ในสมัยเด็ก เคยได้ยินเกี่ยวกับการสอนเรื่อง ทฤษฎีพหุปัญญา ของคุณครูแนะแนวไหมครับ ที่เขาบอกว่าคนเรามีอัจฉริยภาพคนละด้านกันแล้วก็ให้ทำแบบทดสอบต่างๆ ของเราเป็นแบบไหน ภาษา ร่างกาย มิติสัมพันธ์อะไรก็ว่าไป ทุกครั้ง ผมจะสะดุดและนึกขำ "อัจริยะด้านการเข้าใจตนเอง" อยู่เสมอ (ดูมีความฮัฟเฟิลพัฟ ไม่ค่อยเก่งอะไรสักด้าน) แต่พอโตมาก็เริ่มรู้สึกเลยว่า การสำรวจและเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของตัวเราเองเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตให้มีความสุข
ชายหนุุ่มคนหนึ่งที่ผิวเผินแล้วเป็นมนุษย์ไร้ความขาดตกบกพร่อง มีการงานที่มั่นคงในเมืองหลวง การศึกษาและความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีพร้อม แถมยังแข็งแรงและมีรสนิยม ดูเป็นชีวิตที่ใครๆต่างก็ประสงค์ แต่เขากลับดำเนินตัวตนไปอย่างไร้ความหวัง ขอแค่ให้หมดไปทีละวัน แม้แต่ความคิดที่จะฆ่าตัวตายยังไม่สามารถกระตุ้นได้ เหตุผลคงจะมาจากเมื่อหลายสิบปีก่อน จู่ๆ ชายหนุ่มก็โดนตัดขาดออกจากกลุ่มเพื่อนที่สนิทที่สุดในชีวิตอย่างไร้เยื่อใย (กลุ่มเพื่อนที่ว่ามีกัน 5 คนซึ่งอีก 4 คนที่เหลือต่างมีสีอยู่ในชื่อ-นามสกุล จนกลายเป็นชื่อเล่นที่เรียกกันในกลุ่ม น้ำเงิน แดง ดำ และ ขาว) ไม่แม้แต่มีการอธิบาย เขากับยอมรับและดำเนินชีวิตต่อไป ปล่อยให้ความจริงนี้กัดกร่อนชีวิตที่เหลือของเขาเรื่อยมา จนได้มาเจอกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ยื่นข้อเสนอให้เขา กลับไปรื้อฟื้นค้นหาและคลี่คลายเรื่องทั้งหมด
Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage หรือ ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ เป็นหนังสือเรื่องยาวเล่มแรกของ ฮารุกิ มุราคามิ ที่ผมได้มีโอกาสอ่าน (หลังที่ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากคนรอบข้าง และประทับใจเรื่องสั้นที่เขาเขียน) ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า เขาเป็นนักเขียนที่สามารถสร้างความรู้สึกผ่านถ้อยคำและเรื่องราวที่ยากที่จะบรรยายถ่ายทอดต่อออกมาได้ได้เยี่ยมยอด มันแปลกและเป็นเอกลักษณ์จนผมทึ่งและสงสัยว่าจะมีนักเขียนคนไหนอีกบ้างที่ทำได้อย่างเขา ถึงพลอตจะเกิดขึ้นภายใต้ความธรรมดา ไม่ได้มีเหตุการณ์ประหลาด หรืออภินิหารแฟนตาซีใดๆ แต่บทสนทนาที่ซับซ้อนน่าสนใจ บางครั้งเป็นมิตรและลื่นไหล บางครั้งได้ความรู้ และ บางครั้งก็ลึกลับเคลือบแคลง ทำให้หนังสือเล่มนี้มีมือมาจับแขนถ่างตาให้ผมอ่านมันจนจบภายในเวลาไม่กี่วัน
ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีความรู้สึกสั่นคลอนในใจ เกี่ยวกับการถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือทีมบางอย่าง ในบางสถานการณ์ อาจรู้สึกว่าเราเปรียบเหมือนธาตุที่มีศักยภาพในการดึงดูดต่ำ คงอยู่เป็นสารประกอบกับธาตุอื่นๆ ด้วยพันธะที่อ่อนแรงพร้อมจะหลุดออกได้ทุกเมื่อ เป็นความทุกข์ที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่มีอยู่จริง ที่ต้องอาศัยพลังภายในในการก้าวข้ามอยู่ไม่น้อย ซึ่งหนังสือเองก็นำเสนอสิ่งนี้ รวมถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งออกมาได้ดีมาก
