หนังสือเล่มนี้สีแดง หนังสือเล่มนี้สีดำ เอ๊ะ อะไร มินิมอร์มาบอกสีหนังสือทำไม นี่ไม่ได้มาบอกให้ไปหาสติกเกอร์มาแปะหนังสือแก้ดวงแบบสติกเกอร์ที่แปะตามรถแต่อย่างใด แต่วันนี้จะพาไปดูหนังสือที่มีชื่อสีต่างๆ อยู่ในชื่อเรื่องน่ะสิ! แล้วลองมาคิดกันเล่นๆ ว่าทำไมคนเขียนถึงต้องใส่สีเข้ามาในชื่อเรื่องด้วยนะ
1. The Golden Compass โดย Philip Pullman หลายคนคงเคยได้ยินและดูหนังเรื่อง อภินิหารเข็มทิศทองคำ หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือในชื่อเดียวกัน ฟีดแบ็กหลายๆ คนกับหนังอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าดูฟีดแบ็กหนังสือแล้วแฟนๆ ติดตามกันเยอะมาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ออกผจญภัยกับภูตประจำตัวท่ามกลางปัญหาการลักพาตัวเด็กไปทดลอง พล็อตเรื่องมีความละเอียดและน่าสนใจ ไม่ใช่แค่วรรณกรรมเยาวชนธรรมดาๆ เลย หนังสือเล่มนี้เป็นแค่เล่มแรกเท่านั้น ยังมีเล่มต่ออีก 2 เล่ม เด็กก็อ่านได้ผู้ใหญ่ก็อ่านสนุกทำไมต้องสีทอง? สีทอง ตามความคิดของหลายๆ คนแล้วคงมองว่าเป็นสีที่มีค่า ดูมีราคา ไม่เหมือนใคร มินิมอร์ว่าที่สีทองคงเพื่อสร้างความพิเศษให้วัตถุ จากเข็มทิศธรรมดาๆ ก็ดูกลายเป็นเข็มทิศที่มีพลังวิเศษที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสามารถใช้เข็มทิศชนิดนี้ได้
แถมพอเห็นจากปกก็พาให้สงสัยอยากหยิบว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเข็มทิศ เข็มทิศอันนี้จะต้องนำทางไปยังที่ๆ พิเศษแน่ๆ เลย *มองหาเข็มทิศบ้าง*
ข้อมูลเพิ่มเติม 2. Green Eggs and Ham โดย Dr. Seuss ชื่อ Dr. Seuss นี่ใครๆ ก็คงคุ้นไม่ว่าจะจากหนังสือภาพสำหรับเด็กหลายๆ เรื่อง หรือจากหนังอย่าง The Lorax และ The Cat in The Hat เรื่อง Green Eggs and Ham เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ใช้คำประกอบในเรื่องแค่ 50 คำเท่านั้น! เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Sam I am กับเพื่อนบ้านที่ถูกแซมคะยั้นคะยอให้กินไข่กับแฮมสีเขียวให้ได้ ทั้งเรื่องก็เป็นการถามไปถามมาว่าจะกินที่นั่นที่นี่มั้ย มีเป็นการ์ตูนอยู่ในยูทูปด้วยนะ
VIDEO
สุดท้ายเจ้าตัวก็ยอมกินไข่กับแฮมสีเขียวแล้วค้นพบว่ามันอร่อยมาก เป็นนิทานสอนให้เด็กอย่าตัดสินอะไรไปก่อน อย่าตัดสินแค่ที่ภายนอก อย่า judge a book by its cover (อ้าว แล้วคอลัมน์นี้ล่ะ ยุบมั้ยยังไง ฮ่าๆ ล้อเล่นนะ ในนี้ judge a book ได้ อนุญาต อิอิ)
