เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Let’s have Minimore fun!minimore
Harry Potter and the “Old” Companion แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเพื่อนที่เปลี่ยนไป แล้วไงใครแคร์?
  • แฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์คงจะตื่นเต้นจนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้หลังเห็นข่าวและรูปภาพตัวละครส่วนหนึ่งในละครเวทีเรื่อง Harry Potter and the Cursed Child ที่ออกมาเป็นน้ำจิ้มเมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมฟีดแบ็กจากหลายๆ คนในโลกโซเชี่ยลทั้งไทยและต่างชาติ แต่เอ๊ะ อะไรนะ เฮอร์ไมโอนี่มีเชื้อสายแอฟริกันงั้นเหรอ?

    สำหรับคนที่ติดตามข่าวละครเวทีเรื่องราว 19 ปีให้หลังแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มสุดท้าย ที่จะเริ่มแสดงที่อังกฤษ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2016 และจะเริ่มขายสคริปต์ทั้งตัวรูปเล่มและอีบุ๊กวันถัดมาในวันที่ 31 กรกฎาคม (เป็นวันเกิดของแฮร์รี่ด้วยนะ *นึกถึงเค้กแฮปปี้เบิร์ธเดย์แฮร์รี่ในภาคแรกเลย ฮึ ความ nostalgia นี้*) คงจะรู้เรื่องนักแสดงตัวละครหลักของเรื่องมากันบ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องผู้รับบทของ   เฮอร์ไมโอนี่วัยทำงานคือ Noma Dumezweni นักแสดงหญิงชาวอังกฤษเชื้อสายแอฟริกาใต้ หลายคนเริ่มมีรีแอคชั่นออกมาตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จนกระทั่งมีรูปออกมาให้เห็นกันชัดๆ

    (ภาพจาก Pottermore)

    หลังจากที่รูปนี้และรูปตัวละครในครอบครัวอื่นๆ ทั้งสามครอบครัวออกมา รีแอคชั่นต่อนักแสดงก็ออกมาเต็มที่ โดยเฉพาะกับตัวละครที่เปลี่ยนไปมากอย่างเฮอร์ไมโอนีที่ผิวคนละสีกับในฉบับภาพยนตร์ คนส่วนนึงก็เห็นด้วยนะ อย่างแฟนอาร์ทหลายๆ คนก็วาดเฮอร์ไมโอนี่เป็น People of Color (คนที่มีเชื้อชาติไม่ใช่คนผิวขาว) มานานแล้ว แม้แต่แฮร์รี่ก็เป็น PoC ด้วย! แต่กลุ่มที่ออกมาต่อต้านก็บอกว่า ก็มันไม่ใช่อะ ฉันวาดภาพในหัวมาแบบนี้ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องการเหยียดสีผิว ฉันไม่ใช่ racist นะ การที่เราเติบโตมากับหนังเรื่องนึง เราก็จำภาพตัวละครได้แบบนั้น อยู่ๆ จะมาให้มันเปลี่ยนมันไม่ง่ายหรอกเพราะมันไม่คุ้น เราไม่ได้ racist นะ! แต่... (ได้ยินประโยคแบบนี้แล้วนึกถึง อย่าว่าพี่สอนเลยนะ แต่…พี่ก็ยังสอนอยู่ดี)

    มินิมอร์เข้าใจคนที่บอกว่ารู้สึกชินกับภาพที่เห็นมานานนะ โดยเฉพาะกับคนไทยส่วนหนึ่ง สังคมเราไม่ได้คุ้นชินกับความหลากหลายทางเชื้อชาติแบบตะวันตก ไม่ได้เรียนรู้เรื่องการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ตั้งแต่เด็ก ไม่ได้มองว่าคนผิวสีคือเชื้อชาติ แต่มองเป็นรูปลักษณ์ คนนี้ขาว ดำ สวย ไม่สวย ทำให้พูดกันออกมาตรงๆ ว่าดำ ไม่เอา ทำนองนี้ แต่ตอนนี้โลกของเรากำลังเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเพศ วัฒนธรรมหรือเชื้อชาติ คนที่ชินกับภาพเก่าๆ เริ่มเปิดรับกับภาพใหม่ๆ มากขึ้น

