลน์ ตำรวจสืบสวนมือดีที่สุดคนหนึ่ง และมีชื่อจากคดีฆาตกรรมหญิงโสเภณีที่ไวท์ชาเพลได้รับความไว้วางใจจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้เป็นผู้รับผิดชอบคดี


     

    หลังจากการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาพอสมควรวันที่ 6 กรกฎาคม 1889 สารวัตรแอบเบอร์ไลน์ก็ได้นำตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปยังอาคารแห่งหนึ่งบนถนนคลีฟแลนด์ พร้อมหมายจับที่ระบุว่า ชาร์ลส์ แฮมมอนด์ อายุสามสิบห้าปีเจ้าของสถานที่ดังกล่าว และเฮนรี นิวเลิฟ อายุสิบแปดปีผู้ช่วยในการทำกิจการ ได้ร่วมกันกระทำสิ่งมิชอบ ผิดกฎหมาย และชั่วร้าย ด้วยการชี้ชวน ชักจูงและนำพาเด็กหนุ่มให้มาเป็นผู้ขายบริการแก่บุรุษด้วยกัน ซึ่งเป็นความประพฤติทางเพศอันวิตถารน่ารังเกียจ(หมายเหตุ: ข้อความที่ข้าพเจ้ายกมาเป็นข้อความตามหมายจับฉบับจริง) 



    นับแต่ร่างกฎหมายอาญาฉบับแก้ไขที่ลาบูแชร์ (Henry Labuchere) นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองเป็นผู้เสนอผ่านสภาและตราออกบังคับใช้ในปี 1885 การร่วมประเวณีและกิจกรรมทางเพศระหว่างชายกับชายล้วนเป็นความผิดอาญาฐานกระทำชำเราผิดธรรมชาติทั้งสิ้น ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี โดยมีโทษใช้แรงงานด้วยหรือไม่ก็ได้

     


    ถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าคงไม่จำต้องขยายความเพิ่มเติมอีกกระมังว่า เหตุใดการปราบปรามซ่องโสเภณีซ่องโสเภณีที่จัดหาชายหนุ่ม ซึ่งบางคนก็เพิ่งพ้นวัยรุ่นมาไม่นาน มาขายบริการทางเพศแก่ลูกค้าที่เป็นเพศชายด้วยกัน มีแสดงการร่วมประเวณีให้ลูกค้าชม ทั้งยังเกิดขึ้นในย่านที่อาศัยของคนมีฐานะอย่างถนนคลีฟแลนด์จึงกลายเป็นข่าวครึกโครมชั่วข้ามคืน 



    ผู้คนพากันซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกหลากหลาย ทั้งประหลาดใจ ไม่อยากเชื่อ ตื่นตระหนก วิตกกังวล ไปจนถึงรังเกียจขยะแขยง แต่นั่นก็เป็นเพียงปฏิกิริยาเมื่อแรกเริ่มเท่านั้น เพราะยังมีความจริงที่ชวนตกตะลึงยิ่งกว่าตามมาในภายหลัง


     

    ในปฏิบัติการบุกตรวจค้นอาคารที่ถนนคลีฟแลนด์ แฮมมอนด์และนิวเลิฟไหวตัวทัน แต่นิวเลิฟที่หนีไปหลบซ่อนที่บ้านของมารดาก็ถูกจับได้ในภายในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ส่วนแฮมมอนด์หลุดมือตำรวจไปได้ และยังติดตามตัวไม่พบ

     


    เดิมที ข้าพเจ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการสืบสวนสวบสวนกรณีอื้อฉาวที่ถนนคลีฟแลนด์นี้ เพราะพื้นที่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าคือ เขตอีสต์เอนด์ของลอนดอน แต่เมื่อขยายผลการจับกุมและดำเนินคดีกับชายหนุ่มที่มาค้าประเวณีแล้ว ทางตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนก็พิจารณาว่า ควรปราบปรามการค้าประเวณีระหว่างชายกับชายครั้งนี้ให้เด็ดขาดราบคาบ ด้วยการเอาโทษกับผู้ซื้อบริการทางเพศจากเด็กหนุ่มที่แฮมมอนด์และนิวเลิฟจัดหามาให้หลับนอนกับพวกเขาเหล่านั้นด้วย ข้าพเจ้าและตำรวจสืบสวนคนอื่น ๆ ในแผนกสืบสวนอาชญากรรมจึงถูกดึงตัวมาทำหน้าที่ในการสอบปากคำพวก ‘แมรี่แอนน์’ หรือ โสเภณีชายเหล่านี้ด้วย เพื่อให้คดีคืบหน้าโดยเร็วและเพื่อป้องกันมิให้การสืบจับตัวผู้ซื้อบริการมาลงโทษในความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมล่าช้าจนกระทั่งผู้ต้องสงสัยหลุดรอดจากเงื้อมมือของกฎหมายไปได้อีก


