เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Interviewอ่าน-คิด-เขียน
The roadside life lesson ขีดเขียนปรัชญาชีวิต ไปกับ “อาทิตย์ สุริยะ”
  • หากกล่าวถึงเรื่องปรัชญาและความรู้ หลายคนมักจะคิดถึงภาพหนังสือเล่มหนาๆ เรื่องที่เข้าใจยากในห้องเรียนเลคเชอร์กับศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ท่ามกลางนักเรียนหัวกะทิที่สวมแว่นตาหนาเตอะ  หน้าตาขึงขังตั้งใจจดจ่อกับเนื้อหาสาระอย่างลึกซึ้ง แต่วันนี้อยากจะชวนทุกคนมาสลัดความคิดเหล่านั้นไปกับ อาทิตย์” นายสุริยะ สีมันตะ นิสิตเอกปรัชญาคณะอักษรศาสตร์ แห่งรั้วจามจุรี

    " 'อาทิตย์' เป็นชื่อหนึ่งที่เพื่อนๆเรียกผม จริงๆแล้วยังมีคนอื่นๆเรียกผมว่า 'สุ' 'ยะ' 'ซูริ' 'ซัน' 'ซันนี่' 'โซลาร์' 'เบิร์ด' 'แบงค์' 'ไบร์ท' และอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็อยากมีชื่อมากกว่านี้ ถ้าสนใจรบกวนผู้อ่านตั้งชื่อให้ผมด้วยนะ"

    คุณอาจจะยังสงสัยว่า เราจะสามารถหามุมมองใหม่เกี่ยวกับปรัชญาได้อย่างไร จากนิสิตเอกปรัชญาผู้นี้ และคุณคงคาดไม่ถึงเลยว่า การเรียนปรัชญาที่แค่ฟังก็รู้สึกปวดหัว จะเป็นสิ่งใกล้ตัว ที่มาพร้อมความสนุกผ่อนคลาย เหมือนอย่างที่ อาทิตย์คนนี้ได้สัมผัส ชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ผู้เคยผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นในการเป็นสามเณร ได้เล่าเรียนศึกษารสพระธรรมเป็นเวลากว่า 5 ปี เคยผ่านการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ภาษาบาลีให้แก่ผู้ที่สนใจ นั่นหมายรวมถึงนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯหลายคน ก็เคยได้เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์อาทิตย์มาแล้ว ไม่แปลกที่หลังจากลาสิกขาสู่การเป็นสามัญชนทั่วไป เขาคนนี้จะสามารถสอบเข้ามาในคณะอักษรฯได้ด้วยคะแนนวิชาภาษาบาลี (PAT7) 300 เต็ม เมื่อครั้งสมัยเป็นเด็กเขาก็คือเด็กเรียนหน้าห้องคนหนึ่ง ดูเหมือนว่าชีวิตของเขาจะมีการเปลี่ยนผ่านมาหลายครั้ง ได้ลองสัมผัสการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีชีวิตช่วงไหนเลย ที่เขาดูเหมือนจะเข้าใกล้กับการมาเป็นนักท่องเที่ยวสายอินดี้ด้วยการปั่นจักรยานคนเดียว โดยนักเดินทางท่านนี้เคยลุยปั่นจากกรุงเทพสู่ชุมพรและตะลอนทัวร์ไปยังปากเซ ที่สปป.ลาวคนเดียวมาแล้ว แต่หากจะกล่าวว่าไปคนเดียว ก็อาจไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะจริงๆแล้วตลอดการเดินทางเขามี "อันน์" เพื่อนจักรยานคู่ใจเคียงข้างไปด้วยเสมอ

    จุดเริ่มต้นของการเดินทางของอาทิตย์ ไม่ได้เกิดจากความเป็นนักปรัชญาหรือความคิดสุดโต่งอินดี้แต่อย่างใด เขาเป็นเพียงเด็กมหาลัยคนหนึ่งที่ได้ดูสารคดีการท่องเที่ยว แล้วเกิดความรู้สึกอยากไป เมื่อถึงช่วงเวลาปิดเทอม เขาจึงอยากใช้เวลาพักผ่อนไปกับการเดินทางท่องเที่ยว แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีใครว่างจะไปร่วมเดินทางกับเขา ในท้ายที่สุดเขาจึงตัดสินใจหยิบหนังสือนำเที่ยว และออกเดินทางไปพร้อมกับ "อันน์" จักรยานคู่ใจ ซึ่งเป็นยานพาหนะเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเข่าอย่างเขา มากกว่าการเดินทางด้วยการวิ่งหรือเดิน อย่างไรก็ตาม ตัวผู้สัมภาษณ์และเชื่อว่าบางท่านคงเกิดข้อสงสัยว่า แล้วเหตุใดเขาถึงไม่เลือกนั่งรถโดยสารหรือการเดินทางวิธีอื่นที่สะดวกกว่านี้ และเราก็ได้คำตอบที่แสนธรรมดาแต่ทว่ากลับสะท้อนให้เราได้ย้อนนึกถึงความหมายที่แท้จริงของ การท่องเที่ยว

