หลายคนอาจจะคุ้นชื่อปาร์คนายเลิศในฐานะโรงแรมชื่อดังที่ล่าสุดเพิ่งจะถูกขายไป จริงๆ แล้ว ถ้าเราเดินลึกเข้าไปที่ด้านหลังของโรงแรม
Swissotel Nai Lert Park ถนนวิทยุ จะมีพิพิธภัณฑ์ของบ้านอนุรักษ์ (รวมไปถึงร้านอาหารชื่อ Ma Maison) เปิดให้เข้าชมด้วย
เนืื้อหาของการเที่ยวชมครั้งนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของเศรษฐีไทยเชื้อสายจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ผู้ดำรงธุรกิจห้างฯ บริษัทพาหนะโดยสารสาธารณะเจ้าแรก ฯลฯ นามว่า พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พวกเราไปมีโอกาสเยี่ยมชมบ้านท่าน ภายในร่มรื่นด้วย ต้นไม้นานาพรรณ พี่มัคคุเทศบอกว่า นายเลิศเป็นคนรักต้นไม้ บ้านที่นายเลิศปลูกจึงมีต้นไม้หลากหลาย เช่น ต้นตีนเป็ด ต้นขานาง ต้นพระยาสัตบรรณ และอีกสิบร้อยต้น ลูกสาวของนายเลิศคือท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ก็รักต้นไม้เช่นกัน (เล่ากันว่ามีคนสวนที่เอาบันไดวางทับหญ้าตายโดนคุณหญิงไล่ออกมาแล้ว) สมัยก่อนที่นี้ยังเป็นสวนสาธารณะเปิดให้คนสมัยก่อนได้มาเดินเล่นกันอีกด้วย
ประวัติของคนในบ้านเต็มไปด้วยเอกลักษณ์และน่าสนใจ นายเลิศเจ้าของบ้านเป็นคนหัวก้าวหน้าทำธุรกิจมากมาย เช่น ริเริ่มกิจกาจรถโดยสารประจำทางสายแรก มีตั๋วร่วมที่ใช้กับรถเมย์ เรือ รถม้า ได้ (ขนาดสมัยนี้เรายังไม่มีตั๋วร่วมกันเลย) สร้างอาคารที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ทำร้านอาหารสำหรับชนชั้นสูงที่รัชกาลที่ 6 โปรดมาก นอกจากนี้ท่านยังสร้างโรงน้ำแข็ง ทุกเย็นคุณหญิงสินภรรยา นำน้ำแข็งมาไสราดน้ำหวาน ขายเด็กสมัยนั้นเป็นน้ำแข็งไสรุ่นบุกเบิก คนสมัยก่อนถึงกับอึ้งที่นายเลิศสามารถปั้นน้ำเป็นตัวได้จริงๆ
ภายในบ้านที่ออกแบบเองกับมือ ก็มีลูกเล่นและวิธีการที่ช่างคิด เช่นการเอาไม้มาตอกติดกันและหันด้านสันออกเพื่อให้ได้ texture ที่สวยงามและไม่มีรอยของตะปู เรียกว่าเป็นพื้นปาเกต์แบบ handmade ก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังได้เห็นการ customize สิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้เอื้อต่อประโยชน์ใช้สอยอย่างน่ารักน่าชัง เช่นการเจาะรูที่พิ้นเพื่อที่จะได้ให้มองเห็นคนครัวทำกับข้าวระหว่างนอนพัก การสร้างโถใส่ข้าวสวยยักษ์เพื่อความง่ายในการตักบาตรพระหลายๆ รูป หรือการสร้างสะพานให้ ยก (เรือจะได้ผ่านได้) หรือ เอียงทแยง (รถคันยาวๆ จะได้หักเข้าได้) ล้วนแล้วแต่ทำให้พวกเราประทับใจความเก๋าของครอบครัวนี้
บ่อบัวตรงหน้าบ้าน เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลก มีระเบิดตกเป็นหลุมหน้าบ้าน ใหญ่เกินกว่าจะกลบได้
