เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Judge A Book By Its Coverminimore
ความปังที่มองไม่เห็น! พลังซ่อนเร้นบนปกหนังสือ - Judge A Book By Its Cover
  •  

     

    การอ่านระหว่างบรรทัดอาจไม่พอ! จะสนุกกว่าถ้าลองอ่านระหว่างภาพและชื่อเรื่องบนปกด้วย

    มันสนุกดีนะเวลาที่ได้ตั้งคำถามว่าคนเขียนกับคนทำปกตั้งใจจะสื่ออะไรหรือได้รู้สึกตื่นเต้นกับอะไรที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่ถูกมองข้าม ปกกับชื่อเรื่องนี่แหละที่เป็นเสน่ห์ทำให้คนอ่านเลือกที่จะหยิบหนังสือมาจากชั้นวางไม่ถูกปล่อยทิ้งไว้กลางทาง (ฮือ) พอมีกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาเล่นด้วยยิ่งอยากจะคว้าเก็บไว้เลย


    สวัสดีจ้ะ กลับมาอีกครั้งกับ Judge a Book by Its Cover ก่อนหน้านี้เราก็เจอหนังสือชื่อและปกแปลกหรือสวยแซ่บมาบ้างแล้ววันนี้มินิมอร์พกหนังสือที่ชื่อเรื่องปังๆ หรือหนังสือที่มีอะไรมากกว่าที่มองแวบแรกมาฝากอีกแล้ว *เย่!!* มีทุกประเภทเลยทั้งกลอน นิยายประเภทต่างๆ ไปจนถึงบันทึกส่วนตัว ทั้งหนังสือเก่าและใหม่ มีคนพูดถึงชื่อเสียงเรียงนามมากน้อยปะปนกันไป 


    ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเล้ย



    1. Mr. Penumbra's 24-Hour Bookstore (ร้านหนังสือ 24/7 ของคุณเพนุมบรา) 

    ผู้เขียน Robin Sloan

    ผู้แปล: ศรรวริศา


    ภาพจากBookPage 


    หนังสือเรื่องนี้มีชื่อภาษาไทยว่า ร้านหนังสือ 24/7 ของคุณเพนุมบรา ทั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษทำให้ชวนคิดว่า เอ๊ะ ทำไมต้องเปิด 24 ชั่วโมงด้วย (สำหรับคนรักหนังสือนี่ถือว่าเป็นสวรรค์มากๆ อยากให้มีจัง) พอเห็นชื่อเรื่องบนชั้นในร้านหนังสือคงจะแอบหันขวับกันบ้าง หยิบดี ไม่หยิบดี ถ้าคิดว่าปกยังไม่ว้าว ชื่อไม่มีอะไรมาก คงต้องคิดใหม่แล้วล่ะ...

     

    เพราะ…

     

    หนังสือเล่มนี้...เรืองแสงได้ในที่มืด!!

     

    สำหรับผู้ใหญ่หัวใจเด็กแล้วคงจะตื่นเต้นไม่น้อยเลย *มินิมอร์เอง* นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่มีดาวเรืองแสงติดตามฝาผนังแต่ทำไมต้องทำให้หน้าปกเรืองแสงด้วย แค่กิมมิกเล่นๆ ของนักออกแบบปกรึเปล่า พูดได้เลยว่าไม่จ้ะ เพราะนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอกที่เป็นผู้ชายธรรมดาๆ เข้าไปทำงานในร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยความลับอะไรบางอย่าง เขาเลยพยายามที่จะไขความลับนั้น เนื้อเรื่องเป็นการผสมผสานระหว่างเรื่องลึกลับเล็กๆ กับแฟนตาซีหน่อยๆ


    ปกที่เรืองแสงได้ในที่มืดอาจจะกำลังบอกเราว่าร้านหนังสือธรรมดาๆ ที่เราเห็นอาจจะไม่ธรรมดาก็ได้นะจ๊ะ การหาคำตอบอาจจะต้องใช้วิธีบางอย่างที่คนอื่นคาดไม่ถึงเราจะเจอคำตอบได้ก็ต่อเมื่อมองอีกมุมเท่านั้น!