    เราก็แค่อยากไปเรื่อยๆ ไม่ได้รีบอะไร เหนื่อยก็พัก มันทำให้เราได้สัมผัสความเป็นวิถีชีวิตแต่ละพื้นที่ที่เราไปจริงๆ และสิ่งหนึ่งที่ผมชอบทำมากๆคือการได้ไปเดินเยี่ยมชมตลาดท้องถิ่นในยามเช้า ได้รู้ ได้กินอาหารที่คนที่นั่นเขากินกัน ได้เห็นผู้คนที่หลากหลาย

               มนุษย์มักให้นิยามของการท่องเที่ยวว่าคือ การพักผ่อนแต่หลายต่อหลายครั้ง การไปเที่ยวของเรากลับทำให้รู้สึกเหนื่อยยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยกาย ความอ่อนล้าจากการนั่งรถ การเดินทาง การเผชิญกับสายลมแสงแดดที่ไม่คุ้นชิน หรืออาจจะเหนื่อยใจกับเงินในกระเป๋าที่หายไป อีกทั้งคนส่วนมากมักจะเดินทางไปท่องเที่ยวกับคนสนิท เพื่อน หรือครอบครัว อันถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์และสร้างความทรงจำอันดีร่วมกัน ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ การพักผ่อนที่เราคาดฝันไม่ได้เป็นดังใจไปเสียทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นบางคนถึงกับเกิดความรู้สึกอึดอัดใจ ที่ต้องทำกิจกรรมตามเพื่อนร่วมทาง ต้องรอคอยให้พวกเขาถ่ายภาพ เลือกซื้อสินค้าจนกว่าจะพอใจ

    ไปกับคนอื่นก็สนุกดีนะ แต่ว่าบางทีเราต้องการเวลาที่เราไปนั่งมองทะเล บางทีมันใช้เวลามากอันนี้เป็นปัญหาที่บางทีต้องเกรงใจคนอื่น ก็เลยลำบากใจนิดนึงเวลาไปเที่ยวกับคนอื่น แต่ว่าเวลาไปคนเดียว เราก็จะมองเห็นเลยว่ามันมีเวลาเล็กๆ มีเวลาที่มันเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

    การที่อาทิตย์ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวไปกับ "อันน์" ทำให้เขาได้รู้สึกถึง การพักผ่อนในแบบที่เขาต้องการจริงๆ แม้ว่าอาจจะมีความล้าจากแสงแดดที่เข้ามาทักทายระหว่างการปั่นจักรยาน เผชิญฝุ่นควันที่ไม่อาจหลบหลีกได้ แต่ความเหนื่อยล้าทุกอย่างนั้น ก็ได้รับการเยียวยาด้วยการได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำโดยไม่ต้องเกรงใจใคร เว้นเสียแต่ท้องฟ้าสีครามกับผืนทะเลตรงหน้า พวกเขาคงจะรู้สึกเขินอายไม่น้อยที่มีผู้มาจับจ้องนานๆเช่นนี้

    อันน์

    อย่างไรก็ตามการได้เดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ สัมผัสกับอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางคนเดียวหรือการเดินทางอย่างคนทั่วไป ก็ล้วนแล้วแต่ให้ประสบการณ์และความทรงจำบางอย่างแก่เราเสมอ  

    ระหว่างทางที่ลาวเราเจอเด็กตัวเล็กๆ มา Hello! เราก็รู้สึกว่าน่ารักนะครับแล้วก็ยังได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ที่พอกลับมาแล้วมันทำให้ได้ย้อนกลับมาคิดว่าเราน่าจะปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นนะอะไรประมาณนี้...แต่ผมก็มีความคิดอยากจะเข้าไปลองใช้ชีวิตกับพวกเขาจริงจังสักเดือนนะ จะได้รู้ปัญหาที่แท้จริง เพราะสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาสำหรับเขากับปัญหาที่พวกเขามอง อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ เราก็ไม่อยากไปตัดสินแทนเขา

    นอกจากเขาจะได้พบเจอสิ่งที่สะท้อนใจแล้ว อาทิตย์ยังได้เจอกับสถานการณ์ต่างๆที่สะท้อนสภาพสังคม เรียกว่าถ้าไม่เดินทางเช่นนี้ คงอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัส

     ตอนที่เดินทางแล้วเจอชาวบ้าน เราก็ทักทายสนทนากัน พอเขารู้ว่าเราเที่ยวคนเดียว เขาก็ชื่นชมเรามาก แล้วเราไว้ผมยาวใช่ไหม เขาเลยคิดว่าเราเป็นผู้หญิง ก็เลยยิ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี...ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจวบฯเขาก็ใจดีให้บริการที่พักแก่เรา เราก็พึ่งทราบว่ามีห้องพักดีๆอย่างนี้ไว้บริการประชาชนด้วย

    ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์แสนงดงาม ที่เมื่อได้เล่าครั้งใดก็ทำให้เจ้าตัวรวมถึงผู้ฟังอมยิ้ม ตื่นตาตื่นใจ และอยากมีโอกาสได้ลองไปสัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นด้วยตัวเองสักครั้ง แต่ในท้ายที่สุดเราอาจจะไม่ต้องพยายามสรรหาเหตุผลมากมายในการออกเดินทาง เพราะสำหรับอาทิตย์แล้ว สิ่งดีๆที่ได้พบเจอระหว่างทาง ถือเป็นกำไร เพียงแค่เรากล้าที่จะออกเดินทาง ทำตามความปรารถนาของใจก็คุ้มค่าเพียงพอแล้ว

    จริงๆแล้วการเดินทางของผมมันอาจจะไม่ได้อะไรเลย มันเป็นแค่ความรู้สึกดี สบายใจ

    ทั้งคนใกล้ตัวและคนแปลกหน้าที่ได้พูดคุยกับอาทิตย์ มักจะถามเขาว่า เขาไม่กลัวหรือว่าจะมีอันตรายต่างๆเข้ามาระหว่างการเดินทาง ทั้งภัยจากมนุษย์ด้วยกันเอง หรืออุบัติเหตุต่างๆที่ไม่คาดคิด เขาก็มักจะตอบว่า ยังไม่มีความกลัวที่มันผิดปกตินะ” เขาเชื่อว่าทุกคนย่อมมีความกลัวอยู่แล้ว ไม่เฉพาะในสถานการณ์ที่เราต้องเดินทางคนเดียว บางครั้งการนั่งเรียนหนังสือ เราก็อาจเกิดความกลัวได้ กลัวว่าจะตอบคำถามอาจารย์ไม่ได้หรือกลัวว่าจะลืมเนื้อหาที่เตรียมมานำเสนอ เราทุกคนล้วนอยู่กับความกลัวทั้งนั้น เป็นความกลัวปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถจัดการกับความกลัวเหล่านั้นได้อย่างไร  

    ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวของเขาจะโรยด้วยกลีบกุหลาบไปเสียทั้งหมด เขาสามารถจัดการกับความกลัว ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่กล้าเริ่มต้นทำสิ่งที่ตนเองต้องการ นั่นอาจจะเป็นเพราะเขาเคยได้รับการฝึกฝนทางพระพุทธศาสนา ทำให้มีสติสมาธิที่ดีเป็นทุนเดิม และคงคุ้นชินอยู่แล้วกับการที่ต้องใช้ชีวิตสันโดษ อีกทั้งเขายังเป็นนักเรียนปรัชญา จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะกล้าเดินทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวคนเดียว สามารถเข้าใจและจัดการสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตของตนเองได้

    ตอนเวลาที่เราเรียนปรัชญาเราก็จดๆ ไป มันก็จะลอยอยู่ในตัวเราอย่างนั้น เราไม่ค่อยจะได้เอาที่เรียนมาใช้กับชีวิตมากนัก แต่ก็จะมีปรัชญาชีวิตที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น เรื่องความไม่เที่ยงของชีวิตมีเกิดขึ้นและดับไป เราก็ได้เอามาใช้ในชีวิตบ้าง เหมือนกับการไปเที่ยวตลอดการเดินทางเราก็ต้องตระหนักได้ว่าอาจจะมีอะไรที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ ผมว่านี่แหละเป็นปรัชญาชีวิตที่นำมาใช้ได้มากที่สุดในการเดินทาง เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับสิ่งที่จะเข้ามาเสมอ


    อย่างไรก็ตามเขาคิดว่าการที่เคยบวช หรือเป็นคนที่ได้รับการศึกษามากกว่าคนอื่น ผ่านการศึกษามาทั้งในระบบ การศึกษาทางพระพุทธศาสนา หรือจะเป็นการศึกษานอกระบบ และปัจจุบันที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขามีสติ สมาธิ หรือจัดการกับความกลัวของตนเองได้ทั้งหมด การเดินทางของเขาก็เหมือนกับคนทั่วๆไป ต้องพบเจอกับปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดไว้ แต่สำหรับอาทิตย์ หากจักรยานเกิดยางรั่วก็แค่หาร้านปะยาง หรือเมื่อก่อนเขามักจะพักโรงแรม รีสอร์ทสบายๆเสมอ จนทำให้งบหมดไปกับที่พักจำนวนมาก การเดินทางครั้งใหม่ เขาก็แค่เปลี่ยนมาพักเกสต์เฮ้า โฮมสเตย์ ที่พักในอุทยานราคาย่อมเยา บ้างก็ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือท้ายที่สุด วัด ก็เป็นสถานที่พักพิงได้เช่นกัน แสนสะดวกครบครันทั้งน้ำไฟและอาหาร