     

    หลังจากทางสก็อตแลนด์ยาร์ดเกลี้ยกล่อมให้นิวเลิฟและเด็กหนุ่มที่ถูกชักชวนให้มาขายบริการ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานให้สำนักงานโทรเลขกลางให้ความร่วมมือในการเปิดเผยรายชื่อของผู้ซื้อบริการ ความแตกตื่นระลอกใหม่ก็ก่อตัวขึ้น เมื่อมีรายชื่อลูกค้าบางส่วนเล็ดรอดไปถึงหูนักข่าวสายงานตำรวจ เพราะผู้ซื้อบริการจากเด็กหนุ่มที่ถูกเอ่ยถึงเหล่านั้นล้วนเป็นบุคคลผู้มีหน้าตาและชื่อเสียงในแวดวงสังคมทั้งสิ้น โดยเฉพาะเจ้าชายอัลเบิร์ต วิคเตอร์ พระนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย รัชทายาทอันดับสองรองจากเจ้าชายแห่งเวลส์ และลอร์ดซอมเมอร์เซ็ตแห่งหน่วยทหารม้ารักษาพระองค์


     

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจะตื่นตัวกับข่าวสำคัญนี้เพียงใด ไม่ว่ารายชื่อเหล่านั้นจะได้รับการยืนยันหรือไม่ แต่โอกาสที่จะเขียนบทความและหาข่าวมาขายก็เกิดขึ้นแล้ว ณ เวลานี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงบทบรรณาธิการและบทวิจารณ์เกี่ยวกับเด็กหนุ่มและลูกค้าของสถานบริการของแฮมมอนด์และนิวเลิฟ รวมถึงหนังสือพิมพ์ฉบับที่ข้าพเจ้าแวะซื้อมาจากเด็กขายหนังสือพิมพ์ระหว่างออกไปซื้อกระดาษมวนบุหรี่นอกสำนักงานด้วย



    "เงินสี่ชิลลิ่งต่อครั้งเป็นเงินที่มากโขและเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กหนุ่มเหล่านี้ยอมทิ้งศักดิ์ศรีลูกผู้ชายของตัวเองอย่างไม่มีทางเลือกเพื่อนำเงินที่ได้จากบุคคลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษในสังคมชั้นสูงที่มีคนนับหน้าถือตาไปเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัวให้อยู่ดีกินดีและเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการข่มเหงชนชั้นแรงงานอย่างไม่น่าให้อภัย"


    เดวิดเบอร์วิค นักหนังสือพิมพ์เขียนข้อความดังกล่าวไว้ในบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ ‘เดอะลอนดอน เดลี่ เจอร์นัล’ ที่เกาะติดข่าวนี้มาโดยตลอดและกัดไม่ปล่อยยิ่งกว่าฉายาที่เขาเคยตั้งให้แก่ข้าพเจ้าว่า ‘ฌาแวร์แห่งลอนดอน’ตามชื่อของอดีตผู้คุมและนายตำรวจที่เป็นศัตรูคู่แค้นของวาลฌองตัวเอกในนิยายเรื่อง‘เลส์ มิเซราบส์’หรือ เหล่าชนผู้ทนทุกข์ ของวิคตอร์ อูโกนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ตามล่าหาตัวพระเอกที่หนีโทษไปสร้างตัวใหม่มานานนับสิบปีอย่างไม่ลดละ


    เมื่ออ่านแล้ว ข้าพเจ้าก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ในขณะที่เขาเขียนบทความด้วยสำเนียงเห็นใจพวก‘แมรีแอนน์’ และมองเด็กหนุ่มเหล่านั้นว่า เป็นเหยื่อที่ถูกผู้ชายด้วยกันแต่มีสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมเหนือกว่ากระทำย่ำยีแต่บทความก่อนหน้านี้ ที่เขาเคยเขียนเกี่ยวกับการควบคุมจำนวนหญิงโสเภณีเขากลับเขียนในทำนองว่า พวกหล่อนเป็นบ่อเกิดแห่งความชั่วร้ายและแหล่งกำเนิดโรค เป็นตัวอย่างที่เลว และตกมาตรฐานของกุลสตรีที่ดีงาม ทั้งที่พวกหล่อนหลายคนก็ต้องการเงินไปเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวด้วยความจำเป็นไม่ต่างจากชายหนุ่มที่ยอมขายตัวแก่ชายด้วยกัน 