    เป็นหนังสือที่พี่ไม่ได้มาเล่นๆ จริงๆ

     

    ดูเพิ่มเติม (ฉบับภาษาไทย)

    ดูเพิ่มเติม (ฉบับภาษาอังกฤษ)

     


    2. Suicide Shop (ร้านชำสำหรับคนอยากตาย)

    ผู้เขียน Jean Teule

    ผู้แปล: อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง

     

     

    เดี๋ยวนะ ร้านอะไรนะ ขออีกทีร้านชำสำหรับคนอยากตาย? ใช่แล้ว ฟังไม่ผิดหรอก จากปกก่อนหน้าเรื่องร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงเผลอแป๊บเดียวเปลี่ยนมาเป็นร้านชำสำหรับคนอยากตายเลย (ร้านคงไม่ได้อยู่ข้างกันใช่มั้ย *เหงื่อตก*) นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายสไตล์ดิสโทเปียตลกร้าย เรื่องเกิดขึ้นที่เมืองบรรยากาศฝรั่งเศสที่ผู้คนพากันหมดอาลัยตายยากจนมีครอบครัวที่ตั้งร้านขายอุปกรณ์และแนะนำวิธีการฆ่าตัวตายให้กับลูกค้า แต่อยู่มาวันหนึ่งลูกคนสุดท้องของบ้านนี้กลับเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดีไม่อยากตายซะได้ เรื่องวุ่นๆ จึงเกิดขึ้น

     

    พอเห็นชื่อตรงปกใช้คำว่าร้านชำแล้วมันทำให้เรื่องการฆ่าตัวตายดูเป็นเรื่องใกล้ตัวดูเป็นเรื่องปกติเหมือนเดินผ่านร้านขายของหน้าปากซอยธรรมดาๆ เลย ยิ่งมาเห็นปกฉบับแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่เป็นถุงหูหิ้วซื้อของมีมีดกับเชือกโผล่มาให้สยองเล่นน้อยๆ ทำให้คนเดินผ่านถึงกับต้องตั้งคำถาม (มีร้าน) แบบนี้ก็ได้เหรอ?  

     

    คำโปรยของเรื่องฉบับภาษาไทยก็ชิคไม่แพ้ชื่อเรื่องเลย “เบื่อโลกเชิญทางนี้ ไม่ตายยินดีคืนเงิน” ดูเป็นการเชิญชวนที่น่าสนใจถ้าไม่ติดว่าชวนเราเข้าไปในร้านสำหรับฆ่าตัวตายน่ะนะ ฮ่าๆ

     

    ดูเพิ่มเติม (ฉบับภาษาไทย)

    ดูเพิ่มเติม (ฉบับภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส)

     


    3. Playlist for the Dead

    ผู้เขียน: Michelle Falkoff


     

    ถัดจากร้านสำหรับคนอยากตาย มินิมอร์ก็มีเพลย์ลิสต์สำหรับคนตายมาเสนอจ้ะ ฟังดูเป็นชื่อเรื่องน่าตื่นเต้นพอเห็นคำว่าตาย สีฟ้าหม่นๆ มาแนวเดียวกับเรื่องร้านชำฉบับภาษาอังกฤษเลย ดูแล้วเหงาๆ เศร้าๆ บอกไม่ถูก 

    ปกเรื่องนี้มาจากนิยายวัยรุ่น เรื่องย่อประมาณว่าตัวเอกเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาแต่อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนของเขาก็ฆ่าตัวตายแล้วเหลือแต่เพลย์ลิสต์เอาไว้ให้ซึ่งเพลย์ลิสต์เป็นตัวดำเนินเรื่องหลักที่จะทำให้ตัวเอกไปพบกับมุมมองใหม่ๆ ของชีวิต

     

