1.
To die by your side is such a heavenly way to die.
เมื่อรู้สึกตัวตื่นและได้ยินเสียงเพลงที่ดังทะลุกำแพงเข้ามาเป็นอย่างแรก เบรนดอลคิดว่าเนื้อเพลงนั้นช่างขำขื่นสิ้นดี ทั้งกับตัวเขาที่ตายอย่างโดดเดี่ยวและกับที่นี่ ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่ซี้ม่องเท่งไปเรียบร้อยแล้ว (คนตายนี่มีอารมณ์ขันในการเลือกฟังเพลงจริงๆ) เขาสงสัยเหลือเกินว่าเมื่อไหร่ตัวเองจะเลิกยึดติดกับคำว่าตายสักที แต่ดูเหมือนว่าการอกหักจากชีวิตอาจต้องใช้เวลาเยียวยานานกว่าสามวันสองคืน โดยเฉพาะกับคนที่ใช้เวลาทำใจตอนอกหักนานกว่าใครทั้งหมดอย่างเขา สำหรับคนอื่นๆ ที่นี่ หากพวกเขาไม่ได้คิดออกแล้วว่าความหมายของการอยู่หรือตายคืออะไร พวกเขาก็คงเลิกคิดไปแล้วโดยสิ้นเชิง — ‘ขอเพียงคุณได้ใช้ชีวิตหลังความตายอย่างมีความสุขที่นี่ ด้วยความยินดี’ หน้าสุดท้ายของคู่มือต้อนรับว่าไว้ราวกับเป็นคำโฆษณาบ้านจัดสรร ดูจากเพลงที่ใครบางคนเปิดและจำนวนนักวิ่งในสวนสาธารณะข้างล่างในยามเช้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลายคนตัดสินใจทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด “คงต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เดี๋ยวทุกอย่างจะโอเคเอง” ยมทูตสาวหน้าใหม่อธิบาย ตอนที่เธอนำอุปกรณ์สื่อสารและแผ่นพับต่างๆ มาให้ มีแม้แต่กิจกรรมกลุ่มให้คำปรึกษาและบริการจิตแพทย์ด้วยซ้ำ เบรนดอลคิดว่าคำพูดของเธอใช้ปลอบใจได้ตั้งแต่เด็กสอบตกไปจนถึงญาติของผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าจะใช้ปลอบใจคนตายได้ด้วย
เบรนดอลถอนใจ หันไปมองทิวทัศน์เบื้องล่างผ่านหน้าต่างกระจกบานใหญ่เท่าตัว ตลกร้ายดีๆ นี่เองที่เขาคงไม่มีปัญญาจ่ายค่าห้องเช่าระดับนี้ได้ในนิวยอร์กตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกอย่างฟรี! เงื่อนไขเดียวคือแค่ต้องตาย นี่มันโลกวิปริตแบบไหนกันที่วิญญาณของเขาพลัดหลงมาอยู่ คู่มือต้อนรับบ้านั่นไม่มีคำตอบบอกเอาไว้เสียด้วย
พวกเด็กๆ ในสวนโยนใบไม้แห้งๆ สีเหลืองและน้ำตาลขึ้นไปในอากาศ ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวตอนที่พวกมันร่วงหล่นลงมาอีกครั้ง อย่างน้อยต้นไม้ก็ยังได้รับสิทธิให้ตายไปชั่วครู่ก่อนที่ฤดูใบไม้ผลิจะมาถึง พอคิดเช่นนั้น เขาจึงตระหนักได้ว่าทุกคนที่นี่คือแมกไม้ในฤดูใบไม้ร่วงที่ยาวนานตลอดกาล
เด็กผู้หญิงคนหนึ่งทำท่าโบกมือขึ้นมา เบรนดอลรู้ว่าเธอคงไม่ได้ทักทายเขาที่อยู่สูงเกินสายตาจะมองเห็น แต่ถึงกระนั้น เขาก็โบกมือตอบ
2. Emergency number