    แล้วคนเขียนล่ะว่าไง มีคนเถียงกันว่าในหนังสือก็มีคำที่เขียนว่าเฮอร์ไมโอนี่ผิวขาวนะ โรวลิ่งบอกกับ The Observer ว่า มีพวกเหยียดผิวหลายคนคิดว่าแค่เฮอร์ไมโอนี่หน้าถอดสีเพราะช็อค (ในหนังสือใช้คำทำนองว่า turned white หรือไม่ก็ 'Hermione's white face' ) ก็กลายเป็นว่าเธอผิวขาว เธอเลยตอบกลับไปง่ายๆ อย่างกระตือรือร้นว่า เฮอร์ไมโอนี่ก็เป็นผู้หญิงเชื้อชาติอื่นได้นะ! นอกจากนี้เธอยังทวีตอีกว่า “ต้นฉบับ: ตาสีน้ำตาล ผมหยิกฟูและฉลาดเป็นกรด แต่ไม่เคยเจาะจงไปเลยนะว่าผิวสีขาว โรวลิ่งรักเฮอร์ไมโอนี่ผิวสีนะ *อีโมจิจุ๊บๆ*”



    นอกจากโรวลิ่งเองแล้ว เอ็มม่า วัตสัน หรือเฮอร์ไมโอนี่ในภาพยนตร์ก็ยังออกมาแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์เช่นกันว่าแทบจะรอดูนอม่าเล่นเป็นเฮอร์ไมโอนี่บนเวทีไม่ไหวเลย พร้อมกับหัวใจรัวๆ



    ปรากฏการณ์การเปลี่ยนนักแสดงเกิดแค่ในแฮร์รี่ พอตเตอร์หรอ? เปล่าเลย! เรื่องอื่นๆ อย่าง Doctor Who หรือ Spider-Man ก็มีเหมือนกัน อย่าง Doctor Who ทีวีซีรีย์สัญชาติเดียวกันกับแฮร์รี่เนี่ยก็มีการเปลี่ยนนักแสดงหลักหรือตัว Doctor มาหลายคนแล้ว สไปเดอร์แมนเองก็เปลี่ยนตัวปีเตอร์ ปาร์เกอร์ตลอด แถมที่น่าสังเกตคือในโลกการ์ตูนจริงๆ สไปเดอร์แมนมีหลายเวอร์ชั่น ทั้งเป็นผู้หญิง เป็นคนผิวสี แต่ในวงการหนังกลับมีแค่คนผิวขาวเท่านั้นคนเลยไม่ค่อยรีแอคเท่าพอใช้นักแสดงต่างสีผิวรึเปล่า อย่าง Doctor Who นักแสดง Doctor ทุกคนก็เป็นนักแสดงชายผิวขาวหมดเลย 

    กระแสนักแสดงต่างเชื้อชาติจากภาพตัวละครที่แฟนๆ วาดไว้ก็เป็นประเด็นกับเรื่องอื่นเหมือนกันนะ อย่างเรื่อง Ghost in the Shell ถูกหลายคนออกมาแสดงความเห็นกับการที่ Scarlett Johanson เล่นตัวละครชื่อ Motoko Kusanagi ซึ่งทางโคดันฉะก็ออกมาบอกว่าสการ์เล็ตเป็นนักแสดงที่เหมาะสมแล้วนะ แต่แฟนๆ คิดว่านี่มันเป็นการ Whitewashing (การที่คนผิวขาวใช้วัฒนธรรมตัวเองแทนวัฒนธรรมชาติอื่น) นี่นา! 

    อันนี้ต้องเข้าใจนิดนึงว่าไอ้การ Whitewashing ของฮอลลีวูดเนี่ยมันมีมานานแล้ว มันเลยเป็นเรื่องที่ทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจในเวลาเดียวกัน รีแอคชั่นพอเห็นหน้านักแสดงคนเลยแบบว่า เฮ้อ คนผิวขาวอีกแล้วหรอเนี่ย นี่ฮอลลีวูดมีนักแสดงแค่คนขาวหรอ (นึกถึงดราม่ารางวัลออสการ์เลยจ้ะ) พอครั้งนี้แฟนๆ ที่หวังจะเจอนักแสดงเอเชียแต่กลายเป็นเจอแต่ภาพเดิมๆ ของนักแสดงในฮอลลีวูดเนี่ยก็ต้องมีการโวยกันบ้างล่ะเพราะคนก็อยากเห็นอะไรที่แตกต่างบ้าง