    อันที่จริงชื่อเรื่องมันน่าจะเป็นเพลย์ลิสจากคนตายมากกว่าเนอะพออ่านเรื่องย่อแล้ว ไม่ใช่เพลย์ลิสต์สำหรับคนตายแต่คำว่าคนตายในที่นี้จะผิดจริงๆ หรอ โพรเสสการพิมพ์หนังสือมันไม่ได้ผ่านตาแค่คนเดียวนี่นาหรือตายในที่นี้อาจจะไม่ใช่ความตายทางร่างกาย แต่เป็นจิตใจ? อืม...น่าคิดนะ ถ้าอยากรู้คงต้องไปหาอ่านแล้วล่ะ *มองเงินในกระเป๋า*

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    4. Veronika Decides to Die (เวรอนิกาขอตาย)  

    ผู้เขียน: Paolo Coelho

    ผู้แปล: ธนพรรณ สิทธิสุนทร

      

     

    เอ๊ะ ยัยเวโรนิก้านี่เป็นใครมาขอตายทำไม ว่าแต่ว่าเรายังหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องความตายกันอยู่เลย ฮ่าๆพอเห็นชื่อเรื่องนี้แล้วมันสร้างความสงสัยมากกว่าทำไมอยู่ดีๆใครไม่รู้ชื่อเวโรนิก้ามาขอตายซะงั้นเป็นอีกครั้งที่ถึงกับต้องถามว่าแบบนี้ก็ได้เหรอ


    เรื่องย่อสั้นๆของนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่พยายามฆ่าตัวตายแต่รอดซะงั้นเธอถูกพาไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตทำให้ได้เห็นเรื่องราวต่างๆ มากมายในนั้น

     

    ปกสีฟ้าหม่นๆ (อีกแล้ว) คงเป็นตัวบอกอารมณ์เรื่องได้ดี ยิ่งนิยายเรื่องนี้เขียนโดนนักเขียนชื่อดังที่เขียนเชิงปรัชญาบ่อยๆที่มินิมอร์เคยพูดถึงไปแล้วกับหนังสืออีกเรื่องของเขาใน JUDGE A BOOK BY ITSCOVER - ปกจ๋าบอกข้าฯ เถิด... การันตีได้เลยว่าเรื่องคงไม่ใช่แค่เจ๊เวโรนิก้าคนนี้ขอตายเฉยๆแน่ๆ

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    5. Look Who’s Back (กลับมาแล้วครับ)

    ผู้เขียน: Timur Vermes

    ผู้แปล: ฉัตรนคร องคสิงห์

     


    พ้นจากเรื่องตายๆ ก็ลองมาดูเรื่องที่ฟื้นจากความตายกันบ้าง กับเรื่อง Look Who’s Back หรือ กลับมาแล้วครับ ที่บอกว่าฟื้นนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ดูที่หน้าปกสิ! ทรงผมทรงนั้นกับตัวหนังสือชื่อเรื่องที่ถูกทำให้เป็นหนวดทรงสุดยูนีคจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวร้ายของประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียที่สุดในโลก ฟื้นมายืนอยู่ในเบอร์ลินปี 2011 แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

     

    การที่ปกถูกออกแบบมาให้ดูมินิมอลขนาดนี้แต่คนส่วนใหญ่กลับดูแวบเดียวแล้วรู้ว่าหนังสือเรื่องนี้กำลังพูดถึงใคร ยิ่งเห็นชื่อเรื่องที่มาแบบเนิบๆ อารมณ์ประมาณว่า ดูซิ ใครกลับมาแล้ว กลายเป็นอะไรที่แอบน่าสะพรึงพอสมควรโดยไม่ต้องใช้อะไรมากมายบนปกหนังสือเลย ปังทั้งชื่อปังทั้งปกเลยจ้ะ

     

    ดูเพิ่มเติม


     

    6. สถาปัตย(ฆาต)กรรมศาสตร์

    ผู้เขียน: อาวุธ อังคาวุธ

     


    หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกับหนังสือเล่มนี้เพราะเคยแนะนำไปแล้วใน หนังสือแนะนำที่จะทำให้วงการสถาปัตยกรรมสะเทือน แต่เรื่องนี้ไม่พูดถึงประเด็นเรื่องชื่อเรื่องกับปกไม่ได้เลย การเล่นคำระหว่างสถาปัตยกรรมศาสตร์และฆาตกรรมทำให้เรื่องดูน่าสนใจมากแล้วเดาได้เลยว่าพล็อตจะต้องเกี่ยวข้องกับสองคำนี้

     

    เห็นความลึกลับจากปกที่เป็นแปลนบ้านซ้อนกับรูปสีน้ำเงินเข้ม (มาแนวเดียวกับปกเรื่องความตายด้านบนเลยสีแนวนี้) ซ้อนกับรูปตัวบ้านและเงาคนนั่นอีก ทำให้ดูลึกลับน่าค้นหา ว่าแต่ทำไมต้องสถาปัต ทำไมต้องฆาตกรรม ตัวเอกเป็นเด็กสถาปัตฆ่าคนที่เผลอทำโมเดลนางพังรึเปล่า เปล่านะจ๊ะพอมาอ่านเรื่องย่อแล้วก็ถึงบางอ้อ ตัวเอกไม่ได้เป็นฆาตกรเพราะถูกหักโมเดลแต่อย่างใด แต่เพราะถูกหักอก (เฮือกน่ากลัวกว่าเดิม) เขาใช้ศาสตร์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมฆ่าคนรักเก่าด้วยการสร้างเรือนหอให้เธอ! นี่พี่จะโหดไปไหน เหมือนเป็นพระเอกเอ็มวีทางของฝุ่น(ที่ต้องทำวิดีโอพรีเวดดิ้งให้แฟนเก่า) join the dark side เลย

     

    ดูเพิ่มเติม


     

    7. Monster Under Your Head

    ผู้เขียน: Chad Sugg

     

     

    เคยได้ยินวลี Monster under your bed หรืออสูรกายใต้เตียงบ้างรึเปล่า? เวลาที่เรากลัวว่าจะมีอะไรอยู่ใต้เตียงจนไม่กล้าหย่อนขาลงจากเตียงหรือยื่นเท้าออกจากผ้าห่มตอนมืดๆ เพราะกลัวเจ้าอสูรกายตัวนั้น อันที่จริงแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าอสูรกายใต้เตียงก็คืออสูรกายในหัวหรือความคิดของเราเองนี่แหละ ตัวอย่างไม่ต้องไปไกลตัวมาก ดูอย่างคนที่มีตัวตนจริงๆ อย่างฮิตเลอร์ที่พูดถึงจากเรื่องด้านบน เรื่องราวการวางแผนฆาตกรรมของเรื่องก่อนหน้านี้ หรือความคิดของคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายอสูรกายที่มีพลังทำลายล้างมากที่สุดไม่ใช่อาวุธหรือสัตว์ประหลาดอะไรแต่คือความคิดของคนเรานั่นแหละ

     

    หนังสือเรื่องนี้ไม่มีเรื่องย่อเพราะนี่เป็นการรวมเล่มกลอนเกี่ยวกับชีวิตของคนเราโดย Chad Sugg การรวบรวมความคิดทั้งดีและเศร้าอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในใจหรือหัวของเราเองก็ได้บางทีมันอาจจะเป็นอสูรกาย บางทีอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ปกนี้น่ารักตรงการย้ำคำหลายๆ ครั้งเหมือนความคิดของมนุษย์ที่อาจจะวนไปวนมาย้ำคิดย้ำทำกับเรื่องเดิมบ้างๆ อย่างเรื่องความเศร้า ความรัก หรือความสุข การเล่นคำที่คล้องจองกันอย่าง head กับ bed ยิ่งทำให้ปกนี้น่าสนใจไปอีก

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    8. The Periodic Table

    ผู้เขียน: Primo Levi

     

     

