เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Interviewอ่าน-คิด-เขียน
ทลายกำแพงขวางกั้นฉัน-เธอ เปิดใจเรียนรู้ออทิสซึมในชั้นเรียนชีวิต
  • จากโรงเรียนเปี่ยมคุณในละครวัยแสบสาแหรกขาด สู่โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยาในโลกความเป็นจริง 


    ปัจจัยสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันก็คือ
    - ความเข้าใจ -

     

    ออทิซึม’ (Autism) ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย แต่หลายๆครั้งกลับพบว่าเราอาจจะยังรู้สึกขัดเขิน หรือลังเลที่จะเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักกับเด็กๆที่เป็นออทิสติกที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะสานสัมพันธ์และพัฒนาต่อไปเป็นเพื่อนเป็นพี่หรือเป็นน้องต่อไปได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่อาจเป็นตัวเบรคความรู้สึกของเราไว้คงเป็น ‘ความไม่รู้จัก’ อาการออทิซึมและภาพจำจากลักษณะพฤติกรรมภายนอกที่พวกเขามักแสดงออกยามที่อารมณ์ของพวกเขาไม่คงที่ทำให้หลังจากรับรู้ว่านี่คือเด็กที่เป็นออทิสติก ก็จะเกิดเส้นบางๆที่พัฒนาไปเป็นกำแพงหนาเพื่อป้องกันตนเองจากพฤติกรรมที่เราไม่รู้จักดีเหล่านั้น ก่อนจะได้รู้จักตัวตนของพวกเขาและปรับตัวอยู่ร่วมกับพวกเขาเสียอีก

     

    ถ้าวันหนึ่งเรานั่งเรียนอยู่ข้างๆเขา เราอาจเอ่ยปากขอยืมปากกาแดงสักด้ามระหว่างครูสอนแล้ว อยู่ๆ เพื่อนของเราก็กรี๊ดขึ้นมา ระหว่างที่ตกใจกับสิ่งที่ไม่คาดคิด คำถามหลากหลายคงประดังประเดกันเข้ามา ว่าเราไปทำอะไรที่กระตุ้นความหงุดหงิดในตัวเขาหรือเปล่านะ หรือหลังจากเพื่อนกรี๊ดแล้ว เราควรทำอย่างไรต่อไปดี หากเราไม่รู้จักลักษณะพื้นฐานของออทิซึมดีพอ การรับมือกับอารมณ์รุนแรงหรือการจะกลับมาชวนเพื่อนคนนี้คุยเล่นอีกครั้งคงเป็นเรื่องที่คิดหนักพอตัว และการถูกปฏิเสธจากสังคมอาจกลายเป็นแผลในใจของพวกเขา ส่งผลให้ยิ่งป้องกันตัวเองจากคนที่พวกเขาไม่ไว้วางใจ และนี่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนกลับที่แสดงผลออกมาเป็นเท่าทวีคูณ เขาป้องกันตัว เราป้องกันตัว กำแพงสูงตระหง่านได้ขวางกั้นคนสองกลุ่มเอาไว้ ยากที่จะพังทลายลงมา

     

    ออทิซึม’ จึงเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ยังใหม่อยู่เสมอในสังคมไทย เพราะไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะเปิดรับเด็กเหล่านี้ และไม่ใช่ทุกห้องเรียนที่เปิดรับจะมีเพื่อนเหล่านี้เรียนรวมอยู่ด้วย ยามที่มีโอกาสได้พบหน้าและรู้จักกันในชีวิตจริงต่างหากจึงจะได้ลองทำความรู้จักภาวะนี้กัน และการที่จะอยู่ร่วมกับเด็กออทิสติกได้ จำเป็นต้องเรียนรู้โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และใจดวงโตๆ ในการเปิดพื้นที่ระหว่างกันและกัน เพราะการผูกความสัมพันธ์กับเด็กออทิสติกนั้นไม่มีสูตรตายตัว เด็กร้อยคนก็ต่างกันไปร้อยแบบ แม้แต่ผู้ที่รู้จักอาการพื้นฐานของออทิซึมดีอยู่แล้วหรือคุณครูประจำชั้นในห้องเรียน ก็ยังต้อง ‘เรียนรู้’ จากเด็กๆทุกวัน