    การเดินทางทำให้เราต้องการอะไรน้อยลง รู้จักเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ มันก็ตรงกับวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้เรียนมาเหมือนกันนะ

    นอกจากเขาจะได้รู้จักการแก้ปัญหาและเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเขาแล้ว อาทิตย์ยังแนะนำอีกว่า หากเราพยายามทำตัวให้กลมกลืนและเป็นมิตรกับผู้คน จะทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นการเผชิญกับปัญหาของอาทิตย์ คือสิ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และหล่อหลอมให้เขาแข็งแกร่ง เป็นบทเรียนและแบบฝึกหัดอันล้ำค่าจากการเดินทาง

    บางทีปั่นจักรยาน เราเดินทางบนท้องถนน มันก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน เพราะว่ารถเยอะ บางทีเข้าเขตชุมชนก็ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมักจะมีคนขับย้อนศร หรือถ้าที่ไหนมีงานเลี้ยง ก็มีกลัวบ้างว่าคนที่เมาแล้วขับจะมาชนเรา ส่วนบางที่มีเลนสำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ สะดวกมาก แต่ก็มีข้อจำกัดว่าปั่นตอนกลางคืนไม่ได้ เพราะไม่มีไฟ

    สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความกลัวของนักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไป ดังนั้นการที่อาทิตย์จะกล่าวว่าการเดินทางของเขาไม่ได้มีอะไรน่ากลัวที่ ผิดปกติ” ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่แปลกอะไรสำหรับนักเดินทางอย่างเขา ขณะเดียวกันความกลัวและปัญหาต่างๆที่เขาได้เผชิญ กลับทำให้อาทิตย์ได้ย้อนคิด และเข้าใจความหมายในชีวิตของเขา ซึ่งไม่ใช่ปรัชญาชั้นสูงอันใด แต่เป็นเพียงปรัชญาจากข้างถนน บนเส้นทางเขาและเจ้าจักรยานคู่ใจ


    ทำไมคนเราต้องมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต ผมเรียนปรัชญา มีแต่การคิด ให้เหตุผลเคร่งเครียดเต็มไปหมด แทบจะไม่ได้เอาอะไรมาใช้ในชีวิตเลย การเดินทางทำให้ผมรู้ว่า ผมแค่อยากใช้ชีวิตแบบไร้เหตุผล ทำตามอารมณ์ ปล่อยให้มันเป็นไปตามสัญชาตญาณ หิวก็กิน เหนื่อยก็พัก นั่นก็อาจหมายถึงการละทิ้งเป้าหมายไปด้วย

    สำหรับอาทิตย์แล้วเขาไม่ได้วาดฝันว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่เขาพร้อมจะสู้และรับมือกับทุกสิ่งที่เข้ามา แม้อาทิตย์จะกล่าวว่าเขาเป็นผู้ไม่มีเป้าหมาย ทว่าคำตอบของเขากลับสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาชีวิตของเขาได้อย่างชัดเจน นั่นคือ การดำรงอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ มีความสุขอย่างสงบและเรียบง่าย

    การออกเดินทางเพื่อค้นหาโลกภายนอกของนักเดินทางผู้นี้ เป็นการค้นหาภายนอกที่ทำให้ค้นพบภายใน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า เขารับรู้เพียงว่า เขาคือนิสิตเอกปรัชญา ผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยานท่องเที่ยวกับ "อันน์" เพื่อนจักรยานคู่ใจ และเขาจะยังคงทำมันต่อไป มีสิ่งที่ต้องค้นหาอีกมากมายบนโลกใบนี้ เฉกเช่นเดียวกับโลกภายในของมนุษย์ที่ยังรอการถูกค้นพบได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ราวกับเป็นเส้นทางที่ไร้ซึ่งจุดหมาย

    ความสงบเรียบง่ายของ อาทิตย์ ดวงนี้ อาจจะไม่ได้ร้อนแรงและแผดเผา แต่ก็เป็นดวงดาวแห่งแสงสว่างที่มีคุณค่า เรียบง่าย และทรงพลัง

    เส้นทางต่อไป กรุงเทพ สู่ เนปิดอว์”,  สุริยะ สีมันตะ.


    ผู้ให้สัมภาษณ์สุริยะ สีมันตะ

    ภาพโดย: สุริยะ สีมันตะ

    ผู้สัมภาษณ์สิริโชค  โกศัลวิตร 

    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2561  #ห้องเรียนเขียนเรื่อง 

      

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in