    เห็นชื่อเรื่องว่าตารางธาตุหนังสือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับตารางธาตุซะทีเดียวนะจ๊ะ สำหรับใครที่คุ้นกับชื่อของ Primo Levi อาจจะพอเดาได้ว่าหนังสือเรื่องนี้จะเป็นหนังสือแนวไหน เพราะ Levi เป็นนักเคมีและนักเขียนผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเรื่อง The Periodic Table เนี่ย บางส่วนในเรื่องคือบันทึกส่วนตัวหรืออัตชีวประวัติของ Levi ตั้งแต่สมัยอยู่กับครอบครัวจนผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย แต่บางส่วนก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

     

    แล้วตารางธาตุมาเกี่ยวอะไรด้วย? คำตอบคือ Levi ใช้ชื่อตอนแต่ละตอนเป็นธาตุในตารางธาตุในการดำเนินเรื่องยกตัวอย่างธาตุอาร์กอน (Ar) ที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเฉื่อย ธาตุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นๆ ได้ถูกนำมาเป็นหัวข้อการเล่าเรื่องบรรพบุรุษของ Levi ซึ่งเป็นชาวอิตาเลี่ยน-ยิว อาจเปรียบได้กับคนที่ไม่สามารถอยู่รวมกลุ่มกับคนกลุ่มอื่นได้

     

    แค่ชื่อเรื่องกับกิมมิกยังปังขนาดนี้ปกที่ยกมาก็ปังไม่แพ้กัน คำย่อภาษาอังกฤษบนปกไม่ใช่ชื่อหรือพันธะทางเคมีแต่เป็นอักษรย่อเมืองในการเดินทางตลอดชีวิตของคนเขียน จะเห็นว่ามีเส้นนึงขีดออกมาเป็นเลข 174 517 ก็ไม่ใช่เลขแรนด้อมนะ แต่เป็นหมายเลขในค่ายกักกันของคนเขียน


    ดูความทุ่มเทของคนออกแบบปกและการตั้งชื่อเรื่องของคนเขียนแล้วเนื้อหาข้างในจะขนาดไหน

     

    (ที่มาข้อมูล The PeriodicTable: Primo Levi's elementals of life, suffering and death)

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    9. Not If I See You First

    ผู้เขียน: Eric Lindstrom

     

     

    เอาล่ะ ดูมีปกเครียดๆ เศร้าๆ สีหม่นๆ มาเยอะแล้ว มาหาปกสีสดใสๆ บ้างดีกว่า ปกนี้มาจากนิยายวัยรุ่นที่เพิ่งตีพิมพ์ได้ไม่นาน โดยไอ้วลี Not if I see you first เนี่ยเป็นวิธีพูดตอบเล่นๆ กับเพื่อน เวลาที่เพื่อนบอกว่า See you! เจอกัน ประมาณนี้ แล้วเราก็ตอบเชิงกวนๆ ว่า ไม่ ถ้าฉันเห็นเธอก่อน! (เป็นมุขแบบตรงๆ ว่า see you คือฉันจะเห็นเธอจริงๆ) 


    ถ้าใครที่สังเกตจุดเล็กๆ บนรูปปกหนังสืออาจจะเริ่มเกทมุขแล้วเพราะจุดเหล่านั้นคืออักษรเบรลล์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น นางเอกของเรื่องนี้มีความบกพร่องทางการมองเห็นทำให้เธอไม่สามารถมองเห็นคนที่พูดอีกฝ่ายได้จริงชื่อเรื่องเลยเป็นมุขขำขันของเธอนั่นเอง

     

    ด้วยความที่ไม่ค่อยเห็นตัวละครเอกแบบนี้ทำให้เรื่องนี้น่าสนใจว่าจะนำเสนอตัวละครออกมาในรูปแบบไหน แต่ที่ทำให้น่าสนใจไม่แพ้กันแถมยังสะดุดตาด้วย ไม่ได้มีแค่สีสันสดใสของปก แต่ยังเป็นเจ้าอักษรเบรลล์นั่นแหละ มินิมอร์ลองแกะดูแล้ว (ด้วยการเสิร์ชตัวอักษรเบรลล์ในกูเกิ้ลแล้วถอดคำทีละชิ้น ฮา) อักษรเบรลล์บนปกไม่ใช่ชื่อเรื่องหรือชื่อคนเขียนนะ! ใครอยากรู้ว่าคืออะไรก็ลองแกะดูได้ *หาเพื่อน ฮิฮิ*