ทำไมต้องสีเขียว? สีเขียวเป็นสีที่สวยงาม เช่น สีของหญ้า ต้นไม้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกันมินิมอร์ว่าสีเขียวก็เป็นสีที่แสดงถึงอะไรน่ารังเกียจด้วย เช่น ยักษ์เขียว สีอ้วกในการ์ตูน สีพิษ เลยไม่แปลกที่ตัวละครในหนังสือเรื่องนี้จะไม่อยากกินไข่และแฮมสีเขียว แต่พอกินเข้าไปกลับอร่อยซะงั้น การใช้สีที่ถูกมองในด้านลบกลับมาทำให้เป็นด้านบวกแสดงให้เห็นว่าคนเราไม่ควรจะตัดสินใครจากรูปลักษณ์ภายนอกจนกว่าจะได้มารู้จักจริงๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม 3. ส้มสีม่วง โดย ดาวกระจาย หนังสือเล่มนี้มีคนจากยีราฟเสนอมา (ข้อดีของความบ้านใกล้เรืองเคียง ฮี่ฮี่) หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซีของไทยที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทวรรณกรรมเยาวชน ประจำปี 2544 ด้วยนะ เรื่องย่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กสองคนและลุงนักเขียนที่จะต้องต่อสู้กับกองทัพปราบฝัน ที่คอยจะทำลายจินตนาการของทุกๆ คน
ทำไมต้องสีม่วง? ดูจากเรื่องย่อที่เกี่ยวกับจินตนาการและความเป็นจริงแล้ว ที่ใช้ว่าสีม่วงคงต้องการจะชี้ให้เห็นสีของผลส้มที่เป็นจริงไม่ได้ในโลกความเป็นจริง ทำไมส้มถึงเป็นสีม่วงไม่ได้?
ข้อมูลเพิ่มเติม
4. Black Like Me โดย John Howard Griffin ในสำหรัฐอเมริกา ยุค 50s นักข่าวผิวขาวคนหนึ่งได้เปลี่ยนสีผิวของตัวเองให้เหมือนชายเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันเพื่อเสาะหาประสบการณ์ในตอนที่ตนเป็นคนผิวขาวไม่มีวันเข้าใจ ฟังดูเหมือนนิยายใช่มั้ย แต่นี่เป็นเรื่องจริง! John Howard Griffin นักข่าวเรื่องนี้ได้ทำเช่นนี้จริงๆ และมาเขียนเป็นหนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1961
ทำไมต้องสีดำ? ประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเชื้อชาติหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันประเทศหลากเชื้อชาตินี้ก็ยังมีปัญหาด้านการยอมรับเชื้อชาติอื่นๆ จากคนผิวขาวที่มีถือว่าได้รับสิทธิเหนือกว่าคนอื่นๆ และดูถูกคนต่างชาติ ผิวสี โดยเฉพาะคนแอฟริกันอเมริกันที่มีผิวสี "ดำ"
สีดำ จึงไม่ใช่แค่สีของความมืด สีเวลากลางคืน แต่ยังเป็นสีที่สะท้อนสังคมได้ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
5. Fifty Shades of Grey โดย E.L. James พูดถึงเรื่องนี้หลายๆ คนก็คงรู้จัก กับเรื่อง Fifty Shades of Grey นิยายร้อนแรงที่พัฒนามาจากแฟนฟิคทไวไลท์ เรื่องราวของนางเอกสาวที่ดูไม่มีอะไรพิเศษแต่กลับไปพบรักกับนักธุรกิจหนุ่มร้อนแรงนามว่ามิสเตอร์เกรย์ หลังจากนั้นทั้งสองคนก็มีความสัมพันธ์กันที่ว่าจะคนรักก็ไม่เชิงแค่คนรู้จักก็ไม่ใช่ ทำให้นางเอกได้เรียนรู้จักมิสเตอร์เกรย์มากขึ้น