     

    แต่หลังจาก ละครวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 ออกอากาศไปได้ระยะเวลาหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอีกโอกาสดีที่เราจะได้ลองขยับเข้ามาทำความรู้จักกับเรื่องใหม่นี้ ผ่านตัวละคร ‘ใบพัด’ ซึ่งเป็นตัวละครที่ถ่ายทอดปัญหาการใช้ชีวิตและปรับตัวในสังคมของเด็กที่มีอาการออทิซึม การเรียนรวมกับเพื่อนๆ คนอื่นในห้องนั้น จะช่วยเรื่องการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของใบพัดให้สามารถอยู่ในสังคมต่อไปได้ แต่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นไม่ได้เป็นความคาดหวังต่อใบพัดเพียงคนเดียวที่ต้องปรับตัวให้สำเร็จ แต่เป็นเพื่อนๆ ในห้อง คุณครูประจำชั้น คุณครูผู้สอน รวมถึงพวกเราทุกคนในสังคมที่ต้องปรับตัวช่วยเหลือและยอมรับซึ่งกันและกันให้มากขึ้นด้วย

     

    ละครเรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า ความเข้าใจในตัวเด็กจะก่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวเด็กที่มีต่อคุณครู และเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก เรื่องราวในละครนี้เกิดขึ้นจริงใน โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา ที่มีนโยบายรับเด็กนักเรียนโปรแกรมการศึกษาพิเศษ (เด็กออทิสติก) เข้าเรียนรวมในชั้นเรียนด้วยเช่นเดียวกัน



    เรื่องราวจากในละครวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 และบทสัมภาษณ์ คุณครูสุพี เอี่ยมโอภาส ชี้ให้เราเห็นถึงข้อดีของการมีเด็กออทิสติกเรียนรวมอยู่ในชั้นเรียน จะเห็นว่า เด็กๆ ในห้องต่างก็ได้เรียนรู้จากกันและกัน เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ชีวิตในการเรียนและในสังคมภายนอกต่อไปในอนาคตของเด็กทุกคนมีความสุขมากที่สุด

     

    ...เมื่อเรียนร่วมกัน เด็กๆ ในห้องเขาจะได้เรียนรู้ว่าสังคมเรามีความหลากหลาย ไม่มีใครปกติหรือสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง เมื่อเจอเพื่อนที่ไม่พร้อมมาเรียนรวมกับเรา ก็ต้องดูแล อย่างน้อยต้องมีน้ำใจในการดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมีคุณธรรมอยู่ในตัว รู้จักเสียสละเวลาเราบ้าง ไม่ปลูกฝังความเห็นแก่ตัวในตัวเองเช่น ‘เธอเรียนไม่รู้เรื่องก็ช่างเธอสิ ฉันรู้เรื่องแล้ว ฉันอยากจะสอบได้คะแนนดีๆ ฉันก็ไม่ยุ่งกับเธอ’ แต่ที่โรงเรียนจะไม่มีแบบนี้เลย และเด็กที่เรียนรวมอาจจะมีบางเรื่องหรือบางวิชาที่เขาทำได้ดีมากๆ เขาก็จะช่วยเหลือกันเพราะเขาอยู่ในสังคมการเรียนรู้เดียวกัน...”