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    10. Imagine Me Gone

    ผู้เขียน: Adam Haslett

     

     

    ถ้าวันหนึ่งฉันหายไป คุณจะเป็นยังไง? ดูเป็นคำถามที่น่าเจ็บปวดถ้าเราต้องใช้ถามคนที่เรารักจริงๆ (โอ้ไม่นะ กลับมาที่ปกเศร้าอีกแล้วหรอ) ปกนี้มาจากนิยายที่เป็นเรื่องราวของครอบครัวที่สมาชิกต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้า ชื่อเรื่องปกดูไม่มีอะไรถ้าแค่คิดว่าชื่อเรื่องคือการบอกให้คนฟังลองจินตนาการว่าตัวเองหายไป แต่มองดูก็รู้ว่ามีอะไรที่หายไปจากชื่อเรื่อง...คือคำว่า NO นั่นเอง กระเด็นไปอยู่ข้างหลังปกแทน (ซึ่งถ้าคนอ่านอีบุ๊กจะมองไม่เห็นคำว่า NO ปกหลังเลย)

     

    มันดูเป็นการกระทำที่ passive aggressive นะ เหมือนกับคนพูดต้องการสื่อว่า คิดว่าฉันหายไปสิ คิดได้เลยฉันไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่จริงๆ แล้วข้อความที่ซ่อนอยู่คือ ไม่ อย่าตัดฉันออกไปจากชีวิตเลยนะ (ก็คงเหมือนกับตอนที่พูดว่าไม่เป็นอะไรแต่เป็นอะไรไง)

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    11. How to Set a Fire and Why

    ผู้เขียน: Jesse Ball

     

     

    นี่มันหนังสือสอนจุดไฟหรอ? ทำไม๊ ทำไม คนถึงจะอยากรู้วิธีจุดไฟถึงกับต้องออกมาเป็นหนังสือเลยหรอนี่วงการหนังสือฮาวทูมาไกลถึงจุดนี้แล้วรึเปล่า จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ หน้าปกเล่มนี้มาจากนิยายที่จะออกเดือนกรกฎาคมนี้ เกี่ยวกับชีวิตของวัยรุ่นหญิงที่เผชิญปัญหาพอสมควร พ่อก็ตายแม่ก็อยู่ในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิต ชีวิตในโรงเรียนก็ไม่มีคนยอมรับจนกระทั่งเธอค้นพบชมรมหนึ่งในโรงเรียนคือชมรมลอบวางเพลิง ทำให้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตและของนิยายเรื่องนี้เลย

     

    รีวิวคนที่ได้อ่านก่อนแล้วบอกว่าเนื้อเรื่องตอบรับกับชื่อว่าจุดไฟอย่างไรและทำไม ซึ่งในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงแค่จุดไฟจริงๆ แต่หมายถึงจุดไฟชีวิตแบบเชิงอุปมาด้วย หน้าปกที่เป็นรูปกล่องไม้ขีดไฟยิ่งเข้าโจทย์ของชื่อเรื่องเลย


    เป็นปกที่ไม่หวือหวาแต่ชวนให้เปิดเข้าไปดูเนื้อหาข้างในมาก

     

    ดูเพิ่มเติม

     


    12. Love in the Time of Cholera (รักเมื่อคราวห่าลง)

    ผู้เขียน: gabriel garcia marquez

    ผู้แปล:  รัชยา เรืองศรี

     

     