นายเลิศเลยสั่งให้คนดัดแปลงเป็นบ่อบัวเสียเลย
ตัวบ้านปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นห้องจัดเลี้ยง มีหลายโซน หลายเซตติ้ง หลายราคา
(แต่จะตรงไหนก็แพงหมด)
พี่มัคคุเทศน์กำลังเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างละเอียดและสัมผัสได้ถึงความเป็นข้อมูลปฐมภูมิจนพวกเราสงสัยว่าพี่แกเกิดในยุคไหนกันแน่
บรรยากาศภายในบ้าน
ภาพวาดของ อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ในลุคสีน้ำมันชิคๆ ขัดกับผลงานภาพพิมพ์ซิกเนเจอร์
มีของที่ระลึกจากผลงานของอาจารย์ขายใน souvenir shop ด้วย
พี่มัคคุเทศน์บอกว่าท่านสนิทกับตระกูลนี้
ต่อจากรุ่นนายเลิศ ก็คือคุณหญิงเลอศักดิ์ เป็นรัฐมนตรีหญิงกระทรวงคมนาคม บ้านหลังนี้จึงเป็นที่รับรองชาวต่างชาติ ท่านผู้หญิงจะมีถ้วยชามที่เข้าชุดและคัดเลือกมาว่าเหมาะกับแขกชาตินั้นๆ ใช้รับรองเวลาทานอาหาร (อย่างชุดที่จัดแสดงอยู่ก็เอาไว้รองรับแขกญี่ปุ่น)
ลูกของต้นมะก่ำที่ปลูกอยู่ข้างบ้าน
top view จากชายคาบ้าน มี composition สวยๆ
สิ่งก่อสร้างใหม่จะสร้างโดยไม่รบกวนต้นไม้เก่า เหมือนกับอาคารซื้อตั๋ว/ขายของแห่งนี้ที่เว้นเจาะให้ต้นตีนเป็ดฝรั่งได้ไปต่อ
มีรถเฟี๊ยตรุ่นเดอะมาตั้งโชว์กันให้ดูด้วย
คนในครอบครัวยึดหลักดำเนินชีวิตที่นายเลิศสอนคือ พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) หลักนี้ เห็นเป็นโลโก้ หมายเลขบวกที่จะใช้ประทับอยู่ในทุกๆ ธุรกิจและผลิตภัณฑ์มาจนถึงทุกวันนี้
จากการเดินชมบรรยากาศพร้อมเรื่องราวของตัวสวนตัวบ้านและครอบครัวนี้ แม้พวกเขาเหล่านั้นจะไม่อยู่แล้ว แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความใส่ใจ ความสร้างสรรค์พิถีพิถันในการใช้ชีวิต และทึ่งในวิสัยทัศน์ของคนในบ้าน (เอ้อ โรงพยายาลเลิดสิน ก็เป็นของตระกูลนี้ด้วยนะ) แหม่ ชีวิตของนายห้างฯ ที่บุกเบิกการซื้อที่ดินเก็งกำไร นุ่งโสร่งแตะตะกร้อ แถมยังมีสัตว์เลี้ยงเป็นเสือดาวจะธรรมดาได้ยังไง
ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากที่พวกเราจำมาเล่าได้ไม่หมด ถ้าใครเผอิญว่างตรงกับช่วงเวลาที่เค้าเปิดให้เข้า แนะนำให้ลองเข้าไปลองรับชมรับฟังกันนะครับ รับรองต้องอึ้งทึ่งไม่แพ้พวกผมแน่นอน!
ปาร์คนายเลิศเปิดให้เข้าชมวัน พฤหัสกับศุกร์ เวลา 11.00/14.00/16.00
สามารถเดินเชื่อมกับเซนทรัลชิดลมได้เลย (ลองเปิดกูเกิ้ลดู) บัตรนักศึกษาราคา 100 บาท/คน
บางทีที่นี่ก็ถูกเช่าเป็นที่จัดงานวิวาห์หรือเปิดตัวสินค้า แนะนำให้โทรมาสอบถามก่อนเยี่ยมชมจะได้ไม่เสียเที่ยวนะจ๊ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in