    ที่โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา ก่อนที่เด็กเรียนรวมจะเข้าห้องเรียนนั้น ก่อนเปิดการศึกษาคนที่จะเป็นที่พึ่งและเข้าใจเขาเป็นคนแรกก็คือ คุณครูประจำชั้น ช่วงเวลานี้จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อทัศนคติของเด็กออทิสติกในการมาโรงเรียน  เพราะถ้าหากเขามั่นใจได้ว่า เวลาที่เขามีปัญหาอะไรที่โรงเรียนนั้นยังมีคนที่คอยช่วยเหลือเขาได้ มีคนที่เขาไว้วางใจได้ เขาก็จะไม่ต่อต้านการมาโรงเรียนและไม่มีปัญหาเวลาที่เขาเรียนหนังสือ 


    เมื่อเข้ามาเรียนรวมในห้อง เด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรมอารมณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา คุณครูและเพื่อนต้องเข้าใจเขา คุณครูประจำชั้นจะบอกวิธีการอยู่ร่วมกันให้แก่เด็กๆในห้องก่อน และจะมีระบบบัดดี้ที่จะทำให้มีเพื่อนคอยช่วยเหลือเขาได้ โดยจะเลือกมาจากความสมัครใจของเด็กในห้องและตัวเด็กที่มี ภาวะออทิสซึมเอง แต่เนื่องจากลักษณะนิสัยของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน หากเขาชอบอยู่คนเดียว ไม่อยากมีบัดดี้ และสามารถดูแลตัวเองได้ ก็อาจไม่มีได้

     

    นอกจากนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในเวลาเรียน คุณครูประจำชั้นจะมีการส่งต่อข้อมูลกัน สังเกตและป้องกันการกระตุ้นอารมณ์หงุดหงิดที่อาจเกิดขึ้นจนเขารบกวนการเรียนการสอน การทำความเข้าใจความต้องการเฉพาะตัวที่แตกต่างกันของเด็กออทิสติกแต่ละคนนั่นเอง เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันกันความขัดแย้งในชั้นเรียนได้ ดังที่คุณครูสุพีเล่าให้เราฟังถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กออทิสติกอาจมีอารมณ์หงุดหงิดในระหว่างที่เรียนว่า มีที่มาจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างตัวเด็กกับเพื่อนหรือตัวเด็กกับคุณครูผู้สอน  

     

    ...ในห้องจะมีน้องคนนึงไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับเขาเวลาเรียน ถ้าไปยุ่งเขาจะกรี๊ดขึ้นมา จะวิ่งออกนอกห้องไป เราก็รู้พฤติกรรมนี้มาตั้งแต่เขาอยู่ ป.5 แล้ว เราก็ไปคุยกับน้องเขาก่อน ว่าน้องขึ้น ป.6 แล้วนะ เราจะมีการเรียนลักษณะแบบนี้ จะทำแบบนี้ไม่ได้ แต่น้องเขาเนี่ย เรียนเลขเก่ง เห็นมั้ย เด็กเหล่านี้จะมีอะไรที่เป็นพิเศษของเขา เป็นความต้องการพิเศษ เขากำลังตั้งใจเรียน แต่บางทีเพื่อนไม่เข้าใจ หรือเรื่องที่ครูสอน เขารู้หมดแล้วเลยอยู่ไม่นิ่ง เพราะอยากได้อะไรที่พิเศษมากขึ้นไปอีก แต่ครูไม่เข้าใจเขา เขาก็อาจจะสร้างปัญหาในระหว่างเรียนได้ แต่ถ้าเราเข้าใจเขา เขาก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย...”

     

    แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นแล้วครูสุพีแนะนำว่า เมื่อเขาโกรธ อย่าไปต่ออารมณ์เขา อย่าไปสกัดเขา ควรปล่อยให้อารมณ์จบในตัวเขาก่อน โดยปกติแล้วเด็กๆ เหล่านี้มักจะต้องทานยาเป็นประจำเพื่อควบคุมพฤติกรรมไว้ส่วนหนึ่งซึ่งจะช่วยทำให้เขานิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยานี้จะออกฤทธิ์ไม่นานนัก คือราวสี่ถึงห้าชั่วโมงเท่านั้น ถ้าหากเด็กๆ ไม่ได้ทานยามา จึงอาจส่งผลต่อแนวโน้มการแสดงออกพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้มากกว่าปกติ คุณครูสุพีได้เล่าให้เราฟังถึงจุดสำคัญในการรับมือกับอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตามให้เราฟังว่า  