    นอกจากนี้ ในคราวที่เกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงโสเภณีในอีสต์เอนด์เมื่อปีที่ผ่านมาบทวิพากษ์ของเบอร์วิคไม่เผ็ดร้อนและรุนแรงเท่านี้และมิได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชะตาของพวกหล่อนนัก ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด เขาเคยว่าหญิงโสเภณีที่มีอยู่มากมายในลอนดอนเป็นผู้ชักนำภัยมาสู่ตนเอง และการฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถควบคุมปราบปรามการค้าประเวณีที่มีอยู่ทั่วไปให้ลดจำนวนลง ทำให้ฆาตกรเกิดความไม่พอใจและลงมือสังหารพวกหล่อนเสีย

     


    อาชีพหญิงโสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการยอมรับทางสังคมและศีลธรรม พวกหล่อนถูกมองว่า เป็นทั้งแหล่งแสวงหาความสุขและตัวการที่ทำให้ศีลธรรมเสื่อมทราม เป็นนางฟ้าในห้องนอนและหญิงสามานย์กลางถนน ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่อาศัยพวกหล่อนเพื่อสนองความต้องการในบางคราว และบางทีก็เพื่อการแสวงหาข่าวกับข้อมูลเชิงลึกไม่อาจหาได้จากคนอื่น ข้อมูลจากพวกหล่อนจึงมีค่าอย่างยิ่งต่อการทำคดี ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะร่วมวงวิพากษ์ความดีงามหรือเหมาะสมด้านศีลธรรมกับใครในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มปาก 

     


    อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเป็นตำรวจในลอนดอนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หญิงขายตัวเหล่านี้ได้ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง กลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างโหดร้ายมาอย่างต่อเนื่อง และมักถูกละเลยในฐานะผู้เสียหาย สำหรับข้าพเจ้าแล้วพวกหล่อนเป็นกระจกสะท้อนความลักลั่นและด้านมืดของมหานครลอนดอนออกมาอย่างกระจ่างแจ้งที่สุดประการหนึ่ง

     


    ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับหญิงโสเภณีหลายครั้งที่ผ่านมาทำให้ข้าพเจ้าอดกังวลไม่ได้ว่า ความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อชายหนุ่มที่ละทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นชายของตนเองมาเป็นเครื่องรองรับความใคร่ของผู้ชายที่มีสถานะและกำลังเงินที่เหนือกว่าอาจก่อตัวขึ้นและนำไปสู่ความรุนแรงต่อคนเหล่านั้นได้เช่นเดียวกันหรือมิเช่นนั้น การณ์อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ สุภาพบุรุษที่อยู่ในสถานะสูงแต่กลับใช้อำนาจเงินล่อลวงให้ผู้ชายด้วยกันยอมพลีกายให้ก็อาจตกเป็นเป้าของการโจมตีหรือทำร้ายด้วยเช่นกัน แม้ว่าโอกาสที่คนกลุ่มหลังจะประสบอันตรายมีอยู่น้อยกว่าก็ตาม

     


    ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่า ความคิดของตนเองจะเป็นเพียงแค่การมองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุ แต่ความคิดของข้าพเจ้ากลับเป็นความจริงขึ้นมาจนได้ เมื่อจ่าวิลเลียม มัสเกรฟเข้ามาแจ้งแก่ข้าพเจ้าระหว่างที่พักสูบบุหรี่และอ่านข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ว่า จิมมี่ ซัลลิแวน พนักงานส่งโทรเลข หนึ่งในบรรดาชายหนุ่มที่ถูกชักนำให้มาเป็นผู้ค้าบริการทางเพศในกิจการของแฮมมอนด์หายตัวไปหนึ่งวันเต็มนับแต่เข้าให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเช้าวานนี้ และเหตุดังกล่าวทำให้ผู้กำกับการและสารวัตรแอบเบอร์ไลน์จึงต้องการพบข้าพเจ้า เนื่องจากที่พักอาศัยของชายหนุ่มผู้นี้อยู่ในเขตอีสต์เอนด์ และข้าพเจ้ามีความรู้เกี่ยวกับคดีที่ถนนคลีฟแลนด์มากพอที่จะพิจารณาจากพยานหลักฐานได้ว่า การหายตัวไปของเขาเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้หรือไม่ อย่างไร