    เคยมีคนพูดไว้ว่า ความรักเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใครและจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่พออ่านชื่อเรื่องภาษาไทยถึงกับต้องกลับไปอ่านอีกรอบ รักเมื่อคราวห่าลง ดูเป็นชื่อที่สร้างความตื่นเต้นไม่น้อย (ยิ่งคนไทยใช้คำจากโรคห่าเป็นคำด่าคงมีแอบสะดุ้งกันบ้าง) พออ่านชื่อเรื่องบางคนอาจจะจินตนาการ นี่จะต้องเป็นนิยายรักที่ตัวละครพระนางต่อสู้กับโรคร้าย ตืดดด *เสียงกากบาทผิด*  


    นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างตัวละครหลักสามตัวภายในเวลาหลายสิบปี เขียนโดยนักเขียนชื่อดังอย่างกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (ถ้าใครไม่เคยอ่านแต่เคยเห็นแท็กหรือเรื่องสั้นในเฟซบุ๊ก “ผมอ่านงานมาร์เกซครั้งแรกตอนอายุ 25…” คงพอจะคุ้นกับชื่อนี้อยู่)

     

    นอกจากโรคห่าจะถูกมาใช้เป็นเซทติ้งของเรื่อง คือเมืองที่อยู่ในระยะเวลาที่โรคอหิวาระบาด (ประมาณปลายคริสตศวรรษที่ 19 และช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ) แล้ว โรคห่ายังถูกเปรียบเทียบกับความรักของตัวละครในเรื่องด้วย เห็นมะชื่อเรื่องไม่ได้เป็นแค่หัวเรื่องแล้วจบนะ ภาพพื้นหลังของปกเป็นสีน้ำเงินหม่นๆ (โทนฟ้าอีกแล้วแฮะ) แต่ก็มีสีแดงเข้ามาสร้างจุดสนใจประปราย ดูเป็นปกเรียบๆ ที่ไม่เรียบเลย  

     

    ดูเพิ่มเติม

     

    13. The Thirteenth Tale (นิยายที่หายไป)

    ผู้เขียน: ไดแอน แซตเตอร์ฟีลด์
    ผู้แปล: ศศมาภา

     

     

    แหม สมกับเป็นเรื่องที่ 13 พอดีกับเรื่อง The Thirteenth Tale แต่ชื่อภาษาไทยใช้ว่านิยายที่หายไป เพราะเรื่องนี้เป็นนิยายเกี่ยวกับนักเขียนชีวประวัติที่ต้องเขียนประวัติของนักเขียนชาวอังกฤษที่กุมความลับมากมายรวมถึงเรื่องนิยายที่ 13 ที่หายไปของนักเขียนคนนั้น! น่าตื่นเต้นสุดๆ

     

    ปกนี้มีความเก๋กู๊ดสุดติ่งกระดิ่งแมวตรงที่คำว่าหาย มันหายไปจริงๆ! ที่ไม่ใช่ตัวหนังสือธรรมดาๆ บนหน้าปกแต่คำว่าหายไม่พิมพ์สีเอาไว้ แค่เคลือบเป็นสปอตยูวีเงาตัดกับเนื้อกระดาษปกด้าน ทิ้งความลึกลับไว้ปังๆ แบบนี้เท่สุดๆ

     

    ดูเพิ่มเติม 



    ปกที่ยกมาวันนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่ามีหนังสือหลายเล่มที่ใช้คำว่าตายในเรื่องและใช้ปกสีฟ้า (ฮ่าฮ่า) ยังทำให้เห็นอีกว่ามีวิธีมากมายที่จะเผยความน่าสนใจของเนื้อหาข้างในโดยไม่เป็นการสปอยล์เนื้อเรื่องไปซะทีเดียว แถมยังทำให้เรารู้สึกถึงความตั้งใจของคนเขียน คนออกแบบและคนที่อยู่เบื้องหลังหนังสืออีกด้วย


    พอดูปกพวกนี้แล้วเจ้าความปังที่มองไม่เห็นจากปกเนี่ย จริงๆ มันก็มองเห็นได้นั่นแหละเพียงแต่บางคนอาจจะมองข้ามไปหรือไม่เข้าใจถ้าไม่หยิบมาดู มันเลยทำให้มองไม่เห็นจนกว่าจะตั้งใจดูจริงๆ

     

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in