ทำไมต้องสีเทา? โอ้ มินิมอร์ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาแล้วสนุกมาก หลายๆ คนก็แสดงความเห็นต่างกันไป สีเทาเป็นส่วนผสมระหว่างขาวกับดำ เป็นสีที่ดูขุ่นมัว วลี Shades of Gray หมายถึงสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากว่ามีอะไร แถมนอกจากจะเป็นชื่อสีแล้วยังไปพ้องกับชื่อพระเอกอาจจะแสดงให้เห็นว่าพระเอกเป็นคนที่เดายาก
ใน
Bustle บอกว่าสีเทาอาจจะเป็นเหมือนความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอกที่ไม่ใช่ขาวกับดำ แต่อยู่กึ่งกลางระหว่างนั้นพอดี และมีข้อมูลว่าคนเราสามารถจำแนกเฉดสีของสีเทาได้แค่ 32 เฉดเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่บอกว่ามีเฉดสีเทาถึง 50 เฉดอาจจะเป็นการอธิบายว่าตัวละครมิสเตอร์เกรย์มีอะไรมากกว่าที่ตาเห็น และคนอ่านจะไม่มีทางเข้าใจตัวตนของพระเอกได้จนกว่าจะอ่าน
6. As red As Blood โดย Salla Simukka
แดงดั่งเลือด...แค่ฟังก็ดูน่ากลัวแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูมิกกิ เด็กสาวที่ย้ายมาโรงเรียนใหม่และอาศัยอยู่คนเดียว เธอพยายามใช้ชีวิตให้ปกติ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดราม่าในโรงเรียนแบบที่เด็กคนอื่นๆ ทำกันจนกระทั่งวันหนึ่งเธอเจอเงินเปื้อนเลือดจำนวนมาก...นี่มันวรรณกรรมเยาวชนแน่ใช่มั้ยเนี่ย
ทำไมต้องสีแดง?
จริงๆ แล้วนิยายเรื่องนี้เป็น 1 ในซีรีย์หนังสือ Snow White Trilogy ชื่อตัวเอกลูมิกกิ (Lumikki) แปลว่าสโนวไวท์ในภาษาฟินนิช ในประโยคหนึ่งในสโนวไวท์ฉบับดั้งเดิมของพี่น้องตระกูลกริมม์บอกไว้ว่าสโนวไวท์มีผิวสีขาวราวหิมะ ปากแดงดั่งเลือด และผมดำราวกับไม้มะเกลือ (Skin white as snow, lips red as blood, and hair black as ebony) นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายที่นำนิทานเรื่องสโนวไวท์มาตีความใหม่ แต่ยังคงส่วนประกอบบางอย่างไว้อย่างชื่อเรื่อง ชื่อตัวเอก ใครอยากรู้ว่ามีอะไรที่ไม่เหมือนเรื่องเดิมบ้างลองไปอ่านกันได้เลย เรื่องนี้มีแปลไทยด้วยนะโดยคุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊กส์
7. Green Heart Effect โดย วศิน รตนธงชัย แหม เห็นชื่อเรื่องเรื่องนี้แล้วต้องมีอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติแน่ๆ เหมือนกับ Greenhouse Effect หรือปรากฏการณ์เรือนกระจกทำนองนี้ คำโปรยของเรื่องก็น่าสนใจ "เป็นเสียงในการทวงถามแทนธรรมชาติที่ถูกมนุษย์ทำลายไป รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา หวังว่าทุกอย่างยังไม่สายไป หวังว่าความเขียวขจีจะกลับคืนมา "