     

    จากการสอบถามตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้ไปตามซัลลิแวนมาให้ปากคำก่อนที่จะพบว่าเขาหายตัวไป สิ่งที่ผิดปกติที่สุดที่เป็นมูลเหตุให้สงสัยว่าการหายตัวของเขาเป็นเรื่องผิดปกติ คือ การที่เขาขาดงานที่สำนักงานโทรเลขไปโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เพราะหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานของเขาต่างยืนยันว่า ซัลลิแวนได้ชื่อว่าเป็นพนักงานส่งโทรเลขที่ขยันขันแข็งไม่เคยขาดงานสักหนเดียว แม้กระทั่งวันที่เขาป่วย เนื่องด้วยเขามีแม่และน้อง ๆ อีกหลายปากที่ต้องเลี้ยงดู โดยเฉพาะในเวลานี้ แม่ของเขาถูกพ่อขี้เมาทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสถึงกับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

     


    หลังข้าพเจ้ากลับจากการประชุมกับผู้บังคับบัญชา ระหว่างเดินขึ้นบันไดกลับขึ้นไปยังห้องสำนักงาน ก็มีพลตำรวจนายหนึ่งตรงเข้ามาแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า มีคนรอพบข้าพเจ้าอยู่ แม้จะนึกแปลกใจ แต่ข้าพเจ้าก็บอกให้เชิญบุคคลเข้าพบได้

     

    บุคคลที่เข้ามาพบข้าพเจ้าที่โต๊ะทำงานทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าจำเขาได้แม่นยำ แต่ไม่คิดว่าเขาจะรู้จักข้าพเจ้าและต้องการพบอย่างเจาะจงตัวเช่นนี้ และเมื่อทราบเหตุที่ทำให้เขาต้องมาพบข้าพเจ้าก็ฉงนใจเสียยิ่งกว่าเก่า

     

    “สารวัตรเฟย์… ผมชื่อ แอนโธนีเกรเซียน ขออภัยครับ ที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า เพื่อนของผม จิมมี่ซัลลิแวนหายตัวไป แม่และน้อง ๆ ของเขาเป็นห่วงมาก ผมจึงเป็นตัวแทนครอบครัวเขามาขอความช่วยเหลือ” 




    To be continued.... 




    *หมายเหตุ


    1. Cleveland Street Scandal เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วง ค.ศ. 1889 สารวัตรเฟรเดอริค แอบเบอร์ไลน์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ รวมถึงผู้ต้องหาหลักในคดี คือ แฮมมอนด์และนิวเลิฟมีตัวตนจริง ส่วนจิมมี่ ซัลลิแวน และตัวละครหลักอื่น ๆ ของ Dark Tales of London เป็นตัวละครสมมุติ


    2. ความผิดฐานมีความประพฤติทางเพศผิดธรรมชาติ หรือ Gross Indecency (แต่ปัจจุบัน ใช้คำนี้ในความหมายว่าเป็นความผิดฐานกระทำลามกอนาจาร) เป็นฐานความผิดทางอาญาที่มีอยู่จริง และมีผลบังคับใช้อยู่จนกระทั่งถูกยกเลิกไปปัจจุบัน Henry Labuchere เป็นผู้เสนอให้มีการบัญญัติความผิดนี้ไว้ในการแก้ไขกฎหมายอาญา (ลาบูแชร์เป็นนักการเมืองที่สนับสนุนเสรีนิยม แต่ต่อต้านพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน) กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา โดยลดโทษจากที่ลาบูแชร์เสนอไปตอนแรกลงมา และเริ่มมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1885 คนมีชื่อเสียงที่ถูกดำเนินคดีนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ ออสการ์ ไวลด์


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
salmonrism (@salmonrism)
พอรู้ว่าเนื้อหาหลังจากนี้อิงเรื่องจริงในอดีตก็น่าอ่านขึ้นมาอีกเลยค่ะ อยากรู้เรื่องการจัดการเรื่องนี้ของเค้าในสมัยนั้นจริงๆ
piyarak_s (@piyarak_s)
@salmonrism ยืมเหตุการณ์ช่วงน้้นมาเป็นฉากหลังเฉยๆ ค่ะ แต่คดีในสมัยนั้นก็จับได้แต่ตัวเล็กตัวน้อย ไม่ได้สาวไปถึงผู้ใช้บริการใหญ่ๆ