     

           “...ถ้าเขากรี๊ดขึ้นมาเราเป็นครูประจำชั้น เราก็จะบอกเลยว่า ปล่อยเขากรี๊ดไป รอให้อารมณ์เขาลงก่อน ให้เขาลดพฤติกรรมของเขาแบบนี้ก่อน เมื่อเขาลดพฤติกรรมได้ และเขาหยุดอยู่นิ่งได้ค่อยคุยกัน แล้วเราก็จะไปคุยกับเขา ไปบอกว่าสิ่งที่น้องทำมันไม่ถูกต้องนะ เขาก็รู้จักปรับเปลี่ยน เพราะเขารู้ว่าเราน่ะ หวังดีกับเขา...
         ...แต่ถ้าวันไหนเด็กไม่ได้กินยามา พฤติกรรมจะรู้เลย ถ้าเริ่มขัดขวางการเรียนการสอนก็จะจับแยกก่อน แล้วเราก็ต้องเรียนรู้ว่าเราจะดูแลเขายังไง คนนั้นก็แบบนึง คนนี้ก็แบบนึง คนนี้เมื่ออารมณ์เขาเป็นแบบนี้ เราจะดูแลเขายังไง แต่ไม่เคยปรากฎว่าเด็กจะทำร้ายใครเพราะเขาจะป้องกันตัวเองไว้ก่อน ซึ่งเด็กพวกนี้จริงๆแล้วคุยกันรู้เรื่องหมด แต่ถ้าใครไปต่อต้านเขา หรือไม่เข้าใจเขา เขาก็จะแสดงพฤติกรรมของเขา เหมือนเขาจะป้องกันตัวเองว่าอย่ามายุ่งกับฉันอะไรอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ ถ้าเราคุยกับเขาดีๆ เขาก็ฟังเรา เพราะเขาก็เรียนรู้ได้...”

     

    จากประสบการณ์แล้ว ทำให้ครูสุพีทราบว่าพฤติกรรมรุนแรงนั้นล้วนมีสาเหตุของปัญหา  และเราในฐานะคนที่อยู่ร่วมกันกับเขา ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการทำข้อตกลงกับเขา พูดคุยกันด้วยเหตุผล และบางครั้งอาจต้องใช้ความเงียบคุยกับเขาด้วยให้เขารู้ว่าเขาทำผิดและถ้าเขาไม่ปรับพฤติกรรมก็อาจไม่มีใครยอมรับเขาเมื่อเป็นเช่นนั้นคงไม่มีฝ่ายไหนที่มีความสุข

     

             ตัวอย่างเหตุการณ์น่ารักๆ ในคาบเรียนภาษาไทยที่ครูสุพีเล่าให้เราฟังต่อไปนี้ แสดงให้เห็นถึงการจัดการปัญหาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และไม่มีการทำร้ายหรือรบกวนกันและกันมากจนเกินไป

     

              ...ในคาบเรียนภาษาไทย ครูเขาให้เขียนเรียงความ แต่น้องคนนี้ไม่อยากเขียนเขาอยากพูด ดูสิ วิชาเรียงความมันเป็นวิชาที่ต้องเขียน ใช้ความคิดแล้วเขียน น้องบอกน้องไม่เขียน จะพูด เขายืนยันในสิ่งที่เขาอยากจะทำ เราก็เลย อ้ะ ไม่เป็นไร ให้ครูประจำวิชาเขาดูเพื่อน แล้วให้น้องมาพูดกับครู มาพูดให้ครูฟัง พอฟังเสร็จเราก็ชมเชยเขา ว่าน้องพูดเก่งมากเลย เติมเรื่องนั้นเรื่องนี้ลงไปหน่อยนะน้องจะเก่งมากเลย น้องจำได้ใช่มั้ยที่พูดให้ครูฟัง ไหนน้องลองเขียนให้ครูดูซิสุดท้ายน้องเขาถึงยอมเขียน วิธีการแก้ปัญหาคือถ้าเจอพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ เราให้เขาทำของเขาไปก่อน แล้วเราค่อยตามแก้ปัญหาถ้าครูเอาอารมณ์ของครูแก้ปัญหามันจะแก้ไม่ได้เลยซักเรื่อง...”