ทำไมต้องสีเขียว? ดูจากคำโปรยก็น่าจะรู้แล้วล่ะว่าเกี่ยวกับธรรมชาติ สีเขียวเป็นสีที่สื่อถึงธรรมชาติได้ดี แต่สีหม่นๆ ของปกชวนให้เศร้าอาจจะกำลังบอกเราถึงผลที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติ หรืออารมณ์ของธรรมชาติที่ถูกมนุษย์ทำลาย ใครอยากรู้ว่าข้างในเป็นยังไงต้องไปลองหาอ่านดูซะแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม
8. A Study in Scarlet โดย Arthur Conan Doyle แฟนๆ เชอร์ล็อก โฮล์มส์เห็นชื่อเรื่องนี้คงไม่แปลกใจ นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการตามสืบคดีของเชอร์ล็อก โฮล์มส์กับคดีที่พบชายในกองเลือด โดยมีเบาะแสแค่แหวนแต่งงาน นาฬิกา หนังสือ Decameron และตัวหนังสือที่เขียนด้วยเลือดบนกำแพง
แฟนๆ เชอร์ล็อกเวอร์ชั่นซีรีย์อาจจะคุ้นหูในอีกชื่อ เพราะในซีรีย์ก็มีชื่อตอนที่คล้ายกันแต่เปลี่ยนเป็น A Study in Pink แทน
ทำไมต้องสีแดง? ในฉบับแปลภาษาไทย นิยายเล่มนี้ชื่อว่า สืบคดีสีเลือด เพราะ Scarlet แปลว่าสีแดงนั่นเอง พอได้ยินสีแดงและเลือด และนักสืบแล้วก็คงเดาไม่ยากว่านิยายเรื่องนี้จะต้องเป็นเกี่ยวกับฆาตกรรมแน่ๆ แต่ที่น่าสนใจคือคำโปรยของหนังสือฉบับภาษาอังกฤษกล่าวว่าเป็นการค้นหาฆาตกรที่เปิดเผยเรื่องราวความรักและความแค้น ทั้งความรักและความแค้นมักจะถูกให้ภาพด้วยสีที่ร้อนแรงอย่างสีแดง สีแดงอาจจะหมายถึงความรักที่ดีก็ได้ แต่หากสีแดงเข้มไป ความรู้สึกที่รุนแรงไปก็กลายเป็นความแค้นได้เช่นกัน
9. The Color Purple โดย Alice Walker
หนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของผู้หญิงแอฟริกันอเมริกันชื่อเซลีย์ในจอร์เจียที่ใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบจนกระทั่งแฟนเก่าของสามีได้เข้ามาสร้างสีสันในชีวิตเธอ
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1982 และเคยถูกแบนเพราะเนื้อหาของหนังสือเล่าถึงประเด็นละเอียดอ่อนในสหรัฐอเมริกาอย่างเรื่องเชื้อชาติ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า รวมถึงภาษาที่รุนแรง แต่ตอนหลังหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมมาก และหลายๆ คนชื่นชมกับหนังสือเรื่องนี้ที่สะท้อนแง่มุมที่คนไม่ค่อยพูดถึง ทำไมต้องสีม่วง?
หลังจากไปหาข้อมูลมาแล้ว คนอ่านจะไม่เข้าใจที่มาของสีม่วงในชื่อเรื่องจนกว่าจะได้ไปอ่านหนังสือจนจบ เพราะที่มาของชื่อเรื่องมาจากประโยคหนึ่งที่ตัวเอกคุยกับตัวละครอื่น ที่ทำให้เธอเห็นสีม่วงในชีวิตประจำวันที่ประกอบไปด้วยเรื่องดีและร้าย
โดยทั่วไปแล้วสีม่วงจะถูกมองได้ทั้งดีและร้าย ในทางศาสนาแล้วสีม่วงเป็นสีของการรอคอย ดอกไม้บางพันธุ์ก็มีสีม่วง แต่อีกด้านหนึ่งสีม่วงก็เป็นสีที่โดดเดี่ยว เหงา เศร้าสร้อย และเป็นสีของรอยแผล
สีเหล่านี้จะอยู่ในเรื่องให้คนอ่านคอยตีความตั้งแต่ต้นจนจบและกลับมาตีความอีกครั้งที่หน้าปกหนังสือ