ในมุมมองผม การย้อนกลับไปแก้ไขปมในใจของตัวเองในอดีตเพื่อนการก้าวไปข้างหน้าดูคล้ายจะเป็นธีมหลักของหนังสือเล่มนี้ แต่ถ้ามองให้ทะลุแล้ว พลังของความรักที่ทำให้คนเรากล้าเอาชนะความกลัวอาจะจะเป็นหัวใจสำคัญเสียมากกว่า
บ่อยครั้งที่ผมจะเผลอเอาตัวเองไปแทนที่พระเอกของเรื่อง ซึ่งนอกจากขาวแล้ว ผมชอบตัวละครหลักทุกตัว ทั้งน้ำเงินที่อยู่ด้วยแล้วอุ่นใจ แดงที่เฉียบคมปิดกั้น แต่ยอมเผยความจริงใจให้เรา ดำที่น่าค้นหา กล้าตัดสินใจ ชัดเจนและเด็ดขาด แม้แต่ไฮดะ (เทา) รุ่นน้องที่มีความไร้เดียงสาสูงพอๆ กับความคิดความอ่าน แต่ทุกคนก็ทำให้ผม(ตัวเอกนั่นแหละ) โกรธและเสียใจ ผ่านการกระทำหรือปิดบังบางอย่างเช่นกัน ที่คิดแล้วแบบ เฮ้ย ที่รักกันจริงเหรอ ทำไมถึงไม่คิดถึงฝ่ายถูกกระทำบ้าง ว่าเขาจะได้รับกระทบอย่างรุนแรงแค่ไหน
จะมีก็แต่ สาละ หญิงสาวที่เปรียบเสมือนครูอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง ต้นเหตุของการรื้อฟื้นอดีตในครั้งนี้ ที่เออ อิจฉาพระเอกมากที่มีโอกาสได้เจอคนแบบเธอที่เป็นคนจริงใจและเถรตรงระดับร้อย มันแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นห่วงพระเอก พร้อมจะช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ทุกอย่างตรงไปตรงมา เป็นเหตุเป็นผล แต่ก็คงช่องว่างส่วนตัวไว้ ไม่สร้างความอึดอัดผูกมัดใดๆ สำหรับผม มันเป็นคุณสมบัติอันดับแรกของความสัมพันธ์ที่ดี รู้สึกดีใจกับทรึคุรุเขาจริงๆ
เท่าที่ผมเข้าใจ ชายไร้สีฯอาจจะไม่ใช่ผลงานที่สร้างความอื้ออึงหรือดีเด่นเป็น a must ของมุราคามิ ดูมีคนพูดถึงน้อยและไม่ได้มีโควทหรือการหักมุมของเส้นเรื่องที่ควรค่าแก่การเอาไปบอกต่อ แต่ผมก็พอใจกับตัวหนังสือชนิดที่ว่าประกาศตัวเป็นแฟนคลับทันทีที่อ่านจบ (ฮา)
นอกจาก reference เพลงแจ๊สและเพลงคลาสิก กับ บทบรรยายทางเพศที่ออกจะวาบหวามเกินจริตคนไทยไปบ้าง ด้วยพลอตที่เอื้อต่อการมีอารมณ์ร่วมและความหนาที่่ถึงจะหนาแต่ก็ไม่หนาเกินจนน่าท้อใจ ผมว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะถูกใจนักอ่านนักดูหนังหลายๆ คนนะ
ชีวิตก็เหมือนกับโน๊ตเพลงที่ซับซ้อน มีทั้งโน๊ตเขบ็ดสองชั้นและโน๊ตเขบ็ตสามชั้น เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ประหลาดและรอยขีดที่ไม่รู้ความหมายแน่ชัด จะอ่านให้ถูกต้องเป็นงานยากยิ่ง และถึงจะอ่านได้ถูกต้อง แปลงเป็นเสียงที่ถูกต้องได้ก็ตาม ก็ไม่แน่เสมอไปว่าความหมายที่แฝงอยู่นั้น ผู้คนจะทำความเข้าใจ ประเมินค่าได้ถูกต้อง ไม่แน่เสมอไปว่าจะให้ความสุขแก่ผู้คน
สำหรับใครที่สนใจ ฉบับแปลไทยเป็นของสำนักพิมพ์กำมะยี่ สันสีม่วง (มีหนังสือของมุราคามิอีกหลายเล่มด้วยครับ) สามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือทั่วไปครับ : )
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in