เบอร์โทรศัพท์ของไคล์เป็นเบอร์เดียวที่อยู่ในเครื่อง สถานะเสมือนหมายเลขฉุกเฉิน
เบรนดอลเปรียบเปรยไปอย่างนั้น จนกระทั่งเขากดมันและพบว่าอีกฝ่ายกระหืดกระหอบมาถึงหน้าประตูห้องในเวลาไม่นาน เจ้าหมาน้อย เขาคิด เมื่อเห็นผมสีดำขลับกระเซอะกระเซิงและเจ้าตัวออกอาการหอบนิดๆ หรือว่าเจ้าแมวยักษ์กันนะ ตลกดีที่ไคล์ไม่ได้รับสาย แต่กลับโผล่มาที่นี่แทบจะทันทีราวกับรู้พิกัด
“ก็เบอร์มันโชว์ว่านายอยู่ที่นี่” เขาว่า ชี้ไปที่เครื่องมือสื่อสารนั่น
“เยี่ยมเลย” เบรนดอลพูดเสียงเรียบ “มีระบบสอดแนมกันด้วย นี่มันนิยายดิสโทเปียเหรอ”
เจ้าผี/ยมทูตยืนบื้อใบ้
“นั่นเป็นมุก” เขาเสริม
ไคล์ส่งเสียงอ๋อเบาๆ ก่อนจะขยี้ผมเก้อๆ บางทีนี่อาจจะไม่ใช่นิยายดิสโทเปียชวนหดหู่ แต่เป็นนิยายวัยรุ่นที่เพิ่งเคยมีรักครั้งแรกช้าไปยี่สิบปี นำแสดงโดยชายหนุ่มมีปมแสนอ่อนไหวเหมือนลูกหมาโดนทิ้ง เบรนดอลไม่คุ้นกับภาพไอ้ผีจองหองทำท่ากระอักกระอ่วนจนเกือบๆ จะเคอะเขิน หรือถ้าเขาเคยเห็นภาพตรงหน้ามาก่อน เขาก็คงลืมไปแล้ว
“ไปกันเถอะ”
เขาก้าวออกจากห้องเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามา เมื่อหันหลังกลับไปมอง ปรากฏว่าไคล์ยืนนิ่งราวถูกสาปเป็นหิน
3. Paradoxical
“นายทำฉันกลัว”
“นายก็เหมือนกัน”
ไคล์ทำหน้าบู้บี้เมื่อได้ยินเขาต่อปากต่อคำ ก่อนจะหั่นแพนเค้กสามชั้น ปาดเนย ราดน้ำเชื่อมแล้วเอาเข้าปาก เคี้ยวหนุบหนับเหมือนเด็กห้าขวบ นักเขียนดังเคยบอกว่าความรักเกิดขึ้นจากการอุปมาอุปไมย ถ้าอย่างนั้นความเศร้าใจคงเกิดขึ้นจากการอุปมาอุปไมยครั้งที่สอง เบรนดอลเคยใช้สำนวนเปรียบเปรยพวกนั้นแล้ว และตอนนี้คลังคำของเขาเริ่มจะร่อยหรอ ไคล์ดูเปลี่ยนไปและไม่เปลี่ยนไป อย่างเช่นเมื่ออยู่ในร้านอาหารเช้าและทานแพนเค้กอย่างเอร็ดอร่อย เขาก็ดูจะเป็นเจ้าผีตนเดิมที่นั่งฝั่งตรงข้ามของโต๊ะอาหารแทบทุกเช้า แต่ในขณะเดียวกัน นี่ไม่ใช่ไคล์ที่เขารู้จักเสียทีเดียว นี่คือไคล์ในช่วงห้าปีที่หล่นหายไป รวมถึงไคล์ในช่วงยี่สิบกว่าปีก่อนหน้านั้น ตลกดีที่พอไม่มีผิวซีดๆ กับเนื้อตัวเย็นๆ เขาดูมีชีวิตยิ่งกว่าเคย (นี่ไม่ใช่อุปมา แต่ออกจะเป็นปฏิพากย์)
“ไม่กินหน่อยเหรอ” ชายผมดำบุ้ยใบ้มายังจานใส่เบคอน ไข่ดาว และขนมปังปิ้ง “ที่นี่นายกินอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยนะ จะบอกให้”
เบรนดอลยักไหล่ หยิบขนมปังขึ้นมาทาแยมส้มแล้วกัดกร้วม ไม่ได้อร่อย แต่ก็ไม่ได้แย่