ข้อมูลเพิ่มเติม
10. ดอกส้มสีทอง โดย ถ่ายเถา สุจริตกุล เรื่องนี้ไม่พูดถึงไม่ได้แล้ว มีตั้งสองสีอยู่ในเล่มเดียวกัน ฮ่าๆ จริงๆ แล้วสีหนึ่งในเล่มเป็นชื่อดอกส้ม ที่สีไม่ส้มตามชื่อแต่เป็นสีขาวแทน มาดูที่เรื่องย่อกันก่อนดีกว่า เรื่องดอกส้มสีทอง เป็นภาคต่อของมงกุฎดอกส้ม เกี่ยวกับตัวละครใหม่ที่ชื่อ เรยา หญิงสาวทะเยอทะยานอยากจะมีความสุขในชีวิตผ่านทางฐานะและสามีที่ร่ำรวย แต่กลับเข้าหาผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว
ทำไมต้องสีทอง? จากที่บอกไปตั้งแต่ตอนต้นเรื่องเข็มทิศทองคำแล้วว่า สีทองเป็นสีที่ดูสวย งามสง่า มีออร่า แต่ใครที่รู้เรื่องดอกส้มสีทองคงจะรู้ว่านางเอกของเรื่องไม่ได้ทำตัวงามสง่า เป็นหญิงเรียบร้อยราวผ้าพับไว้ บางคนอาจจะมองว่าไม่มีค่าเท่าทองด้วยซ้ำ พาให้หลายๆ คนสงสัยว่าทำไมชื่อเรื่องถึงชื่อดอกส้มสีทองจนต้องไปตั้ง
กระทู้พันทิป กันเลยก็มี ดอกส้มจากทั้งสองเรื่องน่าจะหมายถึงนางเอกทั้งสองคน ส่วนสีทองของเรื่องนี้นั้นหลายๆ คนก็คิดว่าเป็นคำว่าผู้หญิงที่มักมากเรื่องเพศนั่นเอง โห เป็นการด่าแบบเบาๆ แสบๆ คันๆ กว่าจะรู้ก็เดินไปไกลแล้ว ทำนองนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม เห็นแล้วว่าสีสีหนึ่งก็มีได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ สีที่สื่อถึงเทพนิยาย สีที่สื่อถึงสังคม ทำให้เห็นสีมีบทบาทกับชีวิตและความคิดของเรามากพอสมควร ไม่ใช่เฉพาะนักวาด นักเขียน หรือตากล้อง แต่นักอ่านอย่างเราก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสีเหล่านี้นะ ถ้ามีงานที่ผลิตออกมา แต่ไม่มีนักอ่านหรือผู้ชมคอยตีความว่าสีนั้นดีหรือแย่ หรือเป็นสัญลักษณ์ของอะไรในเรื่อง ในชีวิต สีๆ นั้นก็จะเป็นแค่สีๆ หนึ่งบนหน้าปก หรือในชื่อเรื่องแค่นั้น
สำหรับใครที่ชื่นชอบโลกของสีและอยากทำความรู้จักกับสีใหม่ๆ เพื่อจะไปสร้างเรื่องราวหรือภาพของตัวเองแล้ว มินิมอร์ขอแนะนำเว็บรวมชื่อสีดีๆ อย่าง
Pinterest ของคุณ HunPolka ที่รวมเฉดสีแพนโทนต่างๆ ไว้ในบอร์ดพินเทเรสต์ หรือจะสีสวยๆ ไทยๆ อย่าง
เพจไทยโทน ใน facebook ก็ดีนะ ลองไปติดตามหาสีที่ชอบสีที่ใช่ ชอบกดไลค์ใช่กดเลิฟได้เลย เย่
ที่หนังสือหลายๆ เล่มมีสีสันประกอบในชื่อเรื่องอาจเป็นเพราะต้องการดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะกับพวกหนังสือสำหรับเยาวชน ที่กำลังเรียนรู้เรื่องสีสันใหม่ๆ ในชีวิตรวมถึงผู้ใหญ่เอง โดยอาจจะใช้หลักจิตวิทยา สัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านทางสีเพื่อกำลังบอกอะไรกับคนอ่านอยู่ก็ได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in