เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอปแจปแอปใจjustalazygurl
06_วิบัติวิใจ : ภาษาวิบัติ = ผิด?【言葉の乱れ】
  • สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน!

    ยินดีต้อนรับเข้าสู่เอ็นทรี่ที่หกของบล็อกแอปแจปแอปใจนะคะ ◡̈


    ทุกคนคิดว่าภาษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้วิบัติไหมคะ?


    พลวัตของภาษา

    หลายคนอาจจะมีมุมมองต่อภาษาวิบัติในแง่ลบ แต่ในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ การวิบัติของภาษาไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเลยค่ะ เพราะความจริงแล้วภาษามีพลวัต หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือภาษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปควบคู่กับกาลเวลาและยุคสมัยอยู่เสมอค่ะ และภาษาที่ไม่มีวิวัฒนาการทางภาษาอีกต่อไปจะจัดว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว (dead language)

    เพราะภาษาที่เราใช้กันปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เหมือนกับภาษาในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงใช่ไหมละคะ?


    พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง

    ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้ญีงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก

    (จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 1, 1835)


    • ทุกวันนี้ สรรพนามแทนตัวเองว่า "กู" หรือ "ตู" ไม่ใช่สรรพนามที่สามารถใช้ได้ทั่วไป เพราะไม่สุภาพ
    • สรรพนาม "เผือ" ก็ไม่มีคนใช้ในชีวิตประจำวันแล้วเช่นกัน
    • เราไม่ได้ใช้คำว่า ผู้ญีง แต่ใช้ ผู้หญิง
    • เราไม่ได้ใช้คำว่า โสง แต่ใช้ สอง
    • เราไม่ได้ใช้คำว่า เตียมแต่ แต่ใช้ ตั้งแต่


    เห็นไหมคะว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ◡̈


    คำผิดที่กลายเป็นถูก

    รูปใหม่ ๆ ของภาษาที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่รูปที่ผิดเสมอไป ถึงแม้ในตอนแรกคนจะมองว่าเป็นรูปที่ผิด แต่ถ้ารูปนั้น ๆ มีการใช้อย่างแพร่หลาย สิ่งที่เคยผิดก็อาจจะกลายเป็นรูปมาตรฐานในที่สุดค่ะ


    มาถึงตรงนี้ เรามาลองดูตัวอย่าง "คำผิดที่กลายเป็นถูก" ในภาษาญี่ปุ่นกันสักหน่อยดีกว่าค่ะ! โดยเราจะแนะนำเหล่าคำศัพท์ที่เกิดปรากฏการณ์ 音位転換 (metathesis: การสลับเสียง) ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเสียงอย่างหนึ่งที่เสียงในคำที่ใกล้กันจะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่ง


    新しい(アラタシ → アタラシイ)

    คำว่า 新しい ที่ปัจจุบันอ่านกันว่า アタラシイ นั้น ความจริงแล้วในอดีตต้องอ่านว่า アラタシ ค่ะ! เพราะคันจิ 新 นั้นสามารถอ่านได้ว่า アラタ ไม่ใช่ アタラ


    山茶花(サンザカ → サザンカ)

    (ที่มาภาพ : https://www.hama-midorinokyokai.or.jp/park/kishine/details/post-9631.php)

    ชื่อดอกไม้ "ซะซังกะ" เอง เดิมทีแล้วก็ต้องอ่านว่า サンザカ เหมือนกัน


    舌鼓(シタツヅミ → シタヅツミ)

    舌鼓 ที่แปลว่า การกินอย่างเอร็ดอร่อย ความจริงแล้วเสียงตัว 〃 จะต้องอยู่ที่ ツ ตัวที่สอง แต่ด้วยความที่มันออกเสียงลำบาก ทำให้คนออกเสียงเป็น ヅツミ กันเยอะ ทำให้ทุกวันนี้จะพิมพ์แบบไหนก็สามารถเปลี่ยนเป็นคันจิที่ถูกต้องได้ทั้งคู่ค่ะ



    秋葉原(アキバハラ → アキハバラ)

    (ที่มาภาพ : https://monthly48.com/articles/193)

    ย่านอะกิฮะบะระอันโด่งดังเอง เดิมทีก็จะต้องอ่านว่า "อะกิบะฮะระ" เช่นกัน


    ถึงจะตรงนี้ จะเห็นได้ว่าคำบางคำที่มีการใช้ผิดอย่างแพร่หลาย ก็อาจจะกลายมาเป็นรูปที่ถูกต้องในที่สุด แต่ก็ไม่เสมอไปค่ะ

    เพราะคำบางคำก็อาจจะเป็นเพียงแค่ "การแปร" ของภาษาที่ใช้ในหมู่คนจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ไปถึงจุดของ "การเปลี่ยนแปลง" อย่างการใช้ภาษาที่คนส่วนมากรับรู้กันในฐานะของ "ภาษาวิบัติ" เช่น เลา เตง แกร งับ งู้ย เกินปุยมุ้ย ซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีการใช้คำเหล่านี้ แต่ในบริบททางการเราก็ยังใช้ภาษามาตรฐานดั้งเดิมอยู่นั่นเอง


    สุดท้ายนี้ อยากจะฝากทุกคนว่าภาษาวิบัติไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลยค่ะ การที่ภาษาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแปลว่าภาษานั้น ๆ ยังคงมีชีวิตอยู่ และนั่นแหละค่ะคือความสนุกของการใช้ภาษา


    แล้วพบกันใหม่ค่ะ ◡̈


    แหล่งข้อมูล :

    https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/48

    https://www.satapornbooks.co.th/file/product-sample/64w2b4p234v5k5e4

    https://thematter.co/social/interview-phonetics/187250

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
k.l.k (@k.l.k)
เอาเรื่องที่พี่โนพูดมาขยายต่อได้อย่างน่าสนใจ (มีภาพประกอบด้วย)