“รู้สึกเหมือนถูกโกงชะมัด” เขาว่า หันมองไปรอบๆ ร้านที่มีลูกค้าอุ่นหนาฝาคั่ง จะเรียกว่าร้านค้าก็ไม่ค่อยถูกนัก ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องจ่ายเงินสักแดง “ใครๆ ก็คิดว่าตายแล้วจะหายวับ ไม่ก็ขึ้นสวรรค์หรือตกนรก ใครจะไปรู้ว่าจะได้มานั่งกินข้าวเช้านอกสถานที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือบทลงโทษที่เราใช้ชีวิตน่าเบื่อเกินไปเหรอ”
“ฮ่าฮ่า” ไคล์หัวเราะหน้าตาย “นายลองนึกถึงคนแต่ละศาสนาที่มีศรัทธาแรงกล้าสิ เหมือนทั้งชีวิตคือเรื่องโกหกใช่ไหมล่ะ ไม่เห็นมีเทวทูตชุดขาวพร้อมรัศมี ไม่มีปีศาจน่าเกลียดน่ากลัวคอยลงโทษคน ไม่มีจักรวาลว่างเปล่า ทุกอย่างก็แค่เหมือนเดิม นานๆ ทีแต่ละชมรมศาสนาก็มาจับเข่าคุยกันบ้าง อ้อ นายน่าจะได้เห็นพวกนักปรัชญาถกกันนะ ฉันล่ะชอบจริงๆ”
“ไม่มีใครเดินขบวนประท้วงในโลกพิลึกๆ นี่หรือไง” เบรนดอลถาม “องค์ประกอบโลกเผด็จการในคราบยูโทเปียชัดๆ”
“เรื่องพรรค์นั้นมันไม่อยู่ในเรื่องของเรา” ยมทูตตอบอย่างไม่ยี่หระ “นายมีจิตวิญญาณนักปฏิวัติด้วยเหรอเนี่ย”
เขาหัวเราะหึออกมา โดยไม่คาดฝัน ไคล์ทำมีดกับส้อมหล่นลงจานเสียงดัง “นายทำฉันกลัว” หมอนั่นว่า
“กลัวอะไรไม่ทราบ” เบรนดอลย้อน “กลัวว่าฉันจะโค่นล้มโลกของนายเหรอ”
“กลัวที่นายดูโอเค แต่ก็กลัวว่านายจะไม่โอเค” นั่นแหละความย้อนแย้ง เขาคิดว่าพอเข้าใจสิ่งที่ไคล์พูด แต่จะให้ร้องไห้ฟูมฟายเหมือนวันแรกก็คงน่าอายเกิน เบรนดอลแค่ยักไหล่ ไม่มีอะไรที่เขาทำได้อีก หากลุกขึ้นมาปฏิวัติและปลดแอกทุกคนที่นี่ พวกเขาจะได้กลับไปมีชีวิตอีกครั้งงั้นหรือ — อย่างที่ไคล์ว่า ของพรรค์นั้นดูจะไม่ได้อยู่ในเรื่องเล่าเรื่องนี้ จะมีก็แต่วิญญาณสองตนที่บังเอิญกลับมาพบกันอีก ประโยคที่ว่า ‘เราจะได้พบกันอีกครั้งหลังความตาย’ ไม่ใช่คำพูดโกหก ทว่านั่นก็ไม่ใช่คำมั่นสัญญา ไม่ใช่สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสเอ่ยคำลาถึงสองครั้งสองคราอย่างเขา
“ฉันโอเค”
“ขอบคุณนะ” คำขอบคุณดูจะไม่ค่อยเข้ากับบริบทเท่าไร อีกทั้งไคล์ก็หลบสายตาตอนเอ่ยคำพูดออกมา “แล้วก็ — ฉันเสียใจ”
เขาลืมไปแล้วว่าไคล์พูดว่าเสียใจทั้งหมดกี่ครั้งตั้งแต่เจอหน้าเขา แต่เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อคนเราเสียใจอย่างสุดซึ้งสักครั้งแล้ว พวกเขาย่อมเสียใจตลอดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อ ไม่อาจเป็นผู้รับผิดชอบหรือไถ่บาป ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก แต่มันก็เป็นเช่นนั้น
“ไม่เป็นไร” เขาตอบ “ฉันก็เสียใจเหมือนกัน”
เบรนดอลแบ่งเบคอนใส่จานให้ไคล์หลายชิ้น ท่ามกลางความเงียบระหว่างเสียงจ้อกแจ้ก ไม่มีใครถามหรืออธิบายว่าพวกเขาเสียใจเรื่องอะไรหรือกับใคร
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in