            การรับมือกับเด็กเหล่านี้จึงไม่ใช่การขัดใจเขาไปเสียทุกอย่าง หรือตามใจเขาไปเสียทุกเรื่องแต่ต้องอยู่บนฐานของความเข้าใจ และไม่ควรเอาป้ายของคำว่า “ออทิสติก” ไปแปะใส่เขา และมองว่าภาวะออทิสซึมเป็นทุกอย่างของตัวเขา มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวเด็กเท่านั้น การที่บางครั้งเขามีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่รุนแรงส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ไม่เข้าใจและไปทำร้ายเขา เราทุกคนสามารถเป็นยาในชีวิตจริงที่จะช่วยให้เขานิ่งขึ้นได้ ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำเขาอยู่ได้อย่างสบายใจ ด้วยการทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น อยู่กันด้วยความเข้าใจ ไม่ไปเป็นต้นเหตุหรือกระตุ้นให้เขาต้องระเบิดอารมณ์จนเกิดเป็นกำแพงระหว่างกันและกันต่อไปในอนาคตด้วย


    ในสังคมของเรามีคนเป็นออทิสติกอยู่มาก แต่การยอมรับหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังน้อย ซึ่งเมื่อเกิดการปฏิเสธตัวตนของเขาจากภาวะออทิซึม อาจส่งผลกระทบถึงโอกาสต่อไปในชีวิตของเขา จริงอยู่ที่ความรุนแรงของออทิซึมนั้นต่างกันไปตามตัวบุคคล แต่สำหรับเด็กที่สามารถเรียนรวมกับเด็กคนอื่นๆ ในชั้นเรียนได้ หรือเด็กที่ยังสื่อสารได้ การได้มาเรียน ได้เรียนรู้สังคมจะช่วยให้เขามีอนาคตที่ดีต่อไปในอนาคตได้ อย่างจะเห็นกันว่าบางคนสามารถเรียนได้ถึงปริญญาเอก ได้เรียนต่อเฉพาะด้านที่ต่างประเทศ หรือกับเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า และมีพฤติกรรมรุนแรง เขาก็อาจทำอาชีพนักทำลายเอกสาร  พวกเขายังทำอะไรได้มากกว่าแค่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เพียงฝ่ายเดียว การเปิดใจจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการมอบโอกาสอื่นๆ ต่อไป ดังที่โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยาเห็นถึงความสำคัญนี้และค่อยๆ พัฒนาต่อมาจนเป็นการรับอย่างเป็นระบบ

     

              ...โรงเรียนทั่วไปยังไม่ค่อยรับเด็กออทิสติกอาจเป็นเพราะสังคมยังไม่เปิดกว้างที่จะยอมรับให้เขามาเรียนรวมกับเพื่อนๆ ในห้อง หรือถ้าเขารับ ก็อาจจะปล่อยให้นั่งๆ นอนๆ ไปวันๆ นึงแล้วก็กลับบ้าน เด็กไม่ได้เรียนซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น พอสังคมไม่เปิดกว้างที่จะยอมรับ มันก็จะมีโรงเรียนเฉพาะทางที่รับเฉพาะเด็กออทิสติกก็เลยทำให้เด็กเหล่านี้ไปรวมกลุ่มกันเอง ทำให้เมื่อพวกเขาโตขึ้น เขามาอยู่ในสังคมไม่ได้ เพราะเขาอยู่ในสังคมที่มีแต่เด็กที่มีพฤติกรรมเดียวกันทำให้เขาไม่เห็นเลยว่าสังคมในแบบที่เราอยู่นั้นเป็นอย่างไร หรือว่าเราทำอะไรกัน...
           ...และจริงๆแล้วการดูแลเด็กเรียนรวมนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ครูโปรแกรมการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะเพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าครูต้องเข้าใจต้องมีใจก่อน มีใจที่อยากจะสอนเด็ก มีใจที่อยากจะแก้ปัญหา มีใจที่จะรักเด็ก ต้องมีเมตตาต้องอดทน ต้องรู้จักเสียสละ ต้องเข้าใจในตัวเด็ก ถึงจะแก้ไขปัญหาได้ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งครูประจำชั้นต้องไม่แยกแยะเด็ก เราต้องปฏิบัติตัวหรือมุ่งมั่นที่จะสอนเด็กให้ทุกคนเป็นปกติให้หมด อย่าไปมีความรู้สึกว่า ตอนนี้ฉันสอนเด็กโปรแกรมพิเศษ หรือใช้ภาษาที่ไปแยกแยะเขา ไปตอกย้ำความเป็นเขาก็ไม่ได้ เราต้องเห็นเขาปกติตลอดเวลา อย่ามีอคติกับเด็กเหล่านี้ ถ้ามีอคติแล้วจะสอนไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้เลย...”