    ไอ้การเปลี่ยนแปลงแบบนี้มันก็แสดงให้เห็นบริบทสังคมนะ พอมาดูจากรีแอคชั่นของคนกับการเปลี่ยนแปลงว่าชอบหรือไม่ชอบ ทำให้เห็นว่าแต่ละยุคมีคนส่วนหนึ่งคิดยังไง หรืออยากให้มีการนำเสนอแบบไหน Ghost in the Shell ทำให้เห็นความเป็นส่วนน้อยของนักแสดงชาวเอเชียในฮอลลีวูด ส่วน Doctor Who แสดงให้เห็นว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาคนก็ยังยึดติดกับภาพของคนขาวเป็นตัวเอกอยู่ แต่ตอนนี้ทาง Steven Moffat ซึ่งเป็น showrunner เองก็เพิ่งออกมาบอกเลยว่าไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ใช้นักแสดงนำเป็น PoC นะ เราคงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วล่ะ

    เฮอร์ไมโอนี่ทำให้เห็นว่ามีหลายๆ คนพร้อมจะสลัดภาพเดิมๆ ของวงการบันเทิงทิ้งไป ถึงตอนนี้จะทำได้แค่ในละครเวที ไม่ใช่ในโรงหนังที่ทั่วถึงกว่าก็เถอะ 

    “โตขึ้นฉันจะเป็นแบบนี้” สำหรับเด็กผู้หญิงหลายๆ คน เฮอร์ไมโอนี่เป็นตัวละครที่เป็นไอดอลในการใช้ชีวิต ภาพของนักแสดงในโลกของวงการบันเทิงมีแต่ผู้หญิงผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ การแคสตัวละครผิวสีไม่ใช่แค่เปิดโอกาสการตีความนิยายที่ต่างไป แต่ยังเป็นการบอกเด็กหลายๆ คนว่า เธอเองก็เป็นแบบนี้ได้นะ ไอดอลของเธอก็หน้าตาเหมือนเธอแหละ ไม่ต้องมายึดติดกับสีผม สีตาหรือสีผิว ที่สำคัญคือเธอต้องเป็นคนที่สตรอง มีความกล้าหาญ รักเพื่อน รักการเรียนต่างหาก

    กฎเก่าก็มีเปลี่ยนกันได้ แล้วทำไมในโลกของหนังสือ โลกของเวทมนตร์ถึงต้องมีกฎตายตัวขนาดนั้น การที่คนอ่านใช้ช่องว่างระหว่างบรรทัดตีความต่างกันไปทำให้เกิดประเด็นสนทนา จินตนาการที่หลากหลาย เกิดแฟนเวิร์ค ทำให้คนรู้จักงานมากขึ้นก็เป็นเรื่องดีนี่ คำถามจริงๆ ไม่ใช่ทำไมถึงต้องเปลี่ยน แต่คำถามคือทำไมถึงจะเปลี่ยนไม่ได้ล่ะ?

    ขนาดบรรดาพ่อมดแม่มดที่เมื่อก่อนโดนมักเกิ้ลจับสุมไฟเผาจากเรื่องขัดแย้งทางศาสนายังมีเทศกาลคริสต์มาสของศาสนาคริสต์ในโรงเรียนฮอกวอตส์ได้ ขนาดเรายังยอมรับโลกเวทมนตร์ที่ซ่อนอยู่ในห้องน้ำ กำแพงชานชาลารถไฟ ตรอกแคบๆ แล้วทำไมเราจะยอมรับเรื่องตัวละครเปลี่ยนเชื้อชาติไม่ได้ล่ะ? ขนาดคุณโรวลิ่งยังบอก Rowling loves black Hermione เลย (minimore loves her too!) เราก็มาอ้าแขนกว้างๆ ต้อนรับนักแสดงใหม่เข้ามาอยู่ในโลกเวทมนตร์นี้กันดีกว่า เพราะไม่ว่าจะเป็นใครฮอกวอตส์ก็ยินดีต้อนรับนะจ๊ะ


    ประเด็นนี้น่าสนใจสำหรับคนที่คิดจะสร้างสรรค์งานตรงที่แสดงให้เห็นว่าตอนนี้ทั้งนักเขียน แฟนๆ สำนักพิมพ์พยายามสนับสนุนความแตกต่างมากขึ้น คนสร้างสรรค์งานที่ดีต้องฟังเสียงของคนอื่นด้วยนะ ไม่ใช่แค่เสียงของตัวเองหรือเสียงของตลาด มีผู้ผลิตงานหลายชิ้นที่ลืมฟังเสียงผู้บริโภคส่วนน้อย ไม่ยอมรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ จนลืมคิดว่าเรื่องบางเรื่องอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ในสายตาเรา แต่หลายๆ คนให้ความสำคัญกับมันมาก การคิดก่อนเลือกที่จะผลิตหรือบริโภคงานสักชิ้นทำให้มันมีคุณค่าขึ้นเยอะเลย :>


    ข้อมูลจาก The Guardian , Pottermore , The Guardian 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in