     

    ใช่แล้ว ในระดับสังคมโรงเรียน คุณครูจึงเป็นเหมือนผู้ที่หลอมรวมนักเรียนทุกคนเข้าด้วยกัน ช่วยให้เขาอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข เมื่อจบออกจากโรงเรียนไปก็สามารถใช้ชีวิตที่ดีต่อไปได้ แต่ในระดับสังคมแล้วนั้น สังคมยังไม่เปิดกว้างยอมรับทุกคนมากขนาดนั้น และความคิดของการแบ่งแยกที่กำลังกีดกันคนบางส่วนออกไป ไม่ยอมรับความหลากหลายนั้นค่อนข้างอันตราย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ทุกคนในสังคมไม่ได้ดีเลิศและเหมือนกันไปหมดเสียทุกอย่าง แต่ยังมีส่วนเฉพาะที่แตกต่างกันไป ทุกคนจึงน่าจะลองพยายามทำความเข้าใจแล้วก็หาทางที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ โดยไม่ไปทำร้ายความรู้สึกกันและกัน หรืออย่างน้อยเมื่อมองเห็นสิ่งที่ต่างไปจากตัวเอง ก็สามารถมองสิ่งนั้นในมุมที่ต่างออกไปด้วยใจที่เปิดกว้างมากกว่าเดิม อย่างในกรณีของเด็กที่มีภาวะออทิสซึม ที่สามารถเรียนรวมกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนอันถือว่าเป็นสังคมจำลองขนาดย่อมได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาได้เรียนรู้และปรับตัวเรื่องการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ในสภาพแวดล้อมที่เปิดใจยอมรับตัวตนจริงๆ ที่เขาเป็นมากกว่าแค่ความเป็นออทิสซึม เป็นสภาพแวดล้อมที่เข้าใจเขา ไม่กีดกันเขา เป็นเหมือนกับยาในชีวิตจริงที่ทำให้เขานิ่งและอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องสร้างปราการใดๆ มาปกป้องตัวเองเอาไว้ การพูดคุยกับ คุณครูสุพี เอี่ยมโอภาส ได้แสดงให้เราเห็นว่ากำแพงการป้องกันตัวเองของเด็กออทิสติกหรือ ‘เด็กเรียนรวม’ กับเพื่อนๆ คนอื่นในห้องและสังคมภายในโรงเรียนนั้น ไม่เคยก่อตัวสูงเกินจะผลักพวกเขาออกจากกันได้เลย เพราะทุกคนต่างก็พยายามเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

     


    ผู้ให้สัมภาษณ์:
    คุณครูสุพี เอี่ยมโอภาส
    รองผู้อำนวยการและครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา
     
    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง:  พิมพ์ภาณิณ โชติมา

    ภาพถ่ายประกอบ: พิมพ์ภาณิณ โชติมา

    ขอบคุณภาพปกบทความจาก http://ig.siamzone.com/ และ http://www.ch3thailand.com/

    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2561  #ห้องเรียนเขียนเรื่อง  

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in